เวลาเอ่ยถึงชื่อของ ‘บุคคลสำคัญ’ ที่น่าจะพบในแบบเรียนไทย คุณคิดว่าจะมีชื่อของใครบ้าง?
คนธรรมดาตัวเล็กๆ ที่ต่อสู้เพื่อให้ได้กลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิด จะถูกนับรวมอยู่ในนั้นไหม
เร็วๆ นี้ มีการแชร์ข้อสอบวัดผลวิชา ท้องถิ่นของเรา ระดับชั้น ม.1 โรงเรียนป่าเด็งวิทยา โรงเรียนในชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งนำเรื่องราวชีวิตของผู้นำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ‘ปู่คออี้’ – โคอิ มีมิ มาอยู่ในบทเรียนในฐานะหนึ่งใน ‘บุคคลสำคัญของ จ.เพชรบุรี’ เพื่อสอนให้นักเรียนรู้จักเรื่องราวของชายคนนี้
“ข้อ 31 ปู่คออี้ ผู้อาวุโสชาวไทยพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายกะเหรี่ยง ฟ้องคดีกับกรมอุทยานแห่งชาติในเรื่องใด”
ก. กรณีเผาทำลายทรัพย์สินยุ้งฉาง
ข. กรณีบุรุกพื้นที่ส่วนบุคคล
ค. กรณียึดพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน
ง. ทุกข้อที่กล่าวมาถูกต้อง”
‘ปู่คออี้’ เป็นผู้นำชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ซึ่งมีความขัดแย้งกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตั้งแต่ทางอุทยานฯ เข้าไปขับไล่ชาวกะเหรี่ยง เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ใน ‘ยุทธการตะนาวศรี’ เมื่อปี 2554 จึงออกมาต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงที่พวกเขายืนยันว่า อยู่อาศัยในผืนป่าแก่งกระจานมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะประกาศเป็นอุทยานและมีภูมิปัญญาในการดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดี
หลังชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยถูกขับไล่ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นกลุ่มคนที่บุกรุกพื้นที่อุทยาน ถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาใหม่และเป็นกองกำลังติดอาวุธ ทำให้ ‘ปู่คออี้’ ซึ่งได้รับการประสานจากคณะอนุกรรมการที่ทำงานเกี่ยวสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ของสภาทนายความ ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และขอกลับไปอยู่อาศัยยังจุดที่เรียกว่า ‘บางกลอยบน’ และ ‘ใจแผ่นดิน’ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยดั้งเดิมตั้งแต่ก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน เนื่องจากการยอมลงมาอาศัยที่หมู่บ้านบางกลอย(ล่าง) ซึ่งเป็นที่ดินที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ตั้งแต่ปี 2539 ทำให้ชาวกะหรี่ยงไม่สามารถทำกินได้ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ที่พอใช้ทำกินมีเจ้าของเดิมอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือก็เป็นลานหิน
หลังสู้คดีในศาลปกครองอยู่หลายปี ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2561 ว่าการขับไล่ชาวกะเหรี่ยงด้วยการใช้ความรุนแรง เผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินเป็นวิธีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ชดใช้รวมประมาณ 300,000 บาทบาท
ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ยังยืนยันถึงการมีอยู่จริงของชุมชนชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ทั้ง 2 จุดที่ถูกขับไล่ลงมา โดยระบุว่า เป็นชุมชนที่อยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน
แต่จนถึงปัจจุบันนี้ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ลูกหลานของปู่คออี้ ก็ยังไม่สามารถกลับไปทำกินในถิ่นที่อยู่เดิมได้
เมื่อตรวจสอบกับครูผู้สอนได้ข้อมูลว่า ได้จัดทำแผนการสอนวิชานี้โดยเน้นไปที่ความสำคัญของ ‘อัตลักษณ์ท้องถิ่น’ คือ จ.เพชรบุรีในทุกๆ ด้าน จึงมีส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่พูดถึงบุคคลสำคัญของจังหวัดเพชรบุรีหลายคน
ซึ่งเมื่อพิจารณาว่า เด็กในโรงเรียนป่าเด็งวิทยาเป็นเด็กชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเป็นส่วนใหญ่ จึงได้นำเรื่องราวของปู่คออี้มาสอนด้วยในฐานะบุคคลสำคัญคนหนึ่งของ จ.เพชรบุรี
โดยเน้นไปที่การเล่าประวัติของปู่คออี้ และความตั้งใจในการปกป้องชุมชนชาวกะเหรี่ยงให้มีที่ดินทำกินตามวิถีชีวิตกะเหรี่ยง
จึงปรากฏเรื่องราวของปู่คออี้อยู่ในข้อสอบด้วยตามที่ถูกเผยแพร่ออกมา
“ในฐานะผู้สอนวิชาท้องถิ่นของเรา ก็เห็นว่าเด็กที่นี่ส่วนใหญ่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง พอมีหัวข้อบุคคลสำคัญในท้องถิ่น ก็เลยไปค้นคว้าชีวประวัติของปู่คออี้มารวมไว้ในแผนการสอนด้วย เพราะถือเป็นบุคคลที่สำคัญมากของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ และเด็กๆควรจะได้รับรู้สิ่งที่ปู่คออี้ทำไว้ โดยเฉพาะความพยายามปกป้องลูกหลานให้มีที่ทำกิน” ครูรายนี้ เล่าถึงที่มาของการบรรจุเนื้อหานี้เข้าไปในบทเรียน
ในข้อสอบวิชานี้ ยังมีคำถามที่สำคัญซึ่งระบุว่า
“ข้อ 34 ความปรารถนาเดียวของ ‘ปู่คออี้’ คืออะไร
ก. ต้องการให้ชาวบางกลอยมีที่ทำกิน
ข. อยากอยู่อย่างสงบสุข
ค. ให้หลานชายสานต้องคดีฟ้องร้อง
ง. ฉันอยากกลับไปตายที่ถิ่นเกิด”
ข้อสอบนี้อยู่ในชั้นเรียนที่ลูกของพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ ‘มึนอ’ กำลังศึกษาอยู่
โดยมึนอ ภรรยาของ ‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ หลานชายปู่คออี้ที่หายตัวไประหว่างต่อสู่เพื่อเรียกร้องสิทธิอยู่อาศัยในป่าแก่งกระจาน เป็นผู้ที่ถ่ายรูปข้อสอบนี้ออกมาเผยแพร่ เนื่องจากอยู่ในช่วงที่เด็กต้องเรียนที่บ้าน ครูจึงส่งข้อสอบให้เด็กไปทำที่บ้าน และเธอรู้สึกยินดีอย่างมากที่โรงเรียนได้นำเรื่องราวของปู่คออี้บรรจุอยู่ในการเรียนการสอน เพราะก่อนที่ปู่คออี้จะเสียชีวิตในปี 2561 ได้แสดงเจตจำนงค์อย่างแรงกล้าที่จะต่อสู้เพื่อให้ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานได้กลับไปทำกินในถิ่นที่อยู่ดั้งเดิม เพื่อรักษาวิถีชีวิตของพวกเขาไว้
อ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เห็นข้อสอบชุดนี้แล้วแสดงความเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดให้โรงเรียนต่างๆ ทำหลักสูตรของท้องถิ่น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพราะในอดีตเด็กมักได้เรียนแต่เรื่องราวประวัติของนักปกครองจากส่วนกลาง
ในกรณีของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานมีเรื่องราวที่น่าสนใจ มีมิติทางการเมือง คือ สิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และการปกป้องสิ่งแวดล้อมรวมอยู่ด้วย จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่โรงเรียนในชุมชนชาวกะเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่ในป่าแก่งกระจาน นำเรื่องการต่อสู้ของชาวบางกลอยและปู่คออี้มาบรรจุในแบบเรียน
“การนำประวัติศาสตร์เฉพาะของท้องถิ่นมาบรรจุในแบบเรียนเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประเด็นถกเถียงอยู่ในสังคม ยิ่งสมควรต้องถูกนำมาสอนกับเด็กในชุมชน เพราะถ้าเป็นกรณีที่สังคมยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นชุดความคิดเดียว ก็ควรนำเรื่องราวมาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และคิดวิเคราะห์กัน โดยไม่จำเป็นต้องมีคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว
“ในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ก็นำเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาบรรจุอยู่ในแบบเรียนเช่นกัน แต่อาจยังไม่มีประเด็นที่แหลมคมซึ่งเป็นความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรกับอำนาจรัฐอย่างชัดเจนเหมือนกรณีนี้ เช่น โรงเรียนที่ จ.เชียงราย มีหลักสูตรที่มีมิติเรื่องชาติพันธุ์ ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน ที่ จ.อุดรธานี มีหลักสูตรให้เด็กศึกษาผลกระทบจากการเผาไร่อ้อย ที่ จ.ปัตตานีหรือ จ.สงขลา ก็มีหลักสูตรประวัติศาสตร์ปาตานี ประวัติศาสตร์เมืองสายบุรี หรือแม้แต่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก็มีเรื่องสามย่านศึกษา” อ.อรรถพลให้ข้อมูลเพิ่มเติม
อ.อรรถพลเพิ่มเติมว่า การเรียนการสอนหลักสูตรเรื่องราวสำคัญและประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น ควรใช้รูปแบบการลงพื้นที่ศึกษาไปด้วยนอกจากการเรียนในห้องเรียน หรือการสัมภาษณ์คนในชุมชนเพื่อลงลึกไปถึงรากเหง้าของชุมชน และในระดับเด็กที่โตขึ้น ก็อาจทำเป็นโปรเจกต์เพื่อนำเสนอ โดยมีบางท้องถิ่นสามารถให้เด็กมัธยมปลายนำเสนอผลงานในรูปแบบหนังสั้นหรือทำเป็นหนังสือเล่มเล็กๆได้เลย
ดังนั้นจึงเสนอว่า โรงเรียนบ้านป่าเด็งสามารถพัฒนารูปแบบกิจกรรมการสอนให้ไปในเชิงลึกมากขึ้นไปอีก โดยอาจเน้นไปที่การใช้เรื่องราวที่สำคัญของชุมชนมาเล่าก่อน
“เพื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องราวและเรื่องราวเหล่านั้นก็จะนำไปสู่การทำความรู้จักบุคคลสำคัญตามมาโดยไม่ต้องท่องจำ” อ.อรรถพลระบุ
ระหว่างต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการกลับไปอาศัยในถินที่อยู่ดั้งเดิม ก็แลกมาด้วยความสูญเสียนักต่อสู้ไปในระหว่างนั้น ทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นบุตรของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และออกมาเคลื่อนไหวเปิดเผยเหตุการณ์เผาบ้านชาวกะเหรี่ยง ได้ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2554 รวมทั้งบิลลี่ หลานชายแท้ๆ ของปู่คออี้ หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2557 หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในข้อหาครอบครองน้ำผึ้งป่า และต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษพบชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกมนุษย์ที่พิสูจน์แล้วว่า เป็น DNA ของบิลลี่
ส่วนชาวกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอย ซึ่งยังคงพยายามทวงสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยในพื้นที่ดั้งเดิม อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรี
แต่จากหลักฐานต่างๆ ที่มีอยู่ ทั้งแผนที่ทหารในอดีตที่ระบุที่ตั้งของบ้านใจแผ่นดิน มีประวัติศาสตร์ซึ่งเคยมีบ้านใจแผ่นดินอยู่ในสารบบทะเบียนราษฎร มีหลักฐานการอาศัยอยู่จากการสำรวจของศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา
ทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยังคงยืนยันตามเจตนารมณ์ของปู่คออี้ที่จะกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม
และข้อมูลเหล่านี้ ก็เป็นข้อมูลที่คณะกรรมการอิสระบรรจุไว้ในรายงานที่จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี
ต้องรอถึงเมื่อไร ชาวกระเหรี่ยงบางกลอยถึงจะได้กลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดตามความปรารถนาของปู่คออี้ ที่ปรากฎอยู่ในข้อสอบวิชาท้องถิ่นของเราของเด็กนักเรียน ม.1 โรงเรียนป่าเด็งวิทยา อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี