เสียงพูดคุยถึงการปฏิรูปวงการตำรวจดังขึ้นอีกครั้ง หลังกรณีของ ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีตผู้กำกับโจ้
เราขอพาไปดูไทม์ไลน์ทำความเข้าใจว่าทำไมจากเป้าหมายที่ต้องสำเร็จภายใน 1 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ถึงยังคงไปไม่ถึงไหน และหาคำตอบระหว่างทางว่า ทำไมยังคงมีตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางท่านที่ว่ากันว่าถูกเฉดหัวทิ้งแล้ว กลับมามีชื่อนั่งในตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. อีกครั้ง (คงไม่ต้องถามว่าใคร แต่ชื่อเล่นเป็นอาหารเช้า)
The MATTER พาย้อนดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานี้ ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวขบวนฝ่ายบริหาร มีความพยายามปฏิรูปตำรวจมากแค่ไหน และเหตุใด มาถึงขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติก็ยังค้างเติ่ง สภาพิจารณาไปได้ไม่ถึง 1 ใน 10 ของมาตราทั้งหมด
เกิดอะไรขึ้นบ้าง 7 ปีมานี้
ตลอดระยะเวลา 7 ปี จะกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ไม่มีความพยายามปฏิรูปวงการตำรวจเลยคงไม่ถูกนัก โดยในภาพรวมตั้งแต่บิ๊กตู่เข้ามากุมบังเหียนอำนาจ มีการตั้ง คกก.ด้านปฏิรูปตำรวจขึ้นมาอย่างน้อย 6 ชุด ใช้อำนาจประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้านตำรวจรวม 6 ครั้ง มีประกาศสำนักนายกฯ 1 ครั้ง และมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2 ครั้ง
- หลายคนคงจำได้ว่าประมาณช่วงปี 2556-2557 สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. ได้กดดันให้มีการปฏิรูปประเทศ โดยด้านหนึ่งที่เขาเน้นเป็นพิเศษคือ การปฏิรูปวงการตำรวจ และยกเลิกระบบรัฐตำรวจ
- ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขึ้นรถยานเกราะรวมกำลังพลมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ และประกาศยึดอำนาจการปกครองจาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ในขณะนั้น พร้อมทั้งฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์
- ตลอดปี 2557 หัวหน้า คสช. ได้ใช้อำนาจพิเศษที่ส่งผลต่อวงการตำรวจรวม 3 ครั้ง และมีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจขึ้นหนึ่งชุด
- 6 ตุลาคม 2557 รัฐบาล คสช. ได้คัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 26 คน และมีผลงานเป็น ‘วาระปฏิรูปที่ 6: การปฏิรูปกิจการตำรวจ’
- ออกประกาศ คสช. ที่ 88/2557 แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เรื่องรายละเอียดของที่นั่งในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ กตช. และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. และปรับให้ ผบ.ตร.เป็นผู้เสนอชื่อ ผบ.ตร. คนใหม่ต่อ กตช. จากเดิมที่เป็นนายกฯ
- ออกประกาศ คสช. ที่ 111/2557 แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ลดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น
- ออกประกาศ คสช.ที่ 115/2557 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เปลี่ยนอำนาจชี้ขาดคดีในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการเห็นต่างกัน และให้ผู้บัญชาการภาคมีสิทธิชี้ขาดแทน
ประกาศฉบับที่ 111/2557 และ 115/2557 ถูกวิจารณ์ว่าทำให้เกิดความอสมดุลระหว่าง อปท. และตำรวจ
4. ปี 2558 คสช. ตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมใน สปท. โดยมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 15 คน และมีผลงานเป็นรายงานห้าฉบั
5. ปี 2559 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. และคำสั่ง คสช. ออกมาอย่างละหนึ่งฉบับ
- คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2559 แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ยกเลิกแท่งและเงินประจำตำแหน่งพนักงานสอบสวน ทำให้พนักงานสอบสวนไปโตในสายอื่นได้
- คำสั่ง คสช. ที่ 21/2559 แก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ให้ ผบ.ตร. เป็นผู้กำหนดหลักและกฎเกณฑ์แต่งตั้งตำรวจตั้งแต่ระดับรองผู้บัญชาการ-ผู้กำกับการ
6. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และระบุไว้ในมาตรา 260 วรรค 3 ให้มีการเร่งปฏิรูปตำรวจจนแล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 1 ปี โดยระบุว่าถ้าไม่แล้วเสร็จ การโยกย้ายข้าราชการตำรวจให้ยึด “ตามหลักอาวุโส ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”
7. ในเดือนกรกฏาคม ปี 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มีสมาชิกทั้งหมด 36 คน และมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อาจารของบิ๊กตู่เป็นประธานคณะกรรมการ มีผลงานเป็นกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจ 4 ฉบับ
8. ในเดือนมีนาคม ปี 2561 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แห่งชาติ ฉบับ พล.อ.บุญสร้าง และตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาขึ้นทบทวน เพียงหนึ่งเดือนต่อมา (เมษายน) คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งคณะกรรมการแก้ร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่คณะกรรมการปฏิรูปส่งมา (ชุด พล.อ.บุญสร้างเป็นประธาน) โดยมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และ พล.อ.บุญสร้างลงไปนั่งตำแหน่งคณะกรรมการ
9. เดือนกรกฎาคม ปี 2561 มีประกาศสำนักนายกฯ เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโส และตามมาด้วยคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 20/ 2561 ให้ยึดหลักเกณฑ์แต่งตั้งตามที่ระบุไว้ในประกาศที่แล้ว
- คำนูญ สิทธิสมาน อภิปรายในสภาและให้ความเห็นไว้ว่า ประกาศดังกล่าว (ข้อ 8) และคำสั่ง คสช. ที่ 20/2561 ทำให้การปฏิรูปห่างออกไปกล่าวคือ เป็นการขยายกรอบเวลา 1 ปีที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ทำให้การโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในปีนั้น และหลังจากนั้นกลับเข้าสู่ระบบเดิม หรือที่เรียกกว่า ‘แบ่งกอง’ ใช้ระบบอาวุโสเพียงร้อยละ 33 ของตำแหน่งที่ว่างลง และนี่อาจเป็นความล้มเหลวของความพยายามแก้ไขระบบตั๋วช้าง
10. คณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับมีชัย ส่งร่างให้ สตช. ดู
11. มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ในวันที่ 24 มีนาคม 2562
12. เดือนสิงหาคม ปี 2562 มีมติตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ อีกครั้ง โดย ‘มีชัย’ เป็นประธานเช่นเดิม
13. กันยายน 2563 ถึงมกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และส่งให้รัฐสภา
14. จนถึงขณะนี้ รัฐสภากำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ถึงมาตรา 40 แล้ว จาก 140 มาตรา
คำถามน่าคิดคือ จากความมุ่งมั่นปฏิรูปวงการตำรวจในช่วงแรกที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำไมอยู่ดีดีคณะ คสช. ถึงเปลี่ยนใจและเล่นอภินิหารทางกฎหมายทำให้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ถูกเตะถ่วง และเปลี่ยนมือร่างกฎหมายจาก พล.อ.บุญรอด เป็น มีชัย
เหตุใด
ในเสตตัสที่ คำนูณ สิทธิสมาน นำมารีลงในเฟซบุ๊กของตัวเอง พร้อมเขียนแคปชั่นว่า “คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 20/2561 ประกาศราชกิจจา 26 พฤศจิกายน 2561 นี่ละคือปฏิบัติการ ‘ปฏิปักษ์ปฏิรูปตำรวจ’ ระดับตัวพ่อ”
หรือเรียกได้ว่า คำนูณมองว่า คสช. ใช้อำนาจเหนือกฎหมาย เพื่อชะลอการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และมีความเป็นไปได้ที่ร่างฉบับดังกล่าวก็อาจไม่ผ่านสภา หรือจะไม่มีการปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นเลยขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งอยู่
The MATTER โทรไป พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล และอดีตผู้บังคับการกองปราบให้ความเห็นว่า รัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจ และเข้าใจองค์กรตำรวจ เขาให้ความเห็นว่าองค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชน และควรเกิดการปฏิรูปผ่านภาคีประชาชน
“ปัญหาคือผู้นำ ผู้นำไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ถ้าเป็นผมนั่งปั๊บแล้วรันทันทีเลย และให้ประชาชนมีส่วนร่วม ”
“ที่สำคัญ ต้องให้ประชาชนมาร่างแผนปฏิรูปที่จะใช้กับพวกเขาเอง และผู้มีอำนาจต้องรับฟัง รัฐธรรมนูญเขียนไว้ในมาตรา 77 ชัดเจนให้รับฟังประชาชน”
“ควรมีภาคีจากประชาชนเคลื่อนไหวเพื่อขอแผนปฏิรูปตำรวจ ผมว่าตำรวจจะยึดโครงสร้างเดิม มาปรับตัวให้ดีขึ้น ไม่ดีหรอก มันล้าหลังและไม่ทันสมัย ที่ดีที่สุดคือ เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง และปฏิรูปให้ยึดโยงกับประชาชน”
คำตอบเขาออกมาในทิศทางเดียวกับที่ผมเคยคุยกับตำรวจใหญ่ที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ถ้าพวกเขาตั้งใจปฏิรูปจริงๆ มันต้องทำได้
อ้างอิง:
https://workpointtoday.com/police-law/
https://themomentum.co/thinktank-policereform/
https://mgronline.com/politics/detail/9640000085053