เป็นที่เข้าใจกันดีแล้วว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ คือการแก้ไขข้อความ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยเฉพาะมาตรา 1448 จาก “การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว” เป็น “การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อบุคคลสองคนมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์แล้ว” เพื่อให้ทุกเพศสภาพเพศวิถีสามารถจดทะเบียนสมรสสร้างครอบครัวกันได้ ไม่ใช่ผูกขาดเงื่อนไขให้เฉพาะผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งเป็นต้นตอของการเลือกปฏิบัติ และตอนนี้ก็มีการเคลื่อนไหวโดยประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะแก้ไขมาตรานี้เพื่อให้เกิดสมรสเท่าเทียม มีการลงนามเสนอการแก้กฎหมายนี้ ใน https://www.support1448.org
เพียงแค่เริ่มเปิดให้ลงชื่อได้ 2 วัน ก็จะถึง 209,170 รายชื่อแล้ว (อัพเดตล่าสุดตอนที่กำลังเขียนบทความ)
ขณะที่ พรบ.คู่ชีวิต คือ สมรสไม่เท่าเทียม เพราะกำหนดร่างมาเพื่อจะยังคงผูกขาดให้ชายกับหญิงรักต่างเพศจดทะเบียนสมรสกันได้เท่านั้น ไม่เชื่อว่าคนรักเพศเดียวกันจะสมควรสมรสด้วยกันได้ และไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนจำนวนมากเรียกร้อง และ ตัว ร่าง พรบ.คู่ชีวิต ก็ไม่ได้ให้สิทธิกับ LGBTQ เทียบเท่ากับ กับคู่สมรสชายหญิง
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่ารัฐบาลพยายามเร่งผลักดัน พรบ.คู่ชีวิต เพราะสมรสเท่าเทียมทำให้กฎหมายเก่าเลอะเลือน สร้างความยุ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกาและหลายกระทรวงไม่เห็นด้วย พรบ.คู่ชีวิตน่าจะเพียงพอแล้วสำหรับ LGBT อ้างว่าหลายประเทศก็ออกกฎหมายคู่ชีวิต
สมกับเป็นรัฐบาลเผด็จการ ที่ไม่ฟังเสียงประชาชนไม่เข้าใจสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ อะไรที่เลือกปฏิบัติสร้างความไม่เท่าเทียมก็พยายามธำรงรักษาไว้
คือที่หลายประเทศออกกฎหมายคู่ชีวิต คุ้มครองความสัมพันธ์คนรักเพศเดียวกันก็จริง แต่นั่นมันเมื่อหลายปีแล้ว เป็นทศวรรษ แล้วก็แก้กฎหมายคู่สมรสให้เกิดสมรสเท่าเทียมแล้วมาหลายปีเช่นเดียวกัน อย่างอังกฤษมีกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตในปี พ.ศ.2548 แล้วต่อมาก็ให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ในปี พ.ศ.2557 ที่ออสเตรียให้จดทะเบียนคู่ชีวิตปี พ.ศ.2553 แล้วก็ให้จดทะเบียนสมรสกันได้ในปี พ.ศ.2560 ที่ฝรั่งเศสให้จดทะเบียนคู่ชีวิตในปี พ.ศ.2542 แล้วในปี พ.ศ.2556 ก็แก้กฎหมายให้เกิดสมรสเท่าเทียม ส่วนคู่ไหนไม่ว่าชายหญิงรักต่างเพศหรือ LGBT จะพึงใจเป็นคู่ชีวิตไม่จดทะเบียนสมรสก็ย่อมได้ เป็นสิทธิเสรีของแต่ละบุคคล หากแต่กฎหมายเป็นการสร้างความเสมอภาคขั้นพื้นฐาน
ดังนั้นพรบ.คู่ชีวิตที่รัฐบาลไทยพยายามร่างแล้วจะเอามาใช้
จึงไม่มีค่าความจำเป็นใดๆ เพราะความต้องการของประชาชน
คือแก้ไขกฎหมายสมรส มาตรา 1448
เอาเข้าจริงไม่ว่าคู่รักคู่ไหนก็สามารถเป็นคู่ชีวิตกันได้ ทั้งชายหญิงรักต่างเพศ ไม่ใช่แค่ LGBTQ เท่านั้น และการมีอยู่ของข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่กำหนดเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้นที่จะสมรสกันได้ ก็กำลังผลักให้คู่รักต่างเพศ ชาย-หญิง กลายเป็นอภิสิทธิ์ชน และทำให้คู่รักLGBTQ เป็นพลเมืองชั้นสอง ชนชั้นชายขอบของสังคม ไม่ได้รับสิทธิศักดิ์ศรีเท่าชายหญิงรักต่างเพศ
ความรักที่แท้จริงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้บนความไม่เท่าเทียม การมีสิทธิเหนือกว่าหรือถูกเลือกปฏิบัติ
เมื่อประชาชนอยู่ในรัฐที่เข้ามานิยามความหมายคุ้มครองความรักความสัมพันธ์ เช่นการสมรสกัน ซึ่งมีผลต่อการคุ้มครองศักดิ์ศรี สิทธิ สวัสดิภาพ รัฐก็ต้องย่อมนิยามอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่ารักนั้นจะอยู่ในรูปแบบใด การที่ประชาชนกับมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศและเครือข่าย ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า มาตรา 1448 เลือกปฏิบัติขัดรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการให้คุณค่าอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชายล้วนมากเกินไปด้วยซ้ำ ที่ประชาชนอนุญาตให้เข้ามานิยามความรักความสัมพันธ์
ชอบมีคนพูดว่า ประเทศไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศมาก
เป็นสรวงสวรรค์ของ LGBTQ ก็จริง แต่มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
ที่พูดๆ กันมันเป็นไปเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อ vagaytion เป็นสรวงสวรรค์เพื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า ไม่ใช่เพื่อประชาชนพลเมืองในประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ.2523 หนังสือท่องเที่ยวสำหรับ LGBT ที่ชื่อ Spartacus International Gay Guide 1980 อธิบายว่าประเทศไทยเป็นสรวงสวรรค์ของเกย์ กลายเป็นลายลักษณ์อักษรชิ้นแรกที่พูดถึงไทยในฐานะ vagaytion อีกแห่ง เนื่องด้วยสถานบันเทิงแหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืน (Nightlife) ดกดื่น และการแสวงหาหฤหรรษ์ทางเพศอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะกรุงเทพและเมืองท่องเที่ยว และไม่มีกฎหมายห้ามรักเพศเดียวกัน หรือ sodomy law
อันที่จริงประเทศไทยก็เคยมี sodomy law นะ ในสมัยรัฐบาลรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2442 ได้ออก “พระราชกำหนดลักษณข่มชืนล่วงประเวณี ร.ศ. 118” ซึ่งในมาตรา 6 ใน “ผู้กระทำชำเราผิดธรรมดาโลกย์” ซึ่งได้แก่การร่วมเพศทางเวจมรรค (ร่วมเพศทางทวารหนัก) และการร่วมเพศกับสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งกำหนดความผิดโดย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500 บาท ขณะที่ผู้สมรู้ร่วมคิด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300 บาท[1]
ต่อมาอีก 9 ปี พ.ศ. 2451 มีการบัญญัติ“กฎหมายลักษณะอาชญา ร.ศ.127″ มาตรา 242 ไว้ว่า การร่วมเพศทางทวารหนักเป็น“ชำเราผิดธรรมดามนุษย์” ต้องจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และให้ปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 500 บาท[2] กล่าวกันว่าผู้ยกร่างคัดลอกเอามาจากประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย ค.ศ. 1860 (The Indian Penal Code)[3] ตามมาตรา 377 ที่รับอิทธิพลอำนาจและโลกทัศน์จากจักรวรรดินิยมอังกฤษอีกที ว่าการร่วมเพศทางทวารหนักเป็นการกระทำที่ผิดธรรมชาติ เหมือนมาเลย์ สิงคโปร์ พม่าที่ตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ
หลังปฏิวัติ พ.ศ.2475 และไทยก็แก้กฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นเอกราชสมบูรณ์ Sodomy law จากอังกฤษหรือกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกันก็ถูกยกเลิกและไม่มีการบัญญัติห้าม เมื่อมีการยกร่างประมวลกฎหมายอาญาใน พ.ศ. 2499 เพราะรัฐบาลที่มาจากสมาชิกคณะราษฎรถือว่าเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างยินยอมโดยสมัครใจ และเป็นเรื่องส่วนบุคคล ตราบเท่าที่ไม่ใช้กำลังขู่เข็ญหรือทำกับเด็ก[4]
รัฐไทยอาจจะยอมรับการมีอยู่ของคนรักเพศเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐไทยก็ยังไม่ได้ยอมรับว่าคนรักเพศเดียวกันจะรักกันได้สร้างครอบครัวกันได้ ด้วยการธำรงรักษาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่ยังไม่ยอมรับว่าคนรักเพศเดียวกันจะเป็นคู่สมรสกันได้
การแก้ไขมาตรา 1448 จึงเป็นการทำให้ประเทศไทยเป็นสรวงสวรรค์ของประชาชนไทย LGBTQ ที่แท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 16 หน้า 16-17 (ประกาศวันที่ 9 เมษายน ร.ศ. 118).
[2] เอกูต์, เอช., เสริม วินิจฉัยกุล. (2477). คำบรรยายกฎหมายอาชญา. พระนคร: ร้านกาญจนพิมพ์ดีด, น. 813.
[3] จรัญ โฆษณานันท์. (2550). นิติปรัชญา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, น. 193.
[4]รายงานการประชุมอนุกรรมการตรวจพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ครั้งที่ 279, 63/2485 19 กุมภาพันธ์ 2482 และรายงานฯ ครั้งที่ 46, 147/2482, 31 ตุลาคม 2482 อ้างถึงใน จรัญ โฆษณานันท์, หน้า 193.