พื้นที่สีเขียวในมหาวิทยาลัย เป็นเทรนด์ที่มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง เริ่มตระหนัก และสร้างพื้นที่เหล่านี้ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้
‘อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี’ พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวิทยาเขตรังสิต ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เป็นพื้นที่สีเขียวในสถานศึกษาที่มีทั้ง หลังคาสีเขียว หรือ Green roof urban farm ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีโรงอาหารออร์แกนิก ฮอลล์คอนเสิร์ต และจะเป็นแลนมาร์คแห่งใหม่สำหรับนักศึกษา และบุคคลทั่วไปด้วย
The MATTER ได้พูดคุยกับ 3 บุคคล ที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้ อย่าง อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อ.กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกแห่ง LANDPROCESS ผู้มีส่วนในการออกแบบสวน และหลังคาสีเขียว และ อ.ธีรพล นิยม สถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้ออกแบบตัวอาคาร มาพูดคุยกันถึงแนวคิดของการออกแบบพื้นที่นี้ การเป็นพื้นที่ประหยัดพลังงาน และความสำคัญของการมีพื้นที่สีเขียวในมหาวิทยาลัยกัน
จุดเริ่มต้นของการสร้างอุทยาน ที่มาจากแนวคิดของ อ.ป๋วย
อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เป็นพื้นที่ที่ระลึกการครบรอบ 100 ปีชาตกาลของ อ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจุดเริ่มต้นของพื้นที่นี้ ก็มีพื้นฐานมาจากแนวคิด และความเป็นตัวตนของ อ.ป๋วยด้วย
อ.ธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรม สถาปนิกผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรม อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เล่าว่า ตัวอาจารย์มีความผูกพันกับ อ.ป๋วย เนื่องจากคุณพ่อเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ อ.ป๋วย ตั้งแต่ในวัยเด็กจนมาถึงยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา จึงมีโอกาสได้สัมผัสถึงตัวตนของ อ.ป๋วย ที่ติดดิน เสียสละเพื่อส่วนรวม
“เมื่อโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล ของ อ.ป๋วย ผมมีโอกาสพูดคุยกับ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ทั้งสองท่านเห็นว่า ผมควรจะใช้เรื่องการออกแบบสร้างสรรค์โครงการอะไรสักอย่างเพื่อระลึกถึง อ.ป๋วยในวาระนี้ จึงคิดว่าอะไรที่จะเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตน อ.ป๋วย ที่ชัดเจน ทำให้ฉุกคิดถึงบทความ เรื่อง ‘ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ที่ อ.ป๋วยเคยเขียนไว้ว่า ท่านอยากให้ประชาชนได้มีอากาศดี ๆ หายใจ ได้มีสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อน มีดนตรีให้ฟัง ซึ่งผมเห็นว่า กรุงเทพฯ เราขาดพื้นที่สีเขียว
ผมคิดว่า ถ้าหากที่ดินของราชการสามารถทำเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์ ก็จะเกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีกมากมาย จึงได้คำตอบว่าหากธรรมศาสตร์จะทำอะไรเพื่อระลึกถึง อ.ป๋วย ในโอกาสนี้ คิดว่าการทำสวนสาธารณะน่าจะเหมาะสมที่สุด
ผมจึงชวนคุณกชกร วรอาคม แห่ง Land process และ ผศ.ปราณิศา บุญค้ำ ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาร่วมสร้างสรรค์โครงการขึ้น เพื่อเสนอกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการเปิดพื้นที่ด้านหน้าประมาณ 100 กว่าไร่ ของธรรมศาสตร์เพื่อเป็นสวนสาธารณะและอาคารประกอบ ให้ประชาชนได้เข้ามาใช้ เป็นคล้ายๆ สวนลุมฯ ด้านเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสร์ โดย อดีตอธิการบดี ศ.ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีคนปัจจุบัน และผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน ก็มีความคิดตรงกัน ท่านจึงร่วมกันผลักดันโครงการอย่างเต็มที่จนเกิดผลสำเร็จ” อ.ธีรพลได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้
ซึ่ง อ.ปริญญา กับอ.กชกร ก็เล่าให้เราฟังว่า ได้พูดคุยถึงโครงการนี้กันยาวนานถึง 5 ปี และแม้จะมีส่วนของตัวอาคาร ที่เปิดตัวไปแล้ว แต่ยังมีส่วนของสวน ‘Puey Park For People And Sustainability’ ด้านหน้าอาคาร ที่ยังอยู่ในระหว่างการออกแบบ ซึ่งจะเปิดตัวในปีหน้าด้วย
อุทยานการเรียนรู้ การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน และประหยัดพลังงาน
อุทยานแห่งนี้ มีพื้นที่ทั้งหมด 100 ร้อยไร่ โดยแบ่งเป็น Public park 80 ไร่ และตัวอาคารอีก 20 ไร่ รอบๆ ตัวอาคารมีบ่อน้ำรอบ 4 ด้าน และในตัวอาคารเองมีหอจดหมายเหตุ โรงอาหารออร์แกนิก ห้องสมุด ฮอลล์คอนเสิร์ตจุ 630 ที่นั่ง และจุดเด่นอย่าง หลังคา ‘Green roof urban farm’ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่มีพื้นที่สำหรับการปลูกต้นไม้ ปลูกผัก ซึ่งทุกอย่างในอาคารนี้ ออกแบบมาตามคอนเซ็ปต์ของความยั่งยืน
อ.ปริญญาเล่าว่า มีหลายมหาวิทยาลัยที่มี Green roof แต่ธรรมศาสตร์อยากมีหลังคาที่มากกว่าการปลูกหญ้า แต่มีต้นไม้ด้วย
“เราไม่อยากมีแค่หญ้าบนหลังคา เราเลยคิดทำเป็นภูเขา เพราะภูเขามีต้นไม้ด้วย และยังมีผักที่หลากหลายสี รวมถึงการเป็นนาขั้นบันได ซึ่งตรงกับชื่ออาจารย์ป๋วย ที่แปลว่า ‘พูนดิน’”
นอกจากนี้ อ.ปริญญายังเล่าถึงผักที่ปลูกบนอาคารนี้ว่า จะเปิดให้นักศึกษา หรือบุคลากรของมหาวิทยาลัย เข้ามาขอพื้นที่ปลูกผัก เพื่อเป็นรายได้เสริม และผักเหล่านี้ก็จะถูกส่งกลับมาเป็นอาหารให้นักศึกษาด้วย
“ผักเหล่านี้ จะเป็นผักปลอดสารพิษ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพของนักศึกษา หรือของบุคลากรมหาวิทยาลัย แต่เราอยากจะเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมของไทย จากที่มีสารเคมีมากมาย มาเป็นออร์แกนิก ไร้สารเคมี และไม่ใช่แค่การรอรัฐบาล แต่เราเริ่มลงมือทำเลย เราเลยตัดสินใจมีโรงอาหารออร์แกนิกแห่งแรกในมหาวิทยาลัยไทย โดยผลิตภัณฑ์อาหารจะมาจากผักที่ปลูกบนหลังคา”
ในฐานะ ภูมิสถาปนิก อ.กชกร เสริมเรื่องการออกแบบหลังคา green roof ว่า “นาขั้นบันได มีประโยชน์หลายอย่าง ช่วยลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban heat island) เพราะหลังคาตึกแทนที่จะเป็นคอนกรีตก็เป็นพื้นที่สีเขียวที่กระจาย และนักศึกษาเองก็มีจุดพักผ่อนบนหลังคาได้หลายจุด ซึ่งบนหลังคามีจุดนั่งได้ 12 ช่อง ทุกที่เราต้องคิดว่าเป็นทั้งขั้นบันไดได้ และเป็นที่นั่งได้
เรื่องการระบายน้ำเป็นปัจจัยที่เราไม่คิดไม่ได้ในเรื่องการออกแบบ อย่างปกติบนคอนกรีตที่น้ำก็จะไหลเลย แต่นาขั้นบันไดยจะทำให้น้ำระบายช้าลงด้วย แทนที่น้ำมันจะลงพรวดลงไปเลย ทั้งตัวนาจะเพิ่มระยะทางการวิ่งของน้ำ วิ่งซิกแซก และวิ่งบนดินที่จะมีแรงหนืด ฉะนั้นก็บอกได้ว่ามันสามารถทำให้น้ำไหลช้าลง 20 เท่า
และระหว่างที่มันไหลช้าลงมันก็เป็นอาหารให้กับต้นไม้บนตึก แล้วปกติหลังคาคอนกรีตจะสะท้อนความร้อน อันนี้พอเป็นพืชผักสวนครัวก็จะสะท้อนความเย็นกลับไปยังธรรมชาติ”
ไม่ใช่แค่หลังคาที่เป็นสีเขียว และประหยัดพลังงาน แต่ อ.ธีรพลก็เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบว่า ตัวอาคารเองก็ออกแบบมาเพื่อการประหยัดพลังงานเช่นกัน
“เราออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงาน แบบ passive approach ที่สอดคล้องกับทิศทางแดดลม มีหลังคาซึ่งเป็นส่วนที่รับความร้อนมากที่สุด ให้เป็น roof garden ป้องกันความร้อนเข้าสู่อาคาร หลังคามี 2 ชั้น เพื่อป้องกันน้ำและความชื้น ทำให้มีที่ว่างระหว่างชั้น ที่ลมสามารถพัดผ่านได้ ความร้อนก็จะเข้าสู่อาคารน้อยมาก
ตัวอาคารเราใช้ผนังอิฐ ก่อให้หนา ซึ่งก็สะท้อนคำว่า ‘พูนดิน’ เพราะอิฐเป็นวัสดุทำจากดิน ในขณะเดียวกันผนังอิฐที่หนา 2 ชั้นสามารถกันความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร โดยการหน่วงความร้อนไว้ ทำให้อากาศภายในอาคารไม่ร้อน นอกจากนี้อาคารยังมีชายคายื่นออกมา เพื่อจะบังแดดไม่ให้เข้าสู่อาคารโดยตรง เป็นการลดความร้อนเข้าสู่อาคาร ทำให้ลดการใช้พลังงาน”
ในปีหน้า อ.ปริญญาเล่าว่า จะมีการติดตั้ง Solar roof ที่นอกจากพลังแสงอาทิตย์แล้ว ก็จะมีการใช้พลังงานลม และมีน้ำรอบอาคาร 4 ด้าน ที่เป็นน้ำฝน ก็จะเอามารดน้ำต้นไม้ โดยเป็นพลังงานสะอาดด้วย
“ระบบไฟฟ้าทุกอย่างในตึกเป็นแบบประหยัดพลังงาน และพยายามให้แสงธรรมชาติเข้ามาในตึก ทำให้ในตึกใช้พลังงานน้อยลง เท่านั้นยังไม่พอ เรายังผลิตพลังงานเอง เพื่อที่จะไม่ใช้พลังงานถ่านหินเลย เป็น zero emission ซึ่งจะเป็นวิถีของการประหยัดพลังงานในตึกนี้ และจะเป็นการใช้พลังงานทดแทน
“เพราะเรื่องภาวะโลกร้อน เราต้องลงมือทำบางอย่าง และสวนนี้เป็นหนึ่งในการแสดงออกของเราเรื่อง Climate change เราจะปลูกต้นไม้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเราจะได้มีสวนที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ” อ.ปริญญาเล่า โดยที่ อ.กชกรก็ได้เสริมว่า มีการรับรองแล้วว่า Green roof เป็นทางออกของการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งธรรมศาสตร์ก็ได้สร้างหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียด้วย
จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ ในการเปิดพื้นที่สำหรับทุกคน
ถ้ามองจากด้านบน เราจะเห็นว่า ตึกนี้เป็นรูปของตัว H ซึ่ง อ.ปริญญาได้บอกเราว่า H นี้ มาจากความหมายของคำว่า ‘Humanity’
“เราทำอาคาร และสวนนี้สำหรับผู้คน เพื่อทุกๆ คน เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น เพราะโลกไม่ใช่แค่น้ำ อากาศ หิน แต่ยังมีผู้คนด้วย และการอยู่ร่วมกัน ถึงเป็นความหมายของตัว H
ซึ่งเราก็ได้มาคิด Master plan ของธรรมศาสตร์ ซึ่งรังสิตเป็นวิทยาเขตหลัก คณะส่วนใหญ่จะอยู่ที่นี่ ซึ่งวิทยาเขตนี้ก็ใหญ่มาก นักศึกษาหลายคน บางคนมาเรียน และก็กลับบ้าน เพื่อให้คนได้ใกล้ชิด ได้มีสังคมกัน เราอยากทำให้ตรงนี้เป็นสวนที่เป็นศูนย์กลาง เป็นแกนหลักของวิทยาเขตนี้ ทั้งสวนนี้ ยังติดกับถนนพหลโยธิน ซึ่งเราอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับผู้คนด้วย” อ.ปริญญากล่าว
อ.ธีรพล เล่าถึงการออกแบบว่า ความเป็นตัว H นี้ ทำให้อาคารเปิดกว้าง เข้าได้ทุกทิศทาง ทั้งอาจารย์ยังตั้งใจออกแบบอาคารนี้ โดยคิดถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอาคาร เพื่อผู้คนที่จะอยากเข้ามาใช้สอยด้วย
“การที่อาคารจะแสดงความเป็นหมุดหมายใหม่ของพื้นที่ อาคารต้องเข้าได้ทุกทิศทุกทาง ดังนั้นคนเข้ามาทางสวนก็ได้ เข้ามาจากทางถนนในมหาวิทยาลัยก็ได้ ปกติอาคารทั่วไปมี main entrance ด้านเดียว แต่อาคารหลังนี้มีเข้าได้ทุกทิศทุกทาง เป็น multi entrance เลยเป็นตัว H ที่เป็นเซ็นเตอร์พอดี”
การออกแบบสถาปัตยกรรม เราต้องคำนึงถึง ‘โปรแกรม’ หรือ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอาคาร ถ้าโปรแกรมดี ก็จะเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้อาคารมีความหมาย งานสถาปัตยกรรมที่ดี คืองานที่มีคนเข้าไปใช้มากๆ และได้สัมผัสถึงความรื่นรมย์จึงจะคุ้มค่า ด้วยความสำคัญดังกล่าว ที่มาของ ‘โปรแกรม’ ของอาคารหลังนี้ จึงเกิดจากการจัดขบวนการพูดคุยกับนักศึกษา ประชาคมธรรมศาสตร์ และอาจารย์ทั้งหลายอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงการผสมผสานแนวคิดของ อ.ป๋วยด้วย”
จากการที่อาคารหลังนี้มีพื้นที่ต่างๆ สำหรับรองรับกิจกรรมทั้งสำหรับนักศึกษา และประชาชนทั่วไปอย่างเต็มที่ อ.ธีรพลมองว่าอยากให้พื้นที่ส่วนนี้ กลายเป็น node ใหม่ ที่อยู่บนแกนหลักของมหาวิทยาลัย เชื่อมมายังหอประชุมพัชรกิติยาภา และต่อเนื่องไปถึง node เดิมย่านถนนด้านหน้าหอสมุด ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อเป็นพื้นที่ที่นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาใช้ประโยชน์มากที่สุด
เราทำให้เป็น meeting place ที่พบปะให้บริการสำหรับนักศึกษา ประชาคมธรรมศาสตร์ และประชาชนทั่วไป ซึ่งสะท้อนแนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ในเรื่องสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการเข้าถึงอาคารต้องง่าย เข้าถึงได้ทุกทาง และมีโปรแกรมกิจกรรมการใช้สอยอาคารที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการเรียนรู้ของนักศึกษา และประชาชนในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ อ.ธีรพล ยังเล่าอีกหนึ่งแนวคิดให้เราฟังว่า ในตัวอาคารนั้น มีการออกแบบให้ผู้ใช้มีความเชื่อมโยงทางสายตาด้วย
“การออกแบบให้มีความเชื่อมโยงทางตั้ง และ พื้นที่เปลี่ยนผ่าน ( ‘vertical relationships’ และ ‘transition space’ ) คือให้ผู้ใช้อาคารมีความเชื่อมโยงทางสายตา เวลาเข้ามายังโถงภายในอาคาร เราจะเห็นคนได้แทบทั้งหมดในพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ เอื้อให้เกิดความคุ้นเคย และดึงดูดการเข้าร่วมกิจกรรม เน้นความเป็น meeting place ที่เข้าถึงง่าย มีการนำแสงเข้าสู่อาคาร เพื่อความโรแมนติก ซึ่งการเข้ามาฟังคอนเสิร์ต หรือเสพงานศิลปะ ก็ต้องเริ่มปรับอารมณ์ตั้งแต่การเข้าถึง ให้จิตใจเราสงบพร้อมจะซึมซับงานศิลปะอย่างปราณีต มีสุนทรียภาพ”
“คุณสามารถเดินขบวนที่นี่ได้”
นี่คือประโยคจาก อ.ปริญญา ซึ่งต้องการให้พื้นที่ตรงนี้ ทั้งในส่วนของสวน และอาคารเกิดกิจกรรม และการใช้สอยให้มากที่สุด โดยอาจารย์บอกว่า สิ่งที่ง่ายที่สุดในการดึงดูดนักศึกษา และคนทั่วไปให้มาใช้ คือการให้พวกเขาได้จัดกิจกรรมบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ถ้าเราพูดถึงสวนสาธารณะ เรามักจะนึกถึงสุขภาพ ร่างกาย ผู้คนต้องการพื้นที่แบบนี้เพื่อวิ่ง หรือเดิน ออกกำลังกาย แต่จริงๆ แล้ว เราทำอะไรได้มากกว่านั้นในสวนสาธารณะ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำร่วมกัน ในการสร้างกิจกรรม ทั้งเพื่อสุขภาพ เพื่อความสุข และความเป็นหนึ่งเดียว”
อ.กชกร เสริมต่อว่า “ตัวอาคาร และสวนได้เชื่อมต่อกันเลย ถ้าเราพูดถึงสุขภาพ ก็ยังรวมไปถึงการกินอาหารที่ดี ออกกำลังกาย ซึ่งเราก็มีโรงอาหารออร์แกนิก และถ้าเราพูดถึงความเป็นธรรมศาสตร์ เรามักจะนึกถึงการเมือง เสรีภาพ ประชาธิปไตย ซึ่งนี่เป็นเหมือนความรู้พื้นฐานที่ว่า ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ซึ่งอาจารย์มองว่าพื้นที่ตรงนี้ก็จะกลายมาเป็นที่เพื่อประชาธิปไตยในอนาคต สำหรับประเทศชาติ”
“คอนเซ็ปต์นี้ จะทำให้สวนสาธารณะนี้ ยูนีคกว่าสวนอื่นๆ ซึ่งเมื่อสวน รวมกับตัวอาคารแล้ว มันเป็นคอนเซ็ปต์ว่า ทำไมธรรมศาสตร์ถึงเพื่อการเมือง และประชาธิปไตย”
100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย การยกย่องสามัญชนคนธรรมดา
ไม่เพียงแค่ตัวสวน และหลังคา ที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่นี้ แต่ยังมีรูปปั้นของ อ.ป๋วย และอ.ปรีดี ที่เป็นแลนมาร์คใหม่ของมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งประติมากร อ.มานพ สุวรรณปิณฑะ ถอดมาจากภาพถ่ายของทั้งสอง
อ.ปริญญาเล่าว่า “รูปปั้น อ.ป๋วย และ อ.ปรีดี มาจากภาพประวัติศาสตร์ที่ทั้งคู่พบกันหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเป็นการเจอกันครั้งสุดท้ายของทั้งสอง โดยการทำรูปปั้นนี้ เป็นการทำตามภาพถ่าย แต่ได้ดัดแปลงโดยเหลือพื้นที่ที่นั่งระหว่างอาจารย์ทั้งสอง ให้คนสามารถไปนั่งกับรูปปั้นอาจารย์ได้ด้วย”
“ความลับคือ รูปปั้นนี้ใช้ไซต์ 1.2 ซึ่งใหญ่กว่าคนจริงแค่นิดเดียว และเล็กกว่ารูปปั้นทั่วไปที่จะใช้ขนาด 1.5-1.6 ทั้งเรายังตั้งใจให้อาจารย์ทั้งสองยังนั่งอยู่บนเก้าอี้ ติดดิน เหมือนประชาชนทั่วไป”
อ.ธีรพลเสริมประเด็นนี้ว่า “ที่เราเลือกเอารูปนี้มาเป็นประติมากรรมที่ติดดิน เพราะนั่นคือความเป็นตัวตนของ อ.ป๋วย และอ.ปรีดี ที่เป็นสามัญชนคนธรรมดา เราอยากให้นักศึกษา ชาวประชาคมธรรมศาสตร์ และผู้มาเยือนได้สัมผัสได้ถ่ายรูปเหมือนคนรุ่นหลาน เหลนได้สัมผัส และระลึกถึงคนรุ่นคุณปู่”
ทั้งการออกแบบอาคารนี้ ยังมีแนวคิดเรื่องความประหยัด ที่สะท้อนความเป็นอ.ป๋วยที่มัธยัสถ์ โดยงบประมาณอาคารรวมครุภัณฑ์ ต่อตารางเมตรประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท ซึ่งถือว่าไม่สูง เมื่อเทียบกับคอนโดมิเนียมระดับกลางสูงที่ราคาประมาณตารางเมตรละ 3 หมื่นกว่าบาท นอกจากนี้วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุผลิตภายในประเทศที่ง่ายต่อการบำรุงรักษา”
นอกจากนี้ อ.ธีรพล ยังเล่าคอนเซ็ปต์ของสวนว่า จะเป็นสวนที่ยกย่องสามัญชน เพราะปกติแล้ว พื้นที่ของการยกย่องสามัญชนทั่วไป ยังไม่มีให้เห็นในบ้านเรา
“สวนนี้เราต้องการยกย่องสามัญชน คืออยากจะมีประติมากรรมเล็กๆ ของสามัญชนคนธรรมดา เราคิดว่าการยกย่องสามัญชน จะทำให้ความเป็นพลเมืองและสังคมเข้มแข็ง เนื่องจากได้เห็นคุณงามความดีของคนทั่วไปที่หลากหลายและกว้างขวางขึ้น เช่น นักร้องเพลงลูกทุ่งลูกกรุง นักเขียน และผู้บำเพ็ญประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่มีคุณูปการในการสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชน เป็นต้น และแนวคิดนี้ทางธรรมศาสตร์ก็เห็นชอบ”
ความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในสถานศึกษา
เป็นที่รู้กันอยู่ว่า การมีพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องที่ดี และเป็นเทรนด์ที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มตระหนักถึง และสร้างพื้นที่เหล่านี้ให้นักศึกษา ซึ่งสถาปนิกทั้ง 2 ท่านก็ได้ยืนยันกับเราว่า การมีพื้นที่สีเขียวในสถาบันการศึกษาเป็นเรื่องจำเป็น ที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้ และเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
อ.กชกรมองว่า “ทุกคนได้ประโยชน์ จากการมีพื้นที่สีเขียว แต่ว่าการมีพื้นที่สีเขียวที่เป็นนวัตกรรมแบบนี้ในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เดี๋ยวนี้เราไม่ได้เรียนในห้องเรียนแล้ว เราเรียนผ่านการใช้ชีวิตในวิทยาเขต ทุกอย่างคือการเรียนรู้ ถ้าตึกนี้ เป็นสถานที่คนมาเรียนรู้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เพื่อเรียนรู้ โดยเป็นการเรียนที่ไม่ใช่การนั่งเรียน แต่เรียนโดยการปลูกข้าว กินอาหารสุขภาพ ซึ่งไม่ว่ามหาวิทยาลัยนี้จะไปอยู่ที่ไหนก็ต้องสร้าง best case scenario ให้เด็กภูมิใจ ให้ประเทศภูมิใจ และให้การผลิตผู้นำในอนาค
หลายคนบอกว่าไม่จำเป็น การสร้างพื้นที่แบบนี้ใช้เงินเยอะ แต่เราบอกได้ว่าเราประหยัดที่สุด และเราใช้ solution ที่เป็นเหมือนสิ่งที่ทุกคนจะภูมิใจ มหาวิทยาลัยจะภูมิใจ นักศึกษาจะภูมิใจ ผู้นำในอนาคตจะรู้ได้ว่านี่เป็นทางออกของสถาปัตยกรรมในอนาคต”
ในขณะที่ อ.ธีรพล กล่าวว่า “มนุษย์เราต้องการธรรมชาติ เพราะเราได้รับพลังที่สำคัญจากธรรมชาติ อีกอย่างคือ วิกฤตสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน สิ่งนี้จะแก้ได้ ถ้ามนุษย์มีสำนึกเรื่องของสิ่งแวดล้อม คือไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง เอาสรรพสิ่งเป็นตัวตั้ง อยู่ร่วมกันเป็นระบบนิเวศที่สมดุลและยั่งยืน เราจำเป็นต้องสร้างสำนึกให้กับคน ดังนั้นอาคารในมหาวิทยาลัยจึงควรเป็นอาคารเขียว ที่เขียวทั้งใจ และกาย
กายคือ เรื่องกายภาพที่ประหยัดพลังงาน ส่วนเรื่องของใจคือเรื่องที่เราสัมผัสอาคารด้วยตา แล้วทำให้ใจเรารู้สึกรื่นรมย์ด้วยต้นไม้ใบหญ้า เป็นการกระตุ้นสำนึกให้คนตระหนักในความสำคัญของธรรมชาติ”