เคยไหมที่ทำงานอยู่ดีๆ ก็ถูกปฏิบัติตัวด้วยเหมือนไม่ใช่มนุษย์ ทั้งที่เราเองไม่ได้ทำผิดอะไร ถ้าอยากโละพนักงานออกทำไมไม่บอกกันดีๆ ดันมาใช้วิธีมาคว่ำบาตร ทำเมิน โยนงาน บีบบังคับ ทำให้เราดิ่งแบบนี้ทำไม นี่บริษัทนะ ไม่ใช่โรงเรียนมัธยมสักหน่อย
หลังจากมีคนพูดถึง Quiet Quitting หรือการที่พนักงานเริ่มทำงานเฉพาะหน้าที่รับผิดชอบขั้นพื้นฐานของตัวเอง และเลือกจะไปใช้ชีวิตมากกว่าแล้ว อีกเรื่องที่เป็นที่พูดถึงขึ้นมาไม่น้อยไปกว่ากันคือ Quiet Firing ที่ดูจะเป็นปัญหามากกว่าเสียอีก เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรมการทำงาน แต่มีความลับดำมืดที่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ซ่อนเอาไว้อยู่เบื้องหลัง
Quiet Firing คือการที่องค์กรต้องการจะกำจัดพนักงานออก โดยการทำให้บรรยากาศการทำงานของพนักงานเลวร้ายลง ไม่ว่าจะเป็นเมิน ไม่สนใจจะพัฒนาพนักงานคนนี้อีกต่อไป ไม่มีการขึ้นเงินเดือน ไม่มีการให้โบนัส ไม่มีการปรับตำแหน่ง หรือจะเป็นด้านตรงข้าม คือการกดดันด้วยวาจา การกระทำ การโยนงานให้จำนวนมากจนรู้สึกหมดไฟ กำหนดเป้าหมายให้สูงจนดูออกว่ายังไงก็ไม่มีวันทำได้ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เมื่อก่อนเราเรียกการกระทำแบบนี้ว่าการบีบออก และในตอนนี้ก็มีคำเรียกเป็น Quiet Firing ไปแล้วเรียบร้อย
เมื่อองค์กรไม่คิดจะสนใจพนักงานของตัวเอง
กระแสของคำว่า Quiet Firing เริ่มขึ้นจากการที่ Bonnie Dilber ผู้จัดการด้านทรัพยากรบุคคลได้เขียนความคิดเห็นของเธอผ่าน LinkedIn ที่กลายเป็นโพสต์ที่มีคนแชร์ และเข้ามาเล่าประสบการณ์ตัวเองจำนวนมาก ในโพสต์นั้นเธอบอกว่า เธอเริ่มคิดหาเหตุผลของการที่ใครคนหนึ่งจะทำงานเฉพาะหน้าที่รับผิดชอบขึ้นพื้นฐานของตัวเอง และพบว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวพนักงาน แต่อาจเป็นหัวหน้างานหรือองค์กรเองที่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อสนับสนุนศักยภาพของพนักงานมากนัก หรือก็คือ Quiet Firing นั่นแหละ การทำให้พนักงานอยู่ในบรรยากาศการทำงานที่เหมือนทางตัน มองไม่เห็นอนาคต มันก็ยากที่จะทำงานแบบทุ่มสุดตัว
เธอยังบอกอีกว่า เธอคิดว่าคนที่มีพฤติกรรมการทำงานแบบ Quiet Quitting ที่จริงแล้วพวกเขากำลังทำงานอยู่ภายใต้หัวหน้างานที่บริหารจัดการได้แย่มากต่างหาก ซึ่งมันทำให้พวกเขาไม่มีแรงบันดาลใจ มองไม่เห็นเส้นทางที่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้า และทำงานให้รู้ว่าทำเท่านั้น และเธอก็เห็นว่าเมื่อพนักงานเหล่านี้เปลี่ยนงาน เปลี่ยนหัวหน้างาน พวกเขาก็ทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีรายงานเกี่ยวกับเหตุผลของการลาออกในช่วงการลาออกครั้งใหญ่ปลายปีที่ผ่านมาพบว่า ค่าแรงที่ต่ำเกินไป (63%) ไม่มีโอกาสที่จะเติบโต (63%) และการไม่เคารพกัน (57%) เป็นสาเหตุหลักของการลาออกของพนักงาน และรายงานยังพบอีกว่า พนักงานที่ตัดสินใจลาออก และหางานใหม่ กล่าวตรงกันว่า ถ้าเทียบงานใหม่กับงานเก่า พวกเขาได้รับค่าแรงที่มากขึ้น (53%) และมีโอกาสที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้นกว่าเดิม (53%)
เช็คลิสต์กันหน่อยว่าเคยโดนกระทำแบบนี้หรือเปล่า
กลยุทธ์การ Quiet Firing นั้นส่วนใหญ่เป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ไม่น่าอยู่ ลดคุณค่าในตัวพนักงานลง บางองค์กรอาจรุนแรงจนถึงการกลั่นแกล้งกัน มีพนักงานมากมายที่สุขภาพจิตถูกบั่นทอน รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เพราะการกระทำที่ไร้จริยธรรมนี้ และซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อถึงจุดที่พนักงานตัดสินใจลาออก องค์กรก็จะทำให้รู้สึกว่าสมควรแล้วที่จะลาออกเสีย เพราะพวกเขาไม่ต้องการเก็บพนักงานที่หมดไฟไว้ และแสร้งทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น
Caroline Castrillon ไลฟ์โค้ชและโค้ชด้านการทำงานได้พูดถึงสัญญาณของการถูก Quiet Firing ไว้ในบทความของ Forbes ไว้ดังนี้
- โปรเจ็กต์ที่เราเสนอถูกล้ม หรือถูกยกให้คนอื่นทำ
- เริ่มได้รับงานที่ไม่อยากทำ หรือรู้สึกไม่มีคุณค่า
- ปริมาณงานเริ่มเยอะขึ้นจนแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำเสร็จ
- ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมประชุม หรือไม่ให้รับรู้อะไรอีกต่อไป
- หัวหน้าเริ่มไม่สนใจและหลีกเลี่ยงเรา
- ตำแหน่งงานเปลี่ยนไป หรือมีการปรับหน้าที่รับผิดชอบใหม่โดยไม่เต็มใจ
- หัวหน้าเริ่มให้เรารายงานตัวในทุกสิ่งอย่างและทุกย่างก้าว
- หัวหน้าเริ่มขัดขวางการเติบโตในหน้าที่การงาน
- หัวหน้าไม่เคยฟีดแบคอะไรที่เกิดประโยชน์กับเรา
- ได้รับการประเมินการทำงานว่าแย่มาก ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด
ทำไมเขาถึงทำกับเราแบบนี้ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง
Ella Washington นักจิตวิทยาองค์การและที่ปรึกษาด้านความหลากหลายมีความเห็นว่าการ Quiet Firing เกิดขึ้นเพราะพนักงานระดับหัวหน้า หรือผู้บริหารนั้นไม่แน่ใจว่าตัวเองคาดหวังอะไรจากพนักงานอยู่ และไม่ได้ให้ฟีดแบคอะไร ไม่ได้สนใจที่จะสร้างความสัมพันธ์กับทีมมากนัก พวกเขามองว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ส่วนสำคัญของงาน
พนักงานระดับหัวหน้ามักจะไม่ค่อยอยากเปิดอกคุยกับพนักงานใต้บังคับบัญชาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาด้วย แต่การนิ่งเฉยก็นำมาสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเหมือนกัน ซึ่ง Ella Washingtonได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “ผู้นำที่ไม่มีการฟีดแบค หรือไม่ให้โอกาสพนักงานในการเรียนรู้ ไม่ใช่ผู้นำที่มีจริยธรรม”
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการ Quiet Firing ของบางองค์กรนั้นอาจเป็นเรื่องของค่าชดเชย ในการเลิกจ้างหรือไล่ออก ตามกฎหมายแรงงานแล้ว จะต้องมีการจ่ายค่าชดเชย แต่ในเมื่อพนักงานลาออกเอง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรให้ต้องจ่ายค่าชดเชย ดังนั้น Quiet Firing จึงเป็นวิธีที่องค์กรใช้ในการกำจัดใครสักคนที่ไม่ได้ทำผิดร้ายแรงอย่างการยักยอกทรัพย์หรือฉ้อโกง ซึ่ง Christopher Achkar นักกฎหมายแรงงานในแคนาดา ก็ช่วยยืนยันอีกแรงหนึ่งว่า การที่องค์กรบีบให้พนักงานลาออกเองด้วยวิธีการ Quiet Firing นั้นเป็นการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าชดเชยนั่นแหละ
ถ้ารู้สึกว่าองค์กรกำลัง Quiet Firing อยู่หรือเปล่า Amanda Hudson ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลก็ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า ขั้นตอนแรกอย่าเพิ่งด่วนสรุป ให้พยายามคุยกับหัวหน้าของเราอย่างตรงไปตรงมา ลองถามคำถามปลายเปิดกับเขาดูว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี่คือความตั้งใจของเขาหรือเปล่า แต่ถ้ายังไม่ได้คำตอบอะไร อาจลองถามดูว่า ถ้าแบบนั้นเราสองคนสามารถนั่งคุยกันพร้อมแผนกบุคคลเลยได้ไหม เพื่อให้มีบุคคลที่สามนั่งฟังอยู่ด้วย และที่สำคัญที่สุดคือการบันทึกการพูดคุยเอาไว้เป็นหลักฐาน ไม่ว่าจะในรูปแบบลายลักษณ์อักษร แล้วส่งอีเมลสรุปการพูดคุยตามไปให้กับคนที่เกี่ยวข้อง หรือการอัดเสียงเอาไว้ เพราะหลักฐานเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ในอนาคต
การลาออกไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับปัญหานี้ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำ มีการเลิกจ้างเกิดขึ้นในหลายบริษัท และการหางานใหม่เป็นเรื่องยากขึ้น การปรึกษานักกฎหมายแรงงานก่อนจะลงมือทำอะไรบางอย่างจะเป็นผลดีกว่าตัดสินใจลาออกเลย
ในฐานะพนักงานคนหนึ่ง เราอาจต้องพิจารณาตัวเองดูก่อนว่าที่เราทำอยู่นั้นดีพอหรือยัง มีช่องว่างให้เขาโจมตีหรือเปล่า ถ้ามีผลงานดีมาตลอดก็ไม่จำเป็นต้องกลัว แม้ว่าพนักงานที่ทำผลงานออกมาได้ไม่ดีจะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ควรมีใครถูกบีบให้ออกด้วยวิธีที่ไม่เป็นธรรมอย่าง Quiet Firing
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon