‘วันนี้เป็นวันสำคัญที่สุดอีกวันหนึ่งในชีวิต วันที่อันกับบิ๊วแต่งงานกันบนท้องถนน ท่ามกลางเพื่อน ๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและความภาคภูมิใจ’
อันธิฌา แสงชัย หรือ อัน อาจารย์วิชาปรัชญา ศาสนา และสุนทรียศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เขียนบนโซเชียลมีเดียส่วนตัว พร้อมกับรูปของอันและคู่รักของเขา วรวรรณ แรมวัลย์ หรือ บิ๊ว พยาบาลฟรีแลนซ์ และผู้เขียนหนังสือ Something in between ทั้งคู่อยู่ในชุดวิวาห์สีขาว รายล้อมด้วยธงหลากสีในงาน ‘นฤมิตไพรด์’ งานพาเหรดเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศต้อนรับ Pride Month
รูปและคำพูดของทั้งคู่ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง พร้อมคำยินดีอย่างท่วมท้นกับงานแต่งท่ามกลางขบวนบนท้องถนน
ไม่กี่วันถัดมาหลังคืนชุดแต่งงาน และหลังคณะรัฐมนตรีกล่าวว่าจะมอบ ‘ของขวัญให้กลุ่มหลากหลายทางเพศ’ เป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต The MATTER ได้พูดคุยกับทั้งสอง ในมุมมองต่องานไพรด์ ชีวิตหลังแต่งงาน ครอบครัว และสมรสเท่าเทียมกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต
งานไพรด์สำคัญยังไง?
อัน: งานไพรด์ครั้งนี้มีความหมายมากๆ ในฐานะที่เราอยู่ใกล้ชิดกับขบวนการเคลื่อนไหว LGBTQ+ เราอยากจะจัดงานไพรด์ในเมื่องไทย เพื่อนๆ เราก็อยากจัดงานนี้มานาน แต่มันไม่ได้ง่ายเลย เราไม่อาจหาจุดร่วมกันได้ ต่างคนต่างทำงาน เจนเดอร์ของเราหลากหลาย เรามีองค์กรที่แตกต่างหลากหลาย มีหลากหลายประเด็น เริ่มไม่ได้สักทีด้วยเหตุผลหลายอย่าง ยิ่งความท้าทายทางการเมือง ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดทางการเมือง แล้วยิ่งช่วงที่มันยากลำบากเศรษฐกิจ โควิด มันยากเหลือเกิน
ในกลุ่มเองเราก็เจอความท้าทายหลังรัฐประหารแล้วเราอยู่ในรัฐบาลประยุทธ์มา 8 ปี โอ้โห มันมีคำถามมากมายในกลุ่มว่าแล้วเราจะเคลื่อนไหวยังไงภายใต้รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเราก็มีความคิดเห็นและคำตอบแตกต่างกันมากเหลือเกิน อย่างน้อยก็เรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิตและกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เคลื่อนไหวอยู่
แต่สุดท้ายแล้วเราก็เห็นความงดงามในการเคลื่อนไหวนี้ ในที่สุดเราก็ไม่ได้ปฏิเสธในข้อแตกต่าง ใครอยากผลักดันอะไรก็เป็นสิทธิที่คุณอยากผลักดัน ถึงที่สุด พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็เกิดขึ้น แต่สมรสเท่าเทียมก็ไม่ได้หายไปไหน แล้วมันก็มีพลังมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ด้วย นี่คือที่มาว่าทำไมงานนี้ถึงสำคัญ มันคือพลังของชาว LGBTQ+ จริงๆ
วันที่เราเห็นเพื่อนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเสนอตัวว่า อยากทำเรื่องนี้ มันเป็นพลังที่มาจากธรรมชาติจริงๆ เขาไม่มีแบ็คอัพ ไม่มีต้นทุน เริ่มจากไม่มีอะไรเลย และสิ่งที่เขาทำมันใหญ่จริงๆ และเมื่อรู้อย่างนั้นเราก็รู้สึกว่าเราต้องไปเดินอยู่ในขบวนนั้นให้ได้ อยากเคียงบ่าเคียงไหล่ อยากให้ตัวตนของเราเล็กๆ ปรากฏตัวเพื่อบอกเขาว่า เราสนับสนุนเขา และขอบคุณที่เขาทำสิ่งเหล่านี้เพื่อสนับสนุนเราและชุมชน LGBTQ+
การเคลื่อนไหวเรื่องความหลากหลายทางเพศมันยากขึ้นเพราะการเมืองยังไง?
อัน: หลังรัฐประหารเป็นต้นมา ประเด็นเรื่อง LGBTQ+ มันเหวี่ยง มันเติบโต มันยากลำบาก และมันเติบโตจากความยากลำบากนั้นด้วย เราไม่อาจพูดถึงสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยเราไม่สนใจการเมืองอีกต่อไป มันมีคนที่อยู่ในชุมชนที่ต่อต้านอำนาจเผด็จการ ไม่ใช่เรื่องเพศอย่างเดียว มีคนต่อสู้เรื่องการเมือง มีคนต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน สิทธิในการแสดงออก ประเด็น LGBTQ+ ในตัวของมันเองก็ไม่สามารถสู้โดยไม่พูดถึงเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มเพื่อนเราที่ไม่ได้สนใจกับการเมืองขนาดนั้น อยากผลักประเด็นเพศให้ไกลกว่าเดิมเท่านั้น
หลังจากนั้นเราหาจุดที่มันพอดีที่จะทำงาน มันมีคนรุ่นใหม่ๆ มีเสียงใหม่ ที่เข้ามาอยู่ในการเคลื่อนไหว LGBTQ+ ซึ่งมันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในมูฟเมนต์นี้ด้วย เรียกได้ว่าตอนนี้เรากำลังนำโดยคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา ที่เขามีพลังมหาศาล ประกอบกับโซเชียลมีเดียนำเสนอเรื่อง LGBTQ+ เยอะขึ้นอย่างมาก เรื่องนี้จึงถูกเปิดออกอย่างมีนัยยะสำคัญ
ดังนั้นมันเลยเป็นกำลังสำคัญมากๆ คนที่ไม่ใช่นักกิจกรรมก็พูดเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเยอะขึ้นมากๆ อย่างงั้น Pride (ไพรด์) ในขณะนี้คือประวัติศาสตร์ในการเคลื่อนไหว LGBTQ+ ที่สำคัญมากๆ ในไทย มันไม่ได้ย่ำกับที่อีกต่อไป แต่สังคมตื่นตัวกับเรื่องนี้มากๆ และใครก็ได้สามารถลุกขึ้นมานำการเคลื่อนไหวนี้ได้
ชีวิตแต่งงานและไม่แต่งงานต่างกันหรือเปล่า?
อัน: เรารู้สึกว่าต่างมากเลยนะ เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่เลย พอแต่งในงานไพรด์ถึงรู้ ในชีวิตเราเคยแต่งงานมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ก็เลิกรากันไป ผลคือเราตั้งคำถามกับการแต่งงานมากทีเดียว เราต่อสู้สิทธิการแต่งงาน การสมรสเท่าเทียม แต่ในตัวเราเองเราถามเสมอว่า ‘เราต้องการมันมั้ย?’ เรารู้ว่ามันเป็นเป็นเรื่องสำคัญ และคนอื่นก็ควรเข้าถึงมันได้ มันเป็นสิทธิ แต่เราเองก็รู้สึกว่า เออ เราก็ไม่ต้องก็ได้นี่
แต่พอเจอบิ๊ว เรารู้สึกอยากแต่งงาน เป็นการให้เกียรติชีวิตคู่ของเรา และเราอยากป่าวประกาศมันออกไปเพราะมันมีค่าต่อชีวิตคู่เราสองคน ตั้งแต่วันที่ไปลองชุดเรารู้สึกหลายอย่างในตัวเปลี่ยนไปหมดเลย มันไม่ใช่ความคิดอีกต่อไป มันเป็นความจริง สายใยตรงนั้นมันมั่นคงและเข้มแข็งอย่างบอกไม่ถูก แต่มันมีความหมายมาก
นอกจากการแสดงความรัก การแต่งงานมีความหมายว่าอะไรอีกไหม?
บิ๊ว: พวกเราไม่ได้เป็นคนที่รู้สึกว่าเราต้องอยู่ในธรรมเนียมอะไร เราสามารถมีพิธีกรรมแบบของเรา หรือมีความรักแบบของเรา เราคุยกันหลายครั้งว่าจริงๆ เราอยากบอกทุกคนว่า ความสัมพันธ์ของ LGBTQ+ มันสามารถจริงจังหรือมีรูปแบบยังไงก็ได้ มีความมั่นคงได้ไม่ต่างจากคู่ชายหญิง
วันที่ตัดสินใจไปเดินงานไพรด์ ตอนที่เราตัดสินใจแต่งงานกัน พื้นที่ตรงนั้นมันเต็มไปด้วยเพื่อนที่เขามีความรักในตัวเอง มีความมั่นคงในตัวเอง มันเป็นพลังงานที่ออกมาจากภายในพวกเขาแล้วส่งต่อมาที่เรา เราเองก็รู้สึกอยากส่งพลังงานแบบนั้นกลับไปหาเขาด้วย เป็นการส่งพลังงานดีๆ ให้ต่อกันและกัน
ส่วนความรู้สึกที่เปลี่ยนไปเราเหมือนพี่อันเลยนะ เรารู้สึกว่าตั้งแต่วันที่เขาเดินมาถามเราว่าแต่งงานกันมั้ย เราเข้าใจเลยว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับคนที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้วและรู้สึกตั้งคำถามกับมันตลอดเวลา มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครสักคนจะบอกกับเราว่า เขาอยากอยู่กับเราไปเรื่อยๆ อาจไม่ทั้งชีวิต การแต่งงานคือการบอกในขณะนี้ว่า เรารักคุณมาก เราอยากอยู่กับคุณ และบอกคนอื่นๆ ว่าความรักนี้สามารถส่งต่อไปหาพวกเขาได้ ถึงทางเท้าจะไม่เท่ากันแต่พอแต่งงานแล้วก็รู้สึกเหมือนเราเหยียบพื้นแล้วมันเสมอกันมากขึ้น มันมั่นคงขึ้น
อัน: มันทั้งฟู แล้วมันก็ grounding ลงไปด้วย มันหยั่งราก เหมือนต้นไม้ที่โตขึ้นมาจริงๆ มันไม่ใช่แค่คอนเซปต์ในหัวเราหรือเรื่องส่วนตัว แต่มันใหญ่โตกว่านั้นมาก จริงๆ ความรู้สึกอบอุ่นอ่อนโยนที่ได้รับจากผู้คนมันเหนือความคาดหมาย เป็นของขวัญที่ไม่คาดคิดว่าจะได้รับ เราไปเปิดดูสิ่งที่นรีทวิตกัน คนที่เขียนถึงสเตตัสการแต่งงานของเรา คอมเมนต์ เราต้องขอบคุณมากๆ เลย มันเป็นความรู้สึกดีๆ ที่ส่งมาแล้วเราได้รับ เราเห็นคำว่ายินดีเป็นร้อยเป็นพันครั้ง นอกจากนั้นมันเป็นของขวัญให้ครอบครัวเราด้วย ให้พ่อ แม่ ความยินดีเหล่านั้นมันส่งไปถึงพวกเขาด้วย
บิ๊ว : แล้วเราว่ามันเป็นความยินดีที่ส่งไปถึงคู่ LGBTQ+ อีกหลายๆ คู่ คู่เพศกำเนิดหญิงหลายคู่มักไม่ถูกมองว่าเป็นคู่รักกัน แต่เป็นเพื่อน เป็นคนที่อยู่ด้วยกัน เรารู้สึกว่าพอภาพเราถูกส่งออกไปแล้วมีคนร่วมยินดีหลายๆ ท่านมันเกิดความเปลี่ยนแปลง มีน้องคนหนึ่งทักมาหาเราว่าเห็นภาพเรา พร้อมกับรีแอ็กที่คนมีต่อภาพภาพนี้ ทำให้เขามีความกล้าที่จะไป come out กับครอบครัวของเขา ตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกใจฟูขึ้นมาอีก เราขอบคุณมากที่จะเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลง เราขอส่งต่อพลังทั้งหมดที่คนส่งมาให้เราไปสู่ทุกๆ คู่ด้วย
มุมมองครอบครัวทั้งคู่ต่อความสัมพันธ์เป็นยังไงบ้าง?
บิ๊ว : พ่อแม่เราค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องเพศ แต่เราเคยสังเกตเวลาพ่อแม่แนะนำเรากับเพื่อนของพ่อแม่ เขาจะแนะนำว่า เออ เป็นพี่สาว เป็นเพื่อนลูกสาว ซึ่งตรงนี้เมื่อก่อนเรามองว่ามันไม่ได้ มันต้องบอกสถานะให้ชัดเจนอีก แต่เราตีความว่ามันคือการปกป้องจากครอบครัว เพราะว่าพ่อแม่เรายอมรับได้ ว่าเออ มันก็เป็นแฟนกันนั่นแหละ แต่สิ่งที่เขาไม่รู้คือเพื่อนของพวกเขาสักคนจะเป็นโฮโมโฟเบียร์หรือเปล่า แล้วมันอาจเป็นผลเสียต่อกันได้ เราเลยเกิดการคุยกันในครอบครัว ซึ่งการคุยตรงนั้นช่วยได้มากๆ
อัน : เขาอาจมองว่าสังคมมันไม่ปลอดภัย และนั่นเป็นวิธีการป้องกันของเขา กับญาติมิตรที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะรู้หมดแล้ว แต่เขาจะแนะนำอันกับคนที่ห่างๆ ออกไปว่าเราเป็นพี่สาวคนโต แต่เราเข้าใจเขานะ
ความสนับสนุนจากครอบครัวสำคัญขนาดไหน?
บิ๊ว : สำหรับเราเราไม่เคยเห็นความแตกต่าง เพราะเราอยู่ในบ้านที่เป็นพ่อแม่รุ่นใหม่แล้ว พวกเขาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว เราเลยไม่เคยรู้สึกทรมานกับการอยู่ในครอบครัวที่ไม่สนับสนุน คนที่เล่าได้ดีกว่าคือพี่อัน
อัน : เราโตมาในครอบครัวที่มีความคาดหวังอีกแบบ คือแม่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ตอน come out แม่เราก็ถึงกับตัดแม่ตัดลูกเลยนะ แต่นั่นคือเรื่องสิบกว่าปีมาแล้ว เราก็เลือกจะทำงานกับครอบครัว เรายืนยันว่าเราเลือกชีวิตแบบนี้เราก็มีความสุขได้ ซึ่งแน่นอนว่ามันลำบาก
แล้วครอบครัวมีความสำคัญมากๆ โดยส่วนใหญ่แล้วคนเรามีบาดแผลชีวิตจากครอบครัวเยอะมาก ตั้งแต่จากวัยเด็ก คนในชุมชนเราเจอเรื่องนี้เกือบทั้งหมด บิ๊วนี่เป็นส่วนน้อยที่โชคดีมากที่เจอครอบครัวที่สนับสนุนและไม่มีคำถามกับเรื่องนี้ เรารู้ว่าพ่อแม่ห่วงเขา พ่อแม่เป็นห่วงว่าเขาต้องเจออะไร แต่ครอบครัวเขามีการดูแลและสนับสนุน แต่สำหรับอันจะเจอแรงต้านและทำให้เราเข้าใจเลยว่า แผลจากการที่ครอบครัวไม่ยอมรับเพศวิถีของเรามันฝังลึกมาก และมันยากมากเลย
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเลยคือ เราไม่เชื่อในความรัก เราไม่เชื่อว่าเรามีคุณค่าพอที่จะเจอความรักที่ดี ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่เราเห็นเกิดขึ้นกับเพื่อนๆ หลายคน ในน้องๆ หลายคนที่เรารู้จัก ซึ่งมันส่งผลให้เมื่อเรามีความรักไม่ว่าจะเพศใด เราไม่ได้รับการโอบอุ้มจากสังคม เรารักกันโดยประคับประคองคู่ชีวิตและครอบครัวของเราไปอย่างโดดเดี่ยว และไม่มีใครปกป้องเราจากจารีต
และเรื่องที่เป็นปัญหาไปมากกว่าจารีตคือความรู้สึกลึกๆ ในใจคือความไม่เชื่อมั่น เราไม่เชื่อว่าเราแต่งไปรักของเราจะยั่งยืน ประกาศไปจะได้อะไร? ความอบอุ่นมั่นคงจะเกิดขึ้นได้หรือเปล่า นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว
อยากบอกอะไรกับคนที่รู้สึกไม่มั่นคงกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้บ้าง?
บิ๊ว : ยืนหยัดบนพื้นให้มั่นคง ถ้ารากใหญ่มันไม่ทำงาน ให้หยั่งรากฝอยลงไปแล้วค่อยๆ เติบโต
อัน : เราอยากให้กำลังใจ เราเป็นคนหนึ่งที่เคยเชื่อว่า เราไม่มีคุณค่าคู่ควรต่อความรักที่ดี และวันนี้เราทำอะไรหลายอย่างในชีวิตเหลือเกิน เคยล้มเหลวในความสัมพันธ์มากมาย แต่วันนี้เราเองก็ได้ทำสิ่งที่เราประหลาดใจ นั่นคือการแต่งงานบนท้องถนน ท่ามกลางผู้คนมากมาย และมีการป่าวประกาศออกไปอย่างกว้างไกล เรามาไกลเหลือเกิน และมันเป็นไปได้
ที่จริงทุกคนเกิดมามีสิทธิที่จะรักใครสักคนหรือหลายๆ คน และเป็นที่รักของใครบางคน หรือหลายๆ คน มนุษย์ทุกคนมีค่าเพียงพอที่จะถูกรัก อันนั้นเป็นความจริงยิ่งกว่าที่สังคมโฮโมโฟเบียร์ยอมที่จะบอกเรา ดังนั้นอย่าเชื่อสิ่งที่คนอื่นบอก แต่เชื่อว่าเรามีคุณค่าพอที่จะมีรักที่ดี
อยากบอกอะไรกับพ่อแม่ที่มีบุตรหลานเป็นสมาชิกของชุมชน LGBTQ+ ไหม?
บิ๊ว : ถึงเราไม่เคยเป็นพ่อแม่คน แต่เรารู้ว่าพ่อแม่เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อใครบางคนเยอะมาก เรารู้สึกว่าการที่เรารีแอ็กอะไรสักอย่างสามารถส่งผลต่อชีวิตของเขาทั้งชีวิตได้ เลยอยากให้มองว่า ถ้าพ่อแม่รักคนตรงหน้าเราเนี่ย อยากให้แคร์สังคมน้อยลง และเติมความรักให้เขาเยอะๆ คนหลายคนถูกทำร้ายจากสังคมมากพอแล้ว บ้านควรเป็นที่ปลอดภัย
อัน : เราเป็นแม่ด้วยนะ มีลูกสาวอายุ 13 แล้ว เราอยากฝากเรื่องที่ทำได้จริงมากๆ เลย นั่นคือพ่อแม่เรียนรู้เรื่อง Gender เลยนะคะ เราเองก็เติบโตมาในสังคมที่ไม่เคยบอกอะไรเรามาเหมือนกัน อคติอะไรฝังอยู่ในหัวของเรามากมาย พ่อแม่เองก็โดนเลี้ยงมาด้วยจารีตเรื่องเพศและบทบาททางเพศที่เข้มข้น
เราเชื่อมากๆ เลยนะว่าพ่อแม่หลายๆ คนเองก็ไม่รู้สึกเติมเต็มกับความคาดหวังที่กรอบบทบาททางเพศของตัวเองกำหนดมาให้เช่นกัน ตามกรอบบทบาททางเพศแล้วคุณก็อาจไม่ได้เป็น ‘พ่อหรือแม่ที่ดี’ หรือ ‘ผู้หญิงหรือผู้ชายที่สมบูรณ์’ และคุณเองก็เจ็บปวดไปกับการสมบูรณ์แบบตามบทบาททางเพศแบบนั้น ดังนั้นคุณอย่าทำอย่างนั้นกับลูกเลย
สังคมชายเป็นใหญ่บอกทั้งหญิงและชายว่าพวกเขาต้องเป็นยังไง และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครสมบูรณ์ตามกรอบของมันเลย ฉะนั้นอย่าคาดหวังสิ่งนั้นจากลูก ดังนั้นเริ่มเรียนรู้เรื่องนี้ มันต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ทั้งหมดเลย ความรู้เรื่องเพศที่มีในสังคมไทยที่ผ่านมามันอำนาจนิยมมากๆ ชายเป็นใหญ่มากๆ พ่อแม่ทุกคนเลยควรเริ่มเรียนรู้เรื่อง Gender ใหม่ ลองฟังเสียงความเป็นมนุษย์จากคนอื่นๆ และที่สำคัญจากลูกตัวเอง มองว่าเป็นมนุษย์ที่มีอำนาจเลือกในสิ่งที่เขาอยากเป็นตั้งแต่เกิดมาเลย และเรียนรู้จากเขา
คิดยังไงกับการที่รัฐบาลบอกว่า ‘ให้ พ.ร.บ.คู่ชิวิตเป็นของขวัญของชาว LGBTQ+’ บ้าง?
อัน : โกรธ นี่ไม่ใช่ของขวัญ มันคือการเหยียดหยาม มันสะท้อนให้เห็นว่าคุณไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ของพวกเราเลย แล้วคุณไปอยู่ในฐานะนักการเมืองที่แย่งชิงสิทธิต่างๆ จากเราไปตั้งแต่ต้น แล้วคุณไม่รู้ตัว เป็นเรื่องที่ประหลาดมาก เหมือนคนมาปล้นบ้านเราแล้วบอกว่า ‘ฉันให้ของขวัญเธอ’ ฉะนั้นเราปฏิเสธและไม่ยอมรับ
การไม่มีสมรสเท่าเทียมแปลความหมายว่าอะไรได้บ้าง?
อัน : เราแปลมันว่า คุณไม่ได้สนใจความรู้สึกนึกคิด ความเป็นอยู่ที่ดี สิทธิประโยชน์ของคนที่อยู่ในประเทศนี้จริงๆ ถ้าคุณคิดว่า ‘คนพวกนี้ได้พ.ร.บ.คู่ชีวิตก็พอแล้ว’ นั่นแปลว่าคุณไม่เข้าใจอะไรเลย คุณไม่ได้เคารพพวกเขาอย่างแท้จริง
นักการเมืองที่ผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตแล้วปฏิเสธสมรสเท่าเทียม ให้รู้ไว้เลยนะคะว่าคนเหล่านี้ไม่ได้สนใจศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยอย่างแท้จริง เขาเป็นแค่คนที่เล่นการเมือง แล้วสนใจแค่นั้น ว่าจดปากกาไปแล้วเขาจะได้อะไร เขาจะรักษาอะไรเอาไว้ แค่นั้นเลย
บิ๊ว : เรารู้สึกว่าเขาไม่มองพวกเราเป็นคน สมรสเท่าเทียมคือการเปลี่ยนแค่จาก ชายหญิง ที่สามารถแต่งงานกันได้ เป็นบุคคล เท่ากับว่าประชาชน LGBTQ+ จะมีสิทธิเท่ากับประชาชนคนไทยทุกคน แล้วก็สามารถจะมีสิทธิทางกฎหมายเท่ากับทุกคน ไม่ต้องกำหนดเพศอะไรทั้งสิ้น แต่เขาเอากฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่มีข้อจำกัดมาใช้กับเรา ซึ่งเรามองว่าเป็นการแบ่งแยกเราออกจากประชาชนคนอื่นๆ
อัน : ไม่ตัดสินคู่ที่จะที่ใช้ พ.ร.บ.คู่ชีวิตนะในกรณีที่เขาจำเป็นต้องใช้ แต่สำหรับคู่เรา เราไม่ใช้ เพราะมันเท่ากับว่าเราดูถูกตัวเอง สำหรับเราแล้วการยอมรับกฎหมาย พ.ร.บ.คู่ชีวิตเท่ากับว่าเป็นการยอมรับว่าเราไม่มีศักดิ์ศรีเท่ากับคนอื่นๆ ในประเทศนี้
พ.ร.บ.คู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียมต่างกันยังไง?
อัน : ตามข้อกฎหมายแล้ว พ.ร.บ.คู่ชีวิตมีหลายข้อที่ครุมเครือ สามารถมีช่องว่างในการตีความ เลี่ยงบาลี ให้ผ่านง่ายๆ การมีช่องว่างให้ตีความนี้มันสะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายพร้อมกลับไปเป็นเหมือนเดิม ก็ไม่ได้ให้อะไรเธอเลย ไม่ได้ปกป้องสิทธิอะไรเลย สิทธิประโยชน์ไม่เท่ากัน และเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ ในกรณีที่ทำอาชีพที่คู่สมรสต้องได้รับสิทธิประโยชน์ร่วมกันจากรัฐ กฎหมายนี้ไม่ให้
ถ้าคุณเป็นข้าราชการ กฎหมายนี้ไม่ให้อะไรต่อคู่ชีวิตคุณเลย ด้วยเหตุผลแค่ว่ารัฐไม่อยากจ่ายตังค์ เพราะข้าราชการที่เป็น LGBTQ+ มีอยู่จำนวนหนึ่ง และรัฐไม่อยากจ่ายในส่วนนั้น เขาแค่อยากให้กฎหมายนี้ผ่านๆ ไป โดยทำเป็นว่าพวกเขาตอบโจทย์ชุมชน LGBTQ+ ไปแล้ว
สุดท้ายคือต้องถามว่า ถ้าคุณเห็นคนเท่ากันคุณแยกกฎหมายไปทำไม? ในเมื่อมันมีทางที่ง่ายกว่านั้นมาก สมรสเท่าเทียมคือแค่เปลี่ยนข้อกฎหมายที่เขียนว่า ชายและหญิง เป็นบุคคลและบุคคล มันง่ายกว่ามาก แทบไม่ต้องไปแก้อะไรเลย เพียงแก้คำบางคำในกฎเดิม ทำไมไม่ทำสิ่งที่ง่ายกว่า? ทำไมถึงเลือกทำในกฎหมายที่ไม่เคยมีมาก่อนและเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ? รวมถึงเป็นกฎหมายที่คน LGBTQ+ ปฏิเสธ กฎที่ตีตราฟ้องว่าคุณเห็นเขาไม่เท่าเทียม แล้วทำไมถึงมาบอกว่าคุณออกกฎนี้มาส่งเสริมพวกเขา? เราเชื่อว่าคนในรัฐบาลไม่เข้าใจเรื่องนี้
อัน : พ.ร.บ.คู่ชีวิตมีความเป็นมาเป็นไปที่ยาวนานมาก มันเกิดตั้งแต่เมื่อสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างขนาดนี้ ทีนี้เขาก็รู้สึกว่า เออ ถ้าไปแก้กฎหมายสมรสน่าจะโดนต้านเยอะ ฉะนั้นก็ไปแก้อะไรที่ซอฟต์ๆ ก่อน ให้ค่อยๆ ได้ทีละคืบ เป็นยุทธศาสตร์ของการเคลื่อนไหว LGBTQ ย้อนกลับไปตั้งแต่ 10-20 ปีก่อน
แต่คำถามตอนนี้คือยุทธศาสตร์นี้ยังจำเป็นอยู่แค่ไหน ไอ้การ ‘ได้เท่าที่เขาให้’ มันจำเป็นแค่ไหนในเวลาที่สังคมไปไกลกว่าสิ่งที่เราคาดคิดไว้มากแล้ว ตอนนี้คนที่ลงชื่อเรียกร้องในสมรสเท่าเทียมในแถลงการณ์มันแตะ 400,000 คนแล้ว เรามีพรรคการเมืองที่ดำเนินเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ แล้วทำไมเราต้องยอมแค่นั้น? เราเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้
เรื่องแบบนี้ค่อยๆ ได้ไหม?
บิ๊ว : โลกมันเดินไปไกลกว่านั้นแล้ว แล้วเราจะไปรอค่อยๆ อยู่ทำไม
อัน : เวลามีคนถามแบบนี้เราก็อยากถามเขากลับนะ และอยากได้ยินคำตอบเขาด้วยว่าแล้วจะค่อยๆ ทำไม? และในขณะที่แก้อีกอันมันง่ายกว่า
สมมติเราขับเคลื่อนสมรสเท่าเทียมผ่านแล้วเราต้องไปไหนต่อ?
อัน : มีอีกเยอะมากเลย สมรสเท่าเทียมเป็นจุดเริ่มต้น อย่าคิดว่าถ้าเกิดได้ขึ้นมาแล้วสมรสเท่าเทียมคือความสำเร็จที่หมดแล้ว ไม่จริงนะคะ
ในชุมชนนี้มีปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่านั้นเยอะ เรื่องสวัสดิการ อดติทางเพศ การบูลลี่ในโรงเรียน การบริจาคเลือด แม้แต่ในประเทศที่เจริญแล้วอคติทางเพศและโฟเบียร์ยังไม่สิ้นสุดเลย แม้เขาจะมีกฎหมายที่ก้าวหน้าและการดูแลที่ดีจากรัฐแล้ว คนเกลียดกลัวและการรังแกยังมีอยู่เสมอมา รวมถึงยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เพศหลากหลายไม่ได้รับเท่าเพศไบนารี่ เช่น คำนำหน้าชื่อ สวัสดิการ การแต่งงานเองก็ไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน ชุมชนคนที่มีคู่รักมากกว่าคนเดียวก็มี
และถ้ากฎหมายสามารถก้าวหน้าไปได้มันต้องรองรับความรักที่มีความแตกต่างหลากหลายรูปแบบได้มากกว่านี้อีก และมันเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญหน้าและผลักดันต่อไป