คนเข้ากลุ่มลับไปแชร์รูป และคุย ‘เนื้อหาทางเพศ’ ไปทำไมกันนะ?
ช่วง 2 วันที่ผ่านมานี้ ได้มีการเปิดเผยว่า มีการสร้างกลุ่มแชทลับออนไลน์ในกลุ่มอาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยพูดคุยในเนื้อหาที่มีลักษณะของการคุกคามทางเพศ โดยขณะนี้เรื่องอยู่ในระหว่างการตรวจสอบโดยคณะ และยังคงเป็นที่พูดถึงบนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง
แน่นอนว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มีข่าวเกี่ยวกับการตั้ง ‘กลุ่มลับ’ ในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ว่าจะครั้งไหนๆ ก็ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามที่ว่า ในยุคนี้ที่มีสื่อให้เลือกรับชมมากมาย เพราะเหตุใดจึงมีการรวมตัวเพื่อดูและพูดคุยถึงคนที่ ‘ไม่ยินยอม’ อยู่อีก
ศุภกร ปิญะภาณุกัญจณ์ นักจิตวิทยาการปรึกษาอิสระ อธิบายถึงว่า อาจจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนี้ เช่น อยากโอ้อวด อยากแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน เพราะทำแล้วอาจได้รับการยอมรับ มีคนชื่นชมว่าเก่ง ซึ่งอาจทำให้ตัวตนของผู้ร่วมกลุ่มได้รับการเติมเต็ม อาจเป็นรสนิยมที่ชอบความตื่นเต้น และอาจมีการทำเพื่อการแก้แค้นคนที่อยู่ในสื่อนั้น
โดยเผยแพร่ออกมาเพื่อให้เกิดความเสียหาย และทำให้คนคนนั้นอับอาย และสุดท้ายคืออาจมีปัจจัยภายนอก อย่างเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยว เพราะอาจแชร์แล้วได้ค่าตอบแทนจากคนในกลุ่ม
ซึ่งในบางคนก็อาจมีผลกระทบมาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยวัยเด็กอาจเคยมีบาดแผลทางจิตใจ หรือประสบพบเจอความรุนแรงเรื่องเพศ ทำให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคม เสพติดพฤติกรรมทางเพศ จึงเลือกทำพฤติกรรมอะไรบางอย่าง ที่ทำให้ตนรู้สึกมีอำนาจและได้เติมเต็มตัวตนของตัวเองมากขึ้น อย่างการแอบถ่าย ที่ทำให้รู้สึกมีอำนาจว่าตนสามารถทำได้
และในด้านของผู้เสียหาย แน่นอนว่า พฤติกรรมการแอบถ่ายหรือส่งต่อสื่อในกลุ่มลับเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจได้ จากความอับอายที่มีคนเห็นและวิจารณ์ร่างกายส่วนที่เจ้าตัวไม่ต้องการให้ใครเห็น
แม้อาจมีเสียงส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่า เพียงแค่พูดคุยกันใน ‘กลุ่มลับ’ ที่ก็เป็นการปกปิดไม่ให้ไปถึงเจ้าตัวแล้ว ศุภกรอธิบายเพิ่มเติมว่า หากผู้กระทำมีพฤติกรรมการส่งต่อหรืออยู่ในกลุ่มลับไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็อาจกลายเป็นคนที่ลงมือถ่ายเอง แชร์ต่อเอง เนื่องจากได้รับการตอบรับในทางบวกว่าเป็นพฤติกรรมที่สามารถทำได้
หากเป็นเช่นนั้น ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่โดนเป็นวงกว้าง และถึงที่สุด อาจจะไปลงมือกระทำสิ่งที่รุนแรงขึ้น อย่างการข่มขืน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อทั้งผู้ถูกกระทำและต่อสังคม
ศุภกรเสริมว่า การได้รับการปลูกฝังเรื่องต่างๆ ของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อน อย่างในช่วงวัยเด็ก สิ่งที่ถูกปลูกฝัง การเลี้ยงดู และประสบการณ์ที่ได้รับ จะมีผลถึงเซลล์ประสาทในสมองที่จะฝังเรื่องราวความทรงจำในช่วงนั้นไว้ แม้สมองจะรับรู้ว่าเป็น ‘สิ่งที่ไม่ดี’ แต่สมองก็จะจดจำว่าเป็น ‘สิ่งที่ทำได้’ เช่นกัน
อย่างไรก็ดี อีกปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ คือผู้กระทำรู้ว่าทำแล้วต้องรอด คือไม่มีใครจับได้ หรือหากโดนจับได้ก็ไม่เกิดผลกระทบอะไรตามมา ศุภกรจึงเห็นว่าหากกฎหมายมีความเข้มงวดมากขึ้น ก็อาจทำให้พฤติกรรมนี้หยุดลง หรือป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมนี้ขึ้นตั้งแต่แรกได้
________________
**หมายเหตุ บทความนี้ได้รับการแก้ไขเนื้อหาในวันที่ 28 พ.ค. 2568 โดยแก้ไขเนื้อหาในส่วนที่ระบุว่าภายในกลุ่มลับได้มีการเผยแพร่ ‘ภาพหลุด’ ของเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศ ซึ่งเมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลในภายหลังจึงได้พบว่าไม่เป็นความจริง ทางกองบรรณาธิการขออภัยเป็นอย่างยิ่งต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะนำความผิดพลาดในครั้งนี้มาใช้ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นในทุกขั้นตอนการทำงาน และจะเพิ่มความรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดลักษณะนี้อีกในอนาคต