ในงานเสวนา ‘ปัญหาการตีความกฎหมาย กรณีชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน’ ได้มีพูดคุยกันถึงปัญหาตีความกฎหมายที่ทำให้ชาวบ้านบางกลอยต้องจากแผ่นดินบรรพบุรุษมาอาศัยอยู่ในพื้นที่บางกลอยล่าง และอีกหนึ่งประเด็นที่หลายฝ่ายพูดตรงกันคือ ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกันระหว่างภาครัฐและประชาสังคม
TheMATTER ได้เทียบข้อมูล 10 ประการที่คลาดเคลื่อนระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคม ซึ่ง สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้นำเสนอในวงเสวนาดังกล่าว
1. ชาวบางกลอยไม่ใช่คนไทย
ชาวบางกลอยเป็นคนไทยมีบัตรประชาชน มีทะเบียนบ้าน และได้รับสิทธิความเป็นไทย โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ปู่คออี้ หรือ โคอิ มีมิ อดีตผู้นำจิตวิญญาณของชาวบางกลอยที่เกิดในปี พ.ศ.2454
2. ชาวบางกลอยเป็นชาวกะหร่าง
มีช่วงหนึ่งที่มีความพยายามอ้างว่าชาวบางกลอยเป็นชาวกะหร่างที่เดินทางจากเมียนมาเพื่อตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย แต่ความเป็นจริงชาวบ้านบางกลอยคือชาวกะเหรี่ยงปกากะญอ และอาศัยอยู่ในป่าแก่งกระจานมานานแล้ว
3. ชาวบางกลอยบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ชาวบางกลอยอยู่ในพื้นที่มาก่อนมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 รวมถึงอยู่ก่อนที่ป่าแก่งกระจานจะกลายเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีหลักฐานที่ชัดเจนคือแผนที่ทหาร พ.ศ.2455 ซึ่งมองเห็นชุมชนของชาวบางกลอยอยู่ในแผนที่
4. มีการอพยพชาวบ้านสองครั้งคือในปี 2539 และ 2554
‘การอพยพ’ หมายความว่าย้ายจากสถานที่หนึ่งไปสถานที่หนึ่ง แต่ในยุทธการตะนาวศรีปี 2554 ซึ่งมีการเผาบ้าน ทำลายที่อยู่อาศัยของชาวบางกลอย ไม่นับว่าเป็นการอพยพ แต่เป็นการเผาบ้านเรือนและชาวบ้านต้องหนีตาย
5. มีการจัดสรรที่ดินให้ชาวบางกลอยคนละ 7 ไร่
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่จัดสรรที่ดินในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ ดังนั้น การอ้างว่าจัดสรรที่ดินบริเวณบางกลอยล่าง ซึ่งอยู่ในเขตป่าอุทยานแห่งชาติเช่นกันจึงผิดกฎหมาย
6. ต้องอพยพชาวบ้านลงมาข้างล่าง เพราะที่อยู่เดิมเป็นป่าต้นน้ำ
ข้ออ้างอย่างหนึ่งของภาครัฐที่ว่า จำเป็นต้องอพยพชาวบ้านลงมาจากบางกลอยบนและใจแผ่นดิน เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำชั้นหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง พื้นที่บางกลอยล่างก็เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำเช่นเดียวกัน
7. การเดินกลับไปบางกลอยบน เมื่อต้นมกราคม 2564 เจ้าหน้าที่อ้างว่าชาวบ้านบุกรุกเปิดป่าใหม่
ตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 ระบุว่า ถ้าพื้นที่ป่าสามารถฟื้นฟูได้ ชาวบ้านมีสิทธิยื่นขออยู่อาศัยในพื้นที่นั้นได้ ดังนั้น ถ้าใช้คำว่าชาวบ้านบุกรุกเปิดป่าใหม่ แสดงว่าพื้นที่เดิมต้องฟื้นฟูแล้ว และชาวบ้านมีสิทธิขออยู่อาศัย
8. เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ระบุว่าเจ้าหน้าที่ต้องสำรวจพื้นที่ป่าที่มีชาวบ้านอยู่อาศัยภายใน 240 วันและให้สิทธิอยู่อาศัยแก่ชาวบ้านที่อยู่มาก่อน แม้เกินกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ กรอบเวลาที่กำหนดในบทเฉพาะกาลก็ยังอะลุ่มอะล่วยได้ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องยึดตามบทเฉพาะกาลก่อน ค่อยบังคับใช้กฎหมายมาตราอื่น
9. คำสั่งศาลปกครองสูงสุดปี 2561
เจ้าหน้าที่มักอ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเพื่อพาชาวบ้านออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิม แต่ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดปี 2561 ศาลเพียงพูดถึงยุทธการตะนาวศรีในปี 2554 ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติเกินกว่าเหตุและรัฐต้องชดเชยให้ชาวบ้านที่เป็นคู่กรณีรายละ 50,000 บาทเท่านั้น และให้ชาวบ้านแสดงเอกสารสิทธิ์เพื่อยืนยันสิทธิอยู่อาศัย แต่ยังไม่มีคำตัดสินว่าชาวบ้านมีสิทธิอยู่อาศัยหรือไม่
10. บางกลอยบนและใจแผ่นดินเป็นพื้นที่ติดชายแดนเมียนมา
พื้นที่ติดชายแดนต้องเป็น อาทิ แม่สอด หรือแม่สาย ขณะที่ใจแผ่นดิน – ชายแดนเมียนมาเดินราว 1 วัน บางกลอยบน – ชายแดนเมียนมาเดินมากกว่า 1 วัน
นอกจากข้อมูล 10 ประการที่ยกมานี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ภาครัฐและภาคประชาสังคมเห็นไม่ตรงกัน เช่น ชาวกะเหรี่ยงทำไร่เลื่อนลอยหรือไร่หมุนเวียน ตลอดจนความแตกต่างทางแนวคิดการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิทธิชุมชน และไม่ว่าสุดท้ายมหากาพย์บางกลอยจะจบลงอย่างไร บทสรุปของมันจะกลายเป็นบรรทัดและมาตรฐานให้แก่สิทธิของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศไทยไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
อ่านบทความจากวงเสวนาได้ที่:
https://thematter.co/social/seminar-interpreting-on-law-for-bangkoii/137891