“ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน”
“งานหนักไม่เคยฆ่าคน”
“ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า”
คำพูดเหล่านี้อาจเคยเป็นคำพูดให้กำลังใจในอดีต แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ มันไม่ใช่คำพูดให้กำลังใจอีกต่อไปแล้ว ได้ยินทีไรอยากจะกวาดทุกอย่างลงจากโต๊ะให้หมดแล้วตะโกนสุดเสียงว่า “พูดออกมาได้ เฮงซวย”
“ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน” แต่ถ้างานเยอะขนาดนี้ แล้วเงินเดือนไม่คุ้มที่ทำงาน จะเอาอะไรยาไส้ และคำพูดที่บอกว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” ขอแทงสวนกลับด้วยข้อมูลจาก WHO เมื่อปี ค.ศ.2016 ที่ผ่านมา ว่าประชากรกว่า 745,000 ทั่วโลก เสียชีวิตเพราะทำงานหนักเกินไป ส่วนที่บอก “ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า” วันปน้านี่วันไหน พอจะมีใครตอบได้บ้าง?
เทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไป
สังเกตได้จากเทรนด์ Quiet Quitting ที่มาแรงในช่วงนี้ เราจะอธิบายแบบรวบรัดว่ามันคือ การทำงานเท่าที่ถูกมอบหมายเท่านั้น ไม่ทำอะไรนอกเหนือจากงานของตัวเอง เลิกงานตรงเวลา ก็เราถูกจ้างมาทำแค่นี้ จะให้ไปทำอะไรอีก แม้นายจ้างอาจมองว่านี่คือความเห็นแก่ตัวของพนักงาน แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นการป้องกันตัวเองจากการเบิร์นเอาต์และรักษาสภาพจิตใจเอาไว้ได้ดี จะได้ไม่ยกเก้าอี้ขึ้นมาทุ่มใส่ใครจนต้อง Quit จริง
ความเปลี่ยนแปลงอีกหนึ่งอันที่น่าสนใจ คือ ในหมู่หญิงสาวรุ่นใหม่คือ เริ่มไม่มีใครสนใจเทรนด์ Girl Boss ที่เคยมาแรงในช่วงเกือบสิบปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการตั้งเป้าจะเป็นหญิงสาวที่ประสบความสำเร็จเร็ว ทำงานเก่ง หาเงินเก่ง และเป็นเจ้านายคนสวยสุดปัง เพราะปัจจุบันหญิงสาวรุ่นใหม่หันมาใช้ชีวิตที่ในแบบที่ไม่ต้องเร่งรีบมาก มีเวลาให้ตัวเอง แคร์สุขภาพกายใจมากขึ้น
แม้แต่ในโซเชียลมีเดียก็เริ่มมีการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากทำงานตัวเป็นเกลียวอีกต่อไป ทั้งกลุ่ม r/antiwork ใน Reddit ที่ตอนนี้มีสมาชิกกว่า 2.2 ล้านคน และมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นในเวลาอันสั้น ภายในกลุ่มนั้นเป็นการคุยกันถึงทางออกหากไม่อยากทำงาน การต่อสู้กับระบบนี้ หรือในประเทศที่วัฒนธรรมการทำงานโหดจนเป็นที่เลื่องลืออย่างจีน ก็มีกลุ่ม lie-flat ที่เป็นกลุ่มต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 ที่ทุกคนจะต้องทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้ายัน 3 ทุ่ม เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์
นอกจากนี้คอนเทนต์ TikTok ของต่างประเทศ ก็ล้วนมีคอนเทนต์ให้คำแนะนำสำหรับคนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่กำลังหมดไฟเต็มไปหมด ว่าจะใช้ชีวิตในวัยทำงานอย่างไรให้ใจไม่ห่อเหี่ยว หรือคอนเทนต์เล่าเรื่องของคนที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาสร้างแบรนด์ของตัวเองอย่างประสบความสำเร็จ
เหนื่อยแทบตาย ไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง
ถึงเทรนด์ในการทำงานจะเปลี่ยนไปเป็นแบบนั้น แต่ที่จริงแล้วคนรุ่นใหม่นั้นไม่ได้ต่อต้านการทำงาน แต่พวกเขามองความเป็นจริงมากขึ้น เมื่อทำงานเหนื่อยแทบตาย แต่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย นอกจากอาการปวดหลัง สายตาที่สั้นลง และโรคซึมเศร้า
ความเจ็บปวดของการเป็นแรงงานคือการที่ไม่สามารถมีอะไร ‘เป็นของตัวเอง’ ได้เลย เมื่อเงินเดือนไม่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ การเก็บออมเงินก็ว่ายากแล้ว การลืมตาอ้าปากนั้นไม่ต้องพูดถึง พวกเขาไม่มีทางเลือกอะไรนอกจากเป็นแรงงานตลอดไปจนกว่าจะไถ่ตัวเองออกจากระบบนี้ได้
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยคุยกับคนวัยเกษียณ ที่เคยเชื่อว่าการมีหน้าที่การงานที่มั่นคง ทำงานอย่างหนักตลอดชีวิตจะทำให้เขาสบายได้ตามแบบฉบับคนรุ่นเก่า และในวัยเกษียณเขาตัดสินใจใช้เงินก้อนสุดท้ายมาเปิดร้านอาหาร เขาบอกว่าร้านอาหารร้านนี้คือความฝันของเขาที่รอมาตลอด เขาทำงานให้คนอื่นมาทั้งชีวิต ก่อนจะจากโลกนี้ไป เขาอยากมีอะไรที่ ‘เป็นของตัวเอง’ บ้าง
แต่ในมุมมองของคนรุ่นใหม่นั้น กลับมีแนวคิดที่ต่างออกไป พวกเขาไม่รอให้ถึงวัยเกษียณ พวกเขาพร้อมที่จะลาออกจากงานที่รู้สึกว่าไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร เพื่อเปลี่ยนงานใหม่ที่รู้สึกว่ามีคุณค่ามากกว่า หรือลาออกจากงานเพื่อเอาเวลาไปเรียนรู้ทักษะใหม่ที่อาจเป็นประโยชน์กับการสร้างบางอย่างของตัวเองในอนาคต หรือแม้กระทั่งการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนสายการทำงาน จนกว่าที่พร้อมสร้างอะไรที่เป็นของตัวเอง
แล้วจะลาออกจากตรงนี้ยังไงดี?
แม้ว่าจะอยากลาออกแค่ไหน แต่ก็ต้องต้องตะโกนออกมาว่า “กูไม่ออก ถ้ากูออกแล้วจะเอาอะไรแดก” แบบพี่ก้องในเรื่องลัดดาแลนด์ เราเข้าใจ ภาระหน้าที่หลายอย่างที่แบกเอาไว้นั้นไม่อนุญาตให้เราลาออกไปสร้างอะไรของตัวเองก็ยังไม่ได้แปลว่าในอนาคตเราจะสร้างมันขึ้นมาไม่ได้
มีเทรนด์การทำงานแบบ Frugality ที่ผู้คนยอมได้เงินเดือนน้อยลง แต่มีเวลาชีวิตมากขึ้น แล้วมาปรับเรื่องค่าใช้จ่ายแทน ใช้ชีวิตแบบติดดินมากขึ้น ซื้อของเข้าบ้านไม่ต้องบ่อยนัก เน้นซื้อของมือสองที่ยังใช้การได้อยู่ ซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านเอง บางคนยอมแลกเงินเดือนที่หายไปกว่า 20% แต่ทำงานเพียงแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ หันมาใช้เวลากับตัวเองในวันหยุด 3 วันที่ได้มา และพบว่าตัวเองนั้นมีความสุขมากขึ้น
หรือบางคนเลือกที่จะเริ่มสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองในช่วงที่ยังทำงานอยู่นี่แหละ แม้ว่าตอนเริ่มอาจจะยากกว่าใครเขาด้วยภาระหน้าที่อิรุงตุงนัง แต่ในวันหนึ่งที่ธุรกิจเล็กๆ ของเราเริ่มไปข้างหน้าได้แล้ว เราก็จะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากขึ้น
จังหวะก้าวเดินของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนช้า บางคนเร็ว แต่ที่สำคัญคือมันจะต้องเป็นการก้าวเดินที่มีความสุขกับชีวิตตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kotchamon Anupoolmanee