พุทธศักราช 2539 ชาวบ้านบางกลอยกลุ่มหนึ่งอพยพลงมาสู่ผืนดินเบื้องล่างตามคำขอร้องของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่เมื่อลงมาอาศัยอยู่ในผืนดินแปลกถิ่นแล้ว กลับเผชิญกับดินที่ไม่คุ้น อากาศที่ไม่เคย และน้ำที่ไม่เพียงพอ พวกเขาจึงตัดสินใจเดินเท้ากลับขึ้นไปที่บ้านเดิมของพวกเขาอีกครั้ง ‘ใจแผ่นดิน’ และ ‘บางกลอยบน’
พุทธศักราช 2554 ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร นำทีมอุทยานแห่งชาติโรยตัวลงจากเฮลิคอปเตอร์เผาบ้านเรือนกว่า 90 หลังบนบางกลอยบนและใจแผ่นดิน ชาวบ้านหลายร้อยครอบครัวเรือนหอบลูก ทิ้งข้าว ปล่อยหมาแมวทิ้งไว้ วิ่งหนีตายลงมาสู่ผืนดินเบื้องล่างอีกครั้ง
ครั้งนี้ไม่ใช่การอพยพ แต่เป็นการไร่รื้อ เผาที่อยู่อาศัย ในนามของ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ และ ‘ผู้พิทักษ์ป่า’
พุทธศักราช 2557 บิลลี่ พอละจี หลายชายของปู่คออี้ มีมิ หายตัวไปในป่าอย่างลึกลับ ก่อนที่ DSI จะพบหลักฐานยืนยันการเสียชีวิตของเขาในเวลาต่อมา
พุทธศักราช 2564 ชาวบ้านบางกลอย 85 คน แอบกลับขึ้นไปใจแผ่นดิน ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และอุทยานสนธิกำลังแจ้งความดำเนิคดีบุกรุกป่า จับกุมชาวบ้านตามหมายจับ 22 คน จากทั้งหมด 30 คน พวกเขาถูกโกนหัว พาตัวไปเรือนจำ และเด็กบางคนถูกพรากลูกจากอกแม่
ครานี้ในนามของ ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ และ ‘ผู้พิทักษ์ป่า’ อีกเช่นเดิม
การต่อสู้ของชาวบางกลอยยาวนานกว่า 20 ปีแล้ว พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรมาก นอกจากได้กลับบ้านที่อยู่ขึ้นไปบนเทือกเขาตะนาวศรี กลับไปสู่ผืนดินที่บรรพบุรุษเคยเพาะปลูก เคยร้องรำทำเพลงร่วมกันหลังจากเกี่ยวข้าว และเคยมีความสุข มิต้องอดมื้อกินมื้อเช่นที่เป็นทุกวันนี้
(1)
ผืนดินไม่ใช่ของข้า
ภายหลังที่ชาวบางกลอยถูกอพยพลงมาครั้งแรกในปี 2539 ได้มีการจัดสรรที่ดินบริเวณหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งเป็นของคนชาวบ้านโป่งลึก แบ่งปันให้แก่ชาวบางกลอยที่ลงมาทุกคน คนละประมาณ 7 ไร่ ..
ประเสริฐ พุกาด ชาวบ้านบางกลอยวัย 27 ปี พาเราเดินจากบริเวณรอบหมู่บ้านขึ้นไปสู่พื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ เขาผายมือไปทางซ้ายที่ผืนดินแห่งหนึ่ง มันเป็นหุบลึกต่างระดับลงไป เบื้องล่างคือป่าละเมาะรกร้าง กิ่งไม้แทงสูงไปทางโน้นทีทางนี้ที ส่ายหน้า และพาเราเดินต่อไป
ประเสริฐพาเรามาหยุดบนผืนดินอีกแปลงหนึ่งแล้วก้มนั่งยองๆ ลงกับพื้น โกยดินใส่มือและทำท่าให้เราดู
“มีแย่กว่านี้อีกนะพี่” เราพยักหน้ารับ ไม่ตอบอะไร
“ที่ดินที่รัฐจัดให้มันไม่เพียงพอสำหรับคนที่ลงมาปี 39 ทุกคนนะครับ บางคนได้ บางคนไม่ได้ พอบางคนไม่ได้เขาก็บอกว่ารอแปบนึง เดี๋ยววันหน้าจะแก้ปัญหาให้ จะดูแลให้ใหม่” ประเสริฐเล่าให้เราฟังถึงปัญหาการจัดสรรที่ดินของภาครัฐแก่ชาวบ้านบางกลอย ก่อนกล่าวต่อว่า
“ส่วนคนที่ได้ก็ต้องมาจับฉลาก ใครได้พื้นที่ก็ดีไป แต่คนที่โชคไม่ดีก็เป็นลูกรังหรืออะไรแล้วแต่ ขึ้นอยู่กับพวกเขา”
คำบอกเล่าของประเสริฐ ตรงกับที่ กิ๊ฟ และ ปีกนก ลุ่มน้ำเพชร สองสามีภรรยา “ที่ที่เขาจัดให้ฉันเล็กมากไม่สามารถทำกินได้ มีแต่ก้อนหิน มีแต่ทราย”
สองสามีภรรยาเล่าต่อว่าทั้งคู่เคยขอที่ดินของญาติและใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี กับการฟูมฟักสวนมะนาวของตัวเอง แต่ผลที่ได้รับคือ หนี้ก้อนโตกว่า 100,000 บาท
สุภาพสตรีอีกคนหนึ่งแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟังเช่นกันว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่อุทยานยึดที่ดินคืนไปบางส่วน หลังจากเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาวัดที่ดินของเธอเมื่อปลายปีที่แล้ว
เราถามเธอต่อว่า “ทำไมถึงเป็นอุทยานที่มาวัดและแบ่งที่ดินให้?”
เธอเงียบ… เราจึงได้แต่ทิ้งความสงสัยว่าหน้าที่ตรงนี้เป็นของอุทยานอย่างนั้นหรือ?
(2)
ไม่มีดินลงนา ไม่มีข้าวตกท้อง
“ช่วงไหนที่แย่ที่สุดหรอครับ?” ตี่ ปารีด ชายหนุ่มในเสื้อผ้าประจำเผ่าปกาเกอะญอทวนคำถามของผม ก่อนหันมายิ้มแล้วพูดว่า “ก็ช่วงนี้นี่แหละครับ จนที่สุด”
ทุกวันนี้วิถีชีวิตของชาวบางกลอยเปลี่ยนไปมาก จากที่เคยเป็นสังคมเกษตรกรรม ลงแรงปลูกพืชบนผืนดิน เก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเลี้ยงปากท้อง แต่ทุกวันนี้ พวกเขาไม่มีที่ดินให้เพาะปลูก ทำให้ผู้ชายในหมู่บ้านต้องลงไปรับจ้างที่ ‘ข้างล่าง’ หมายถึงในตัวเมืองเพชรบุรี หรือกรุงเทพฯ เพื่อส่งเงินกลับบ้าน มาแลกเปลี่ยนเป็นอาหารอีกที
แต่โรค COVID-19 ก็เป็นตัวปัญหา ทำให้ชาวบางกลอยไม่สามารถลงไปรับจ้าง ขาดรายได้ และต้องกลับขึ้นมาอยู่กับครอบครัวที่โป่งลึก
ตั้งแต่ปี 2554 มูลนิธิปิดทองหลังพระ ในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ ได้เข้ามาตั้งศูนย์ศิลปาชีพบ้านบางกลอย-โป่งลึก ทำให้ผู้หญิงในหมู่บ้านเข้าไปรับจ้างในโครงการเพื่อแลกค่าจ้าง
หนึ่งในนั้นคือโครงการโรงทอผ้า โดยจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน พวกเขาจะมีค่าแรง 3 อัตรา คือ 120, 140 และ 160 บาทสำหรับหัวหน้างาน แลกกับการทำงาน จันทร์-เสาร์ ในเวลาระหว่าง 8.00 – 16.00 น.
ไม่ใช่เพียงว่าเงินอัตรานี้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็อัตคัด ฝืดเคืองเช่นกัน เพราะน้ำเปล่าขวดละ 10 บาท โค้กขวดเล็ก 20 บาท ข้าวสารถุงหนึ่ง 140 บาท และค่าเหล้าต้มของชาวบ้านในหุบเขาราคา 30 บาท
ชาวบางกลอยบางคนเล่าว่าก่อนหน้าที่เราจะเดินทางขึ้นมาพร้อมเสบียงที่มีคนบริจาค พวกเขาต้องอดมื้อกินมื้อ หรือกินข้าวคลุกเกลือ
“ก่อนที่กลุ่มพวกผมตัดสินใจจะกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียน (ก่อนเกิดยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร) ตอนอยู่ข้างล่างมีการเซ็นข้าว เซ็นของกับร้าน ก็ติดหนี้บานเลยทีนี้ และพอเราไปเซ็นแล้วไม่มีตังไปใช้คืนเขา เขาก็จะไม่ไว้ใจเราและไม่ให้เราเซ็นต่อ” ประเสริฐอธิบายเหตุผลที่ตัดสินใจกลับขึ้นไปใจแผ่นดินในช่วงต้นปี 2564 ให้เราฟัง
“ที่อยากกลับขึ้นไปใจแผ่นดิน ปัญหาหลักคือๆ ข้าว ครับ คือเราไม่ได้ต้องการให้ใครหรือพี่น้องคนอื่นต้องมาเลี้ยงเรา เพราะถ้ามาเลี้ยงเราอยู่แบบนี้ เหมือนเราไม่มีแขนขามือไว้ทำกินเอง เหมือนขอทานเขากิน” ในสายตาเขามีเงาใสๆ วูบผ่าน
(3)
เพลงชีวิตที่เลือนหาย
ป้ายาโพนั่งลงบนแคร่ไม้ ก่อนเริ่มบรรเลงเครื่องดนตรีประจำถิ่นที่เธอเรียกว่า ‘ตะหน่า’ เสียงของมันทุ้มแต่ไม่ลึก ขึ้นสูงแต่ไม่เหิน ผิดกับ ‘ซอตู้’ เครื่องดนตรีประจำถิ่นอีกชิ้น ที่เสียงของมันสูงจนชวนให้เสียวฟัน ซาวด์เอนจิเนียที่เดินทางมาด้วยบอกเครื่องดนตรีทั้งสองชิ้น ไม่ได้อยู่ใน ‘ย่านเสียง’ เดียวกับเครื่องดนตรีสากล ทำให้นำไปเล่นร่วมกันได้ลำบาก
ปกติแล้ว ชาวปกาเกอะญอจะเล่นดนตรีทุกครั้งหลังมีพิธีกรรมในหมู่บ้าน แต่หลังจากที่พวกเขาถูกอพยพลงมาเบื้องล่าง เครื่องดนตรีหลายชิ้นก็ถูกทิ้งไว้ในบ้านเรือนเก่า และจังหวะเวลาที่ชาวบ้านจะมาล้อมวงประกอบพิธีและฟังดนตรีร่วมกัน ก็ไม่มีเกิดขึ้นอีกแล้ว เช่นเดียวกับการส่งต่อวิชาศิลปะการดนตรีแก่เด็กรุ่นใหม่
เช่นเดียวกับ ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงพันธุ์พืชต่างๆ อาทิ ‘บึโซ’ พันธุ์ข้าวป่าชนิดหนึ่ง ที่ออกผลผลิตให้เก็บเกี่ยวเร็วกว่าเพื่อนเพียง 2-3 เดือนก็สามารถเก็บกินได้
“เราสูญเสียหลายอย่างหลังต้องมาอยู่ที่นี่ เช่น พันธุ์ข้าว พันธุ์พืช หมากไม้ วิธีชีวิตของเราคือเกี่ยวข้าวเสร็จก็ต้องมีเรียกขวัญข้าว ต้องมีดอกไม้ประดับตามยุ้งข้าว” ประเสริฐเล่าให้เราฟัง
“ต้นฝ้ายก็สำคัญสุดๆ ชาวปกาเกอะญอบ้านเราแต่ก่อน เสื้อผ้าแบบนี้ยังไม่มีใช่ไหม เราก็ต้องปลูกต้นฝ้าย เพื่อเอาเส้นด้ายมาทอเป็นผ้าถุง มาทอเป็นเสื้อกะเหรี่ยงใส่กัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีปลูกกันแล้ว”
(4)
ความจริงใจของภาครัฐ
ภายหลังที่ ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้นัดขึ้นไปพูดคุยกับชาวบ้านบางกลอยที่บ้านโป่งลึก เขาได้กลับให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า
คำให้สัมภาษณ์ข้างต้น ใจความหลักใหญ่อยู่ที่การกล่าวหาว่าชาวบ้านปลูกกัญชา และยืนยันว่ามีหลักฐานพร้อมแสดงให้ดู
เราได้พูดคุยกับประเสริฐถึงประเด็นนี้ เขากล่าวว่า “เขา (ประสาน) บอกว่าบินไปเห็นดงกัญชา เขาไปเห็นจากไหนผมก็อยากรู้เหมือนกัน ผมยังไม่เคยเห็นเลยว่าต้นกัญชาในป่าเป็นอย่างไร”
ทางด้าน กิ๊ฟ กล่าวถึงประเด็นนี้ด้วยภาษาปกาเกอะญออย่างใส่อารมณ์ว่า “เห็นคนหนึ่งที่ขึ้นมา บอกมาช่วยแก้ปัญหา ให้คณะกรรมการมาตรวจสอบพื้นที่ แต่ไม่เห็นมาช่วยแก้อะไรเลย เอาแต่พูดเรื่องกัญชา ฉันไม่เคยปลูกและไม่เคยเห็นกัญชาสักต้น ถ้าคนจะปลูกก็คงเป็นเขานั่นแหละ”
หน่อแอะ มีมิ ผู้เฒ่าผู้แก่และลูกชายของผู้นำทางจิตวิญญาณชาวบางกลอย คออี้ มีมิ ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า “ผมสาบานต่อหน้าเขาเลยว่าไม่เคยปลูกกัญชา พ่อแม่เองก็ไม่เคยปลูก เคยได้ยินแต่ชื่อ”
เขายืนยันต่อด้วยภาษาไทยปนภาษากะเหรี่ยงผ่านล่ามว่า “ผมฟังจากวิทยุว่า ‘รักในหลวง ห่วงลูกหลาน ร่วมกันต้านยาเสพติด’ ผมจำไว้ตลอดเลย ผมบอกตรงๆ นะครับ ผมไม่หลอกเจ้าหน้าที่บ้านเมือง”
นอกจากนี้ ยังมีถ้อยคำอีกมากที่ตัวแทนของภาครัฐพูดออกมาและไม่น่าจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ดีระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ อาทิ
“พูดไทยกันได้ทุกคนไหม?”
“คุณอายุเท่าไร อย่ามาโต้แย้งผม ผมให้เกียรติคุณ คุณต้องให้เกียรติผมบ้าง (เมื่อชาวบ้านขอพูดบ้าง)”
และ “ต่อไปนี้ถ้ามีปัญหาอะไรให้ไปบอกผู้ใหญ่บ้าน ไม่ต้องลงไปกรุงเทพฯ มันเสียเวลาทำงาน ของพวกผมนะ…”
ถึงแม้ประสานจะลาออกจากการเป็นตัวแทนเจรจาปัญหาบางกลอยไปแล้ว แต่ที่สำคัญคือชาวบ้านหลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตัวแทนของภาครัฐไม่ได้เปิดหูและใจรับฟังปัญหาของชาวบ้านจริงๆ แต่พยายามยัดเยียดสิ่งที่ดีและงาม ในสายตาของคนเมืองให้พวกเขา และเมื่อเป็นเช่นนั้น การหาทางออกจากปัญหานี้ ก็ดูจะพร่าเลือนไปทุกที
(5)
ชาติไทยไม่ใช่ของใครคนเดียว
เวลา 7.59 น. ของวันที่ 2 เมษายน 2564 ผู้หญิงคนหนึ่งในเสื้อคอกระเช้าและโสร่งวิ่งกระหืดกระหอบมาเข้าแถวร่วมกับเพื่อนคนอื่นบริเวณสนามฟุตบอลประจำหมู่บ้าน ไม่นานเกินอึดใจ เสียงทำนองเพลงคุ้นหูก็ดังขึ้น และธงสามสีก็ถูกชักขึ้นสู่ยอดเสา ระหว่างที่เพลงกำลังบรรเลง ชายสามคนในชุดลายพรางหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพ สิ้นสุดเพลง ชาวบ้านคนหนึ่งคล้ายขานชื่อของเพื่อนที่มาร่วมกิจกรรม…
“สำหรับรัฐคำว่า ชาติ มันคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันคือความเป็นไทยที่ต้องพูดภาษากรุงเทพฯ ความเป็นไทยที่ต้องเขียนหนังสือภาษาไทย แต่เราว่าสำหรับทุกๆ คนที่ไม่ได้มีอำนาจอยู่ในมือ หรือชาติอื่นๆ ที่เขามีความคิดก้าวหน้า ชาติ คือ ประชาชน”
อัญชลี อิสมันยี เธอเกิดในครอบครัวนักดนตรี และเติบโตขึ้นมาท่ามกลางดงนักเขียน นักอนุรักษ์ และนักเคลื่อนไหว ครั้งหนึ่งราวปี 2557 เธอเคยมีโอกาสขึ้นมาเล่นดนตรีในงานขวัญข้าวของชาวบางกลอย ก่อนค่อยๆ หันมาเคลื่อนไหวในฐานะสมาชิกกลุ่ม P-Move อย่างเต็มตัวในประเด็นชาวบางกลอย
“คำว่าประชาชนมันก็เต็มไปด้วยความหลากหลาย ดังนั้น ถ้าคุณรับความหลากหลายไม่ได้ หรือคุณเหยียดว่าสิ่งนี้ ต่ำกว่าอีกสิ่งหนึ่ง มันคือการสั่นสะเทือนความมั่นคงความสงบสุขภายในชาติ และมันจะสร้างอคติในสังคม และไม่ใช่กับแค่คนกะเหรี่ยง มันจะถูกทอดต่อไปสำหรับคนที่เขาพูดภาษาเพี้ยนจากกรุงเทพฯ เขาจะถูกผลักให้เป็นคนอื่นทั้งหมด”
“เพราะฉะนั้น เรื่องของชาวบางกลอยมันเลยสำคัญตรงที่ หนึ่ง สร้างความแตกแยกในสังคม สอง สร้างอคติที่นำไปสู่ความอยุติธรรม เพราะแทนที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาส่งเสียงได้ว่าพวกเขาเผชิญความอยุติธรรม อคติกลับกลบทับเข้ามา ทำให้เขาถูกตัดเป็นคนอื่น และถ้าตรงนี้ไม่ถูกแก้ไข ตรงอื่นก็จะเป็นลูปเดียวกัน”
เธอยังเชื่อมั่นว่าชาวบางกลอยยังมีโอกาสได้กลับไปใจแผ่นดิน เพราะมีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าชาวบางกลอยอาศัยอยู่บนใจแผ่นดินมาก่อนจะมีการประกาศ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2522 ดังนั้น จึงเป็นสิทธิของชุมชนที่พวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
“เราคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายอาจจะใช้เวลาอย่างต่ำ 3-5 ปี แต่เรายังมีความหวังว่าจะเร็วกว่านั้น เพราะเรื่องปากท้องมันเป็นเรื่องที่รอกันไม่ได้”
“สุดท้าย เราเชื่อว่ามันมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิของชาวบ้านอยู่ ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศ แต่ในระดับโลก (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) และมันมีหลักฐานหลายสิ่งอย่างมากที่เป็นรูปธรรม เราก็เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดที่นำไปชาวบ้านไปสู่ชัยชนะ ที่จะทำให้เขากลับไปอยู่ที่แผ่นดินเกิดของเขาได้”
จากข้อสังเกตของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานเสวนาวิชาการ ‘ปัญหาการตีความกฎหมาย กรณีชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน’ คำตัดสินของศาลปกครองในปี 2561 ระบุเพียงว่าอุทยานต้องชดใช้ค่าเสียหายในการปฏิบัติยุทธการตะนาวศรีแก่ชาวบ้าน แต่ในประเด็นสิทธิทำกินในพื้นที่อุทยาน ศาลปกครองยังไม่มีคำตัดสินชี้ขาด เพียงบอกว่าชาวบ้านไม่มีเอกสารยืนยันสิทธิเท่านั้น
ซึ่งปริญญามองว่ามีหลักฐานหลายชิ้นที่ยืนยันว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่อุทยาน หนึ่งในนั้นคือแผนที่ที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร ปี 2455 และข้อมูลทะเบียนราษฎรจากกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเอง ก็มีอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อประกาศเขตพื้นที่อุทยาน รวมถึงเพิกถอนเขตเช่นกัน
(6)
อยากกลับบ้าน
“ยังอยากกลับขึ้นไป” ประเสริฐเชิดหน้า ส่งสายตามาทางผม ภายในดวงตาคู่นั้นฉายแววรักสนุก แต่มุ่งมั่น
“ลองเปรียบเทียบถ้าคนในเมืองไปอยู่ในป่า เขาก็อยู่ไม่ได้ มันไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เล่นโทรศัพท์ แต่ของพวกเราที่คุ้นเคยกับการอยู่ในป่า ต้องมาอยู่ในเมือง เราก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน”
เช่นเดียวกับ กิ๊ฟ ที่พูดติดตลกว่า “ถ้าว่างและร่างกายแข็งแรงจะกลับไปทันที แต่ปีนี้กลับไม่ทัน ไปถึงก็เผาไร่ไม่ทันแล้ว”
“พอขึ้นไปก็ปลูกข้าวกิน ไม่ต้องซื้อมาตลอด” เธอพูดแล้วหันไปยิ้มกับปีกนก สามีของเธอ
“ความหวังผมคือกลับไปอยู่ที่บ้านเกิด (ใจแผ่นดิน) ที่นี่มันไม่ใช่บ้านเกิดเท่าไร” หน่อแอะกล่าวต่อด้วยภาษาไทยว่า
“มัน (ใจแผ่นดิน) เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของพ่อแม่ ผมเกิดที่นั่น โตที่นั่น ผมผูกพันธ์ ผมมีจิตวิญญาณอยู่ที่นั่น”
แม้ในความเป็นจริง ชาวบ้านบางกลอยบางส่วนไม่ได้อยากกลับขึ้นไปใจแผ่นดินและพร้อมเปลี่ยนตัวเองไปตามความเป็นไปของโลกทุนนิยมแล้ว แต่…
เมื่อถ้าพาเขาลงมา เขาไม่มีที่ดินทำกิน รัฐก็ควรจัดสรรให้อย่างเพียงพอ
ถ้าพาเขาลงมา เขาไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็ควรเข้าไปดูแล ประคับประคอง ช่วยเหลือไม่ให้เลวร้ายเกินไปนัก
และถ้าพาเขาลงมาแล้ว เขาอยากกลับขึ้นไป ก็ควรมีกระบวนการพิสูจน์สิทธิชุมชนอย่างตรงไปตรงมาและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่หน้าที่ของใคร แต่เป็นของรัฐ ในฐานะสถาบันหนึ่งที่ดำรงอยู่โดยประชาชนและเพื่อประชาชน
Photograph By Sutthipath Kanittakul
Illustrator By Sutanya Phattanasitubon