‘เหมือนเรามาจากดาวคนละดวง’ ไม่ใช่คำพูดจาก พฤ โอ่เดเชา นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง แต่เป็นความรู้สึกของหนุ่มชาวเมืองคนหนึ่ง หลังจากฟังความคิดของเขามาได้สักระยะ
ในรอบสองสัปดาห์ประเด็นชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงถูกพูดถึงกันอย่างเข้มข้นในสังคมไทย มีการหยิบยกวาทกรรม ‘ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย’ ขึ้นมารื้อถอนและถกเถียงว่าในความเป็นจริงแล้ว ไร่เลื่อนลอยคืออะไรและชาวเขาทำไร่เลื่อนลอยจริงไหม หรือเหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งลุกไปไล่ชายที่สวมผ้าโพกหัวให้ออกจากร้านไอศกรีม ชี้หน้าว่าชายโผกหัวเป็นกะเหรี่ยงและให้ร้องเพลง ‘ชาติไทย’
ตลอดจนประเด็นร้อนอย่างม็อบบางกลอย ที่มีปัญหาใหญ่อยู่ที่สองฝ่ายมองกับคนละภาพอย่าง ‘คนกับป่า’ ที่คนกลุ่มหนึ่งยังเชื่อว่าป่าคือเขตหวงห้ามของมนุษย์จอมทำลาย แต่อีกฝั่งกลับมองว่าคนกับป่าต่างพึ่งพาอาศัยและเคารพกันได้
The MATTER ชวน พฤ โอ่เดเชา นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงมาพูดคุยถึงเรื่องความเชื่อ มายาคติ และอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังแฝงอยู่ในสังคมไทยอย่างเข้มข้น ผ่านวาทกรรมที่ถูกผลิตซ้ำในห้องเรียนสม่ำเสมออย่าง ‘ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอย’
บางกลุ่มในสังคมมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์อย่างชาวกะเหรี่ยง ทำไร่เลื่อนลอยและทำลายป่า จริงไหม
เมื่อก่อนมันมีการทำไร่เลื่อนลอยจริง คือในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาสนับสนุนให้มีการปลูกฝิ่น และทำให้ฝิ่นกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคเหนือ
ต่อมามันก็เป็นยุคสัมปทานป่าไม้ พวกฝรั่งมาขอซื้อไม้สัก แต่คนไทยไม่รู้จักวิธีทำและขายไม้ก็เลยต้องไปถามพวกฝรั่ง แล้วก็ตั้งมาเป็นกรมป่าไม้ดูแล แล้วยอมเอาฝรั่งมาสอนว่าตัดไม้นี่ทำอย่างไร อธิบดีคนแรกและคนที่สองถึงเป็นฝรั่ง
แล้วต่อมาเนี่ย พอทำไม้ไปเรื่อยๆ มันก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่พูดว่า ไม้หมดเมืองไทยแล้ว ทำแบบนี้ไม่ไหวต้องอนุรักษ์ธรรมชาติ กระแสอนุรักษ์ธรรมชาติก็เลยเริ่มขึ้นมา จากที่เคยทำลายป่าก็ฟื้นขึ้นมาว่า ‘เฮ้ย ปล่อยให้สัมปทานไม่ได้ ต้องหวนกลับมาอนุรักษ์’ ก็ออกมาเป็นกฎหมายอุทยาน กฎหมายคุณภาพลุ่มน้ำ ต้นน้ำต่างๆ และพอไปอีกก็ “สัตว์จะหมด” ก็เลยคิดกฎหมายสัตว์ป่า พันธุ์พืชจะหมดก็มีกฎหมายอนุรักษ์พันธุ์พืช แล้วก็บูรณาการกฎหมายให้คุ้มครองธรรมชาติจากมือมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ
ที่นี้พอเขาประกาศแล้ว เขาก็ไปเจอชาวบ้านที่กำลังปลูกฝิ่นอยู่บนต้นน้ำ เขาก็ไม่ชอบฝิ่นขึ้นมาและคิดจะล้มล้างไร่ฝิ่นของชาวบ้าน เขาก็เลยนิยามเป็นไร่เลื่อนลอย เพื่อจะดูถูกมัน
จริงๆ แล้วระยะเวลาไร่หมุนเวียนของชาวบ้านใช้เวลาประมาณเท่าไร
จริงแล้วๆ จะบอกว่าชาวบ้านหาที่ทำกินใหม่ มันไม่ใช่ เพราะชาวบ้านก็อยู่ในบริเวณนี้มาตลอด แค่ทำกินที่นี่เสร็จ ก็ย้ายมาที่นี่ แต่คนในเมืองมองว่าการย้ายของเราคือความไม่มั่นคง และเป็นการทำไร่เลื่อนลอย
แต่อันที่จริง สมมุติเราทำกินที่นี่เสร็จแล้วมันทำต่อไม่ได้เพราะมีหน้าผา เราก็แค่ย้ายกลับไปบ้านเก่าที่ห่างไปสักหนึ่งหรือสองกิโลเมตร มันคือการหมุนเวียนเหมือนกันนะครับ เช่น ที่ดินแถวนี้ทำกินหมุนเวียนมาได้ 7 ปีแล้ว เราก็ย้ายมาอยู่ตรงนี้
ทั้งหมดนี้คือหนึ่งที่ดินทำกินของเรา ในหนึ่งที่กว้างๆ เรามีวิธีหมุนเวียนใช้ประโยชน์ มันคือที่เดิมที่เราย้ายไปแล้วเรากลับมาใช้ใหม่ แต่ทางการเข้าใจว่าเราย้ายอีกแล้ว ย้ายอีกแล้ว
ไร่เลื่อยลอยคือการย้ายที่ทำกินไปเรื่อยๆ แต่พวกเขาไม่เข้าใจว่าชาวกะเหรี่ยงหมุนกลับมาทำไร่ที่เดิมตลอด เหมือนพวกซาไกก็อยู่ในละแวกเทือกเขาเดิมตลอด หรือชาวเลก็มีแบ่งว่าฤดูนี้อยู่เกาะนี้ อาจจะข้ามไปอินโดนีเซียบ้าง แต่ก็ไม่ไปถึงยุโรปหรอก มันมีร่องรอยที่มันจดจำได้ และมีที่ที่เขาพออยู่กินได้ แต่ชีวิตมันเป็นแบบนั้น วิถีมันดำเนินไปอยู่อย่างงี้
ชาวกะเหรี่ยงจะเชื่อในผู้เฒ่าผู้เก่า ถ้ามีที่ไหนที่ผู้เฒ่าเคยอยู่ได้ เราก็จะอยู่ได้ แต่ถ้าที่ไหนมีผู้เฒ่าเคยตาย ที่นั้นจะเป็นดินแดนต้องห้าม พวกเราจะไม่วนกลับมาทำไร่ซ้ำ เราจะต้องหาที่ใหม่ โดยมี ‘กระดูกไก่’ เป็นผู้ทำนายว่าดีหรือไม่ดี ได้หรือไม่ได้
เล่าให้ฟังนิดนึงได้ไหม ใช้กระดูกไก่ทำนายที่ดินทำกินอย่างไร
ก่อนจะเอาไก่มากิน เราต้องบอกเจ้าป่าเจ้าเขาก่อนและนำหัวไก่มาไหว้ถามเจ้าป่าเจ้าเขาว่า ที่ดินตรงนี้มันดีหรือไม่ที่จะมาตั้งหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็นำกระดูกปีกไก่มาเสียบไม้ดู ถ้ากระดูกไก่มันตั้งขึ้นสองอันอย่างงี้นะครับ (ตั้งนิ้วชี้สองนิ้วชี้ขึ้นฟ้า – ผู้เขียน) หรือลงสองอัน ถ้ามันไม่เอียงแย้งกันมาก ถือว่าดี อยู่ได้
ทุกปีที่เราจะเริ่มถางไร่ใหม่ เราต้องไปขอเจ้าป่าก่อน ไปบอกว่า ‘ผมจะทำกินที่นี่นะ เจ้าป่าว่าอย่างไร’ ไปถางประมาณหนึ่งเมตรถึงหนึ่งวา แล้วก็กลับไปนอนหลับ ถ้าคืนนั้นฝันปกติหรือฝันเห็นน้ำก็ทำได้ แต่ถ้าฝันเห็นไฟหรือผู้เฒ่ามาบอกว่าอย่ามาทำในที่ตรงนี้ เราก็จะไม่ถางต่อ ไปหาที่ใหม่
แล้วยังมีเรื่องว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่ามีการใช้ไฟเผาหน้าดิน หรือเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต
อันนี้เผาจริง แต่ผมคิดว่าความรู้ตรงนี้มันก็เลยเถิดเหมือนกัน เพราะคนในเมืองค่อนข้างจะแอนตี้เรื่องไฟ ซึ่งจริงๆ ไฟไหม้บนผิวโลกมันเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าข้างในโลกใบนี้มันก่อกำเนิดมาจากไฟ มีภูเขาไฟ มีแสงแดด มันมี มันมีความร้อนอยู่แล้ว และมนุษย์ทุกคนก็ต้องใช้ไฟในการประกอบอาหารเป็นปกติ
ไฟที่เผาในไร่หมุนเวียนมันวูบเดียวแล้วก็หายไปในไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง และมันไม่ใช่ว่าไหม้ทุกเดือน แต่ว่าคนก็ไปสร้างทัศนคติว่าเนี่ยเผาป่า มันทำให้เราคิดว่า “เผาป่า!!!” ตลอดทางงงง (หัวเราะร่วน) เหมือนกินข้าว มันกินอิ่มแล้วมันก็จบ ไม่ได้กินตลอดเวลา มันกินแค่หนึ่งมื้อ
การเผาหน้าดินเนี่ย อันที่จริงมันก็คือการเคลียร์หน้าดินเอาหญ้า ซากอาหาร สารกำจัดศัตรูพืช วัชพืช เศษไม้ออก และผมคิดว่ามันทำให้หน้าดินแข็งขึ้นด้วย ทำให้น้ำไม่ระเหยออกจากดิน เพราะว่าปกติต้นไม้หรือว่าต้นหญ้าจะดูดเอาน้ำจากดินแล้วก็ปล่อยออกมาทางใบ เพราะนั้นจึงทำให้ดินแห้งเร็ว
และเขาก็บอกว่าถางไร่มันทำให้น้ำในดินแห้ง แต่ว่าบ้านผมพอถางแล้วกลับน้ำซึม อย่างหลุมห้วยนา พอชาวบ้านไม่ถางเขาไม่มีน้ำ พอถางกลับมีน้ำ นักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า ถ้าคุณถางต้นไม้ออกแล้วเผาดิน น้ำมันไม่มีทางระเหยออกมาจากหญ้า เพราะหญ้ามันดูดน้ำทางรากปล่อยทางใบ แต่พอฝนตกในทุ่งหญ้าเห็นไหมว่าน้ำซึมออกมา แต่ในขณะเดียวกันมันก็ระเหยเร็ว อันนี้ต้องไปถามนักวิชาการเอาเอง
แต่ชาวบ้านเรารู้ว่าจุดไหนที่ไม่ควรไปตัด มันมีความเชื่อของเรากำกับ อย่างเช่น ตาน้ำ ห้องภูเขา ขุนห้วย น้ำสองห้วยมาบรรจบกัน กิ่วดอยใหญ่ เกาะกลางที่มันถล่มลงมา หรือดอยเกาะหนึ่งที่มีน้ำรอบๆ แถวนั้นมันจะมี “ผีดุ” ไปทำแล้วเราจะไม่สบาย หรือถางไร่ลงมาชนแม่น้ำลำห้วยเนี่ย ก็ทำติดต่อกันไม่ได้ ทำฝั่งนี้เสร็จต้องทิ้งไว้หนึ่งปีถึงจะมาทำอีกฝั่ง เพราะว่าผู้เฒ่าเขาจะมีคำพูดว่า ถ้าปลาชนิดนี้ไม่ขึ้นมาบนลำห้วยจะถางไร่ควบสองฝั่งแม่น้ำไม่ได้ ต้องเว้นไว้หนึ่งปีแล้วถึงจะมาทำได้
ไฟที่เผาในไร่หมุนเวียนมันวูบเดียวแล้วก็หายไปในไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง และมันไม่ใช่ว่าไหม้ทุกเดือน แต่ว่าคนก็ไปสร้างทัศนคติว่าเนี่ยเผาป่า มันทำให้เราคิดว่า “เผาป่า!!!” ตลอดทางงงง (หัวเราะร่วน)
ดูปลาเอาหรอ
มันมีปลาชนิดหนึ่งเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศน์ของเรา มันเป็นภูมิปัญญาที่เขานำมาออกแบบกฎจารีตประเพณีว่า ถ้าปลาชนิดนี้ขึ้น คุณห้ามมาทำไร่สองฝั่ง หรือช่องห้วยสองช่องมาเจอกัน แล้วเรียกว่าสันดอย คุณจะตั้งหมู่บ้านไม่ได้นะ ทำไร่ก็ไม่ได้ นอนก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นทางผ่านของวิญญาณแล้วก็ผี อย่างนี้ ซึ่งจริงๆ มันคือการสอนว่าต้องไม่ทำลายต้นน้ำนั่นแหละ
เหมือนคุณอยู่บนตึก แล้วมีแท็งก์น้ำหนึ่งแท็งก์ ถ้าคนข้างล่างเจาะไปใช้เยอะๆ จะเหลือน้ำให้คุณไหม เพราะฉะนั้นคุณจะต้องไม่ทำลายต้นน้ำในที่สูง เพราะผมอยู่บนดอย ผมต้องรู้ว่าน้ำที่ไหนผมกินได้ ดื่มได้ ถ้าน้ำแห้งหมายความว่าผมจะตายก่อนคนที่อยู่ท้ายน้ำ
และมันไม่ใช่เพราะว่าชาวบ้านบนดอยทำให้น้ำแห้ง แต่คนข้างล่างที่ดูดน้ำใช้น้ำใต้ดินต่างหากที่ทำให้น้ำต้นน้ำแห้งเร็ว เพราะว่าชาวบ้านบนดอยไม่ได้มีเขื่อน ไม่ได้มีท่อ อาศัยน้ำฝนปลูกข้าว แต่คนข้างล่างต้องใช้น้ำเยอะทั้งในโรงแรม ทำสวนลำไย สวนลิ้นจี่ ปลูกพืชผักขาย
เวลาคุยกับนักข่าวหรือคนข้างนอก รู้สึกไหมว่ากำลังอธิบายอะไรซ้ำๆ
ซ้ำๆ มา 10-20 ปีแล้ว
คิดว่าทำไมถึงยังต้องพูดเรื่องซ้ำๆ มาตลอด 20 ปีนี้
ผมคิดว่ามันมีการสร้างนวัตกรรมคำถามที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งยิ่งถาม อีกฝ่ายยิ่งตกเป็นจำเลย มันเป็นคำถามที่ลึกๆ แล้วคือมองอีกฝ่ายเป็นผู้ร้ายตั้งแต่ต้น มันไม่ใช่คำถามเพื่ออยากจะหาคำตอบ ถามว่า “น้ำแห้งจากใครวะ!?” ก็แห้งจากต้นน้ำไง โอ๊ย! ชาวป่าชาวเขาทำลายต้นน้ำ คนมันคิดไปอัตโนมัติอยู่แล้ว มันมีการสร้างความรู้อย่างงี้ในระบบของการศึกษาไทย
อย่างผมเองสมัยเรียนมัธยมก็เคยเรียนมาว่าชาวเขามักจะทำไร่เลื่อนลอย
มันจะมีข้อสอบชั้นมัธยมอยู่ข้อหนึ่งถามว่า ใครทำลายป่า? และก็มีให้เลือก ชาวเขา นายทุน กรมป่าไม้ กรมอุทยาน หรือผู้ใหญ่บ้าน คำตอบมันก็ต้องเป็นชาวเขากับนายทุนใช่ไหมครับ
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเขามีเจตนาบางอย่างและชี้วางความเข้าใจบางอย่างเพื่อทำอะไรบางอย่าง เช่น เขาตั้งใจจะอนุรักษ์ป่าที่นี่ เขาจะไปว่าป่ามันดีอย่างนู้น ดีอย่างนี้ ไม่ควรจะทำอย่างนั้น อย่างนู้น แล้วก็สร้างความกลัวให้คน แล้วไปผลักคนที่อยู่ในป่าให้ออกมา บอกว่าเป็นเขตป่าสงวน
แต่ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทั้งหมด มีไม่ถึง 500,000 คนในไทย แต่พื้นที่ที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ของเมืองไทยเป็นบ้านของคนกะเหรี่ยงหมดเลย ที่นี้พอเมืองไทยคิดถึงป่าไม้ เขาจะไปเอาป่าจากใครล่ะ จะเอาจากกรุงเทพฯ ไหมล่ะ
สมมุติ บ้านผมมีป่าไม้ 100% ผมอาจทำกินประมาณ 20-30% นอกนั้นปล่อยไว้เป็นป่า แต่พวกอนุรักษ์เขาก็ถือว่าผมเป็นคนส่วนน้อย ทำไมไม่ออกมาจากป่าให้หมดเรื่องหมดราว พื้นที่จะได้กลายเป็นป่าเต็มร้อยไง คือมันคิดจากฐานคิดแบบนี้
แต่ทำไมอย่างกรุงเทพฯ คุณไม่แปรสภาพพื้นที่ให้เป็นป่าสัก 20 – 40% ล่ะ สมมติเมืองมี 100 ไร่ เขาก็จัดสรรให้ 30% เป็นป่าแบบนี้ แต่บ้านผมอ่ะมีป่ามากกว่า 30% แล้ว คุณก็ไม่ต้องยุ่ง
ทุกวันนี้ ป่าที่เหลือมันก็มาจากบ้านผมใช่ไหม ทำไมบ้านของกะเหรี่ยงอย่างแม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ราชบุรีทำไมมันมีป่า แล้วทำไมที่อื่นๆ กรุงเทพฯ อีสาน ภาคกลางไม่มีล่ะ? ข้อเท็จจริงอย่างงี้ต้องมองให้ชัด แล้วต้องลงโทษให้ถูกคน โอ๊ย! ไม่ใช่ไปมองเฉพาะที่อยู่ของชาวบ้าน แต่ลืมมองว่าตัวเองทำไรลงไปบ้าง
ผมพูดแทบคอแหบคอแห้งตลอด 20 ปี แต่คุณก็ไม่เข้าใจ เพราะพอผมตอบปุ๊บ นักวิชาการที่ไปเรียนจากยุโรปเป็นด็อกเตอร์สักคนมาพูดคำเดียว คนเกือบทั้งประเทศก็เชื่อแล้ว คนไทยส่วนใหญ่เชื่อคำพูดของคนเหล่านี้ ซึ่งพูดจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้
มองว่าเป็นเพราะสังคมเรายังมีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยหรือเปล่า
นั่นน่ะสิ ผมว่ามันต้องมีอคติมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้ไม่ได้แก้ปัญหาให้กับคนมีอคติ
คนไม่ฟังและเสียงเราไม่ดังด้วย หรือแม้เสียงเราดัง เราไม่ใช่ด็อกเตอร์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ป่าไม้นี่ พอจะพูดอะไรเขาก็มองก่อนแล้วว่าผมเป็นพวกทำลายป่า แต่พวกคุณนั่นแหละ อยู่กรุงเทพฯ ไม่มีต้นไม้สักต้น ทำไมพวกผมตัดทำมาหากินทุกวัน ทำไมมันไม่หมด ไม่เกลี้ยงอ่ะ
หลักการมันง่ายมากครับ คุณมีส้มหนึ่งต้น คุณจะไปตัดต้นมันเลย หรือคุณจะกินผลมันไปเรื่อยๆ คุณมีน้ำหนึ่งบ่อ คุณจะไปทำอะไรให้มันเหือดแห้งไหม มีไก่อยู่ฝูงหนึ่งจะกินแม่งทุกตัวเลยไหม
สำหรับชาวกะเหรี่ยง คนปลูกข้าวก็จะสร้างฝางข้าว คนกินน้ำก็จะบอกว่ามีเจ้าน้ำ มีต้นไม้ก็จะมีเจ้านาง ภูเขาจะมีวิญญาณมีผี เขาเห็นว่าของเหล่านี้มีคุณค่าก็เลยสร้างให้มีผีมีสาง คนจะได้ไม่ไปทำลายสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าสุดท้ายถ้าคุณทำลายจนหมด คุณนั่นแหละจะอยู่ไม่ได้
คนที่อยู่ในเมืองและอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบไม่พึ่งตนเอง เขาไม่ต้องมีความเชื่อก็อยู่ได้ เขาอยู่กับกฎหมาย แต่กฎหมายที่มีมันก็แหกได้ ไม่มีตำรวจก็หลบได้ ไม่เหมือนกับความเชื่อที่ชาวบ้านเขาเชื่อกัน
ถ้าทำผิดจากประเพณี ความเชื่อ มันจะติดอยู่ในอกหรือ
ใช่ มันหลบไม่ได้ มันติดอยู่ข้างใน กว่าเราจะมารู้เหตุผลก็โดนกำกับไปด้วยความเชื่อนั้นแล้ว แต่สุดท้ายเราก็มารู้อีกว่า เออที่ผู้เฒ่าสอนมาน่ะ เราเห็นด้วยนะ มันเป็นวิธีการของผู้เฒ่าที่ป้องกันไม่ให้คนทำลายธรรมชาติ มันมีทั้งความรู้และกุศโลบายรองรับ สมมุติสอนว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะเจ็บป่วยนะ เมียจะเลิกนะ พอไปศึกษาลึกๆ ก็รู้ว่าถ้า ทำลายธรรมชาติแล้วต้นน้ำแล้วมันจะไม่ย้อนกลับมาหาเราจริง และเราจะป่วยจริง เพราะไม่มีอะไรจะกิน
คนกับป่าในมุมมองของคุณพฤ สามารถอยู่ด้วยกันได้ไหม
มันขึ้นกับครูที่วางรากฐานการพัฒนาบ้านเมืองหรือประเทศ อย่างกะเหรี่ยงเนี่ยเขาวางว่า ‘ทุกอย่างไม่ใช่ของคุณ น้ำฟ้าอะไรเป็นเจ้าหมด คุณน่ะเกิดมาแล้วอยู่ได้เพราะสิ่งเหล่านี้ เวลาคุณจะขอใช้ คุณจึงต้องขออนุญาต’
แล้วถ้าคุณออกแบบกฎหมายว่าครอบครองธรรมชาติได้ มันจะไม่นำไปสู่การสะสม ถ้าสะสมแล้วมันจะไม่พอ เพราะสำหรับกะเหรี่ยงมันไม่ใช่เศรษฐกิจแบบทุนนิยม มันคือเรื่องแบบฉันปลูกอันนี้ เธอปลูกอันนั้น เราจะแลกกันยังไง เราจะแบ่ง เราจะแลกเปลี่ยนอาหารกันกินมากกว่า แต่มาถึงตอนนี้ โลกของกะเหรี่ยง ก็กำลังแพ้ให้กับโลกของวัตถุแล้ว
ทีนี้ผมคิดว่าการอนุรักษ์แบบเมืองไทย มันไม่ใช่การอนุรักษ์จริง เพราะสุดท้ายแล้วก็ยังวิ่งตามเศรษฐกิจ สมมติว่าคุณไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ขายไม้ได้คุณก็ขาย ขายเหมืองแร่ก็ขาย ชีวิตแบบนี้มันเป็นวิถีที่ทุกกระบวนมันเกิดการค้าขาย ผมจะเดินทางก็เกิดการค้าขาย ผมจะไปกินข้าวก็เกิดการค้าขาย ผมจะทำอาหารก็ค้าขาย ผมจะส่งข้าวก็จะค้าขาย ผมจะเสิร์ฟน้ำสักแก้วก็ยังเป็นการค้าขายเลย เขาหาช่องเศรษฐกิจให้เยอะที่สุดคือการค้าขาย เพื่อที่รัฐจะได้คอยเก็บกำไรที่เกิดขึ้นจากภาษี
ถ้าคุณออกแบบกฎหมายว่าครอบครองธรรมชาติได้ มันจะไม่นำไปสู่การสะสม ถ้าสะสมแล้วมันจะไม่พอ
มองว่าหลังจากนี้ วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นจะเปลี่ยนไปไหม ยกตัวอย่างชาวบางกลอยที่ภาครัฐพยายามชักชวนแกมบังคับให้ออกจากพื้นที่กลางป่า
ถ้ารัฐบาลยังใช้นโยบายแบบนี้ กะเหรี่ยงมันจะกลายพันธุ์ เป็นกะเหรี่ยงที่ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ปลูกข้าว ไม่เข้าใจธรรมชาติ ไม่ทำไร่หมุนเวียน แต่จะกลายเป็นหมอ พยาบาล พนักงาน ชอบเล่นโทรศัพท์ อยู่ในห้องแอร์ ดูทีวี ชอบให้คนสั่ง ไม่อยากจะคิดเองทำเอง
จากเดิมที่วิถีกะเหรี่ยงต้องพึ่งพาตัวเอง ปลูกข้าวกินเอง หาที่ทำกินเอง รักษาเมล็ดพันธุ์เอง แล้วต้องรู้วิธีปลูกพืช ต้องรู้จักฤดูกาลว่าปลูกช่วงนี้ได้กิน ช่วงไหนไม่ได้กิน ต้องรู้ว่าจะเผาต้องช่วงไหน ต้องมีแนวกันไฟใช่ไหม เผาเสร็จแล้วจะดับอย่างไร เผาช่วงไหนที่คาร์บอนจะได้ถูกลมพัดไป ฝนจะตกใส่และแร่ธาตุซึมลงไปในดินพอดี ของพวกนี้มันต้องมีความรู้
ในฐานะชาวกะเหรี่ยงเช่นเดียวกับชาวบ้านบางกลอย มองว่ากรณีของชาวบางกลอยจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากรัฐบาลรับข้อตกลง 7 ข้อ
ชาวบางกลอยส่วนหนึ่งเขาโตมาก็เรียนรู้การรับจ้างแล้ว แต่กลุ่มที่เคยอยู่บน เคยอยู่บางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน แล้วถูกไล่ลงมา จนต้องก็ไปรับจ้าง เขาชัดเจนว่ามันลำบากเว้ย ทำไม่ได้เว้ย ไม่มีที่เว้ย เลยอยากจะกลับขึ้นไปข้างบน กลับไปเรียนรู้วิถีบรรพบุรุษ
แต่กลับขึ้นไปแล้วก็ไม่รู้ว่าเขาจะแฮปปี้ไหม บางคนถ้าเขาห่วงลูก เขาจะส่งลูกเขาลงมาอยู่กับญาติที่โป่งลึกหรือบางกลอยไม่ให้ขึ้นไปข้างบน หรือคนที่ลงมาเรียนหนังสือก็ไม่ค่อยอยากกลับขึ้นไปข้างบนแล้ว เพราะติดใจกับความสะดวกสบายของเมือง แม้จะลำบากแต่ก็ยังได้เปิดหูเปิดตา แถมสบายกว่าถางไร่อยู่ในป่า
ดังนั้น คนในใจแผ่นดินก็จะค่อยๆ หายไป เพราะการใช้ชีวิตแบบนั้น มันต้องเป็นกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ของ ‘กะเหรี่ยง’ ที่ต้องรู้จักพึ่งตัวเอง ใจมันต้องอยากจะทำนู้นทำนี่ด้วยตัวเอง ทำไมจะต้องไปรับจ้างแล้วเอาตังกลับมาซื้อข้าวกิน เราปลูกเองก็ได้ ทำไมต้องไปซื้อข้าวกินแล้วแพง กินก็ไม่อร่อยอีก
อย่าง นอแอ มีมิ (ลูกชายปู่คออี้ – ผู้เขียน) ผมดูว่าเขาไม่สนหรอกว่าที่ดินมันจะมีหรือไม่มี แต่ฉันจะกลับบ้านฉัน เพราะนั่นคือชีวิตฉัน อันนี้คืออุดมการณ์ความเป็นกะเหรี่ยง