“ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องเปิดประเทศทั้งประเทศ ให้ได้ภายใน 120 วัน”
นับจากวันที่ 16 มิถุนายน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลั่นวาจาเอาไว้ว่า ไทยจะต้องเปิดประเทศให้ได้ใน 120 วัน เพื่อความอยู่รอดในการทำมาหากินของประชาชน และยอมรับความเสี่ยงร่วมกัน
“ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง หากความเสี่ยงนั้น เราได้ประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่า อยู่ในระดับที่พอจะรับได้”
แม้จะไม่แน่ชัดว่า 120 วัน มีเดดไลน์เป็นวันไหนกันแน่ แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่า 14 ตุลาคม คือวันครบกำหนดที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเอาไว้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เท่ากับว่า ตอนนี้เราเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น
เมื่อเหลือเวลาอีกไม่นาน The MATTER ก็ขอพาไปดูว่า ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นว่า เราพร้อมแค่ไหนกับการเปิดประเทศ
ดูแผนการเปิดประเทศ
ก่อนอื่นต้องพาไปดูแผนการเปิดประเทศที่รัฐบาลวางเอาไว้ก่อนว่า มีระยะการเปิดประเทศอย่างไร พื้นที่ไหนเปิดก่อนที่อื่นๆ บ้าง โดยตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 โครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ และสมุย พลัส [เริ่มแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม]
ระยะที่ 2 เปิดการท่องเที่ยว 5 จังหวัด [เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม]
- ชลบุรี
- เพชรบุรี
- ประจวบคีรีขันธ์
- เชียงใหม่
- กรุงเทพฯ [เลื่อนออกไปเปิดวันที่ 1 พฤศจิกายน]
ระยะที่ 3 เปิดการท่องเที่ยว 23 จังหวัด [เริ่มวันที่ 15 ตุลาคม] ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, แพร่, น่าน, ลำพูน, สุโขทัย, อุดรธานี,หนองคาย, บึงกาฬ, อุบลราชธานี, เลย, ระยอง, จันทบุรี, ตราด, ราชบุรี, กาญจนบุรี, ระนอง, ตรัง, สตูล, สงขลา, นครศรีธรรมราช, พัทลุง,พระนครศรีอยุธยา
ระยะที่ 4 เปิดการท่องเที่ยวแบบบับเบิลกับ 4 ประเทศ [เริ่มวันที่ 1-15 มกราคม 2565] ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ลาว และมาเลเซีย
อัตราการฉีดวัคซีน
อัตราการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณาการเปิดประเทศอย่างมาก ซึ่งหากเราไปดูข้อมูลในแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมของ 5จังหวัด ที่กำลังจะเปิดรับนักท่องเที่ยวเป็นระยะต่อไป จากแผนที่รัฐบาลกำหนดไว้ จะพบอัตราการฉีดวัคซีน ดังนี้
จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม
- ชลบุรี 482,840 คน คิดเป็น 20.73% ของจำนวนประชาการตามสิทธิการรักษาพยาบาล
- เพชรบุรี 99,542 คน คิดเป็น 21.39% ของจำนวนประชาการตามสิทธิการรักษาพยาบาล
- ประจวบคีรีขันธ์ 111,945 คน คิดเป็น 19.96% ของจำนวนประชาการตามสิทธิการรักษาพยาบาล
- เชียงใหม่ 306,836 คน คิดเป็น 16.20% ของจำนวนประชาการตามสิทธิการรักษาพยาบาล
- กรุงเทพฯ 2,898,836 คน คิดเป็น 36.56% ของจำนวนประชาการตามสิทธิการรักษาพยาบาล
ขณะที่ จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ทั่วประเทศ 13,071,134 คน คิดเป็น 19.46%
อย่างไรก็ตาม หากดูยอดผู้ฉีดวัคซีนรายจังหวัด จะถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับภูเก็ตที่ก่อนเปิดเมืองเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม สามารถฉีดวัคซีนได้เกิน 75% ของจำนวนประชากร
ยอดตรวจและติดเชื้อในประเทศ
สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่า ประเทศไทยพร้อมเปิดประเทศหรือยัง ซึ่งตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 จะเห็นว่า ยอดผู้ติดเชื้อไม่สูงเท่ากับช่วงกลางเดือนสิงหาคม ที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 23,000กว่าราย
ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า จำนวนการตรวจรายวันเป็นเท่าไหร่ เนื่องด้วยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุไว้แค่ร้อยละการตรวจพบเชื้อ แบบเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน ซึ่งอยู่ที่ 17.72% (ข้อมูลถึงวันที่ 12 กันยายน)
ขณะที่ จำนวนผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะอยู่ที่ประมาณ 14,000-16,000 รายต่อวัน มาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่ 11,000-12,000 รายต่อวัน ซึ่งถือว่า ยังเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงอยู่ดี เพราะอย่าลืมว่า ยังมีอีกหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจเชิงรุก หรือตรวจเชื้อเองที่บ้านได้ เนื่องจากจุดตรวจยังไม่ทั่วถึง และประชาชนต้องเสียเงินซื้อชุดตรวจ ATK กันเอง
สำรวจสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว
ในพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล มีอยู่ 2 โครงการตามที่เล่าไป ดังนี้
1. โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์
ภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อใหม่ 249 ราย และยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค เป็นผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 3,300 ราย
ขณะที่สถานการณ์เตียงในภูเก็ต มีผู้ป่วยครองเตียงทั้งหมด 2,230 เตียง จากเตียงทั้งหมด 2,542 เตียง ทำให้เหลือเตียงว่าง 312 เตียง แบ่งได้ดังนี้
- เตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงมี 49 เตียง ว่าง 15 เตียง
- เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง 418 เตียง ว่าง 79 เตียง
- เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวในโรงพยาบาลสนามและ hospitel รวม 2,075 เตียง ว่าง 218 เตียง
2. โครงการสมุย พลัส
วันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอเกาะสมุยระบุว่า เตรียมเปิดเกาะรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบสมุย แซนด์บ็อกซ์ ยกระดับจากรูปแบบสมุย ซิลรูท หลังผู้ติดเชื้อในพื้นที่ลดลง และจะผ่อนคลายการรับนักท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเปิดประเทศ
สถานการณ์โรค COVID-19 ในเกาะสมุย-พะงัน-เต่า (ข้อมูลถึงวันที่ 11 กันยายน)
- ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมเกาะสมุย 529 ราย
- ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมเกาะพะงัน 91 ราย
- ผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมเกาะเต่า 28 ราย
นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 1 เดือนก่อนที่จะครบกำหนด 120 วันเปิดประเทศ ตามที่รัฐบาลระบุเอาไว้ ซึ่งเราคงต้องมาดูกันว่า แผนการเปิดประเทศจะเกิดขึ้นได้จริงไหม และจะดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนกันนะ
อ้างอิงจาก