ตั้งแต่มงลงได้เป็นเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลโลกปี 2022 กาตาร์ก็เผชิญกับสารพัดคำวิจารณ์มาโดยตลอด
จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาที่วุ่นวายที่สุด ตั้งแต่ปัญหาเรื่องการทุจริตและติดสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งเจ้าภาพ การละเมิดสิทธิของแรงงานอพยพเพื่อเตรียมความพร้อมจัดงาน ไปจนถึงการไม่เคารพสิทธิของ LGBTQ และการจำกัดขายเบียร์ด้วยเหตุผลทางความเชื่อ
กลายเป็นประเด็นดราม่าหนักเรื่อยมาตั้งแต่ได้เป็นเจ้าภาพ หรือแม้กระทั่งตอนที่บอลเริ่มเตะไปแล้ว จนทาง จานนี อินฟานติโน (Gianni Infantino) ประธานฟีฟ่า (FIFA) ต้องออกมาปกป้องกาตาร์ยกใหญ่ในวันแถลงข่าว ก่อนเริ่มเตะไม่กี่ชั่วโมง “วิธีเดียวที่จะได้ผล คือการเข้าหาและพูดคุยกัน ไม่ใช่การโขกสับหรือการด่าทอ” คือส่วนหนึ่งที่อินฟานติโนร่ายยาวในวันนั้น
ฟุตบอลโลกปีนี้มีประเด็นอะไรบ้าง ถึงขนาดที่ประธานฟีฟ่าต้องออกมาปกป้อง? The MATTER ชวนดูสารพัดดราม่าที่เกิดขึ้นไปด้วยกัน!
ถูกครหาว่า ‘ทุจริต’ และ ‘ติดสินบน’
กาตาร์ได้สิทธิในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2010 โกยเอาคะแนนเสียงจากสมาชิกบริหารของฟีฟ่า จนเอาชนะสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
จึงกลายเป็นชาติอาหรับแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดทัวร์นาเมนต์ระดับโลกนี้ อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เมื่อปี 2010 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์การแฉเรื่องทุจริตและสินบน เพราะหลายฝ่ายเริ่มสงสัยว่าทำไมกาตาร์ถึงได้สิทธิเป็นเจ้าภาพ ทั้งๆ ที่เป็นประเทศเนื้อที่น้อย โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอ แถมไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกเลยสักครั้ง
กาตาร์เผชิญกับสารพัดข้อครหา ไม่ว่าจะถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงินให้กับฟีฟ่า 3 ล้านปอนด์ (ประมาณ 128 ล้านบาท) เพื่อให้สนับสนุนตัวเองเป็นเจ้าภาพ หรือถูกกล่าวหาว่าส่งอดีตประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียไปล็อบบี้สมาชิกบอร์ดฟีฟ่าคนอื่นๆ ให้โหวตเพื่อกาตาร์ โดยใช้เงินหลักร้อยล้านบาท
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยังกล่าวหาด้วยว่า ตัวแทนกาตาร์จ่ายสินบนฟีฟ่าเพื่อล็อบบี้ให้ได้สิทธิในการเป็นเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลโลก จนเกิดการตรวจสอบความโปร่งใสของการประมูลสิทธิฟุตบอลโลกปี 2022 และมีผู้เกี่ยวข้องถูกเรียกไปสอบสวนเป็นจำนวนมาก อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับตอนที่เจ้าหน้าที่ฟีฟ่าโดนฟ้องด้วยข้อหาฉ้อโกง-ฟอกเงิน-รับสินบนพอดี
บางส่วนถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า การเอื้อให้กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพบอลโลก เกี่ยวข้องกับกลไกทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยหรือไม่
ตั้งแต่มงลงว่าจะได้เป็นเจ้าภาพและถูกครหา กาตาร์ออกมาปฏิเสธอยู่ตลอดว่าไม่มีพฤติกรรมที่ทุจริตและติดสินบน พร้อมยืนยันว่าได้สิทธิมาอย่างโปร่งใส ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เอง ก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานชัดเจนมาชี้ได้ว่า เจ้าหน้าที่ฟีฟ่ารับสินบนเพื่อทุจริตในการโหวตให้สิทธิกาตาร์เป็นเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลโลก
ละเมิดสิทธิแรงงานอพยพ และการเสียชีวิตจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับคำตอบ
เรื่องอื้อฉาวอีกเรื่องหนึ่งที่ใหญ่มากๆ สำหรับกาตาร์ ก็คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานอพยพ (migrant workers) นับตั้งแต่ได้รับสิทธิเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งก็มีพบว่าเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการโกงค่าแรง การบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการเสียชีวิตของแรงงานจำนวนมาก ที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบชัดเจน
กาตาร์เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพิงแรงงานอพยพอย่างหนัก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน คิดเป็น 95% ของแรงงานทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพที่มาจาก อินเดีย เนปาล ศรีลังกา บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และเคนยา และเมื่อต้องสร้างสนามใหม่อีก 7 สนาม พร้อมกับสิ่งก่อสร้างต่างๆ อีกนับไม่ถ้วน รัฐบาลกาตาร์ก็ระบุว่า มีการจ้างงานแรงงานต่างชาติถึง 30,000 คน เพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ
แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา กลับมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานเหล่านี้เป็นจำนวนมาก จนทำให้เป็นที่จับตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติหลายแห่ง ที่ออกรายงานเปิดโปงและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาบ่อยขึ้นเรื่อยๆ
สาเหตุหลักอย่างหนึ่งของปัญหา มาจากระบบอุปถัมภ์แรงงานของกาตาร์ ที่เรียกว่า ‘ระบบคาฟาลา’ (Kafala System) ระบบดังกล่าวเป็นระบบการควบคุมแรงงาน ที่เปิดช่องให้นายจ้างหรือบริษัทเป็นผู้ดูแลแรงงานต่างชาติตามกฎหมาย ซึ่งใช้กันมาและเพิ่งยกเลิกไปเมื่อปี 2016 แต่รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
เนื่องจากการขาดความโปร่งใสและการตรวจสอบ ก็กลายเป็นว่า ระบบดังกล่าวทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานจำนวนมาก ดังที่ได้พูดถึงไป หลายคนถูกบังคับใช้แรงงานเป็นเวลานานติดต่อกันหลายปีโดยไม่มีวันหยุด หลายคนไม่ได้น้ำไม่ได้อาหาร หรือบางคนถูกนายจ้างยึดพาสปอร์ตจนไม่สามารถออกไปไหนได้ก็มี
อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ฟุตบอลโลกที่กาตาร์กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวมากๆ ก็คือรายงานของ The Guardian ที่ระบุว่า มีแรงงานอพยพมากกว่า 6,500 คนต้องเสียชีวิตที่กาตาร์ นับตั้งแต่ได้สิทธิเป็นเจ้าภาพเมื่อ 12 ปีก่อน โดยเป็นตัวเลขที่รวบรวมมาจากสถานทูตของประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ดี ยอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงก็ยังไม่แน่นอนและยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน รัฐบาลกาตาร์เองก็อ้างว่า ตัวเลขดังกล่าวคือจำนวนผู้เสียชีวิตที่รวมถึงกรณีที่ไม่ได้ทำงานในโครงการก่อสร้างของฟุตบอลโลก 2022 รวมอยู่ด้วย ในขณะที่รายงานปี 2020 ของกาตาร์ระบุว่า ในระหว่างปี 2014-2020 มีเพียงแค่ 37 คนเท่านั้นที่เสียชีวิตในไซต์ก่อสร้างสนาม และมีการเสียชีวิตแค่ 3 ครั้ง ที่ ‘เกี่ยวข้องกับการทำงาน’
แต่สิ่งที่แน่ชัดก็คือ การเสียชีวิตจำนวนมากยังคงไม่ได้รับคำตอบ เจ้าหน้าที่กาตาร์ไม่ได้จริงจังกับการสอบสวนหาสาเหตุการตายเหล่านี้อย่างแท้จริง แม้จะมีหลักฐานให้เห็นถึงสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยเพียงใดก็ตาม
ทั้งหมดนี้ยังเป็นสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานและครอบครัว เรียกร้องการชดเชยจากกาตาร์และฟีฟ่า แม้ในวันนี้ ที่ฟุตบอลโลก 2022 เปิดฉากเริ่มต้นขึ้นไปแล้ว
ความปลอดภัยของแฟนบอล LGBTQ และดราม่าปลอกแขน ‘OneLove’
ในฐานะที่กาตาร์เป็น 1 ใน 11 ประเทศ ที่มีโทษประหารชีวิตให้กับการรักเพศเดียวกัน แม้ยังไม่เคยมีการบังคับใช้จริง และแม้กาตาร์จะบอกว่า ‘ต้อนรับทุกคน’ ในงานฟุตบอลโลก 2022 ก็ตาม แต่แฟนๆ ที่นิยามตัวเองว่าเป็น LGBTQ ต่างก็อดไม่ได้ที่จะต้องตั้งคำถามว่า ชีวิตของพวกเขาเองจะปลอดภัยจริงๆ หรือ?
เรื่องนี้ฟีฟ่าเองก็ออกมายืนยันว่า ฟุตบอลโลก 2022 ต้อนรับทุกคน และสามารถแสดงออกอย่างเต็มที่ได้ภายในโซนทัวร์นาเมนต์ (tournament zones) ของฟีฟ่า แต่ในขณะเดียวกัน ชุมชน LGBTQ ก็ได้รับการเตือนให้เคารพใน ‘ความแตกต่างทางวัฒนธรรม’ ในระหว่างที่อยู่ในกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศอนุรักษนิยมอย่างหนัก ทำให้ไม่มีความชัดเจนอีกว่า แล้วแค่ไหนถึงจะปลอดภัย
ถึงขนาดที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว LGBTQ อันโตนิโอ ปาโบล เฮร์เรโร (Antonio Pablo Herrero) ให้คำแนะนำถึงชาว LGBTQ ผ่าน The Washington Post เลยว่า “ถ้าคุณอยากปลอดภัย ก็อย่าไปที่นั่น [กาตาร์]”
แต่ถึงแม้จะมีการยืนยันจากทั้งกาตาร์และฟีฟ่า ในช่วงสัปดาห์ ซึ่งเป็นสัปดาห์แรกของฟุตบอลโลก 2022 ก็มีรายงานอีกว่า แฟนๆ LGBTQ บางส่วน ถูกห้ามเข้าสนามแข่ง จนกว่าจะยอมถอดหมวกหรือเสื้อลายรุ้ง หรือเก็บธงสีรุ้งที่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม ขณะที่บางส่วนก็ถูกชาวกาตาร์ทั่วไปเผชิญหน้า เพื่อบังคับให้เก็บหรือซ่อนสัญลักษณ์สีรุ้งด้วย
เรื่องของสัญลักษณ์สีรุ้ง ยังกลายมาเป็นดราม่าอีกในช่วงวันที่ผ่านมา หลังจากที่กัปตันทีมชาติของประเทศในยุโรปหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เวลส์ ฯลฯ ประกาศจะใส่ปลอกแขน ‘OneLove’ ที่เป็นสัญลักษณ์รูปหัวใจหลากสี ในการแข่งขัน ซึ่งก็ชัดเจนว่ามีเพื่อสนับสนุนชุมชน LGBTQ
แต่ท้ายที่สุดก็ปรากฏว่า ฟีฟ่าขู่ว่าจะแจกใบเหลือง หากกัปตันทีมใส่ปลอกแขนดังกล่าว จนเมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน กัปตันทีมของทั้ง 7 ประเทศที่พูดถึงข้างต้น ก็ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ยืนยันว่าจะไม่ใส่ปลอกแขน เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการลงโทษที่ต้องเจอ พร้อมกับระบุด้วยว่า พวกเขารู้สึก ‘คับข้องใจ’ และ ‘ผิดหวัง’ กับการขู่แจกใบเหลืองของฟีฟ่า
จำกัดการขายเบียร์ 2 วันก่อนบอลโลกเริ่มเตะ
เมื่อนึกถึงการเชียร์บอล ภาพของแฟนๆ พร้อมแก้วเบียร์ในมือมักจะตามมาเสมอ แต่ปีนี้คงต่างออกไป เพราะกาตาร์ห้ามไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสนามกีฬาเลย ไม่ว่าจะรอบนอกสนาม ขอบสนาม หรือบนอัฒจันทร์ ว่าง่ายๆ ก็คือแบนเบียร์จากสนามแข่งโดยสิ้นเชิง
กาตาร์เป็นประเทศที่มีกฎควบคุมแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวดด้วยเหตุผลทางศาสนา แต่โดยปกติแล้ว ประเทศเจ้าภาพไม่ได้ห้ามดื่มในทุกกรณี แต่จะอนุญาตให้ขายแอลกอฮอล์แค่ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เช่น บาร์ตามโรงแรม
ดังนั้น แฟนบอลที่ต้องการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อชุบชูหัวใจ จะหาซื้อและดื่มได้จากสถานที่ที่อนุญาตให้ขายเท่านั้น ซึ่งอาจมีราคาสูงถึง 420-520 บาท ต่อ 1 กระป๋อง โดยหากใครดื่มนอกพื้นที่ก็อาจถูกปรับเงินสูงสุดถึง 30,000 บาท
นอกจากนี้ กาตาร์ยังจัดเตรียมพื้นที่รองรับสำหรับคนที่เมาหนัก ให้ไปอยู่รอจนสร่างเมาด้วยนะ เรียกได้ว่าเตรียมพร้อมรับมือกับนักดื่มอย่างเต็มที่
ที่ผ่านมา กาตาร์หารือกับฟีฟ่าด้วยเรื่องแอลกอฮอล์มาโดยตลอด เพราะการได้สิทธิจัดบอลโลกจากฟีฟ่า จะมีภาระผูกพันด้วยว่าต้องจัดให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจัดพื้นที่ส่งเสริมการขายให้เบียร์แบรนด์ ‘บัดไวเซอร์’ ในฐานะผู้สนับสนุนหลักด้วย
จนเคยได้ข้อสรุปว่า จะให้มีการขายเบียร์แค่ในขอบเขตพื้นที่ขายตั๋วของแต่ละสนามเท่านั้น ไม่ให้ขายภายในสนาม และจะให้แฟนบอลซื้อเบียร์ได้แค่ 3 ชั่วโมงก่อนเริ่มเตะ และภายใน 1 ชั่วโมงหลังเตะจบเท่านั้น แถมก่อนแข่งไม่กี่วัน กาตาร์มีการสั่ง ‘ย้ายเตนท์เบียร์’ ให้ไปอยู่ที่ลับตาขึ้นด้วย
แต่พอ 48 ชั่วโมงก่อนฟุตบอลโลกจะเปิดฉากขึ้น อยู่ๆ ฟีฟ่าก็ออกมาประกาศว่า จะไม่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกสนามกีฬาที่ใช้แข่งขัน อันเป็นการตัดสินใจที่มาจากการหารือกับประเทศเจ้าภาพ (ทั้งๆ ที่มีเวลาให้เถียงกันตั้งแต่ได้สิทธิเจ้าภาพบอลโลกเมื่อ 12 ปีที่แล้ว)
อ้อ แต่มีเบียร์ชนิดนึงที่ขายได้นะ เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 0% ยังไงล่ะ!