ขายของไม่ดี โดนปลดออกจากงาน ถูกลดเงินเดือน
ผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ที่ถึงแม้เราอาจจะยังไม่ติดเชื้อ หรือไม่ได้ป่วย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของมัน นำพามากกว่าโรคภัยมาสู่ตัว เพราะยังมีเรื่องของผลกระทบทางเศษรฐกิจ ที่ส่งผลต่อทุกภาคส่วน ทั้งจากคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้า สถานที่ต่างๆ ไปจนถึงคำสั่งเคอร์ฟิวที่ออกมาเพื่อจัดการกับโรคระบาดนี้
ถึงอย่างนั้น รัฐเองก็ได้ออกมาตรการเยียวยา และช่วยเหลือผู้ที่รับผลกระทบจาก COVID-19 กับมาตรการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ที่จะให้รับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะขยายเพิ่มเป็น 6 เดือน ถึงเดือนกันยายน โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ 9 ล้านคน
แต่มาตรการนี้ กลับมีกระแสดราม่าต่างๆ ตั้งแต่วันที่เริ่มลงทะเบียน ทั้งเว็บล่ม ประชาชนลงทะเบียนไม่ได้ ไปจนถึงล่าสุดที่มีประชาชนหลายกลุ่ม หลายอาชีพที่ไม่สามารถเข้ารับสิทธิได้ จนเกิดการตั้งคำถามว่า การเยียวยาช่วยเหลือนี้จะไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบทั่วถึงจริงไหม และทำไมคนบางกลุ่มถึงไม่สามารถเข้ารับสิทธิได้ ไปถึงการเปรียบเทียบกับนโยบายการช่วยเหลือของต่างประเทศ ว่ามีการจำกัดสิทธิ หรือดูที่อาชีพเหมือนของเราไหม ?
ไม่เข้าเกณฑ์ ก็ไม่ได้รับเงินเยียวยา
เราไม่ทิ้งกัน เป็นมาตรการช่วยเหลือที่รัฐบาลคาดการณ์ในตอนแรกว่า จะมีผู้เข้ามาลงทะเบียนประมาณ 3 ล้านคน แต่ในวันแรกๆ ก็มียอดผู้ลงทะเบียนไปมากถึง 24 ล้านคน ซึ่งเมื่อมีผู้ลงทะเบียนจำนวนมาก ภาครัฐเองก็ระบุว่า จะมีการคัดกรองให้ผู้ที่เข้าเกณฑ์ และตรงเงื่อนไขเท่านั้น
โดยเงื่อนไขกำหนดว่าผู้มีสิทธิคือคนที่มีสัญชาติไทย อายุมากกว่า 18 ปี ต้องเป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่ได้รับการเยียวยาจากประกันสังคม (ไม่อยู่ในมาตรา 33 ของประกันสังคม) และต้องได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้รายได้ลดลง ซึ่งทางภาครัฐเองก็ได้ขอให้ผู้ที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ไปขอยกเลิกสิทธิ ซึ่งก็มีรายงานว่า วันที่ 6 เมษายน มีประชาชนเข้าไปยกเลิกกว่า 3 แสนรายแล้ว
แต่ถึงอย่างนั้น นอกจากเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว ยังมีการเปิดเผยว่า มีอาชีพ และกลุ่มคนที่ไม่เข้าข่ายที่จะได้รับสิทธินี้ด้วย หนึ่งในนั้นคือ อาชีพ ‘เกษตรกร’
เกษตรกรวัย 41 ปีรายหนึ่ง ซึ่งทำสวนในจังหวัดสระบุรี เล่าให้เราฟังว่า “เราก็เข้าใจว่าลงทะเบียนไว้ก่อน แล้วทางรัฐบาลจะดูว่าใครได้หรือไม่ได้ เราก็ไปลงไว้ แต่เพิ่งมารู้เช้าวันที่เขาเริ่มแจกเงินล็อตแรก ว่าเกษตรกรจะไม่ได้ ในข่าวบอกว่า เขาจะมีช่วยเฟส 3 อีกที รวมถึงเห็นว่าอาชีพที่เคยได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐ ก็จะไม่ได้รอบนี้”
พี่เกษตรกรรายนี้ ยังเล่าเสริมว่า หลังจากเกิดโรคระบาดแล้ว แน่นอนว่าอาชีพเกษตรกรได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งผลิตผลทางเกษตรกรรม “เราก็ได้รับผลกระทบเรื่องระบบการขนส่ง เราก็ส่งของไม่ได้ เพื่อนในกลุ่มเกษตรกรก็ได้รับผลกระทบเรื่องนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องส่งของสด บางคนไม่มีรถขนส่งเอง ต้องอาศัยขนส่ง หรือรถรับจ้าง แต่ตอนนี้พอมีโรค รถก็ไม่มารับของ ไม่คอนเฟิร์มเวลา ซึ่งพวกผักสด ผลไม้สด ต้องใช้เวลาแค่ 24 ชั่วโมงในการขนส่ง ส่วนในด้านลูกค้าเอง แน่นอนก็น้อยลงไป ปริมาณที่สั่งก็น้อยลง เพราะร้านอาหาร โรงแรมก็ปิดไปบ้าง เขาก็ไม่ได้สั่งของ”
แม้ว่ารอบนี้ จะไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากภาครัฐ แต่เขาก็หวังว่าในอนาคต รัฐจะเข้ามาช่วยเหลือภาคการเกษตรด้วย
“เกษตรกรก็มีหลายกลุ่ม ผมเป็นรายย่อยทำสวนมะเดื่อ ทำเกษตรเล็กๆ น้อยๆ ตอนนี้เราก็เหมือนกินของเก่า หลังวิกฤติเราก็อยากให้รัฐมาช่วยเรื่องปัจจัยการผลิต เพราะเหมือนเราก็ต้องเริ่มลงทุนใหม่ ก็เหมือนธุรกิจ ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ ผมไม่ได้ทำเกษตรกรอย่างเดียว ยังพอมีรับจ้างบ้าง แต่สำหรับบางคนที่พึ่งเกษตรเชิงเดี่ยว พอไม่ได้เงินเยียวยาส่วนนี้ ผมว่าเขาก็ได้รับผลกระทบหนักแน่ เพราะพวกเขามีรายได้จากการเกษตรทางเดียว”
นอกจากเกษตรกรแล้ว ยังมีกลุ่มอาชีพอื่นๆ อย่าง คนงานก่อสร้าง โปรแกรมเมอร์ ข้าราชการ ผู้ค้าขายออนไลน์ และคนงานก่อสร้าง ซึ่งรัฐมองว่า เป็นอาชีพที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยตรง และรัฐไม่ได้สั่งปิดกิจการ อีกทั้งหากค้าขายไม่ได้ก็ไม่ได้เป็นผลจากโรคระบาดนี้ด้วย โดยเฉพาะอาชีพอย่างค้าขายออนไลน์ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า มีผู้ลงทะเบีบนไว้ถึง 2.1 ล้านคน และไม่มีใครที่ผ่านเกณฑ์หรือได้รับเงินเยียวยาแม้แต่รายเดียว
กลุ่มคนที่ไม่เข้าเกณฑ์นั้น ยังระบุไปถึง นักเรียน และนักศึกษา ที่รัฐมองว่ายังไม่ใช่แรงงาน จึงไม่อยู่ในเงื่อนไข แต่ ‘พิม’ นักศึกษา ซึ่งทำงานด้านเสริมสวยไปด้วยระหว่างเรียน ก็เล่าว่า เธอกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาดนี้
“วิกฤตนี้กระทบกับเราตรงๆ เลยค่ะ เราเป็นนักศึกษา ที่ทำงานเสริมสวยไปด้วย พอรัฐบาลห้ามจัดงาน event ต่างๆ งานรับปริญญาที่มีลูกค้าจองคิวแต่งหน้า หรืองานแต่ง พอมี COVID ก็ทำให้งานต้องเลื่อนแบบไม่มีกำหนด ลูกค้าจึงขอยกเลิกหมดเลย ทำให้รายได้จากงานหลักตอนนี้คือศูนย์
เราลงทะเบียนขอรับเงินไปแล้ว ขึ้นสถานะว่ารอตรวจสอบ แต่เพิ่งเห็นว่าตัวเองไม่อยู่ในเกณฑ์ เพราะยังเป็นนักศึกษาไม่ว่าอายุเท่าไหร่ ก็ไม่ผ่าน”
พิมบอกกับเราอีกว่า ในฐานะที่เธออยู่ในกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายรับเงินเยียวยา เธอมองว่ารัฐไม่ควรกีดกัน หรือเลือกจะช่วยเหลือแค่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
“เราคิดว่าทุกคนได้รับผลกระทบจาก COVID และคิดว่ารัฐไม่ควรเลือกกลุ่มที่ได้รับเงินเยียวยา เพราะทุกคนเดือนร้อนหมด ตัวเราเองอยู่ในกลุ่มคนทำงาน แต่ต้องส่งตัวเองเรียนได้รับผลกระทบมากๆ เพราะทั้งเรื่องค่าเทอม ค่าหอพักหนักมากตอนนี้ ในขณะที่ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายมาเรื่อยๆ
เราเห็นบางคนที่ไม่ได้รับผลกระทบ ก็ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือก ส่วนตัวพิมคิดว่าถ้าใช้ AI ตรวจก็จะมีการตกหล่นคนที่เดือนร้อนจริงๆ ไป ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ และคิดว่ารัฐไม่ควรจำกัดกลุ่มนักศึกษา เพราะบางคนที่ทำงานส่งตัวเองเรียนตอนนี้โดนหยุดงาน ไม่ได้เรียนต่อเพราะเรื่องค่าเทอมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อยากรัฐคำนึงถึงตรงนี้ด้วย” เธอเล่าให้เราฟัง
ลงทะเบียนไว้ แต่ก็ยังรอคอยเงินช่วยเหลือ
เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทในเดือนแรก ได้ทยอยโอนเข้าบัญชีให้กับผู้ที่ขอรับสิทธิแล้ว โดยมีรายงานว่าจะทยอยจ่ายเงินให้กับประชาชน 1.5 ล้านคน ในวันที่ 8-10 เมษายนนี้ ก่อนที่จะมีการส่ง SMS ไปให้ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ในวันที่ 9 เมษายน ว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ
โดยในกลุ่มแรก มีการเปิดเผยว่าจะช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล, คนขับรถแท็กซี่, วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และมักคุเทศน์ ซึ่งหลังจากที่มีการโอนเงินในวันแรกไปแล้ว เราก็ได้พูดคุยกับคุณพี่ ผู้ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล บริเวณรถไฟฟ้า MRT แห่งหนึ่ง ถึงมาตรการ และการลงทะเบียนครั้งนี้
“เราลงทะเบียนไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เลย ยังไม่รู้เลยว่าได้สิทธิหรือไม่ได้ ไม่ได้เข้าไปเช็ค เพราะเราเช็คไม่เป็นเลย ปกติลูกสาวเป็นคนทำให้ เรื่องรับเงินเราก็รู้ข้อมูลจากลูกสาว ลูกบอกว่ามันจะเข้ามาทางโทรศัพท์ว่ามีเงินเข้า เพราะเราผูกพร้อมเพย์ไว้ แต่ยังไม่แจ้งมาเลย เราเห็นบางคนก็ได้แล้วนะ คนที่ขายล็อตเตอรี่ด้วยกัน เขาก็ลงเฟซบุ๊กว่าได้กันบ้างแล้ว”
คุณพี่เล่าว่า กลุ่มคนขายสลากกินแบ่งได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะที่มีการเลื่อนออกสลากไปด้วย ทั้งจะมีการรณรงค์ให้หยุดอยู่บ้าน เพื่อหยุดเชื้อ แต่สำหรับเขาก็ต้องออกมานั่งขาย เพราะยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ
“วิกฤตนี้กระทบเรามาก บางวันก็ขายได้ บางวันก็ไม่ได้เลย เต็มที่ 1,000 – 1,200 บาท จากแต่ก่อนที่ได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะวันศุกร์จะขายดีมากๆ ตอนนี้แย่มาก แย่สุดๆ เลย
“แต่เราก็ต้องออกมาขาย อยู่บ้านไม่ได้ คนเราก็ต้องกินต้องใช้ ลูกอีก ถามว่ากลัวโรคไหม เราก็กลัว แต่จะทำยังไงได้ เรายังมีภาระ”
“ถ้าได้ 5,000 บาทนี้ก็ดีนะ เราก็อยากให้เขามาช่วยเรา เพราะเราไม่ไหวแล้ว เศรษฐกิจมันแย่มาก แย่สุดๆ”
นอกจากอาชีพที่รัฐบอกว่า จะได้รับเงินเยียวยาก่อนแล้ว ยังมีอีกกลุ่มอาชีพใหญ่ คือพ่อค้าแม่ค้า คนทำมาค้าขาย ที่มีจำนวนมาก และก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ล้วนลงทะเบียน เพื่อรอรับการช่วยเหลือในครั้งนี้ ซึ่งคุณป้า เจ้าของรถเข็นขายผลไม้ก็เล่าว่า เธอเป็นอีกหนึ่งคนที่ลงทะเบียน แต่ก็ยังไม่ได้รับเงิน และยังไม่ยืนยันว่า จะได้สิทธิหรือไม่
“ลงทะเบียนไปแล้ว วันแรกลงไม่ได้เพราะเว็บล่ม เราก็มาลงวันต่อมา ไม่มีปัญหาอะไร กรอกได้ปกติ แต่ว่าตอนนี้ยังไม่ได้ตังค์ คิดว่าเขายังตรวจสอบเราอยู่ เพราะจากที่ฟังมา เขาจะให้พวกวินมอเตอร์ไซค์ ขับแท็กซี่ มัคคุเทศก์ก่อน เขาบอกว่าข้อมูลมันมีอยู่แล้ว ส่วนคนค้าขายมีเยอะ เขากำลังตรวจสอบอยู่ เห็นว่าอาจจะให้มีถ่ายรูปร้านส่งไปด้วย ว่าขายที่ไหน ขายจริงไหม เขาบอกจะตรวจสอบให้ละเอียดกว่านี้ เพราะมีคนแอบอ้างเยอะ”
“เราไม่มีประกันสังคม ไม่มีอะไรเลย เราก็คิดว่าเราน่าจะได้นะ คงเป็นรอบ 2 แต่ก็ไม่แน่ใจ 100% เราก็รอดูไป”
คุณป้ามองคล้ายๆ คนอื่นๆ เช่นกันว่า นอกจากเรื่องเงินเยียวยาแล้ว ก็หวังว่ารัฐจะมากระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ค้าขายได้ดีเหมือนเดิม เพราะตอนนี้ก็เป็นหนึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงเช่นกัน เช่นเดียวกับร้านขายขนมไทยในซอยรัชดา ซึ่งเล่าว่า จากขนมที่เคยขายได้วันละ 1,700-2,000 บาท ตอนนี้ก็ได้ลดลงมาวันละครึ่งหนึ่ง ทั้งลูกชาย ซึ่งช่วยคุณแม่ที่เป็นเจ้าของร้านขายของ ก็เล่าว่า แม่ของเขาไม่สามารถลงทะเบียนได้ด้วย ทั้งๆ ที่อาชีพตรงเกณฑ์
“คุณแม่ไม่ได้ ทำอาชีพค้าขาย แต่ลงทะเบียนไปก็ไม่ได้ มีข้อความมาว่าเลขบัตรประชาชน 4 ตัวไม่ตรง ทั้งๆ ที่เราก็กรอกถูก เราก็สงสัย แต่ไม่รู้จะถามใคร ได้แต่ดูในอินเทอร์เน็ตว่าทำยังไง น้าเราค้าขาย ก็ไม่ได้เหมือนกัน เราก็รอลงใหม่
ส่วนของผมเองก็ลงทะเบียนไป เพราะผมเพิ่งออกจากงานร้านกาแฟ และไม่มีประกันสังคม ตอนออกมา เรากะจะมาช่วยแม่ขายของนี่แหละ แต่ก็มาเจอปัญหา COVID เลยแทบไม่มีรายได้ ยิ่งพอมีเคอร์ฟิว ก็ยิ่งเดือดร้อน จากที่ขายถึง 5 ทุ่ม ปัจจุบัน 2 ทุ่มก็เงียบแล้ว จากที่เอาหม้อใส่ขนมมาตักขาย ก็ต้องตักใส่ถุงไว้เลย เพราะตอนนี้ขายได้แค่นี้”
เขายังเล่าอีกว่า ถึงจะลงทะเบียนไป แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินเลยด้วย “ตัวผมไปลงทะเบียนว่างงานไว้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เงิน ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาไม่ให้กันหมด ความคิดผมมองว่าเขาน่าจะให้ทุกคน ไม่น่ามาเลือก ควรให้กับทุกคนที่ลงทะเบียน แบบไม่มีเงื่อนไข เพราะทุกคนก็เดือดร้อน ทุกคนที่ลงก็อยากได้ และได้รับผลกระทบกันทั้งนั้น” เขาเล่าความคิดเห็นของตัวเองให้เราฟัง
แจกให้ทุกบ้าน ทุกครัวเรือน ดูมาตรการต่างประเทศเยียวยาประชาชนอย่างไร ?
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีนโยบาย และมาตรการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจของ COVID-19 อย่างญี่ปุ่นเอง ก็ประกาศเยียวยาประชาชน ด้วยการมอบเงินสด 300,000 เยน (ราว 91,000 บาท) ให้กับทุกครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ จากรายได้ที่ลดลง ซึ่งคาดว่าประมาณ 10 ล้านครัวเรือน จาก 58 ล้านครัวเรือนในประเทศ จะได้รับสิทธินี้
แต่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเอง ก็มีการกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เช่นกัน โดยมีการกำหนดว่าข้าราชการ นักการเมือง และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจะไม่ได้รับสิทธินี้ แต่ไม่เพียงแค่กับครัวเรือน ทางรัฐบาลยังคาดว่า จะช่วยเหลือไปยังผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่รายได้ลดลง
ในด้านของเกาหลีใต้ ก็เป็นประเทศในเอเชียอีกแห่งที่ให้เงินกับประชาชนเช่นกัน รัฐบาลเตรียมแจกเงินสดให้กับชาวเกาหลีใต้ครอบครัวละ 1 ล้านวอน (ประมาณ 26,600 บาท) โดยเป็นการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียว และให้ทุกครอบครัวโดยไม่มีข้อยกเว้นกับอาชีพใดๆ แต่จะยกเว้นกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 30% ของประเทศ
นอกจากการแจกเงินแล้ว ยังมีมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างปรับลดอัตราดอกเบี้ย ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นกรณีพิเศษ และการประกันรายได้บางส่วนให้กับลูกจ้างด้วย
สิงคโปร์เอง ก็มีนโยบายการแจกเงินและช่วยเหลือในวิกฤตนี้ด้วยเหมือนกัน โดยสิงคโปร์นั้นจะแจกเงินให้กับทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปี ตามรายได้ของแต่ละคน ไม่จำกัดอาชีพ โดยจะแจก 300-900 ดอลล่าร์ (6,900-20,600 บาท) รวมถึงครอบครัวที่พ่อแม่มีลูกอายุต่ำกว่า 20 ปีเอง ก็จะได้รับเงินเพิ่มอีก 300 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 6,900 บาท
เห็นได้ว่า นโยบายในการเยียวยาของประเทศต่างๆ นั้น มีทั้งที่คล้ายคลึง และแตกต่างจากไทย แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจาก ‘เราไม่ทิ้งกัน’ คือ การกีดกันและกำหนดเงื่อนไขสำหรับคนบางกลุ่มอาชีพ ไปจนถึงความไม่ทั่วถึงของการได้รับความช่วยเหลือทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบรายย่อยอีกจำนวนมาก ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ และการเยียวยานี้ได้
รวมถึงอาจทำให้มีกลุ่มประชาชนจำนวนมากที่ตกค้าง ไม่ได้รับความช่วยเหลือ แม้จะได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นกัน จนเกิดเป็นคำถามว่า มาตรการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ นั้น ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงๆ หรือไม่ หากยังมีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับบางกลุ่ม และอาชีพอยู่
อ้างอิงจาก