ท่ามกลางบรรยากาศสนุกสนานของกิจกรรมรับน้องในมหาวิทยาลัย เด็กใหม่หน้าตาสวยหล่อมักสร้างความฮือฮาให้กับบรรดารุ่นพี่ไม่น้อย เชื่อว่าสิ่งที่หลายคนคุ้นชินกันในทุกๆ ปี คงจะเป็นรูปถ่ายของน้องเฟรชชี่หน้าตาน่ารักสดใสขณะกำลังทำกิจกรรม และถูกแชร์ต่อๆ กันไปทั่วเฟซบุ๊ก
ภายใต้เสียงรัวกลองสันทนาการ ความไม่เท่าเทียมได้ค่อยๆ ดังขึ้นตามในกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง น้องใหม่หน้าตาดีกลายเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความสนใจจากคนในคณะ ทั้งรุ่นพี่และรุ่นเพื่อนด้วยกันเอง แต่หากลองเงี่ยหูฟังดีๆ จะแอบได้ยินเสียงแว่วขึ้นมา ตัดพ้อถึงการถูกมองข้าม และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
“คนหน้าตาดีมักได้รับโอกาสมากกว่า ทั้งๆ ที่คนธรรมดาแบบเราก็อยากออกไปร่วมกิจกรรมเหมือนกัน แต่ไม่เคยได้รับโอกาสเลย จนบางครั้งทำให้กิจกรรมไม่สนุก เพราะรู้อยู่แล้วว่าใครจะได้เป็นตัวแทนไปทำกิจกรรมต่างๆ”
“เราเคยอยู่ในเหตุการณ์นั้น มันแย่มาก ขนาดรูปถ่ายยังไม่มีเลย มีแต่รูปสตาฟกับคนหน้าตาดี ส่วนคนอื่นก็กลายเป็นอากาศไป”
ข้อความถกเถียงบางส่วนถูกหยิบยกมาจากทวิตเตอร์ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่ากันที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรมรับน้อง ที่มักจะเกิดจากการปฏิบัติกับรุ่นน้องที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างรุ่นน้อง ‘หน้าตาดี’ กับรุ่นน้องคนอื่นๆ
ปัญหาความไม่เท่าเทียมในกิจกรรมรับน้องได้เวียนมาให้เห็นทุกปี เพียงแต่เป็นเสียงเล็กๆ ที่ลอยมาแล้วก็หายไป จึงทำให้เกิดเป็นภาพซ้ำอยู่เรื่อยๆ อัลบั้มรูปถ่ายกิจกรรมที่เต็มไปด้วยรูปของน้องๆ เด็กใหม่หน้าตาดี ส่วนน้องๆ ที่ไม่โดนเด่นอะไรมากก็ดูจะต้องเลื่อนหารูปตัวเองกันจนนิ้วล็อก บางทีหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ
นอกจากนี้ การถูกตัดโอกาสจากการเข้าร่วมกิจกรรมบางประเภทที่ให้ความสำคัญกับหน้าตาหรือรูปลักษณ์เป็นหลัก ก็ยิ่งทำให้น้องๆ หลายคนรู้สึกถึงความไม่เสมอภาค ว่าทำไมเขาถึงไม่ได้รับโอกาสเหล่านั้นเพียงเพราะหน้าตาไม่โดดเด่น ซ้ำยังทำให้พวกเขารู้สึกว่าถูกลดคุณค่า หรือไม่ได้รับการยอมรับในสังคม เหตุการณ์นี้จึงเกิดภาวะสองแบบขึ้น นั่นก็คือ
1. ภาวะ Pretty Privilege สิทธิพิเศษของคนสวยหล่อ
แม้จะบอกว่าคุณค่าที่แท้จริงของคนอยู่ที่ศักยภาพ ความสามารถ ทัศนคติ หรือจิตใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘หน้าตา’ หรือ ‘รูปลักษณ์ภายนอก’ เป็นสิ่งที่ดึงดูดเราเป็นอันดับแรก เพราะประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นมักจะทำหน้าที่ได้รวดเร็วกว่าการเดินเข้าไปพูดคุยหรือทำความรู้จัก ที่จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการรับรู้ ทำให้บางครั้งการตัดสินที่รูปลักษณ์ภายนอกจึงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง
บางกิจกรรมในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน เฉพาะคนสวยหล่อเท่านั้นที่มีสิทธิ์ ยกตัวอย่างกิจกรรมประกวดดาวเดือน ผู้นำเชียร์ คฑากร หรือแม้กระทั่งถือพานวันไหว้ครู กิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างค่านิยมความสวยหล่อในสังคมให้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ไม่กี่รูปแบบ ทั้งยังสร้างช่องว่างขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นกับบุคคลที่หน้าตาธรรมดาทั่วๆ ไปอีกด้วย จึงทำให้สังคมตั้งคำถามว่ากิจกรรมเหล่านี้ยังควรที่จะมีอยู่หรือไม่ เพื่อที่ต้องการจะลดความเท่าเทียมและการถูกแบ่งแยกชนชั้นในสังคมมหาวิทยาลัย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการคัดค้านกิจกรรมดาวเดือน ได้ที่ ดาว เดือน ดาวเทียม จำเป็นต้องมีไหม? รัฐศาสตร์จุฬาฯ เตรียมแก้ดราม่าคณะด้วยการทำประชามติ)
แม้บางกิจกรรมจะเน้นไปที่ความสามารถ แต่ความสามารถเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ จะเห็นได้จากการที่มีพี่เลี้ยงคอยเทรนผู้เข้าประกวดดาวเดือนให้ร้อง เต้น เล่นดนตรี หรือช่วยคิดการแสดงโชว์เพื่อไปแข่งกับคณะอื่น ดังนั้น เมื่อตัดเรื่องของความสามารถพิเศษออกไป จึงไม่แปลกที่ภาพลักษณ์จะเป็นปัจจัยแรกที่ทุกคนมองหา
แดเนียล ฮาเมอร์เมช (Daniel Hamermesh) นักเศรษฐศาสตร์ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Beauty Pays: Why Attractive People are More Successful ได้ศึกษาเกี่ยวกับ beauty privilege หรือ beauty premium ภาวะที่คนหน้าตาดีมักจะได้สิทธิประโยชน์หรือการยอมรับมากกว่าคนหน้าตาธรรมดา และเขาก็พบว่าภาวะนี้เกิดขึ้นในทุกวงการหรืออุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่การศึกษาหรือสาธารณกุศล โดยคนที่หน้าตาดีมีโอกาสที่จะถูกจ้างงานมากกว่าคนหน้าตาธรรมดา เนื่องจากสังคมมีความเอนเอียงและเชื่อว่าหน้าตากับความสามารถมีความเชื่อมโยงกัน
หลายคนมักจะคิดว่าคนหน้าตาดีเป็นคนไม่มีศักยภาพ หรือมีดีแค่ที่หน้าตา…แต่ความคิดนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว แม้แดเนียล ฮาเมอร์เมช จะบอกว่าความหน้าตาดีจะมาจากกรรมพันธุ์ของพ่อแม่ล้วนๆ แต่มีการพิสูจน์แล้วว่าความหน้าตาดีของคนเหล่านี้ มีส่วนมาจากองค์ประกอบอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขาสามารถทำบางอย่างได้ดีกว่าคนหน้าตาธรรมดาทั่วไป นั่นก็คือ ‘ความมั่นใจ’
มีการศึกษาจากนักเศรษฐศาสตร์อีกสองคน ได้แก่ มาร์ค โมเบียส และแทนยา โรเซนแบลต พวกเขาทดลองให้คนหน้าตาดีและคนหน้าตาธรรมดาเข้าสัมภาษณ์งานผ่านทางโทรศัพท์ และให้ผู้สมัครทั้งสองฝ่ายเล่นเกมพัซเซิลเพื่อเป็นการวัดศักยภาพในการทำงานของพวกเขา ปรากฏว่าผลที่ได้คือ นายจ้างมีแนวโน้มที่จะรับคนหน้าตาดีเข้าทำงานมากกว่า เพราะคนหน้าตาดีเล่นเกมพัซเซิลได้ในจำนวนที่มากกว่าคนหน้าตาธรรมดา รวมไปถึงความมั่นใจที่แสดงให้เห็นออกมาผ่านน้ำเสียงในโทรศัพท์ ทำให้นายจ้างคิดว่าคนหน้าตาดีมีความสามารถในทำงานดีกว่าคนหน้าตาธรรมดา
ผลการวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า การที่คนหน้าตาดีได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคนหน้าตาธรรมดา เป็นเพราะพวกเขาได้รับการชื่นชมบ่อยๆ จึงทำให้ความมั่นใจในตัวสูงเพิ่มมากขึ้น และเมื่อความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น พวกเขาก็จะดูโดดเด่นในสายตาคนรอบข้าง
2. ภาวะ Marginality คนหน้าตาทั่วไปที่กลายเป็นคนชายขอบ
หากเปรียบมหาวิทยาลัยเป็นสังคมจำลองขนาดย่อม เมื่อเกิดภาวะ pretty privilege ที่คนหน้าตาดีมักจะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย ฝ่ายตรงข้ามหรือบุคคลที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางสังคมเหล่านั้นได้ จึงค่อยๆ ถูกผลักให้กลายเป็น ‘บุคคลชายขอบ’ ไปโดยปริยาย
หากบุคคลที่อยู่ในภาวะ pretty privilege ยิ่งได้รับการชื่นชมแล้วยิ่งจะทำให้พวกเขามั่นใจมากขึ้น บุคคลที่อยู่ในภาวะ marginality ก็คืออีกขั้วหนึ่ง ยิ่งพวกเขาไม่ได้รับความสนใจ พวกเขาก็ยิ่งเลือกที่จะถอยออกมา
ภาวะชายขอบ นอกจากจะทำให้เด็กปีหนึ่ง ซึ่งหน้าตาไม่ได้โดดเด่นรู้สึกเหมือนถูกแบ่งแยกแล้ว พวกเขายังจะต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองอย่างหนักเพื่อที่จะได้ไปอยู่ในจุดที่ต้องการ ยกตัวอย่างการคัดเลือกผู้นำเชียร์ หลายคณะที่รุ่นพี่ได้เล็งเด็กหน้าตาสวยหล่อเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้น ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการฝึกซ้อมให้พร้อมเพียง ค่อยๆ ปั้นเด็กเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มต้องพยายามอย่างหนักตั้งแต่เริ่ม เพื่อให้รุ่นพี่มองข้ามเรื่องรูปลักษณ์หน้าตาไปยังความสามารถแทน
ทั้งสองภาวะไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่แต่ละฝ่ายกระทำต่อกัน แต่เกิดจากบุคคลที่สามในสังคมที่ติดตั้งภาวะนี้ไว้ให้ การถูกเลือกปฏิบัติจากรุ่นพี่จึงส่งผลให้รุ่นน้องหน้าตาธรรมดาเกิดความรู้สึกไร้พื้นที่ ถูกแบ่งแยก และเป็นส่วนเกิน จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะสูญเสียความมั่นใจและไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมอีก
หากกิจกรรมคณะหรือมหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมเพื่อแสดงศักยภาพได้อย่างเท่าเทียม ก็อาจจะลดช่องว่างที่เกิดขึ้น หรือทลายค่านิยมความสวยหล่อในสังคมให้หายไป
อ้างอิงข้อมูลจาก