นอกจากปวดใจรักพัง อีกหนึ่งในความปวดสากลของผู้หญิงทั้งโลกคงหนีไม่พ้นการปวดต่างๆ ก่อนเมนส์มา เจอกันซ้ำๆ ย้ำๆ แทบทุกเดือน หนักบ้างเบาบ้างว่ากันเป็นกรณีไป
ไม่ใช่แค่ปวดท้องจนถึงขั้นลุกไปทำอะไรไม่ไหวในบางครั้ง แต่ชีวิตยังถูกทดสอบด้วยสารพัดอาการก่อนประจำเดือนจะมา ทั้งหน้ามัน สิวเห่อ เหมือนฝุ่น PM 2.5 มาเคลือบไว้ทั้งหน้า ลามไปคัดหน้าอก ปวดหลัง ปวดขา ไมเกรนถามหา และอารมณ์ก็แปรปรวนชนิดที่ว่า แค่ลมพัดผ่านหน้าน้ำตาก็ไหลริน
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์สุขภาพเพศและวัยหมดระดู และรองหัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งคลินิกสุขภาพเพศ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งขออาสาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแนะนำวิธีรับมือกับอาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือน เพราะผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเสียเวลา แรงกายและแรงใจมาทนกับปัญหาที่จัดการได้แบบนี้
PMS ที่รัก
PMS ย่อมาจาก Premenstrual Syndrome หรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ซึ่งจะแสดงอาการเซนซิทีฟก่อนประจำเดือนมาประมาณ 2 วันจนถึง 2 สัปดาห์ และมีอาการมากที่สุด 2 วัน ก่อนที่จะมีประจำเดือน โดยสามารถพบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ถึงร้อยละ 20
โดยอาการ PMS แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ นั่นคือ
1) อาการทางร่างกาย ที่ผู้หญิงเรารู้สึกได้ชัดผ่านอาการปวดต่างๆ เช่น คัดหน้าอก ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดไมเกรน ปวดท้องน้อย ปวดตัว สามารถใช้ยาบรรเทาอาการปวดได้ เช่น Paracetamol หรือยากลุ่ม NSAIDs บางคนอาจมีอาการอื่นๆ เช่น มีสิว ท้องอืดแน่น ท้องผูก หรือท้องเสีย
2) อาการทางอารมณ์และจิตใจ ที่คนรอบข้างเห็นได้ชัด แต่อาจจะจัดการได้ยาก เช่น หงุดหงิด เครียด โกรธง่าย ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ซึ่งหากเป็นมาก สาวๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจจะต้องใช้ยาคลายกังวล ยาต้านซึมเศร้า หรือฮอร์โมนเข้ามาช่วย บางคนอาจมีอาการทางอารมณ์ขั้นรุนแรง ซึ่งเรียกว่า Premenstrual Dysphoric Disorder หรือ PMDD แต่ไม่ดีสมชื่อเลย
สรุปว่า ผู้หญิงเราไม่ได้งี่เง่าไปเองสินะ!
แม้ทางการแพทย์จะยังหาสาเหตุแน่ชัดของอาการต่างๆ ในช่วงก่อนมีประจำเดือนไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือ อาการเหล่านี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงในแต่ละรอบเดือนของเรา โดยเจ้าฮอร์โมนเพศหญิงที่ว่านี้ก็คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
รศ.นพ.กระเษียร แนะนำวิธีประเมินตนเองง่ายๆ ว่าแบบนี้ใช่อาการ PMS หรือไม่ ด้วยการสังเกตอาการทางร่างกายและจิตใจของตัวเองดังที่ได้กล่าวมา เช่น หน้ามัน สิวขึ้น ท้องอืด อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า วีนเหวี่ยง บางคนก็อาจจะปวดหลัง ไมเกรนถามหา หรือคัดหน้าอก แนะนำให้จดบันทึกอาการเหล่านี้ทุกเดือน เพื่อดูว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ หากเกิดอาการเดียวกันซ้ำๆ ทุกเดือน หรืออย่างน้อย 2 เดือน ก็เป็นไปได้ว่านั่นคืออาการ PMS คุณผู้หญิงทั้งหลายก็จะได้เตรียมตัวได้ทัน แต่หากไม่แน่ใจ หรือมีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน ก็แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อหาวิธีรับมือต่อไป
ปวดท้องเมนส์ ไม่จำเป็นต้องทน
เมื่ออาการ PMS ผ่านพ้นไปแล้ว สาวๆ ก็ต้องมาเผชิญกับอาการปวดในช่วงมีประจำเดือนกันต่อ ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งอาการปวดประจำเดือนออกเป็น 2 ประเภท คือ การปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ (primary dysmenorrhea) และการปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ (secondary dysmenorrhea)
การปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ คืออาการปวดบีบบริเวณท้องน้อยร้าวไปที่เอว หลัง หรือต้นขา สัมพันธ์กับการมีรอบเดือน อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมน นำไปสู่การบีบตัวของมดลูก โดยไม่มีสาเหตุจากความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกาย พบได้บ่อยถึง 20-90% ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งอาการปวดเหล่านี้มักพบได้มากในช่วง 1-3 วันแรกของการมีประจำเดือน และเมื่อประจำเดือนมา อาการปวดมักหายไป
ส่วนอาการปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ เป็นอาการปวดท้องน้อยที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือที่เราคุ้นหูในชื่อช็อกโกแลตซีสต์ เป็นต้น อาการปวดที่พบอาจเกิดก่อนหรือหลังการมีประจำเดือน ซึ่งเกิดค่อนข้างนานจนกว่าประจำเดือนจะหมด หรือมีอาการปวดท้องมากขึ้นเรื่อยๆ กว่าที่เคยปวดประจำเดือนอยู่เดิม
ต่อให้ปวดท้องเมนส์แค่ไหน ผู้หญิงหลายคนก็ยังเลือกทน เพราะเรามักได้รับคำบอกกล่าวจากคนใกล้ตัวบ้าง อ่านเจอในอินเทอร์เน็ตบ้าง ว่ายาแก้ปวดประจำเดือน กินบ่อยๆ ไม่ดีนะ ยามันแรง บ้างก็ว่าทำให้ตับพัง หรือไม่ก็ทำให้ระบบภายในแปรปรวน ส่งผลต่อมดลูก และอื่นๆ อีกมากมาย จนก่อให้เกิดความกลัว
หลายครั้งจึงเลือกวิธีบรรเทาอาการปวดโดยไม่ใช้ยา เช่น การใช้ถุงน้ำร้อนประคบ ทำโยคะ การออกกำลังกายเบาๆ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้นได้บ้างเท่านั้น
แต่ที่จริงแล้ว การกินยาแก้ปวดท้องเมนส์เดือนละไม่กี่เม็ด ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายมากมายแบบที่เข้าใจกัน และในประเทศไทย ยาแก้ปวดที่ใช้กันก็มีหลายตัว ตั้งแต่ พาราเซตามอลไปจนถึงยาในกลุ่ม NSAIDs (Nonsteroidal Anti-inflammatory Drugs) ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า กลุ่มยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อออกฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้ร่างกายหลั่งสารที่ก่อให้เกิดอาการปวด ดังนั้นผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือน ควรจะรับประทานยาตั้งแต่เริ่มมีอาการปวดใหม่ๆ เพื่อให้ยาไปยับยั้งการหลั่งสารที่ทำให้ปวดชนิด Prostaglandins ซึ่งช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ดี อย่ารอให้ปวดมากขึ้นจนทรมานแล้วจึงใช้ยา
การกินยาแก้ปวดท้องเมนส์ในกลุ่ม NSAIDs นั้น ควรกินหลังอาหารทันที โดยทั่วไปการกินยาหนึ่งครั้ง สามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 6-8 ชั่วโมง และสามารถหยุดยาได้หากไม่มีอาการปวดเกิดขึ้นมาอีก
“จะทนปวดกันอยู่ทำไม ในวงจรรอบเดือน 28-30 วัน คุณต้องเผชิญกับความปวดอยู่ประมาณ 2-7 วัน เป็นอาการที่ไม่ได้ทำให้คุณมีความสุขเลย แล้วคุณจะทนไปเพื่ออะไร ถ้ามีวิธีจัดการให้อาการปวดดีขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้ก่ออันตรายร้ายแรงกับร่างกาย น่าจะดีกว่า” รศ.นพ.กระเษียร กล่าว
รศ.นพ.กระเษียร ยังย้ำอีกว่า ถ้าอาการ PMS และอาการปวดประจำเดือนมันกระทบต่อชีวิตประจำวันมาก ๆ ก็ควรมาพบแพทย์ และไม่ต้องเขินอายหรือกลัวการพบหมอสูติฯ หรอกนะ “เพราะวิชาชีพของหมอนั้น ให้เกียรติในตัวคนไข้ทุกคน และอาการบางอย่างเป็นมากกว่าการปวดท้องเมนส์ธรรมดาๆ ดังนั้น หากมาตรวจพบล่าช้าอาจทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้มากกว่าที่ควรจะเป็นซะอีก”
เพราะฉะนั้น คุณผู้หญิงคะ หยุดความปวดไว้ตรงนี้เถอะนะ มาเรียนรู้และยับยั้งอาการทางอารมณ์ โดยเข้าใจอาการ PMS และอาการปวดประจำเดือน อย่างแฮปปี้ไปตั้งแต่วันนี้เลย!