เจ็บเหมือนกันมาก็น่าจะเข้าใจกันที่สุด
บ่อยครั้งประสบการณ์ส่วนตัวที่สุดของเราคือความเจ็บปวดในอดีต การโดนนอกใจ การโดนทำร้าย การโดนปั่นหัว ฯลฯ ต่างจากเรื่องราวดีๆ ในชีวิต ความเจ็บปวดมักฝังลึกอยู่ในเรา ความทรงจำที่มากับกลิ่นน้ำหอมของคนที่ทำร้าย เสียงเพลงที่ฟังตอนรู้ตัวว่าโดนทิ้ง หรือรสชาติของเลือดในปาก บางครั้งมันลงรากไปถึงตัวตนของเรา เปลี่ยนแปลงวิธีที่ใช้ชีวิต มุมมองต่อผู้คน มากไปกว่านั้นบ่อยครั้งความรู้สึกยิ่งส่วนตัวมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยวในประสบการณ์ยิ่งขึ้นไปอีก จริงไหม?
เช่นนั้นแล้วการมีใครสักคนเดินมาบอกเราว่า “ไม่เป็นไรนะ เราก็เคยผ่านมันมาเหมือนกัน” มันช่างดูวิเศษเหลือเกิน คนที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้มีแค่เราที่เดินอยู่บนหนทางนี้ ความสัมพันธ์จะคืออะไรหากไม่ใช่ความเข้าใจในกันและกัน?
แต่การสร้างความสัมพันธ์ผ่านความเจ็บปวดร่วมกันนั้นอาจจะยังต้องถูกชำแหละออกมาอีกมาก เพราะไม่ใช่ทุกความเจ็บปวดที่เหมือนกัน และไม่ใช่ทุกความเข้าใจจะเป็นภาพที่ตรงกับประสบการณ์ของเราจริงๆ
ที่ว่าเข้าใจนี่เข้าใจยังไง?
เวลาเราบอกว่าเราเข้าใจเราหมายความว่ายังไง? ในเมื่อมนุษย์ไม่ได้เชื่อมต่อกันผ่านระบบไวไฟหรือจะแอร์ดรอปที่จะแชร์ภาพและความคิดในหัวของกันและกันออกมาได้ ฉะนั้นแล้วสิ่งที่พวกเรามักทำคือการพยายามนำคำพูดของอีกฝั่งมาเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของตัวเองก่อน อย่างนั้นยิ่งเคยเจออะไรคล้ายกันก็น่าจะทำให้ความเข้าใจเรื่องนั้นๆ ชัดเจนขึ้น และส่งผลให้เราใกล้ชิดกันมากขึ้นหรือเปล่า? คำตอบอาจซับซ้อนกว่านั้น
จากการทดลองโดยองค์กร The Society for Personality and Social Psychology (SPSP) เกี่ยวกับความเข้าใจระหว่างกันและกันของคนที่พบเจอประสบการณ์แง่ลบร่วมกัน ถามคำถามคน 400 คนว่า คิดว่าการมีประสบการณ์จะทำให้คนคนหนึ่งเข้าใจอีกคนได้แม่นยำมากขนาดไหน 80% เชื่อว่าตรงมากที่สุด และขั้นตอนต่อมาคือวาดภาพที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อที่ดูตรงไปตรงมานี้
วิธีการทดลองคือการอัดวิดีโอที่ผู้พูดพูดเกี่ยวกับประสบการณ์แผลใจของตัวเองในหลายๆ ประเด็น และให้ผู้ชมจำนวน 800 คน ที่อาจมีหรือไม่มีประสบการณ์ร่วมกันกับคนเหล่านั้น แล้วให้พวกเขาทำแบบสอบถามที่พวกเขาอธิบายว่าผู้เล่ารู้สึกอย่างไร และผู้ชมเคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกันบ้างหรือเปล่า เพื่อหาว่าเรื่องราวของผู้เล่าและผู้ฟังมีจุดร่วมกันมากขนาดไหน
ผลปรากฏว่าการมีประสบการณ์ร่วมของผู้ฟังมักนำไปสู่การอธิบายความรู้สึกที่ไม่ตรงกันของทั้ง 2 ฝั่ง และเมื่อถามไปถึงหน้าตาของเหตุการณ์ร่วมเหล่านั้น มันกลับนำไปสู่คำอธิบายที่ไม่ตรงกันมากกว่าด้วย เรียกง่ายๆ ว่ามันพลิกสมมติฐานที่คาดเดากันเอาไว้ กลายเป็นว่าทั้งเรื่องอารมณ์ความรู้สึก และประสบการณ์ตรง ยิ่งเจอเรื่องคล้ายกันยิ่งเข้าใจไม่ตรงกัน แต่ว่าทำไมกันนะ?
กลับไปพูดถึงเรื่องวิธีการที่เราทำความเข้าใจกับประสบการณ์ของกันและกัน เมื่อเราบอกว่าเราเข้าใจคนคนหนึ่ง ความหมายที่แท้จริงของเราคือ ‘เราเข้าใจประสบการณ์คล้ายๆ กันของตัวเอง’ นั่นไม่ใช่เรื่องที่แย่เพราะมันก็คือวิธีการเข้าใจที่เห็นภาพชัดที่สุดหนึ่งทาง แต่ความใกล้ชิดกับประสบการณ์ของเรา ก็อาจทำให้มันไปบังสายตาและปิดใบหูของเราต่อประสบการณ์ของผู้เล่า ที่มีรายละเอียดแตกต่างออกไปจากประสบการณ์ของเราด้วย
“การฟังเรื่องราวเจ็บปวดของผู้อื่นอาจทำให้ผู้ฟังนึกถึงเรื่องราวเจ็บปวดของตัวเอง ที่ไปกระตุ้นความกระวนกระวายทางอารมณ์และความไม่สบายใจ และการตอบสนองทางความรู้สึกที่ท่วมท้นนี้ อาจเบี่ยงความสนใจของผู้ฟังออกจากเรื่องของผู้อื่นแล้วเพ่งไปยังตัวเองแทน” ยาคอบ อิสเรลาชวิลี (Jacob Israelashvili) ผู้วิจัยจาก SPSP เขียนเกี่ยวกับข้อสันนิษฐานที่อาจนำไปสู่ผลการทดลองที่ไม่เหมือนที่คาดการณ์ไว้นี้
อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกันยาคอบก็ยังทิ้งท้ายว่าการมีประสบการณ์ร้ายๆ ร่วมกันสามารถช่วยให้คน 2 คนมีความใกล้ชิดกันได้ไว และมองประสบการณ์ร่วมนั้นๆ เป็นประกายไฟแรกที่จะจุดติดให้กลายเป็นเพื่อนกันได้ในภายหลัง หากแต่ยังคงต้องใช้เวลาและความสามารถในการตีตัวออกหากจากประสบการณ์ของตัวเองให้ได้ เพื่อไม่ให้มันไปบดบังประสบการณ์ของอีกคน
แต่เมื่อพูดถึงการเจ็บปวดร่วมกันเพื่อสานสัมพันธ์…
ไม่ ความเจ็บปวดจากการรับน้องอาจไม่ได้สร้างความสามัคคี
เมื่อมองไปยังงานวิจัยจำนวนมากเกี่ยวกับประเด็นการมีความเจ็บปวดร่วมกันนั้น ยืนยันว่าความเจ็บปวดร่วมสามารถสร้างความสามัคคีได้จริงๆ มาถึงตรงนี้พี่ว้ากเขาคงยิ้มแล้ว แต่เมื่อลองเข้าไปดูรายละเอียดของการทดลองก็อดกังขาอยู่น้อยๆ ไม่ได้
การทดลองโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย มีอยู่เช่น การร่วมกันหาและเรียงลูกเหล็กในน้ำเย็นยะเยือก ร่วมกันลุกนั่ง และยืนขาเดียว แล้วทำแบบสอบถามถามว่ารู้สึกยังไงกับกลุ่มที่พวกเขาอยู่ด้วย คำตอบของกลุ่มที่โดนกิจกรรมเจ็บปวดมีแนวโน้มจะบอกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่าอีกฝั่ง ถ้าเราจะมองมันตามเนื้อผ้า แน่นอนว่าเราคงสรุปแบบนั้นได้ แต่คำถามสำคัญที่ควรตั้งคือนอกจากสถานการณ์รับน้อง ความเจ็บปวดรูปแบบนี้ประยุกต์เข้ากับโลกจริงของเราได้แค่ไหน และอีกคำถามสำคัญคือเราควรชำแหละมันลงไปอีกหรือเปล่า?
ในปี 2022 มีนักวิจัยลองชำแหละมันแล้ว และพบกับผลที่น่าสนใจ
Does hazing actually increase group solidarity? Re-examining a classic theory with a modern fraternity งานวิจัยโดยอัลโด ซิมิโน (Aldo Cimino) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคนต์สเตต ที่นำความเชื่อและการทดลองเกี่ยวข้องกับกิจกรรมรับน้องแบบทารุณ (Hazing) มาชำแหละและเจาะลึกลงไปมากกว่าเดิมเพื่อตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่ที่ความรุนแรงที่ส่งผลไปสู่ความบาดเจ็บหรือความตายได้จะนำไปสู่ความสามัคคี
โดยอัลโดทำการทดลองผ่านการจำลองการรับน้องของบ้าน ‘Beta’ ขึ้นมาเป็นเวลา 10 สัปดาห์ และวัดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Solidarity) 5 ครั้งต่อกลุ่ม โดยมีการทำซ้ำทั้งหมด 6 ครั้งถ้วน โดยเขาระบุว่ากิจกรรมในการทดลองจะไม่ได้มีอยู่เพียงกิจกรรมที่ทารุณ แต่กิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อความสนุกสนานด้วย
ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าการร่วมกิจกรรมทำให้ผู้คนใกล้ชิดกันมาขึ้นจริงๆ แต่เมื่อชำแหละออกมาแล้วปัจจัยที่เป็นตัวนำในการสร้างความสามัคคีคือ ‘ความสนุก’ มากกว่าอย่างอื่น “เมื่อเวลาผ่านไปผู้เข้าร่วมใกล้ชิดกันขึ้นแน่นอน แต่กิจกรรมโหดๆ หรือการ ‘รับน้องทารุณ’ ดูจะไม่ได้ส่งเสริมอะไรมากขนาดนั้น มันอาจหมายความว่าทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งที่การรับน้องให้ที่เราเข้าใจกันมาอาจจะเป็นเรื่องผิด และมันอาจแปลว่าสิ่งที่การรับน้องให้ หากมีอยู่ ก็ไม่ใช่ความสามัคคี” อัลโดกล่าว
ความเจ็บปวดคุ้มค่าแค่ไหน?
ตกตะกอนลงมาจากทั้ง 2 หัวข้อก่อนหน้า ความเจ็บปวดร่วมไม่ได้การันตีความเข้าใจ และความเจ็บปวดร่วมก็อาจไม่ได้การันตีความสามัคคี อาจจะเป็นตัวช่วยได้นิดหน่อยในการเริ่มสร้างสัมพันธ์ หรืออาจจะเข้าใจได้มากหากเจอคนที่แยกแยะความเจ็บของตัวเองออกจากของผู้อื่นได้ และยังขึ้นอยู่กับอีกหลายพันแง่มุมที่งานวิจัยไม่อาจตรวจสอบได้อย่างครอบคลุม คำถามที่เราต้องถามคือ ความเจ็บปวด ความเจ็บปวดร่วม และการสร้างความเจ็บปวดคุ้มค่าแน่ๆ หรือเปล่าในการสร้างมิตรสหาย?
ประเด็นแรกคือ การสร้างความเจ็บปวดเพื่อจะใช้มันในฐานะกาวหลอมเชื่อมสังคม ไม่ว่างานวิจัยจะบอกเราว่ายังไง มองไปยังโลกจริงของเราผลของการรับน้องให้อะไรกับเราบ้าง? ข่าวการซ่อมกันในค่ายทหารมีกี่ครั้งต่อปี? ความสามัคคีจากความเจ็บปวดร่วมที่ถูกสังเคราะห์ออกมา มันคุ้มกับความบาดเจ็บ การเสียชีวิต และปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นมาจริงๆ หรือไม่? ยิ่งเมื่อเรารู้แล้วว่าสิ่งที่เรากำลังเชื่อจากงานวิจัยเก่าๆ อาจไม่ได้เป็นจริงแต่มีรายละเอียดมากกว่านั้น
แต่ประเด็นถัดมา เกี่ยวกับความเข้าใจในกันและกัน ในขณะที่ประสบการณ์ความเจ็บปวดร่วมอาจไม่ได้ช่วยในการรีเลทคนได้ในทุกกรณี ความเป็นจริงของโลกคือเราไม่ได้เลือกที่จะเจ็บปวด เช่นเดียวกันกับที่เราไม่ได้เลือกคนที่จะเดินเข้ามาพบกันในชีวิต เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วการถามว่าคุ้มค่าหรือไม่ในกรณีนี้อาจเป็นคำถามที่ไม่ถูกนัก เราอาจต้องถามว่าเราจะทำยังไงกับความเจ็บปวดที่เราถือร่วมกันนี้ไว้ดีเสียมากกว่า
หากโลกบังเอิญเหวี่ยงเรามาพบกัน และสปาร์กกันจากความเจ็บปวด สิ่งที่ดีที่สุดที่ทำได้คือการเรียนรู้กันและกัน ช่วยกันพยุงให้อีกฝ่ายเดินทิ้งห่างความเจ็บปวดเหล่านั้นไว้ข้างหลัง
เพราะเราไม่ต้องการมันในการรักษาซึ่งกันและกันไว้
อ้างอิงจาก