เรื่องราวของชาวบางกลอยเรียกได้ว่าเป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่เรื่องหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย แต่ถ้าเริ่มกันคร่าวๆ อาจต้องเริ่มกันด้วยสองเหตุการณ์หลักคือ
- การดำเนินยุทธการตะนาวศรีในปี 2554 ที่นำไปสู่คำตัดสินของศาลปกครอง
- ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ที่นำไปสู่การจับกุมชาวบ้าน และม็อบภาคีเซฟบางกลอยในเวลาต่อมา
ย้อนกลับไปในปี 2554 เจ้าหน้าที่รัฐได้สนธิกำลังขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อปฏิบัติยุทธการตะนาวศรี เผาบ้านเรือนชาวบ้านบางกลอยบนใจแผ่นดิน นำไปสู่การขึ้นโรงฟ้องศาลปกครอง และศาลมีคำตัดสินว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุให้ชดเชยให้แก่ชาวบ้าน 6 คน คนละ 50,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งดังกล่าว ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าชาวบ้านมีสิทธิอยู่อาศัยไหม เพียงแต่ระบุว่าชาวบ้านต้องหาโฉนดมาเพื่อยืนยันสิทธิในที่อยู่อาศัย
ต่อมาคำสั่งศาลปกครองฉบับนั้นถูกเจ้าหน้าที่นำกลับมาอ้างในยุทธการพิทักษ์ป่าต้นเพชร ที่เจ้าหน้าที่ได้ขึ้นไปควบคุมตัวชาวบ้านที่กลับใจแผ่นดินลงมา และแจ้งข้อหาบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 นำไปสู่การคุมขังชาวบ้าน และการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาอีกมาก
ในแง่หนึ่ง ดูเหมือนว่ารากของปัญหาระหว่างชาวบางกลอยและภาครัฐ เกิดจากข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกันระหว่างทั้งสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าตัวเองอยู่มาก่อนมีการประกาศเป็นเขตอุทยาน ขณะที่อีกฝ่ายมองว่าชาวบ้านบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า และอีกประเด็นคือปัญหาการตีความกฎหมายทั้งของเจ้าหน้าที่และฝ่ายตุลาการที่ต้องอาศัยความเข้าใจบริบทของปัญหาอย่างสูง มิฉะนั้น อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิของชาวบ้านอย่างที่ผ่านมา
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานเสวนาวิชาการ ‘ปัญหาการตีความกฎหมาย กรณีชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน’ และได้เชิญวิทยากรทั้งนักกฎหมาย อัยการ นักวิชาการ เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบางกลอย ซึ่ง The MATTER ได้ถอดประเด็นที่น่าสนใจมาไว้ในที่นี้แล้ว
สุรพงษ์ กองจันทึก – ความจริงของความเข้าใจผิด 9 ประการ
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวเปิดงานในช่วงแรกว่า ภาครัฐมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงชาวบ้านบางกลอยอยู่ 9 ประการคือ
- ชาวบ้านบางกลอยไม่ใช่คนไทย ซึ่งประเด็นนี้ยืนยันว่าชาวบ้านเป็นคนไทยมีบัตรประชาชน มีทะเบียนบ้าน และได้รับสิทธิความเป็นไทย โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ปู่คออี้ หรือ โคอิ มีมิ
- พยายามบอกว่าชาวบ้านเป็นชาวกะหร่าง เพื่อทำให้ชาวบ้านดูไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่มาแต่เดิม ซึ่งไม่จริง ชาวบางกลอยคือชาวกะเหรี่ยงปกากะญอ
- ชาวบ้านบุกรุกป่า ประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องจริงเพราะชาวบ้านอยู่ในที่นี้มานานแล้ว ไม่มีการบุกรุก
- มีการอพยพชาวบ้านสองครั้งคือในปี 2539 และ 2554 ซึ่งสุรพงษ์มองว่ายุทธการตะนาวศรีปี 2554 ไม่ใช่การอพยพชาวบ้าน แต่เป็นการหนีตายของชาวบ้าน
- มีการจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านคนละ 7 ไร่ ในประเด็นนี้กฎหมายอุทยานแห่งชาติไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่จัดพื้นที่ให้ชาวบ้านอยู่อาศัย ชาวบ้านอยู่ได้แต่พื้นที่ป่าสงวนเท่านั้น ดังนั้น การอ้างว่าจัดที่ดินให้ชาวบ้านจึงผิดกฎหมาย
- อพยพชาวบ้านลงมาข้างล่าง เพราะที่อยู่เดิมเป็นป่าต้นน้ำ แต่ในความเป็นจริง การอพยพชาวบ้านลงมาสู่บางกลอยล่างก็เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำเช่นกัน ดังนั้น พื่นที่บางกลอยบน ใจแผ่นดิน และบางกลอยล่างไม่ใช่พื้นที่คนละประเภทกันเลย
- หลังจากชาวบ้านกลับขึ้นไปช่วงต้นมกราคม 2564 มีการกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกเปิดป่าใหม่ ในประเด็นนี้สุรพงษ์ชี้ว่าถ้าภาครัฐบอกว่าชาวบ้านบุกรุกป่าใหม่ แสดงว่าพื้นที่ป่าเดิมต้องได้รับการฟื้นฟูแล้ว ซึ่งก็จะตรงกับมาตรา 64 ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ระบุว่าถ้าเป็นพื้นที่ป่าที่สามารถฟื้นฟูได้ ชาวบ้านย่อมสามารถขอใช้พื้นที่นั้นได้ ไม่ใช่จับกุมชาวบ้าน
- เจ้าหน้าที่อ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 แต่ถ้าดูตามกฎหมายจริงๆ มีการระบุบทเฉพาะกาลไว้ว่าให้เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจพื้นที่ชาวบ้านอยู่อาศัยภายใน 240 วันเพื่อให้สิทธิอยู่อาศัยแก่ชาวบ้าน และถ้าหากจะอ้างว่าหมดระยะเวลาที่ระบุไว้แล้ว ตรงนี้ต้องเข้าใจว่าตามหลักกฎหมายมันเป็นประเด็นที่อนุโลมกันได้ ดังนั้น ต้องยึดบทเฉพาะกาลเอาไว้ก่อน ไม่ใช่ตีความตรงตัวตามบทกฎหมาย
- อ้างคำสั่งศาลปกครองสูงสุดปี 2561 ตรงนี้ศาลปกครองสูงสุดออกมายืนยันชัดเจนว่ามีเพียงคำวินิจฉัยว่าปฏิบัติการในปี 2554 เจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุและต้องจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้าน แต่ยังไม่ได้ตัดสินว่าชาวบ้านมีสิทธิอยู่อาศัยหรือไม่ ซึ่งยังสามารถยื่นข้อมูลให้ศาลปกครองวินิจฉัยต่อได้
สุรพงษ์เปรียบเทียบคำตัดสินของศาลกรณียุทธการตะนาวศรีว่า ในปี 2545 ชาวบ้านอำเภอแม่ไฮ จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 1,243 คน ถูกกรมการปกครองถอนชื่อออกจากกระทรวงหมาดไทย นำไปสู่การฟ้องร้องกันในศาลปกครอง ซึ่งมีคำตัดสินสุดท้ายออกมาว่าให้กระทรวงมหาดไทยคืนสิทธิให้ชาวบ้านครบทุกคน ดังนั้น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากยุทธการตะนาวศรีในปี 2554 ภาครัฐก็ควรเยียวยาชาวบ้านทุกคน ไม่ใช่แค่ที่เป็นคู่กรณี 6 คนที่ยื่นฟ้องร้อง
เขาชี้ว่าถ้าหากเราอยากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบางกลอยจริงๆ ภาครัฐต้องยึดความจริงเป็นตัวตั้งเสียก่อน และนำหลักฐานมาพิจารณาร่วมกัน
ประภาส ปิ่นตบแต่ง – ความมั่นคงพ้นสมัยและป่าแก่งกระจาน
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงแนวคิดความมั่นคงของรัฐไทยมีส่วนทำให้ชาวบางกลอยถูกกดดันอย่างหนัก เพราะพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ใกล้กับชายแดนเมียนมา อีกทั้งเคยมีพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ในป่าแห่งนี้
และแนวคิดความมั่นคงของภาครัฐ ยังนำไปสู่การละเมิดหลักสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนของชาวบ้าน ซึ่งเป็นหลักใหญ่ที่ภาคประชาสังคมและประชาชนร่วมกับผลักดันมานาน
ประภาสชี้ว่าภาครัฐควรยึดกับข้อเท็จจริงเป็นหลักเพื่อแก้ไขปัญหาชาวบ้านบางกลอย โดยเขาได้ยกข้อมูลการขุดหน้าดินในแต่ละช่วงปีต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งเป็นอีกหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าชาวบางกลอยมีพฤติกรรมทำไร่แบบหมุนเวียน ใช้พื้นที่ซ้ำเดิม หรือไม่มีการถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยจากพื้นที่อาศัยปกติเหมือนที่มีการอ้างกัน
เขาชวนตั้งคำถามถึงประเด็นที่เกิดขึ้นกับชาวบางกลอยทั้งหมด 6 ข้อ
- การดำเนินการของเจ้าหน้าที่กระทบกับหลักสิทธิชุมชนที่ถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540, 2550 และ 2560 หรือไม่
- มุมมองด้านความมั่นคงที่พ้นสมัย จนผลักให้ชาวบางกลอยกลายเป็นคอมมิวนิสต์หรือชาวต่างชาติถูกต้องแล้วหรือไม่
- คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิกลับแผ่นดินบรรพบุรุษ เพียงแต่ต้องมีเอกสารยืนยันสิทธิ
- อุทยานไม่มีความชอบธรรมในการอ้างคำสั่งศาลปกครองปี 2561 เพื่อกีดกันไม่ให้ชาวบ้านกลับใจแผ่นดิน เพราะศาลปกครองยังไม่ได้ตัดสินว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิอยู่อาศัย
- ต้องสร้างมาตรฐาน เพราะนอกจากบางกลอยยังมีอีก 4,100 ชุมชน เนื้อที่ราว 4.2 ล้านไร่ที่ยังมีพื้นที่ทาบทับกับพื้นที่ป่าไม้อุทยานและอนุรักษ์
- ศาลมีคำตัดสินเกินเลยหรือเปล่า ที่ไม่ให้ชาวบ้านกลับใจแผ่นดิน
- คำตัดสินของศาลจังหวัดเพชรบุรีต่อชาวบ้านที่มีเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวว่า “ห้ามกลับไปในพื้นที่ถูกจับ” มิฉะนั้นจะมีโทษปรับ 50,000 บาท เหมาะสมหรือไม่ ในเมื่อยังไม่มีการยืนยันสิทธิชุมชนของชาวบ้าน
ไพโรจน์ พลเพชร – สิทธิชุมชนที่ถูกลืมเลือน
ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวว่าระบบนิติบัญญัติ ตุลาการ รวมถึงบริหารของไทย ตกอยู่ภายใต้ระบบอำนาจนิยม ซึ่งตีความกฎหมายเข้าข้างรัฐมากกว่าประชาชน บวกกับขนบการตีความกฎหมายของสถาบันตุลาการเอง ก็ไม่คุ้นเคยกับประเด็นสิทธิต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดเป็นปัญหามากขึ้น
เขาชี้ว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2540,2550 และ 2560 พยายามใส่ประเด็น ‘สิทธิชุมชน’ เข้าไปในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการใส่เรื่องสิทธิชุมชนเข้าไปเป็นครั้งแรก และมีการเขียนขึ้นให้ชัดเจนว่าสิทธิในรัฐธรรมนูญทั้งหลาย รวมถึงสิทธิชุมชน มีความสำคัญและต้องยึดเอาไว้เพื่อสร้างให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทยโดยแท้จริง
อย่างกฎหมายป่าชุมชนก็มีความพยายามรวบรวมรายชื่อจากภาคประชาชนมาตั้งแต่ปี 2542 แต่กว่าจะออกมาเป็นกฎหมายก็เพิ่งปี 2562 หรือกว่า 20 ปีต่อมาแล้ว ซึ่งสะท้อนว่าฝ่ายนิติบัญญัติของไทยเองก็ยังไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนมากพอ
ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มีการระบุว่าสิทธิชุมชนไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ ก็มีผลให้พิจารณาได้ และยังกำหนดด้วยว่าประชาชนมีอำนาจบังคับให้รัฐคุ้มครอบสิทธิของประชาชนได้ ถึงแม้ไม่มีกฎหมายรองรับก็ตาม ซึ่งประเด็นนี้ไพโรจน์ชี้ว่าในคำวินิจฉัยของศาลปี 2555 ศาลสามารถใช้อำนาจตรงนี้เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนกับชาวบ้านบางกลอยได้ แต่ศาลกลับเลือกใช้กฎหมายที่ดินให้ชาวบ้านยืนยันสิทธิด้วยโฉนดแทน
ดังนั้น ชาวบ้านยังสามารถอ้างสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญได้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งวินิจฉัยในประเด็นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านได้อยู่
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล – ศาลยังเปิดช่อง แต่รัฐบาลต้องดำเนินการ
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึงประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดปี 2561 ซึ่งให้คำตอบในหนึ่งประเด็นที่สำคัญของยุทธการตะนาวศรีในปี 2554 โดยได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุต่อชาวบ้าน และต้องชดใช้ให้ชาวบ้านรวม 6 คน คนละ 50,000 บาท
แต่ในอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ชาวบางกลอยกลับไปอยู่แผ่นดินบรรพบุรุษได้หรือไม่?” ปริญญาระบุว่าศาลยังไม่ได้ชี้หรือมีคำตัดสินในประเด็นดังกล่าว เพียงแต่บอกว่าชาวบ้านต้องมีโฉนดหรือเอกสารยืนยันสิทธิทำกินในพื้นที่เท่านั้น
ปริญญาชี้ว่าศาลยังไม่ได้ตัดสินคดีในส่วนนี้ และเปิดโอกาสให้ยังโต้เถียงกันได้อยู่ เขามองว่าหน้าที่ในเรื่องเอกสาร ฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบและตัดสินใจ ซึ่งหลักฐานหลายอย่างก็ชี้ชัดแล้วว่าชาวบางกลอยอยู่อาศัยมาก่อนกฎหมายประกาศ
นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารเองก็มีอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อประกาศเขตพื้นที่อุทยาน ป่าสงวน รวมถึงเพิกถอนเขตเช่นกัน
ปริญญาทิ้งท้ายอีกหนึ่งประเด็นคือ การโกนหัวชาวบ้านบางกลอย ซึ่งเขามองว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา เพราะตามระเบียบราชทัณฑ์ ปี 2562 กำหนดไว้ว่านักโทษเด็ดขาดต้องตัดผมสั้น และให้เหลือด้านหน้ากับด้านข้าวไว้ได้ 5 เซนติเมตร แต่ชาวบ้านบางกลอยถูกโกนทั้งหัว ไม่เหลือผมไว้เลย และที่สำคัญพวกเขายังเป็นเพียงผู้ต้องหาไม่ใช่นักโทษเด็ดขาด ดังนั้น จึงอยากให้หันมาให้ความสนใจในประเด็นนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
จันทิมา ธนาสว่างกุล – คนกับป่าในกฎหมายไทย
จันทิมา ธนาสว่างกุล รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนชี้ว่า นักกฎหมายไทยติดอยู่กับตัวบทกฎหมายมากเกินไป จนบางครั้งตีความกฎหมายไม่ยืดหยุ่น
จันทิมามองว่าถ้าตีความกฎหมายอย่างถูกต้อง สิทธิชุมชน และแนวคิด ‘คนกับป่า’ สามารถเป็นขึ้นจริงได้ เธอกล่าวว่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ.ป่าไม้ เองก็อนุญาตให้คนอยู่กับป่าได้ เพียงแต่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 64 และ 65 กำหนดหน้าที่ให้ภาครัฐรับผิดชอบสำรวจและจัดทำข้อมูลเพื่อสร้างสิทธิชุมชนให้เกิดขึ้น
เธอมองว่าถ้าหากเรามีสิทธิชุมชน ฉโนดหรือเอกสารที่ยืนยันสิทธิของชาวบ้านก็ไม่จำเป็น เพราะเราสามารถใช้หลักฐานอื่นๆ แทนได้ ไม่ว่าภาพถ่ายทางอากาศ หรือแผนที่ทหารเอง
จันทิมาชี้ว่าอีกประเด็นที่เกิดขึ้นคือ ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอาญากับชาวบางกลอย ควบคุมตัวและบังคับให้ลงมา ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนุญมาตรา 64 และ 65 ละเมิดสิทธิชุมชน และไม่เป็นไปตามกระบวนการดำเนินคดีที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม เธอยังเชื่อว่าในปัญหาของพี่น้องบางกลอยควรเข้าสู่กระบวนการเจรจาและไกลเกลี่ยปัญหามากกว่า
สุนี ไชยรส – สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของชาวบ้าน
สุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พูดทั้งน้ำตาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้องบางกลอยคือความรุนแรงหลายรูปแบบทั้งจากเฮลิคอปเตอร์, อาวุธปืน, สภาพพื้นที่กลางป่าลึก รวมไปถึงการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ทั้งการไม่อนุญาตให้ทนายเข้าพบผู้ต้องหา การโกนหัว หรือห้ามญาติเข้าเยี่ยม สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา
โดยในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีการกำหนดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้ถึง 14 มาตรา ก่อนลดลงมาเหลือ 2 มาตราในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และเหลือมาตราเดียวในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แต่ก็ยังถูกแทรกอยู่ในหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ แต่ประเด็นคือการบังคับใช้ของภาครัฐมากกว่า
สุนีเสนอว่าภาครัฐต้องดำเนินการพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุดทั้งในประเด็นการจับกุมและสิทธิในการอยู่อาศัยของชาวบางกลอย ต้องยกเลิกการดำเนินคดีทั้งหมด และจัดตั้งคณะกรรมการอิสระที่เป็นอิสระจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นคนกลางในการแก้ไขปัญหา
ภายหลังการอภิปรายของผู้ร่วมวงเสวนา สุรพงษ์ได้กล่าวสรุปอีกครั้ง โดยชี้ว่า
- ในปี 2539 ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นการอพยพชาวบ้าน แต่ในปี 2554 นับเป็นการเผาบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน
- จากการเก็บข้อมูล เขาสรุปว่าชาวกะเหรี่ยงใช้พื้นที่ทำกินปีละ 3 ไร่ต่อปี และอาจน้อยลงถ้าพื้นที่อุดมสมบูรณ์
- พื้นที่อาศัยของชาวบางกลอยไม่ใช่พื้นที่ติดชายแดน โดยจากใจแผ่นดินถึงชายแดนเมียนมาใช้เวลาเดินราว 1 วัน และจากบางกลอยบนถึงชายแดนเมียนมาใช้เวลาเดินมากกว่า 1 วัน
- การจับกุม, โกนหัว, ตรวจดีเอ็นเอ ตลอดจนเซ็นเอกสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกับชาวบ้านไหม
- และเราจะใช้กฎหมายเพื่อสร้างความสงบสุขให้ชุมชนได้อย่างไร ?
จากวงเสวนาดูเหมือนว่าทุกฝ่ายยังเห็นตรงกันว่าชาวบางกลอยยัง ‘มีความหวัง’ ที่จะกลับไปทำไร่หมุนเวียนบนผืนดินของบรรพบุรุษ แต่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต้องอาศัยความเข้าใจและการแชร์ข้อมูลระหว่างกัน และไม่ว่าประเด็นชาวบ้านบางกลอยจะจบลงอย่างไร มันจะกลายป็นมาตรฐานสำคัญที่จะนำไปแก้ปัญหาประเด็นสิทธิในที่ทำกินต่อๆ ไปในอนาคต
Photograph By Cross Cultural Foundation (CrCF)
Illustrator By Sutanya Kim