พิธีพระราชทานปริญญาบัตรเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2473 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงได้มอบให้แก่บัณฑิตที่จบจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนที่พิธีการดังกล่าวจะดำเนินเรื่อยมาจนเป็นธรรมเนียม และเข้าใจโดยทั่วกันว่า การสำเร็จการศึกษา และพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็นสิ่งคู่กัน
อย่างไรก็ตาม พิธีมอบปริญญาบัตรก็ไม่ได้มีรูปแบบตายตัวเหมือนกันทุกประเทศ อย่างในประเทศญี่ปุ่นก็มักจะมีการให้โอวาทจากอธิการบดี ก่อนที่จะแยกห้องรับตามคณะ หรือในโปรตุเกส ก็จะมีธรรมเนียมเผาริบบิ้นที่ติดอยู่บนหมวก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตการทำงาน
ล่าสุด กระแสการไม่เข้าร่วมงานพระราชพิธีปริญญาบัตรดังขึ้น พร้อมๆ กับการออกมาเรียกร้องทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มขึ้นจากท้องถนน ก่อนไหลลงสู่โลกโซเชียล มีเดีย ผ่านแฮชแท็ก ‘ไม่รับปริญญา’
และเมื่อวันที่ 23-24 ตุลาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพิ่งจัดให้มีการซ้อมใหญ่สำหรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่จะมีขึ้นจริงในวันที่ 30-31 ตุลาคมที่จะถึง และนี่คือบางเหตผลจากบัณทิตรหัสนำหน้า 58 ที่เลือกไม่เข้าร่วมงานพระราชทานปริญญาบัตร รวมถึงพวกเขามองเห็นอนาคตตัวเองอย่างไรบ้าง ท่ามกลางสภาพการเมืองและเศรษฐกิจที่ท้าทายสังคมไทยแบบนี้
ปุ๊กโกะ (นามสมมุติ) บัณฑิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการละคร เล่าให้ฟังถึงเป้าหมายในอนาคตว่า เธออยากไปเรียนต่อด้านจิตวิทยา เพราะรู้สึกว่าอยากใช้ศิลปะควบคู่กับจิตวิทยาในการบำบัดผู้คน แต่ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือ ‘เสรีภาพทางการเงิน’
สำหรับเธอที่คลุกคลีกับละครเวทีมาตลอด 4 ปี จนมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และทุกวันนี้ก็ยังอยากทำละคร และยังมี passion กับมันอยู่มาก ก่อนที่เธอจะตัดพ้อว่า “แต่ passion มันไม่พอ ประเทศนี้ศิลปะมันกินไม่ได้ มันไม่ให้เงินเราเท่าทำงานอย่างอื่น”
เธอพักหายใจครู่หนึ่ง และเอ่ยว่า “ตั้งแต่จบมา ความฝันในการทำละครสักเรื่องเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก”
“เราคิดไว้ว่าจะทำหลายเรื่อง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำสักที เพราะเราคิดอย่างเดียวว่า ต้องหาเงินก่อน ต้องหาให้เยอะที่สุด แล้วค่อยไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ศิลปะและละครเวทีควรจะให้เงินกับเรา ไม่ใช่เราต้องหาเงินเพื่อไปทำมัน” เราเห็นความเหนื่อยอ่อนสะท้อนอยู่ในตาเธอ
เราถามเธอถึงว่า ทำไมถึงเลือกไม่เข้ารับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เธอเปลี่ยนปฏิกริยากลับมาสดใสอีกครั้ง และพูดเชิงขำขันว่า “หนึ่งคือขี้เกียจ ไม่อยากย้อมสีผมกลับไปดำ และรู้สึกว่าไม่ติดขนตาไม่ได้ และอยากใส่คอนแท็คเลนท์ อีกอย่างคือเรื่องเงิน”
เธอพูดถึงบทสนทนากับแม่ว่า “ตอนแรกแม่ก็อยากให้รับ แต่พอคุยไปคุยมา แม่ก็บอกว่าเอาเงินที่ต้องจ่ายค่ารับปริญญา ไปซื้อเสื้อผ้าสวยๆ มาใส่ดีกว่า แม่ก็เลยพาไปซื้อเสื้อผ้า ” เธอพูดจบก็หัวเราะ จนเราอดยิ้มตามไม่ได้
เธอมองว่าสำหรับเธอ งานรับปริญญาควรจะเป็นงานที่มีความฟรีไสตล์ ไม่มีใครควรต้องรีบตื่นเพื่อมาแต่งหน้าทำผม แล้วทุกคนควรมาหาบัณฑิตแค่เพื่อถ่ายรูปหรือร้องเพลง แสดงความยินดีเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีพิธีการและตารางเวลาอะไร
เธอแถมให้ฟังนิดหนึ่งว่า ในช่วงเช้าที่เธอเดินทางมาถึง คนหลายคนมองการแต่งกายของเธอกับเพื่อนด้วยสายตาประหลาด เธอเล่าว่า “มันไม่ควรมีการมองแบบมองแบบหัวจรดเท้า เราไม่ควรถูกมองว่าแต่งตัวผิดปกติ เรารู้สึกว่าทุกคนควรใส่อะไรก็ได้ ไม่เห็นต้องเป็นชุดนักศึกษา บัณฑิตควรแค่ใส่ชุดครุย มัดผม ทำตัวให้ถูกตามกาลเทศะปกติ” เธอทิ้งท้าย ก่อนโดดโหยงจากที่นั่งเพื่อไปพูดคุยกับเพื่อนที่เรียนด้วยกันมา 4 ปีต่อ
เบนซ์ (นามสมมุมติ) บัณฑิตสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ SIIT ที่หลังเรียนจบตั้งแต่ปี 2561 ก่อนบินไปเรียนต่อปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษ เล่าให้เราฟังว่า ถึงแม้เขาจะเรียบจนถึงขึ้นปริญญาโท แต่เขาก็ยังเป็นกังวลอยู่ดีกับการหางาน เขากล่าวว่า “ปกติก็ตอนนี้หางานยากมากอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้มีปัญหา COVID-19 ด้วย โอกาสในการจบมาแล้วทำงานในบริษัทดีๆ ยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะเขาอยากได้คนที่มีประสบการณ์และทำงานได้จริงทันที”
เขาเล่าถึงเหตุผลที่ไม่เข้ารับงานพระราขทานปริญญาบัตรให้ฟังว่า มันเต็มไปด้วยขั้นตอนมากมาย ถ้าหากขึ้นซ้อมแล้วท่าไม่เป๊ะ ก็ต้องถูกทำโทษและย้อนกลับมาซ้อมใหม่ และอย่างไร ทุกคนก็สามารถไปขอใบปริญญาจากสำนักทะเบียนของมหาวิทยาลัยได้เหมือนกันอยู่ดี
เขากล่าวว่า งานสำเร็จการศึกษาควรเป็นงานที่ทุกคนเข้ามาแสดงความยินดีร่วมกัน มาถ่ายรูปร่วมกัน ก่อนตั้งข้อสังเกตุว่ามันควรจะเป็นอาจารย์หรือคณบดีที่เป็นคนมามอบใบปริญญาหรือเปล่า เพราะทั้งบัณฑิตและอาจารย์มีสายสัมพันธ์ต่อกัน ถ้าหากอาจารย์เป็นผู้มอบ มันน่าจะมีบางแวบที่คิดในใจว่า “เด็กคนนี้จบแล้ว มันจบจนได้นะ”
สำหรับทุกคนที่มาหาเบนซ์ในวันนี้ เขาเตรียมสติกเกอร์ที่สะท้อนแนวคิดทางการเมืองของเขามาฝากทุกคน เขาเล่าถึงพวกมันว่า “เรามีจุดยืน มีอุดมการณ์ของเรา การที่เราแจกสติเกอร์ เพราะหวังว่าเราจะแสดงสิ่งที่เราเชื่อออกมา อย่างเช่น คนที่ได้นับอาจนำสติ๊กเกอร์ไปแปะตามที่ต่างๆ หรืออะไรประมาณนี้”
เขายอมรับว่า เป็นคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวกับกลุ่มคณะราษฎร เพราะสำหรับเขา ถึงแม้จะเป็นแค่หนึ่งในแสนคน แต่มันก็สำคัญมากๆ ในการที่จะต้องแสดงจุดยืนออกมา
เกม (นามสมมุติ) บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มองว่า ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา สภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศตอนนี้ ค่อนข้างเลวร้าย อำนาจรัฐไม่ได้อยู่ในมือประชาชน หากอยู่ในมือคนเพียงหยิบมือ คนที่มีอำนาจไม่ได้มองผลประโยชน์สาธารณะ แต่มองผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ และมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส
แต่เขายอมรับว่า เขายังมีความหวังกับการออกมาเรียกร้องที่เกิดขึ้นบนท้องถนน และถึงแม้ ผู้นำประเทศ หรือใครก็แล้วแต่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจจะไม่ฟัง แต่เขาเชื่อว่าเมื่อถึงเวลา คนรุ่นใหม่จะขึ้นไปขับเคลื่อนประเทศ และพาประเทศไปข้างหน้าได้ดีกว่าทุกวันนี้
ขณะนี้เกมทำงานเป็นฝ่ายบุคลากร หรือ HR ในบริษัทเสริมความงามแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ผิดไปจากความตั้งใจแรกเริ่มที่จะเข้ารับราชการ เพราะเขาให้เหตุผลว่า สังคมไทยยังมีระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อตัวเขาเอง และคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เข้าไม่ถึงจุดศูนย์กลางของอำนาจ
เกมให้ความเห็นเรื่องงานรับปริญญาว่า มันควรเป็นงานที่ครอบครัว เพื่อน พี่น้อง ที่ช่วยกันผลักดันให้บัณฑิตเรียบจบมามีความสุขร่วมกัน แต่พิธีที่เหลือไม่มีความจำเป็น เพราะอันที่จริงใบปริญญารับกับสำนักทำเบียนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีพิธีอะไรมากมาย
เกมทิ้งท้ายว่า อีกไม่นาน พิธีเหล่านี้คงหมดไป เพราะคนรุ่นใหม่มีความคิดเปลี่ยนไป และไม่ได้เชื่อในวิธีการเดิมๆ อีกแล้ว
บี (นามสมมุติ) บัณฑิตคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา บอกกับเราว่าเขาเองก็เป็นกังวลกับการออกไปเจอโลกทำงานภายนอก เพราะการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เต็มไปด้วยความหลากหลายทางอัตลักษณ์ แต่โลกภายนอกต้องปรับตัวไปตามค่านิยมที่หลายคนคาดหวัง
เขากล่าวว่า ”ถึงแม้ว่า เราปรับตัวได้ แต่มันก็อึดอัดอยู่ดีๆ เพราะมันไม่ใช่ที่ของเรา”
ในฐานะที่เรียนเอกปรัชญามา เขาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “บอกเลยว่ากลัว” ก่อนให้เหตุผลต่อว่า ปรัชญาไม่ใช่คณะวิชาชีพ มันจึงเป็นเรื่องยากในการหางาน โดยเฉพาะในสภาวะบ้านเมืองแบบนี้
สำหรับเขา เหตุผลที่ไม่เข้ารับงานพระราชทานปริญญาบัตรเป็นเพราะ เขาไม่ชอบพิธีรีตอง และไม่ชอบกฎระเบียบ ซึ่งเขาเสริมว่า “ใครๆ ก็รู้ว่าคนที่มาเรียนที่นี้ (ธรรมศาสตร์) เป็นคนที่ไม่ชอบเรื่องพิธีอะไรแบบนั้น”
เขาเสริมว่า บวกกับบรรยากาศที่ผ่านมาตลอด 4 ปีของธรรมศาสตร์ มีแต่อาจารย์ที่คอยสอน และเพื่อนที่คอยช่วย แต่การจะให้เข้ารับพิธีพระราชทานปริญญาบัตรกับคนที่ไม่เกี่ยวข้องเลย เป็นเรื่องที่ บี เรียกว่า “มันดูแปลก”
บีทิ้งท้ายว่า สำหรับเขา ความสำคัญของงานสำเร็จการศึกษาคือ ‘ความสุขของครอบครัว’
เขาคิดว่า งานรับปริญญาควรจะเป็นงานที่เรียบง่าย อาจารย์หรือคณบดีในภาคควรจะเป็นผู้ให้ปริญญากับนักศึกษา เพราะคนเหล่านี้คือคนที่ให้ความรู้ และมีความสำคัญกับพวกเขาโดยตรง
เขาทิ้งท้ายว่า “เราขอแค่นั้น ไม่เคยต้องการมากกว่านั้นเลย”
Illustrator by Waragorn Keeranan