วินาทีที่ เซปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) จอมอื้อฉาว ประกาศชื่อ ‘กาตาร์’ เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 เมื่อ 12 ปีก่อน โลกลูกหนังพากันฉงน และมีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นเต็มไปหมด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสม กับการที่ทีมชาติกาตาร์ ยังไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกมาก่อน ซึ่งผิดหลักการที่ยึดถือกันมาตลอดว่าเจ้าภาพต้องเคยเล่นรอบสุดท้าย เรื่องสภาพอากาศและภูมิศาสตร์ เรื่องขนาดของประเทศและความหนาแน่นที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการแข่งขัน ฯลฯ
เรียกได้ว่าผิดสเปกเจ้าภาพฟุตบอลโลกเกือบหมด ยกเว้นเรื่องเดียวเท่านั้น คือพวกเขา ‘รวย’ !!!
หลักฐานคือการที่ กาตาร์ ทุ่มทุนสร้างไปกับการจัดฟุตบอลโลกครึ่งนี้ถึง 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 7.7 ล้านล้านบาท) เป็นฟุตบอลโลกที่ ‘แพง’ ที่สุดในประวัติศาสตร์ ทุบสถิติเดิมในฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล ซึ่งถลุงเงินไป 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.3 แสนล้านบาท) ไปแบบไม่เห็นฝุ่น
และแม้ตอนนั้นจะมีเครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นมากมาย แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงไม่คาดคิดว่ายิ่งใกล้เวลาทัวร์นาเมนต์เปิดฉาก เครื่องหมายคำถามต่างๆ จะยิ่งเยอะ และยุ่งยากมากกว่าเดิมเป็นทวีคูณ!
แต่นั่นมันเป็นเรื่องของการจัดการแข่งขัน แต่สำหรับแฟนบอลนั้น การเดินทางมาร่วมสัมผัสบรรยากาศฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในดินแดนอาหรับ มันไม่ใช่เรื่องยากเลย
แค่คุณสมัครทำ Hayya Card ซึ่งเปรียบเสมือน Fan ID หรือบัตรประจำตัวของแฟนบอล คุณก็สามารถเดินทางไปกาตาร์ได้เลย โดยที่ Hayya Card ที่ว่าจะถูกใช้เป็นเหมือน multiple entry visa เข้ากาตาร์ อีกทั้งยังเป็นตั๋วโดยสารรถไฟฟ้า (metro) และรถชัตเติ้ลบัสที่เจ้าภาพจัดไว้ให้ได้แบบฟรีๆ
และแค่คุณมีตั๋วชมเกมในมือ ก็เดินตัวปลิว ผิวปากขึ้นอัฒจันทร์ได้ทันที..
อย่างไรก็ตาม ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเปิดฉาก มีความกังวลเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับข้อจำกัดมากมายของชาติเจ้าภาพอย่าง กาตาร์ รวมถึงอีกหลากหลายประเด็นที่ทำให้นานาประเทศแสดงความไม่พอใจกับการที่พวกเขาได้รับสิทธิ์ให้เป็นเจ้าภาพ
ไม่ว่าจะเป็นห้ามแสดงความรักในที่สาธารณะ ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ (มีแค่ที่ FIFA Fan Fest และในบาร์ตามโรงแรม 4-5 ดาวที่มีใบอนุญาต) ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติในกาตาร์ รวมถึงเรื่องเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ+
ซึ่งเชื่อว่าตอนที่กาตาร์ได้รับการประกาศให้เป็นเจ้าภาพเมื่อ 12 ปีก่อน ไม่มีใครคาดคิดว่าเรื่องพวกนี้จะกลายเป็นประเด็นร้อนก่อนแข่งเลยด้วยซ้ำ
กระนั้น จากสัมผัสแรกที่เท้าได้แตะผืนแผ่นดินกาตาร์ 2 วันก่อนทัวร์นาเมนต์เปิดฉาก (ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม) ผมกลับไม่รู้สึกถึงความอึดอัดจากข้อจำกัดใดๆ อย่างที่กังวลไว้ในตอนแรก ทุกอย่างปลอดโปร่งโล่งสบายตั้งแต่ ตม. สนามบิน ที่เช็คแค่พาสปอร์ตกับ Hayya Card ให้ข้อมูลตรงกัน คุณก็เดินผ่านข้ามพรมแดนเข้าประเทศได้อย่างสบายๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ที่พักต่างๆ ในตัวเมืองของกรุงโดฮานั้น ราคาแพงดั่งทอง แม้กระทั่งเต็นท์ธรรมดาๆ แถมห้องน้ำรวมในแฟนวิลเลจ ซึ่งเจ้าภาพจัดไว้รองรับเพราะโรงแรมมีไม่พอรับรองแฟนบอลกว่า 1.2 ล้านคนที่จะมาเยือนในช่วงทัวร์นาเมนต์นั้น ยังตกคืนละ 7-8 พันบาทไทย
ทีมสื่อจากเมืองไทยจึงเลือกหาที่พักที่อยู่นอกเมืองหลวง
และยิ่งโชคดีที่ได้บ้านของพี่อ้อ คนไทยที่มาแต่งงานกับชาวกาตาร์ และอาศัยอยู่ที่นี่มาร่วม 10 ปีแล้วเป็นที่พักในราคามิตรภาพ ไม่เป็นอันตรายต่อกระเป๋าสำหรับการอยู่ยาวเป็นเดือนมากนัก
แม้จะต้องแลกมากับการเดินทางที่อาจต้องเสียเวลาในการนั่งรถไฟเข้าเมืองเสียหน่อย แต่ก็คุ้มค่า และไม่ได้ลำบากอะไรจนเกินไป
สัมผัสแรกกับสภาพบ้านเมืองของกาตาร์ต้องบอกว่าไม่ได้ต่างจากที่จินตนาการไว้
นั่นคือหากไม่ใช่พื้นที่ตัวเมือง มันก็จะเต็มไปด้วยพื้นที่เวิ้งว้างของทะเลทราย
สลับกับปล่องสูงลิ่วของโรงกลั่นน้ำมันอยู่ลิบๆ
แต่ถ้าเข้าสู่เมือง หากเป็นเมืองรอบนอก คุณจะมองหาตึกสูงระฟ้าย่อมไม่มี ส่วนใหญ่ริมถนนสายหลักจะเป็นตึกแถวและร้านรวงต่างๆ ขณะที่ลึกเข้าไปตามซอกซอยก็เป็นบ้านพักอาศัย ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กันไปหมด นั่นคือเป็นบ้าน 1-2 ชั้น ล้อมรั้วด้วยกำแพงสูงร่วม 3 เมตร อีกทั้งยังฉาบด้วยสีโทนเดียวกันทั้งหมด นั่นคือสีครีมๆ แบบเดียวกับสีเม็ดทราย หรือไม่ก็สีขาว
แม้มองออกว่าเป็นบ้านของผู้มีอันจะกิน รูปทรงหน้าตาก็ไม่ต่าง ที่ไม่เหมือนกันก็จะมีแค่พวกของประดับตกแต่ง อาทิ บานประตู โคมไฟ ที่ดูหรูหรากว่า หรืออาจจะขนาดที่ใหญ่โตกว่าเท่านั้น
แต่ถ้าเข้าไปในโซนที่เป็นซิตี้ เซ็นเตอร์ หรือเมืองลูเซล (Lusail) ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ของกาตาร์ ที่นั่นจะเต็มไปด้วยตึกระฟ้ารูปทรงแปลกๆ ให้ถ่ายรูปกันได้อย่างเพลิดเพลิน
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สังเกตุได้คือ ชาว Qatari (ชื่อเรียกคนกาตาร์) มักจะออกมาทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเย็นเป็นต้นไป หากคุณออกมาไปข้างนอกในช่วงเช้าหรือบ่าย คุณจะมองหาผู้คนแทบไม่ค่อยเจอ
แต่พอตกเย็น ร้านรวงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร พากันเปิดไฟสว่างไสว ผู้คนขวักไขว่
อ้อ! เท่าที่สังเกตุได้อีกอย่าง ร้านรวงที่นี่เปิด 24 ชั่วโมงกันเยอะมาก เยอะชนิดที่บางอย่างก็ชวนสงสัยว่าจะเปิด 24 ชั่วโมงไปทำไม ซึ่งเท่าที่เห็นมีทั้ง ร้านตัดผม ร้านซักอบรีด แม้กระทั่งร้านซ่อมยางรถยนต์
ถ้าให้เดาเหตุผลที่ทำให้ชีวิตในกาตาร์ กลางวันเงียบเหงา กลางคืนคึกคัก ก็น่าจะเป็นเรื่องสภาพภูมิอากาศกาตาร์ ซึ่งอยู่กลางทะเลทราย และร้อนจัดในช่วงกลางวัน โดยจากการสอบถามกับพี่อ้อ เจ้าของบ้าน ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อนนั้น อุณหภูมิในช่วงกลางวันอาจเฉียด 50 องศาเซลเซียส แบบที่อธิบายให้เห็นภาพว่าทันทีที่คุณเปิดประตูออกไปด้านนอก ลมร้อนจะพุ่งเข้ามาปะทะใบหน้า เหมือนตอนคุณเปิดเตาอบยังไงยังงั้น
ได้ฟังดังนั้นก็ให้ขนลุก และเข้าใจอย่างยิ่งว่าทำไมฟุตบอลโลกครั้งนี้ต้องขยับมาเตะกันในฤดูหนาว ซึ่งอากาศไม่หฤโหดเท่า แม้ช่วงกลางวันจะแดดจัดแต่ก็มีลม ขณะที่กลางคืนอากาศเย็นสบาย ไม่ต่างจากหน้าหนาวบ้านเรา
ส่วนเรื่องการเดินทางนั้น คนกาตาร์ส่วนใหญ่มีสตางค์ ดังนั้นพวกเขาก็จะใช้รถยนต์ส่วนตัวกันเป็นส่วนใหญ่ และรถยนต์ส่วนตัวที่เห็นทั่วไปบนท้องถนนเกินครึ่ง เป็นรถ SUV ขนาดใหญ่ทั้งสิ้น นัยว่าสามารถใช้ได้ทั้งในเมืองและลุยทะเลทราย และแน่นอนว่าพวกเขาไม่เคยมีปัญหาเรื่องการสิ้นเปลืองพลังงาน เพราะใช้ไปอีกสิบๆ ปีก็ไม่หมด
และสำหรับประชาชนชาวกาตาร์นั้น สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่าง ไฟฟ้า ประปา นั้น ‘ใช้ฟรี’ นะครับ
ซึ่งนี้เป็นเหตุผลที่พี่อ้อบอกกับเราในวันแรกที่ไปถึงว่า ตอนออกจากบ้านไม่ต้องปิดแอร์ก็ได้ เพราะเดี๋ยวตอนกลับเข้ามามันจะร้อนซะเปล่าๆ
ขณะที่ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะนั้น รถไฟฟ้าที่เรียกว่า ‘เมโทร’ เพิ่งสร้างเสร็จใหม่เอี่ยมเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกโดยเฉพาะ และเพิ่งเปิดใช้งานเมื่อ 1 ปีก่อน โดยเส้นทางเดินรถแบ่งเป็น 3 สาย คือสายสีเขียว สีแดง และสีทอง ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงโดฮา (Doha) ออกไปยังชานเมือง อย่างสถานีอัล วาคราห์ (Al Wakra) ที่อยู่ใกล้ที่พักของผมที่สุด ก็เป็นสถานีสุดท้ายทางใต้ และสุดสายสีแดงพอดี
ซึ่งในช่วงฟุตบอลโลกนั้น แฟนบอลที่มี Hayya Card ใช้ฟรี ขณะที่ในช่วงเวลาปกติ ค่าโดยสารก็ไม่ได้แพงมากมาย โดยคิดเป็นเที่ยว เที่ยวละ 2 ริยัล เป็นเงินไทยประมาณ 20 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ในช่วงฟุตบอลโลกยังมีรถชัตเติ้ลบัส คอยรับส่งแฟนบอลหลายเส้นทาง และมีไม่ขาด แต่ละเส้นทางมีรถออกอย่างช้าคือทุกๆ 15 นาที สมกับข่าวก่อนหน้านี้ที่บอกว่า กาตาร์กวาดต้อนรถบัสทั่วประเทศกว่า 3,000 คันมาใช้งานในการนี้โดยเฉพาะ
และสำหรับสื่อมวลชนนั้น รถชัตเติ้ลบัสมีให้ใช้อย่างล้นเหลือ มีบริการหลายเส้นทาง และมีรถออกทุกๆ 5 นาที จะมีคนขึ้นมากน้อยก็ไม่สนใจ โดยเฉพาะรถจากศูนย์ผู้สื่อข่าวหลักที่กาตาร์ เนชันแนล คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ (Qatar National Convention Centre – QNCC) ไปยังสนามต่างๆ ที่มีเกมฟาดแข้ง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการที่ 8 สังเวียนแข้งฟุตบอลโลกครั้งนี้อยู่ห่างกันในรัศมีไม่ถึง 50 กิโลเมตร ทำให้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกที่แฟนบอลรวมถึงสื่อจะได้ดู 2 คู่ในวันเดียว
ดังนั้นสื่อคนไหนที่ดูคู่ที่ 1 ของวันแล้วจะเดินทางต่อไปดูคู่ที่ 3 หรือ 4 คุณสามารถขึ้นรถชัตเติ้ลบัส ตรงจากสนามหนึ่งไปสู่อีกสนามหนึ่งได้ทันที
ส่วนเรื่องการเดินทางอื่นๆ ก็มีทั้งรถเมล์ และแท๊กซี่ ที่มีทั้งอูเบอร์ และ ‘คารีม’ บริษัทแท๊กซี่ท้องถิ่น ซึ่งเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นได้ไม่ยาก สนนราคาก็ไม่ถึงกับแพงมากจนรับไม่ไหว แถมเรียกแล้วมาเร็วอีกด้วย เว้นแต่อย่าเรียกในช่วงที่ตรงกับเวลาละหมาดเท่านั้น เพราะจะไม่มีแท็กซี่คันไหนกดรับคุณทั้งสิ้น ซึ่งผมเคยแล้วด้วยความไม่รู้ ทำเอาต้องรอพักใหญ่ให้พวกเขาละหมาดเสร็จก่อน
ส่วนเรื่องของค่าครองชีพนั้น บอกก่อนเผื่อคุณผู้อ่านจะคำนวนเป็นเงินไทยได้ง่ายๆ โดย 1 ริยัลกาตาร์เท่ากับเงินไทยเป็นตัวเลขกลมๆ คือ 10 บาท โดยร้านอาหารทั่วไปก็ราคาสูงพอสมควรถ้าเทียบกับเมืองไทย เฉลี่ยต่อหัวต่อมื้อก็น่าจะตกอยู่ที่ราวๆ 400-500 บาท ส่วนน้ำเปล่าขวดเล็กอยู่ที่เกือบๆ 20 บาทไทย ถ้าขวดใหญ่ก็ราว 25 บาท ถ้าเป็นน้ำอัดลมก็แพงกว่านั้นนิดหน่อย
แต่ถ้าเป็นในสนาม ราคาจะถีบตัวขึ้นไปกว่า 10 เท่า โดยน้ำเปล่าขวดเล็กขวดละ 10 ริยัล หรือ 100 บาทไทย ขณะที่น้ำอัดลมขวดเล็ก 15 ริยัล หรือ 150 บาท
ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์นั้น อย่างหวังว่าจะหาได้ทั่วไป มีแค่ใน FIFA Fan Fest ในสนนราคา 500 บาทไทยต่อ 1 กระป๋องยาว (500 ml) หรือไม่ก็ต้องหาบาร์ตามโรงแรมที่มีใบอนุญาตจำหน่ายเท่านั้น
โดยภาพรวมคือชีวิตในกาตาร์ ไม่ได้ลำบากยากเย็นอะไร อาหารซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเมนูสไตล์อาหรับ จำพวกเคบับ ข้าวหมกต่างๆ ก็กินได้ไม่ยาก อาหารชาติอื่นๆ ก็พอหาได้ ร้านอาหารไทยก็มีใน Souq Waqif ตลาดดังอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แถมยังมีซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีวัตถุดิบให้เลือกซื้อหาครบครันอยู่ทั่วไป แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์จากไทยอย่างพวก ข้าวสาร ปลากระป๋อง หรือผักบางอย่างก็มีขาย
อย่างไรก็ตาม หากว่ากันด้วยเรื่องของบรรยากาศของความเป็น ‘ฟุตบอลโลก’ นั้น ถ้าเทียบกับสภาวะปกติของชาติเจ้าภาพอื่นๆ แล้ว ถือว่าไม่ได้คึกคักมากมาย ด้วยความที่ชาวกาตาร์ไม่ใช่ชนชาติที่นิยมความสนุกสนานโดยธรรมชาติ แถมทีมของพวกเขายังตกรอบซะเร็วจี๋ บรรยากาศเลยยิ่งกร่อยไปอีกหลายขีด
บวกกับการที่แฟนบอลชาติอื่นๆ ยังไม่เดินทางมา จะด้วยเหตุผลว่าทีมตัวเองยังไม่มีคิวเตะ หรือเป็นเพราะที่พักมันแพงจนไม่อาจมาอยู่ยาวๆ ได้ก็ตามที
แต่ฟุตบอลโลกก็คือฟุตบอลโลกครับ เมื่อถึงเวลา แฟนบอลของทุกชาติก็ต้องตามมาเชียร์ทีมของพวกเขา และเมื่อแฟนบอลเหล่านี้มารวมตัว สีสันและความสนุกย่อมตามมาเป็นเรื่องธรรมดา
ตามปกติแล้ว เวลามีทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างฟุตบอลโลก สีสันของแฟนบอลคือสิ่งที่ใครก็ตามที่มีโอกาสไปดูเกม ควรหาโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสบรรยากาศของแฟนบอลเหล่านี้ แทนที่จะไปถึงสนามก่อนเตะแล้วเดินก้มหน้างุดๆ เข้าสนาม
ลองเผื่อเวลาไปสนามให้เร็วขึ้น แล้วใช้เวลาดื่มด่ำกับสีสันและความสนุกของแฟนบอลอย่างน้อยสักครึ่งชั่วโมง คุณจะพบว่าการไปดูฟุตบอลโลกของคุณจะ ‘ฟิน’ ขึ้นอีกเยอะ และจะถือเป็นการได้สัมผัสกับฟุตบอลโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง
สำหรับแฟนบอลนั้นก็แบ่งเป็นหลายแบบ บางชาติเน้นเรื่องสีสันและการแต่งตัว ที่โดดเด่นก็น่าจะเป็นแฟนบอลของชาติที่มีสีประจำทีมจัดจ้านอย่างบราซิลหรือเนเธอร์แลนด์ 2 ชาตินี้แค่เดินดูเครื่องแต่งกายของพวกเขาก็เพลินแล้ว ส่วนใหญ่จะจัดเต็ม มาทั้งแบบเป็นแฟนตาซี มาทั้งแบบแต่งกันมาเป็นทีม
และในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เครื่องแต่งกายที่เป็นที่นิยมของแฟนบอลแทบทุกชาติคือ ‘คุตระ’ (Ghutra) หรือผ้าโพกศีรษะในสไตล์ของคนอาหรับ ซึ่งในร้านขายของที่ระลึกของฟุตบอลโลกที่มีอยู่ทั่วไปนั้น มีคุตระเป็นลายของธงชาติต่างๆ จำหน่ายให้แฟนบอลแต่ละชาติซื้อหามาสวมใส่ให้เข้าบรรยากาศกันมากมาย อีกทั้งยังมีชุดยาวๆ ของชาวอาหรับที่เราคุ้นตา แต่เป็นลายธงชาติขายด้วย
ส่วนแฟนบอลจากเอเชียของเราอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น สีสันก็ไม่น้อยเช่นกัน แม้อาจไม่เท่า 2 ชาติที่ว่า แต่พวกเขามีสิ่งที่เรียกว่าวินัยในการเชียร์เข้ามาทดแทน ตลอด 90 นาทีในสนามคุณจะได้ยินเสียงเชียร์ของพวกเขาไม่หยุด
แต่ถ้าอยากเห็นการเชียร์แบบ ‘แพสชั่น’ มาเต็ม ผมขอแนะนำแฟนบอลอาร์เจนตินา นี่คือชาติที่แฟนบอลมักจะยกพลกันไปแบบมืดฟ้ามัวดินในทุกทัวร์นาเมนต์และทำให้ทุกสนามเป็นเหมือน ‘รังเหย้า’ ของตัวเองได้เสมอด้วยการลุกขึ้นร้องเพลงเชียร์พร้อมๆ กันทั้งสนาม แม้สีสันวิธีการของพวกเขาอาจไม่หวือหวา แต่ ‘พลัง’ ที่ส่งลงไปให้นักเตะในสนามนั้นถือว่ามหาศาล
และสุดท้ายไม่ว่าพวกเขาจะไปถึงดวงดาวด้วยการเป็นแชมป์โลกหรือไม่ แต่สำหรับรางวัลแฟนบอลยอดเยี่ยม ผมยกให้แฟนบอล ‘ฟ้าขาว’ อาร์เจนติน่าครองแชมป์ประเภทดุดัน ส่วนประเภทสีสันยกให้สาวก ‘แซมบ้า’ บราซิล ไปก็แล้วกัน
ส่วนเรื่องของเกมการแข่งขันนั้น หลังผ่านเกมในรอบแรก สำหรับผมแล้วเราสามารถประทับตราได้แล้วว่านี่คือฟุตบอลโลกที่น่าจะเป็นที่จดจำมากที่สุดครั้งหนึ่งในแง่ของเกมการแข่งขัน ทั้งเรื่องการพลิกล็อกที่เกิดขึ้นแบบที่คอบอลต้องอุทานว่า “มันเป็นไปได้ยังไง!” ในหลายๆ คู่
ไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาระเบียชนะอาร์เจนตินา, ญี่ปุ่นชนะเยอรมนีและสเปน, เกาหลีใต้ชนะโปรตุเกส รวมถึงแคเมอรูนชนะบราซิล
และที่สำคัญ หลังจบรอบแรกนั้น มีทีมตัวแทนจากโซนเอเชียผ่านเข้ารอบน็อคเอาต์ได้ถึง 3 ทีม ประกอบด้วยญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ซึ่งถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์
แต่เส้นทางจากรอบ 16 ทีมสุดท้ายไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และสุดท้ายใครจะได้ชูถ้วย ‘ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ โทรฟี’ ในท้ายที่สุด เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
แต่สิ่งที่บอกได้แน่ๆ ตอนนี้คือ แม้คุณจะมีเงินมหาศาลถึงขั้นดึงฟุตบอลโลกมาจัดในบ้านคุณได้ แต่สุดท้าย เงินมันไม่ใช่สิ่งการันตี ว่ามันจะเป็นฟุตบอลโลกที่ยอดเยี่ยมและน่าจดจำ..