หากจะย้อนดูประวัติศาสตร์ของอาชีพโสเภณีในไทยจะพบว่า ต้องย้อนกลับไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยที่ยังมีระบบเจ้าขุนมูลนายเข้มข้น และมีการยึดอำนาจจากหัวเมืองประเทศราช ก่อนที่จะมาบูมขึ้นอีกครั้งในช่วงที่ยายแฟง เศรษฐินีในย่านสำเพ็งรับซื้อหญิงสาวที่ยากจนหรือสมัครใจมาขายบริการ ให้มาทำงานในสถานที่ที่มีการติดกระจกสีเขียวด้านหน้าตึกเกิดเป็น ‘โคมเขียวแห่งสำเพ็ง’
กระทั่งในปี 2503 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร พล.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการออก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ทำให้การค้าประเวณีกลายเป็นความผิดทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ ก่อนที่จะมีการสังคายนากฎหมายในอีก 36 ปีต่อมา เกิดใหม่กลายร่างเป็น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 หรือกล่าวได้ว่า สถานการณ์ของการค้าประเวณีของไทยยังอยู่ในระดับที่ ‘ผิดกฎหมาย ’ คือ มีโทษทางอาญาแก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย และเจ้าของสถานบริการ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากฎหมายไม่เคยปราบปราม ป้องกันการค้าประเวณีได้ทั้งหมด เพียงแต่ผลักให้มันกลายเป็นธุรกิจในโลกสีเทาที่อนุญาตให้คนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ได้จากมัน โดยสังเกตุไม่ยากถ้าหากเคยขับรถบนนถนนบางเส้น
ปัจจุบัน ประเด็นนี้ ก็มีการถูกพูดถึงกันอย่างหนาหู ไม่ว่าจะเป็นการควรผลักดันให้ถูกกฎหมาย หรือสวัสดิการที่อาชีพนี้ควรได้ ซึ่งไม่ว่าคุณจะเห็นด้วย หรือยังไม่ตัดสินใจอย่างใดในเรื่องนี้ ก่อนอื่น The MATTER อยากชวนทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 กันก่อน
รายละเอียดของกฎหมายมี ดังนี้
1) ใครรบเร้า ติดต่อ ชักชวน ผู้อื่น ไม่ว่าบนถนน หรือในที่สาธาณะเพื่อทำการค้าประเวณี มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
2) ใครเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณี เพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้นั้นถูกบังคับให้เข้าไปมั่วสุมในพื้นที่จะไม่มีบทลงโทษ และไม่มีการระบุไว้ในกฎหมายว่าการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ iLaw เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า อาจถูกตั้งข้อหากรณีมั่วสุมแทนได้
3) ใครโฆษณาหรือรับโฆษณาให้แพร่หลายไปสู่สาธารณะ มีโทษจําคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 2 ปี หรือปรับ 10,000 – 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4) ผู้ใดกระทำชำเราผู้อื่นที่อายุ 15-18 ปี ในสถานค้าประเวณี โดยบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม มีโทษจำคุกกตั้งแต่ 1-3 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 60,000 บาท
และผู้ใดกระทำชำเราผู้อื่นที่อายุต่ำกว่า 15 ปี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 – 120,000 บาท
5) ผู้ใดเป็นธุระ จัดหา หรือล่อพาไป (นายหน้า – ผู้เขียน) เพื่อให้บุคคลนั้นทำการค้าประเวณี โดยไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท
ถ้ากรณีดังกล่าวผู้ถูกพาไปค้าประเวณีมีอายุ 15-18 ปี โทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท
ถ้าผู้ถูกพาไปค้าประเวณีมีอายุต่ำกว่า 15 ปี โทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท
และถ้าผู้ใดรู้อยู่ว่าผู้ถูกค้าประเวณีถูกนายหน้าจัดหามา มีความผิดตามโทษข้างต้นแล้วแต่กรณี
6) ใครเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณี มีโทษจําคุกต้ังแต่ 3-15 ปี และปรับ 60,000 – 300,000 บาท
ถ้าภายในสถานค้าประเวณีมีผู้ค้าประเวณีอายุ 15-18 ปี โทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท
ถ้าภายในสถานค้าประเวณีมีผู้ค้าประเวณีอายุต่ำกว่า 15 ปี โทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท
ถ้าหากสังเกตดูจะเห็นว่าในกฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดโทษสูงสุดไว้ให้กับการเป็นนายหน้าพาผู้อื่นมาค้าประเวณี โดยเฉพาะกับเยาวชน ซึ่งก็ไม่ผิดนัก เพราะก่อนหน้านี้ คนจำนวนมากเคยถูกหลอกมาขายบริการจริงๆ ดั่งที่เคยมีคำเรียกไว้ว่า ‘ผู้หญิงโคมเขียว’ อย่างไรก็ตาม มาถึงในปัจจุบันประเทศไทยก็ได้มี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ออกมาแล้ว และวางโทษไว้รุนแรงสุดถึงขั้นประหารชีวิต ทำให้เป็นอีกประเด็นที่สังคมตั้งคำถามถึงความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ในปัจจุบัน
และขณะนี้ ก็ได้มีความพยายามล่ารายชื่อเพื่อเสนอให้ยกเลิกกฎหมายการค้าประเวณีแล้ว พร้อมกันนั้น ยังเรียกร้องให้โสเภณีได้รับการคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2562 เหมือนเช่นแรงงานคนหนึ่ง อาทิ วันหยุดที่ควรได้รับอย่างน้อย 13 วัน, สิทธิลาป่วย, สิทธิลาคลอด, สิทธิลาพักร้อน, ค่าชดเชยกรณีถูกเลิกจ้าง หรือสิทธิในการฟ้องร้องเจ้านาย (ในกรณีนี้ เป็นสถานค้าประเวณี) ตลอดจนผู้ซื้อ ในกรณีที่ถูกทำร้ายร่างกาย หรืออื่นๆ
และมาถึงตรงนี้ ใครสนใจร่วมลงชื่อเพื่อยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 สามารถเข้าไปได้ที่
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1983202661803917&id=296033753854158
อ้างอิง: