กว่าที่คุณจะได้กดเข้ามาอ่านบทความนี้ คุณไถฟีดเฟซบุ๊กมานานแค่ไหนแล้ว? และตอนที่คุณกำลังอ่านบทความนี้อยู่ อาจจะมีโนติไลน์เด้งเข้ามา ทำให้คุณต้องเหลือบตาไปดู แล้วพอปิดหน้านี้ไป คุณอาจจะแวะไปเช็คทวิตเตอร์ก่อน ถึงจะวางมือถือลงได้
เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ กับใครหลายคน เพราะเราต่างก็ตกอยู่ในภาวะ ‘ไหลไว’ และ ‘ท่วมท้น’ ของข้อมูลข่าวสาร เป็นยุคของ Big Data ที่ประกอบเข้ากับความเร็วของอินเทอร์เน็ต แล้วเราซึ่งเป็นผู้บริโภคนั้นก็กลายเป็นโรค FOMO (Fear of missing out) หรือ ‘โรคกลัวตกกระแส’ กลัวคุยกับเขาไม่รู้เรื่องกันไปโดยปริยาย ทำให้เราต้องหยิบมือถือมาเช็คแทบจะตลอดเวลา และพฤติกรรมแบบนี้กำลังสร้างปัญหาให้กับหลายๆ ออฟฟิศเป็นอย่างมาก
จากรายงาน Workplace Distraction Report ของ Udemy พบว่า 36% ของคนทำงานวัย millennials และ Gen Z ใช้เวลางานมากกว่า 2 ชั่วโมงในแต่ละวันไปกับการเช็คมือถือ ในเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องงานเลย และเกินครึ่งหนึ่งก็บอกว่า รู้แหละว่าตัวเองทำงานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพตามที่ตั้งใจเพราะสาเหตุนี้ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความเครียดและรู้สึกแย่กับตัวคนทำงาน รวมถึงกลายเป็นต้นทุนและค่าเสียโอกาสก้อนมหาศาลสำหรับองค์กรด้วย
ทางออกที่ง่ายที่สุด (แต่ก็ทำไม่ง่ายเท่าไหร่) ก็คือการลดสิ่งเร้าที่จะทำให้เสียสมาธิได้ อย่างการปิดแจ้งเตือน หรือไม่ก็ปิดมือถือไปเลย แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจว่า ถ้าเราต้องทำงานกับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย หรือเป็นงานที่ต้องมีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารเพื่อหาสิ่งใหม่ๆ ไปพัฒนางานตลอดเวลา เราจะจัดการกับภาวะข้อมูลไหลไวและโรคกลัวตกกระแสนี้ได้อย่างไร?
มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Productive Distraction’ อยู่
นั่นก็คือการจัดการสิ่งที่ชวนให้วอกแวก
ให้กลายเป็นตัวช่วยในการทำงานให้ดีขึ้นแทน
Hubspot บริษัทซอฟต์แวร์ที่ทดลองใช้แนวคิดสำหรับการทำงานหลายรูปแบบ เช่น agile หรือ inboud marketing ได้ลองลิสต์ distraction หรือสิ่งเร้าที่คุณสามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็นตัวช่วยในการทำงานได้ไว้ 4 อย่าง
1. พูดคุยเม้าท์มอยกับเพื่อนร่วมงาน : หลายครั้งที่เราเงยหน้าไปร่วมวงสนทนากับเพื่อนข้างๆ แล้วต่อยาวไปเกือบครึ่งชม. ก่อนจะบ่นสั้นๆ ว่า “อ้าว มัวแต่คุย งานไม่เสร็จกันพอดี” แต่จริงๆ แล้ว รายงานจาก Workforce Mood Tracker ระบุว่า 89% ของคนทำงาน ยืนยันว่าเพื่อนร่วมงานมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดและทำงาน และยังช่วยป้องกันอาการ Burn Out ได้ด้วย แต่ถ้าจะเปลี่ยนการพูดคุยเม้าท์มอยให้เป็น Productive Distraction เราอาจจะต้องมีการกำหนดช่วงเวลาในการพูดคุย เช่น อาจจะกำหนดว่าแต่ละบทสนทนาที่ไม่ใช่เรื่องงาน แต่โผล่ขึ้นมาระหว่างเวลางาน ต้องมีการตัดจบใน 10 นาที และในหนึ่งวันรวมกันไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง เป็นต้น
2. กินขนม เล่นมือถือ หรือทำเรื่องจิปาถะ : งานวิจัยหลายต่อหลายชิ้น (รวมถึงความเป็นจริงในทางปฏิบัติ) ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เราไม่สามารถยิงยาวทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ติดกันหลายชั่วโมง และการพักเบรกทำโน่นนี่นั่นในเวลางานนี่แหละ ที่จะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น
การตั้งเวลาพักอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเพื่อเล่นมือถือหรือยืดเส้นยืดสาย จริงๆ แล้วเป็นวิธีที่ทำให้เกิด productive distraction ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คือถ้าคุณใช้เวลาพักอ่านฟีด คุณก็ได้รับข่าวสารใหม่ ถ้าคุณเดินยืดเส้นยืดสาย เลือดลมก็ไหลเวียนเลี้ยงสมอง ส่งผลให้คุณคิดงานได้ดีขึ้น ถ้าคุณแวะกินขนมที่มีปริมาณน้ำตาลสักเล็กน้อย สมองคุณก็อาจจะสดชื่นขึ้น (งานวิจัยแนะนำว่าน้ำตาลกลูโคส 25 กรัม หรือกล้วยสักลูก ช่วยเพิ่มพลังให้สมองได้) ส่วนทางอ้อมก็คือการรู้ว่ามีเวลาที่คุณจะได้หยุดพัก กำลังจะได้ทำสิ่งที่อยากทำอยู่ข้างหน้า จะเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คุณจดจ่อกับงานตรงหน้าได้ดีขึ้น (บางคนอาจจะใช้ Pomodoro Techniques ช่วย เช่น ทำงานครบ 25 นาที พัก 5 นาทีเป็นรอบๆ ไป)
3. เสียงรบกวน : หลายคนอาจจะเลือก ‘ความเงียบ’ เป็นเครื่องมือในการช่วยรวบรวมสมาธิในการทำงาน แต่จริงๆ แล้ว เสียงบางอย่างก็อาจจะช่วยให้การทำงานของคุณมีประสิทธิภาพขึ้นได้ อย่างเพลย์ลิสต์ Focus ใน Spotify หรือเว็บไซต์อย่าง Brain.fm ได้คัดเลือกลิสต์ของเสียงและเพลงซึ่งสร้างโดย AI ที่ใช้หลักประสาทวิทยา ช่วยปรับเปลี่ยนคลื่นสมองของคนฟังให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น รวมถึงยังมีงานวิจัยที่บอกด้วยว่า เสียงบรรยากาศในร้านกาแฟ อย่างเสียงถ้วยชามชนกัน หรือเสียงเครื่องทำกาแฟ ยังช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย
4. เล่นเน็ต : University of Cincinnati พบข้อดีในการทดลองให้พนักงานเล่นเน็ตเป็นระยะในระหว่างทำงาน เพราะเป็นทั้งการหยุดพัก การเรียนรู้ และสร้างความพึงพอใจในการทำงานได้อีกด้วย แต่ดังเช่นทุกกิจกรรม นั่นก็คือมันจะเป็น productive distraction ก็ต่อเมื่อมีการกำหนดตาราง เช่น 15 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง
นอกจากการจัดการกับ distraction ที่สามารถเปลี่ยนให้เป็นผลดีกับเราแล้ว การสร้างสมดุลระหว่างการรับสิ่งเร้าเหล่านั้น กับการมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำ (เช่นคุยกับเพื่อนแค่ไหน หรือเล่นเกมแค่ไหน) รวมถึงการดึงเอาสิ่งใหม่ๆ ที่ได้จากช่วงเสียสมาธิไปใช้ยังเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับการทำงานของเราได้ เหมือนที่ Carsten Lund Pedersen จาก Copenhagen Business School เคยพูดถึงเรื่อง ‘Distraction-Focus Paradox’ ไว้ใน MIT Sloan Management Review ว่า ถ้าใครสามารถจัดบาลานซ์ระหว่าง การสงสัยและค้นหาสิ่งใหม่ๆ (curiosity) กับความสามารถในการจดจ่อ (concentration) ได้ คนนั้นจะมีสกิลใหม่ที่เรียกว่า ‘Agile and Disciplined Thinking’
เขายกตัวอย่างวิธีทำงานของ Richard Thaler ผู้เขียนหนังสือ Misbehaving: The Making of Behavioral Economics และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นการจัดบาลานซ์ที่ดีจนเกิด productive distraction คือ ตั้งแต่ตอนเป็นนักเศรษฐศาสตร์หน้าใหม่ Thaler ก็รับข่าวสารจำนวนมากอยู่ตลอดเวลา เพื่อมองหาอะไรที่เป็นการท้าทายแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม
งานวิจัยจาก Northwestern University ยังเสริมเกี่ยวกับ productive distraction ด้วยเรื่องของ ‘Sensory Gating’ คือปกติแล้วมนุษย์เราจะมีกลไกของสมองในการคัดกรองสิ่งรบกวนที่ไม่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นกับสิ่งที่เราจดจ่ออยู่ออกไป เช่น เวลาเราตั้งใจดูหนังหรือเล่นเกมมากๆ เราอาจจะไม่ได้ยินเสียงที่คนอื่นเรียกเรา
แต่จากการทดลองวัดคลื่นสมองของกลุ่มตัวอย่าง ทีมวิจัยพบว่าคนที่ทำแบบทดสอบด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงมีผลงานในการคิดสร้างสิ่งใหม่ๆ สำเร็จในชีวิตจริงมากกว่า คือคนที่มีความ ‘leaky’ หรือมีรอยรั่วเล็กๆ เปิดรับให้สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา แล้วลองหาวิธีประกอบกับสิ่งที่ทำอยู่ได้ (ในการทดลองคือกลุ่มที่ได้คะแนนความคิดสร้างสรรค์น้อย จะหยุดรับตัวสิ่งเร้าตั้งแต่ระยะแรกๆ ขณะที่กลุ่มที่มี Leaky Sensory Gating จะให้ความสนใจในทุกๆ สิ่งเร้าที่เกิดขึ้น)
ช่วงเวลาของการเสียสมาธิในระหว่างทำงาน จึงอาจจะทำให้บางคนที่สามารถจัดการกับมันได้ ดึงเอาไอเดียที่กระเจิดกระเจิงตอนเสียสมาธินั้น มารวมกับงานที่คิดอยู่จนเป็นอะไรใหม่ๆ ดีๆ ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะรอให้เสียสมาธิ เผื่อฟลุก แล้วได้งาน เพราะ productive distraction ต้องอาศัยการออกแบบ
อย่างตอนนี้ที่แวบมาไถจออ่านบทความนี้อยู่ ก็อาจจะเป็นข้ออ้าง เอ้ย productive distraction สำหรับการเริ่มต้นหาวิธีในการออกแบบ productive distraction ในครั้งต่อๆ ไป
อ้างอิงข้อมูลจาก