ก่อนที่เราจะลงมือรักและตกลงปลงใจกับใครสักคน เราคงคิดว่า คนคนนี้ก็คือคนดีๆ คนหนึ่งในชีวิต วันนี้เป็นคนรัก ถ้าอีกวันไม่ใช่ คนดีๆ คนนี้ยังควรที่จะอยู่ในชีวิตของเราต่อไปไหม? แค่เปลี่ยนจากสถานะหนึ่ง ไปอีกสถานะหนึ่งเท่านั้นเอง
ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น หลังจากความรักและความผูกพันอันหอมหวาน การเลิกร้างกันนำความปวดร้าวมาให้ สถานะของคนอีกคน จากคนใกล้ชิด จึงกลายเป็นเหินห่าง เราอาจไม่ปรารถนาที่จะพบเห็น ไม่อยากที่รับรู้ และเลือกที่จะไม่สื่อสารกันอีกไป เราปฏิเสธว่ายังมีคนที่เราเคยรักอีกคนเดินอยู่บนผิวโลกเดียวกัน หายใจร่วมกันกับเราอยู่
รสชาติความรักที่แหลกสลายขมปร่าเกินที่จะแบกรับ ฟังดูเหมือนเป็นคนใจแคบ แต่ก็คงเหมือนอย่างเพลงบางเพลงว่า หัวใจเรามันแสนบาง บางที ในมิติของความรัก เราก็กลายเป็นแค่เด็กน้อยที่แสนงอแง เอาแต่ใจไปเสียดื้อๆ …เอาน่ะ เรื่องธรรมดา
อีกด้านอดีตคู่รักหลายคู่ก็พบว่า ถ้าตัดเรื่องอารมณ์ออกไป หลังจากหมดสถานะคนรักแล้ว ยังรักษาใครอีกคนไว้ในชีวิต ยังคงรักษาความสัมพันธ์ดีๆ ในรูปแบบอื่นไว้ รักษามิตรไมตรีที่ดีต่อกัน จากคนรักเก่า ก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่ง เป็นคนที่สนับสนุนชีวิตไปด้วยกันจนแก่ได้ ฟังดูเป็นผู้ใหญ่ เข้าท่า และไม่ค่อยใช้อารมณ์ดี
มีงานศึกษาที่พยายามอธิบายว่า เราจะยังคงเป็นเพื่อนกับแฟนเก่าดีไหม และอะไรที่เป็นตัวชี้วัดว่าเรามีแนวโน้มจะรักษามิตรภาพกับคนรักเก่าได้รึเปล่า งานศึกษาหนึ่งบอกว่าถ้าเลิกกันแล้ว ในภาวะเจ็บปวดเรามีแรงใจมีการสนับสนุนจากครอบครัว เลิกรากันด้วยดี ไม่ได้มีการนอกใจหรือทำร้ายกัน จากคนรักเก่าก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเพื่อนกันได้ต่อไป
คำถามคือ เลิกกันแล้วเป็นเพื่อนกันต่อไปดีไหม แล้วเราจะจัดการกับความสัมพันธ์ที่เคยคาราคาซังได้อย่างไร
เลิกกันแล้ว จะยังเป็นเพื่อนกันไปทำไม
นั่นสิ ถ้าจบไปแล้ว เราจะยังเป็นเพื่อนกันไปทำไม?
คำตอบแรกสุดที่แว๊บขึ้นมาคือ ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ เรามันโตๆ กันแล้วไง เข้าใจหน่อยว่าสถานะเปลี่ยน คนก็เหมือนเดิม ยิ่งหลายคู่เป็นเพื่อนกันมาก่อน ไม่เสียดายมิตรภาพอันแสนยาวนานหรอ พอเลิกปุ๊บต้องตัดรอน เลิกพบหาเลย แบบนี้ถ้าดูเผินๆ เราก็จะตราว่า เนี่ย ไม่เป็นผู้ใหญ่เลย ทำตัวอย่างกับเด็กๆ ไม่มีเหตุผล
เบื้องต้น ความรักและหัวใจที่แหลกสลายเป็นเรื่องของอารมณ์ การตัดช่องทางการรับรู้ มันก็คือการที่เราดูแลตัวเอง ไม่เป็นไรหรอก ก็ถือเป็นการตัดสินใจ และทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ แต่ก็นั่นแหละ เราเองก็ต้องทบทวนว่า เรายังอยากจะรักษามิตรภาพของกันและกันไว้ต่อไปดีไหมนะ พออารมณ์มันซาๆ หรือถ้าบังเอิญไปพบกันใหม่…ในสถานะอื่น
NBC สำนักข่าวของสหรัฐฯ เคยทำสำรวจในปี 2004 พบว่า อดีตคู่รักตั้งเกือบครึ่ง (48%) บอกว่าตัวเองสามารถเป็นเพื่อนกับคนรักเก่าได้ อีก 18% บอกว่า เราพยายามแล้วนะ แต่ไม่ไหวจริงๆ เราขอโทษ เหตุผลหลักๆ ของคนที่ไม่สามารถรับแฟนเก่าเป็นเพื่อนได้ก็ง่ายๆ คือ อีกฝ่ายทำเราใจสลายเกินไป
ฟังดูเหมือนว่าใครๆ ก็อยากที่จะเป็นเพื่อนกับคนรักเก่า เหตุผลที่ง่ายที่สุดคือ แค่ในคำว่าแฟนเก่า มันก็มีคำว่า ‘เก่า’ อยู่ในนั้น เราต่างรู้ดีว่าถ้าเรายังคงติดอยู่กับอดีต คิดคาอยู่กับเรื่องเก่าๆ คนเก่าๆ ตรงนี้เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่มาขัดขวางไม่ให้เราก้าวไปข้างหน้า ไปสู่ความสัมพันธ์ชุดใหม่ๆ ได้
ถ้าพูดอย่างเป็นอุดมคติที่สุด การที่เราสามารถเป็นเพื่อนกับคนรักเก่าได้ ก็เหมือนกับว่าเราสามารถจบความสัมพันธ์ชุดเก่าและสามารถเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ๆ ต่อไปได้
ยิ่งถ้ามองว่า เราสามารถรักและหยุดรักใครอีกคนได้ การรักของเราก็ดูจะเป็นผู้ใหญ่และดูจะมีเหตุมีผลมากขึ้น การเลิกแล้วยังเป็นเพื่อนกันได้จึงดูเป็นลางที่ดีว่ารักครั้งต่อๆ ไป อาจจะมีคุณภาพและความมั่นคงยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
กลยุทธ์ในการรับมือและรักษาไมตรีกับคนรักเก่า
ในโลกวิชาการที่น่ารักก็พยายามทำความเข้าใจอาการและหาช่องทางให้ชีวิตของเราดีขึ้น ในแง่ของการรักษาความสัมพันธ์ ก็เลยเป็นเรื่องของประเด็น ‘การสื่อสาร’ งานวิจัยจากไต้หวันบอกว่า เนี่ย สำคัญจะตาย ไม่เห็นมีคนไปศึกษาเลยว่าเราจะมีกลยุทธ์ในการจัดการความสัมพันธ์หลังเลิกราอย่างไรดี
งานวิจัยกรณีศึกษาเรื่องการรักษามิตรภาพหลังเลิกราจากไต้หวัน อ่านไปเหมือนดู MV หรือ คลับ ฟรายเดย์ไป เพราะในข้อมูลการสัมภาษณ์ แหม่ ชีวิตยังกับละคร แบบว่าพอเลิกกันแล้ว เราจะเจอแฟนเก่าในสถานการณ์ทำนองไหนได้บ้าง บ้างก็เป็นเหตุการณ์แบบเจอผ่านบุคคลที่สาม เจอในภาพของเพื่อนของเพื่อน เจอในการเล่นเกม ไปจนถึงเจอโดยบังเอิญตามที่ต่างๆ ดูเหมือนในภาษาวิชาการจะมีความร้าวรานแฝงอยู่
ผลของการกลับมาสื่อสารกันอีกครั้งของคนรักเก่า อาจจะจากความตั้งใจของอีกฝ่ายหรือความบังเอิญ นักวิจัยบอกว่ากลยุทธ์ที่ใช้ในการสื่อสารและรักษาระยะห่าง-จากเดิมคือการเป็นคนรัก มาเป็นมิตรภาพที่ห่างเหินขึ้น-เราจะใช้กลยุทธ์ในสื่อสารต่างๆ เช่น ทำผ่านบุคคลที่สาม คือใช่ว่าจะทักไปตรงๆ ก็อะ ฝากคนอื่นๆ มา หรือใช้ประเด็นอื่นๆ ในการเข้าหาและพูดคุย แบบว่า อ้าว! เล่นเกมนี้ด้วยหรอ บังเอิญเห็น การสื่อสารกันก็จะถูกทำโดยการรักษาระยะเอาไว้ ไม่ได้พูดคุยเรื่องส่วนตัวโดยตรงอย่างสนิทชิดเชื้อเหมือนก่อน
วิธีที่สำคัญในการสื่อสารรักษาความเป็นเพื่อนกับคนรักเก่าที่นักวิจัยพบคือ การสื่อสารโดยละหรือเลี่ยงบางประเด็นเอาไว้ เช่น งดพูดเรื่องความสัมพันธ์หวานซึ้งโรแมนติกที่ผ่านมาหรือเรื่องของความรักในปัจจุบัน งดคุยรื้อฟื้นเรื่องราวที่จะกระตุ้นถ่านไฟเก่า ความหึงหวงหรือความอิหลักอิเหลื่อต่อกัน
ข้อสำคัญสุดท้ายของการรักษาระยะห่าง คือการรักษาความถี่ในการสื่อสารที่เหมาะสมในฐานะเพื่อน หลักๆ แล้ว การปรากฏตัวหรือพูดคุยกันถ้าทำในห้วงเวลาที่เหมาะสม ในช่วงเวลาสำคัญๆ ของแต่ละฝ่าย ทักทายถามไถ่ตามสมควร ก็จะไม่ทำให้อีกฝ่ายอึดอัด หรือสับสน
โดยรวมแล้วก็เป็นเรื่องการรักษาระยะแหละ ทั้งในช่องทางที่เหมาะสม เรื่องที่คุยกัน ในความถี่ที่พอดี จากสิ่งที่เราคิดว่านี่ไง แค่เหมือนเพื่อนอีกคน แต่การจะคุยกับแฟนเก่า โดยที่ใจมันก็ยังไหวๆ การที่จะรักษาความสัมพันธ์ รักษาใจ รักษารูปแบบความสัมพันธ์ให้ได้ ดูเหมือนว่าเราจะต้องใช้ศิลปะที่ช่ำชองพอสมควร
ความรักและความรู้สึกไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็นตอนเริ่มต้น จนกระทั่งภาวะหลังเลิกรา เลิกกันแล้วเราเองต้องจัดการกับอารมณ์ ต้องคิดและตัดสินใจในการรับมือกับคนอีกคนอย่างถูกต้องเหมาะสม แถมโชคชะตาก็แสนจะชอบเล่นตลก ชอบดึงเราไปในสถานการณ์แปลกๆ ไปเจอในสิ่งที่เราคาดไม่ค่อยถึง
‘จริงๆ ตอนนั้นก็ดีนะ’ – ‘สบายดีรึเปล่า’ ไม่ว่าใจเราจะแน่วแน่และเข้าใจเรื่องราวได้ดีขนาดไหน เหตุการณ์ป๊ะกับคนเก่า เราทักไป หรืออีกฝ่ายทักมา สุดท้ายก็เป็นเรื่องแสนยากอยู่ดี แต่ก็อย่างว่า เป็นการตัดสินใจของเราว่าเราจะเป็นเพื่อนกับแฟนเก่าดีไหม จะสื่อสาร สัมผัสกันแค่ไหน เอายังไงต่อไปดี
เรื่องความรู้สึกเป็นเรื่องที่ยากเสมอ