เมื่อบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ลูกกับพ่อแม่ไม่สามารถเปิดอกคุยกันได้ทุกเรื่อง ผิดมั้ย ถ้าเราจะรักคนนอกบ้านมากกว่าญาติร่วมนามสกุล แล้วแท้ที่จริง คำว่า ‘ครอบครัว’ ยังจำเป็นต้องยึดโยงกับสายเลือดอยู่รึเปล่า?
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ครอบครัวก็ยังเป็นสถาบันพื้นฐานที่สังคมไทยย้ำนักย้ำหนาว่าสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาประเทศ หากผู้ปกครองปลูกฝังบุตรได้อย่างถูกต้อง ตรงตามครรลองและบรรทัดฐานของสังคม เด็กคนนั้นก็คงเติบโตขึ้นเป็นกำลังหลักของชาติ สามารถสร้างครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุข ทั้งยังกลับมาดูแลพ่อแม่ยามแก่ชรา พร้อมส่งต่อค่านิยมอันดีสู่ลูกสู่หลานต่อไป
ใจเย็นก่อน! ตั้งสติสักนิด เพราะในชีวิตจริงสิ่งที่ยึดโยงกับคำว่า ‘ครอบครัว’ อาจไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น
คำว่า ‘ครอบครัว’ นิยามจากอะไร
- ครอบครัว หมายถึง สถาบันพื้นฐานของสังคมที่ประกอบด้วยสามีภรรยาและหมายความรวมถึงลูกด้วย
(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554) - ครอบครัว หมายถึง บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยา หรือมีความผูกพันทางสายโลหิต หรือทางกฎหมาย หรือเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวต่างมีบทบาทหน้าที่ต่อกัน และมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน
(กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
หากพิจารณาโดยผิวเผิน สองข้อความข้างต้นก็ดูจะนิยามความหมายของคำว่าครอบครัวได้อย่างครบถ้วนตามที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป ความสงสัยก็คงผุดขึ้นมาแทบจะในทันที
‘สามี ภรรยา และลูก’ ดูจะล้าสมัยไปสักหน่อยหรือไม่? การที่เราจำกัดความโครงข่ายของครอบครัวไว้เพียง 3 บทบาท จริงอยู่ว่านี่อาจเป็นคำแปลที่ถูกต้องตามนิยามของครอบครัวเดี่ยว แต่ในความเป็นจริง เป็นไปได้หรือที่ครอบครัวซึ่งมีเพียงพ่อ แม่ และลูก จะสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่พึ่งพาสถานะอื่นๆ เพราะในขณะที่พ่อแม่ออกไปทำงาน เชื่อว่าหลายคนก็เติบโตมาโดยการเลี้ยงดูของปู่ย่าตายาย ตอกย้ำชัดเจนว่าความหมายของราชบัณฑิตฯ อาจจะคับแคบเกินไปเสียหน่อย
ถัดมา เมื่อลองตรวจหาความถูกต้องของคำแปลจากกรมกิจการสตรีฯ ก็จะพบว่า การจะเป็นครอบครัวได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องทางกฎหมายหรือความสัมพันธ์ทางสายเลือดเป็นตัวกำหนด คำถามคือ ในแง่ของคุณค่าทางจิตใจ จำเป็นแค่ไหนที่คนในครอบครัวต้องมีดีเอ็นเอหรือลายเซ็นกำกับรับรอง เพราะหลายต่อหลายครั้ง คนที่เป็นญาติกันแท้ๆ ก็กระทำสิ่งย่ำแย่ต่อกันได้ซึ่งๆ หน้า หรือผู้ที่ต้องการสมรสเพื่อสร้างครอบครัวที่แสนจะสามัญธรรมดา ก็ไม่สามารถทำได้เพราะตัวบทกฎหมายยังไม่รองรับอัตลักษณ์ทางเพศของเขาและเธอ
อยู่ด้วยกัน แต่ไม่เคยเข้าใจกัน
อาจเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่เมื่อเราตั้งคำถามกับตัวเองดูดีๆ มีสักกี่เรื่องที่เราจะสามารถคุยกับคนในครอบครัวได้อย่างเปิดเผย ด้วยยุคสมัยที่ผันเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ผนวกกับการมาถึงของเทคโนโลยีและคลังข้อมูลอันล้นทะลัก มีผลเชิงประจักษ์ให้ช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) ถูกแง้มจนกว้างกว่าที่เคย สิ่งที่เรา พ่อเรา หรือลูกของเราสนใจก็ต่างแตก คุณค่าที่แต่ละวัยยึดถือก็หลากหลายไปตามข้อมูลข่าวสารที่เขารับรู้ ยากเหลือเกินที่สมาชิกในบ้านสักหลังจะเข้าอกเข้าใจกันได้อย่างกระจ่างชัดหรือเห็นตรงกันในวาระต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
อย่างไรก็ดี ต่อให้ไม่เห็นด้วย การเปิดใจที่มากพอก็อาจช่วยให้ญาติร่วมสายเลือด ‘ยอมรับ’ ในสิ่งที่เราเป็น เชื่อ หรือต้องการได้ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะเปิดใจยอมรับ เพราะปัญหาเล็กๆ อย่างความเห็นต่างทางการเมือง ความเชื่อต่อการนับถือศาสนา ความเคารพที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือรายละเอียดอีกสารพัดก็นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งได้ง่ายกว่าการเปิดรับ ทั้งเรื่องของรอยสัก เจาะหู หรือกระทั่งอยู่ก่อนแต่ง
และที่เลวร้ายยิ่งการไม่ยอมรับในสิ่งที่เชื่อ คือการปฏิเสธซึ่งสิ่งที่เป็น แม้กาลเวลาจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับบางแนวคิด แต่กลุ่ม LGBTQ+ หลายชีวิตก็ยังคงไม่ได้รับการยอมรับกระทั่งจากมนุษย์ผู้ให้กำเนิดเขามา ดังนั้นก็คงจะไม่แปลกอะไร ถ้าคนกลุ่มนี้จะรู้สึกอึดอัดใจที่ต้องเรียกคนร่วมสายเลือดซึ่งไม่ยอมรับในตัวของเขาและเธอว่าครอบครัว
เห็นต่าง ไม่ยอมรับ ก็อาจเทียบไม่ได้กับการทำร้ายร่างกาย ข้อมูลจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2564 ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 9,386 ราย คิดเป็น 130 รายต่อเดือน หรือ 4 รายต่อวัน แล้วก็ไม่อาจระบุได้ด้วยว่าจำนวนเกือบหมื่นรายในรอบ 6 ปี สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี หรือผู้เป็นลูกถูกทำร้ายไปกี่ครั้ง แล้วยังมีอีกกี่กรณีที่เหยื่อหวาดระแวงเกินกว่าจะแจ้งเรื่องหรืออดทนไม่บอกใครเพียงเพราะต้องการรักษาสภาวะความเป็น ‘ครอบครัว’ ให้คงอยู่ต่อไป
สื่อเริ่มชวนตั้งคำถาม
ใครที่พอจะรู้จักผู้กำกับชาวญี่ปุ่นอย่างฮิโรคาสุ โคเรเอดะ (Hirokazu Koreeda) อยู่บ้าง จะพบว่าภาพยนตร์ของเขาแทบทุกเรื่องตั้งอยู่บนรากฐานของการตั้งคำถามต่อสถาบันครอบครัว
ในผลงานแจ้งเกิดที่สร้างจากเรื่องจริงช็อกโลกอย่างอาคิระ แด่หัวใจที่โลกไม่เคยรู้ (Nobody Knows) ฮิโรคาสุก็พาผู้ชมไปสำรวจความผิดปกติของโครงสร้างพ่อแม่ลูก เมื่อผู้เป็นแม่ทิ้งให้ลูก 4 คนต้องทนอยู่ด้วยกันเอง โดยมีพี่คนโตที่อายุเพียง 12 คอยดูแลน้องอีก 3 ชีวิต
หรือในพ่อครับ…รักผมได้ไหม? (Like Father, Like Son) ผู้กำกับก็ชวนให้ทบทวนว่า ความรักที่คนเป็นพ่อมีต่อลูกขึ้นอยู่กับสิ่งใดกันแน่ เราจะรักได้มั้ย หากได้รู้ว่าเด็กที่เลี้ยงดูมาตลอด 6 ปีไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของตัวเอง
และในครอบครัวที่ลัก หรือ Shoplifters ผลงานซึ่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมเมื่อปี 2019 โฮิโรคาสุก็ตั้งคำถามกับคนดูอีกครั้งว่า ความหมายที่แท้จริงของครอบครัวคืออะไร เพราะในเรื่องราว กลุ่มคนลักเล็กขโมยน้อยกลับมอบความรักความอบอุ่นให้กับเด็กน้อยได้สมบูรณ์กว่าพ่อแม่ตัวจริงที่เอาแต่ตบตีลูก หกตัวละครหลักสามารถอาศัยอยู่รวมกันในบ้านได้อย่างมีความสุข ทั้งที่หลายคนไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน แล้วแบบนี้อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างสายเลือดกับคนที่หวังดี…
หรือล่าสุด ภาพยนตร์ระดับปรากฏการณ์อย่าง Everything Everywhere All at Once ก็หยิบยกประเด็นครอบครัวมาเป็นวัตถุดิบหลักในการขับเคลื่อนตัวเรื่อง ระหว่างทาง หนังพยายามฉายภาพให้คนดูเห็นถึงสถานการณ์ซึ่งตัวละคร (เด็กรุ่นใหม่) ไม่ได้รับการยอมรับ ตลอดจนท่าทีที่อยากเข้าใจจากคนในครอบครัว เธอรวบรวมความกล้าที่จะพูดคุย แต่ช่องว่างระหว่างวัยก็ปิดประตูบานนั้น อันส่งผลให้ตัวละครจำต้องมองหาทางออกอันน่าสะพรึงเพียงเพราะต้องการให้ทุกเรื่องในใจที่คนในบ้านไม่เข้าใจสงบลง
ครอบครัวที่เราเลือกเอง
จากทั้งหมดที่ว่ามา จึงเข้าใจได้ที่คนรุ่นใหม่จะปรารถนาอยู่ลึกๆ ให้ ‘คนอื่น’ กลายเป็นคนในครอบครัวแทนที่คนในครอบครัวตัวจริง ก็ในเมื่อคนอื่นเข้าใจเรามากกว่า โอบรับกับสิ่งที่เราเป็นมากกว่า และที่สำคัญคือเขาไม่ทำร้ายจิตใจ ตบหน้า หรือเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
Family We Choose หรือครอบครัวที่เราเลือกเองกลายเป็นหนึ่งประเด็นที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ เมื่อสายสัมพันธ์ที่มัดเราไว้ด้วยกฎหมายไม่ได้ตอบโจทย์ในการใช้ชีวิต ก็คงไม่ผิดหากเราจะมองหาความสันพันธ์อื่นๆ ซึ่งสบายใจจะปฏิสัมพันธ์มากกว่า เหมือนที่ครั้งหนึ่ง น้าเน็ก—เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เคยพูดไว้ในรายการอย่าหาว่าน้าสอน ว่า
“สิ่งที่ทุกคนอยากมีจริงๆ คือครอบครัว แต่หลายครั้งครอบครัวก็ไม่ใช่พื้นที่ที่ดีเท่าไหร่ ตั้งแต่รับสายมาก็ได้รู้ปัญหาครอบครัวเยอะมาก หลายคนจึงเลือกที่จะออกมาสร้างครอบครัวใหม่ในรูปแบบของเพื่อน เพราะเพื่อนคือครอบครัวที่เราเลือกได้”
คำพูดดังกล่าวสะท้อนความจริงข้อที่ว่า ท้ายที่สุด มนุษย์ทุกคนย่อมต้องการ ‘เซฟโซน’ ที่ที่เราสามารถบอกเล่า ปรึกษา มองหาความช่วยเหลือ หรืออย่างน้อยก็เป็นตัวเองได้ แต่เมื่อบ้านไม่ใช่เซฟโซนอีกต่อไป (หรือจริงๆ อาจจะไม่ใช่มานานแล้ว เพียงแต่ในยุคหนึ่ง การทนคือหนทางเดียวที่ทำได้) หลายคนจึงมองหาเซฟโซนใหม่ๆ นอกบ้าน เสาะค้นพื้นที่อื่นๆ อย่างทวิตเตอร์ พบเจอสังคมใหม่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย นำมาสู่ภาพของการถอยห่างจากครอบครัวที่เราหมดสิทธิเลือกอย่างญาติทางสายเลือด แล้วพุ่งเข้าหาเพื่อนซึ่งเป็นครอบครัวที่เราเลือกได้ด้วยตัวเอง
เมื่อคำว่าครอบครัวที่นิยามโดยรัฐ พรากสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ
ความท้าทายของพื้นที่ปลอดภัยยังไม่ถึงตอนอวสาน เพราะถึงแม้เราจะเจอคนที่เข้าใจ พบใครที่ยึดถือในคุณค่าแบบเดียวกัน สุดท้ายรัฐก็อาจไม่ยินยอมให้เราได้รับซึ่งสิทธิที่เราพึงได้อยู่ดี
ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงไม่รับรองการสมรสของคนเพศเดียวกัน ทำให้คนสองคน แม้จะสามารถดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ และเติมเต็มในสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างต้องการได้ แต่ก็ยังไม่อาจได้รับสิทธิบางอย่างซึ่งหญิงชายที่แต่งงานกันคว้าถึง คู่รักที่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่มีสิทธ์ในการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล ไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงดูได้ตามกฎหมาย หมดสิทธิเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของอีกฝ่ายแม้จะต้องการแค่ไหนก็ตาม ฯลฯ
เท่ากับว่าในสังคมของเราอาจยังมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งครอบครัวทางสายโลหิตไม่ยอมรับ โชคเข้าข้างบ้างที่ยังพอมีคนรัก แต่กระนั้น รัฐก็ยังไม่อนุมัติให้เขาได้มีครอบครัวที่ต้องการอย่างแท้จริง แล้วคุณจะไม่อนุญาตให้เขานับญาติกับใครได้เลยหรืออย่างไร ในเมื่อต้องนิยามครอบครัวตามเกณฑ์กฎหมาย แต่กฎหมายดันไม่เปิดกว้างให้กับสิ่งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการ
หรือจริงๆ ไม่ต้องมีใครนิยาม?
ถึงตรงนี้ เราคงต้องแยกเป็น 2 เรื่อง ระหว่างคำว่าครอบครัวในความหมายที่ใช้เพื่อจัดเก็บเป็นข้อมูลในเชิงประชากร กับคำว่าครอบครัวที่นิยามตามความรู้สึก เป็นความหมายเชิงเปรียบเทียบซึ่งเอาความผูกพันของสมาชิกเป็นที่ตั้ง
สำหรับคนที่เชื่อในครอบครัวแบบหลัง บ้านในแบบที่คนรุ่นใหม่วาดฝัน กลุ่มสังคมที่แต่ละคนอาจจะมาจากต่างถิ่นคนละที่ แต่มีจุดร่วมที่รสนิยมทางเพศ ประสบการณ์ที่พบเจอ ความคลั่งไคล้ที่มีต่อหนัง ซีรีส์ อนิเมะสักเรื่อง หรือศิลปินสักคน คุณอาจไม่จำเป็นต้องตามหาครอบครัวในแบบที่รัฐบอกเลยก็ได้ คุณเลือกได้ และคุณย่อมรู้ดีที่สุดว่าพื้นที่ใดที่ใส่ใจและพร้อมโอบกอดคุณอย่างแท้จริง
ซึ่งก็ต้องยอมรับตามจริงว่าครอบครัวในนิยามนี้มีรูปแบบที่หลากหลายมาก คู่รัก LGBTQ+ พี่น้องร่วมแก๊ง กลุ่มคนที่ไม่เปิดเผยชื่อแต่คุยกันได้ทุกเรื่องบนทวิตเตอร์ หรือบางครอบครัวก็ไม่ได้นิยามตัวเองแน่ชัด และไม่ได้ต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจมากนักว่าเขาอยู่ในความสัมพันธ์แบบใด ทำนองเดียวกับชื่อเพลงของดา เอ็นโดรฟินที่ว่า ไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหน
ส่วนคำว่าครอบครัวแบบแรก ครอบครัวตามความหมายที่รัฐบอก เราคงคาดหวังอะไรไม่ได้มากไปกว่าการขอร้องให้ผู้มีอำนาจระบุขอบเขตของคำคำนี้ให้ครอบคลุมคนในสังคมทุกภาคส่วน ปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้ตรงตามบริบทของยุคสมัยโดยไม่ทิ้งคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไว้เบื้องหลัง
ศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ The 101 World เอาไว้ว่า
“จริงๆ กติกาง่ายมาก คุณชอบอย่างไร คุณทำอย่างนั้น ไม่ต้องรอให้ใครบังคับ และรัฐต้องเปิดให้พลเมืองสามารถสื่อสาร สามารถพูดถึงสถานการณ์ของตัวเขาได้ แล้ว family we choose จะเป็นไปได้ แน่นอน มันจะต้องฟาดฟัน ขรุขระ แต่อย่างน้อยๆ ก็ดีกว่าการที่พวกเราถูกจับใส่คุกที่เรียกว่าครอบครัว”
ในเมื่อไม่สามารถเลือกที่และฐานะเกิด ประตูแห่งความฝันและคุณภาพชีวิตที่ดีก็เปิดออกได้ยาก อย่างน้อยที่สุด ขอให้เราได้เลือกครอบครัวอย่างที่ตัวเองต้องการ ไม่รู้ว่าจะเป็นคำขอที่มากเกินไปรึเปล่าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง…
อ้างอิงข้อมูลจาก
infocenter.nationalhealth.or.th