บางครั้งคนเราก็ทำอะไรตรงข้ามกับใจ โกรธจัดแต่ก็ยิ้มกว้าง เศร้ามากแต่ก็หัวเราะ เรารู้เพียงแค่ว่าเราไม่อยากแสดงอารมณ์ที่แท้จริงออกมาให้ใครเห็น แต่เราไม่เคยรู้เลยว่ามี ‘เบื้องลึกเบื้องหลัง’ อะไรที่ทำให้เราตอบสนองไปแบบนั้น
วันนี้เราจะมาว่าด้วย ‘กลไกป้องกันตนเอง’ ที่เรียกว่า Reaction Formation กัน
รู้สึกอีกอย่าง แสดงออกอีกอย่าง
มนุษย์มีการปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ ปัญหาที่ทำให้เกิดภาวะทางอารมณ์อันไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ความเศร้า ความโกรธ ความเจ็บปวด หรือความวิตกกังวล แต่บางครั้งพวกเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร หรือทำไปเพื่ออะไร โดยเฉพาะเวลาที่กำลังใช้กลไกป้องกันตนเอง เพื่อที่จะขจัดภาวะอารมณ์เหล่านั้นให้หายไป
ในช่วงปลายปี ค.ศ.1800 ซิกมันด์ ฟรอยด์ เจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ผู้โด่งดัง ได้ริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับ กลไกป้องกันตนเอง (Defense Mechanisms) ขึ้นมา โดยฟรอยด์มองว่า แม้ความคับข้องใจจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ แต่หากมีมากเกินไปก็จะเป็นปัญหา ทำให้มนุษย์มีกลไกป้องกันตนเองขึ้นมา ซึ่งเป็นวิธีการปรับตัวกับความคับข้องใจในระดับจิตไร้สำนึก กล่าวคือ เป็นวิธีที่ใช้โดยไม่รู้ตัวนั่นเอง
กลไกป้องกันตนเองที่ฟรอยด์เสนอมีทั้งหมดหลายวิธี โดยหลักๆ แล้วก็เพื่อหลบเลี่ยงที่จะทำให้ตัวเองเกิดความขุ่นมัว หม่นหมองใจ หรือเสียใจเกินความจำเป็น ซึ่งหนึ่งในวิธีนั้นก็คือพฤติกรรมที่เราได้กล่าวไปในตอนต้น หรือ reaction formation ที่อธิบายถึงการที่มนุษย์ ‘ทำอะไรตรงข้ามกับความรู้สึก’ นั่นเอง
บางครั้งมนุษย์ก็ไม่ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง หรือมองว่าความรู้สึกลึกๆ ของตัวเองไม่สอดคล้องกับค่านิยมหรือมาตรฐานบางอย่างในสังคม กลัวถูกมองในแง่ลบ กลัวอับอาย กลัวถูกมองว่าไม่มีมารยาท ไม่มีวุฒิภาวะ หรือกลัวเสียอัตตาในตัวเองไป ทำให้การระบายหรือแสดงออกมาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่อะไรที่ทำได้ง่ายสักเท่าไหร่ ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็พยายามที่จะเกลี้ยกล่อมตัวเองเช่นกันว่า ความรู้สึกนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เราควรจะรู้สึกอีกอย่างหนึ่งมากกว่าสิ ทำให้เลือกจะแสดงพฤติกรรมตรงกันข้ามออกมาโดยสิ้นเชิง เพื่อหักล้างความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนจะมีคำกล่าวว่า “ถ้าผู้ชายแกล้ง แปลว่าผู้ชายชอบ” ทำไมการกลั่นแกล้ง รังแก หรือปากขี้ริ้วใส่กัน ถึงสามารถตีความหมายไปทางตรงกันข้ามได้ ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่คลาสสิกมากในการใช้อธิบายกลไก reaction formation เนื่องจากเด็กผู้ชายบางคนไม่สามารถเผชิญกับความจริงที่ว่า เขากำลังมีความรู้สึกเชิงโรแมนติกเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกนี้อาจนำไปสู่การมองตัวเองว่าเป็นคนอ่อนไหว หรือถ้าเพื่อนรู้ก็จะโดนล้อจนอับอาย ทำให้เขาเลือกที่จะแสดงความไม่พอใจ ความขุ่นเคือง หรือความก้าวร้าวออกมา แทนการกระทำที่เป็นดูมิตร
อีกตัวอย่างหนึ่งอาจจะเก่าไปสักนิด แต่อยากให้ลองนึกถึงเพลง ปากไม่ตรงกับใจ ของ ชิน ชินวุฒ เพราะสามารถอธิบายกลไกนี้ได้ดีเหมือนกัน เพราะเนื้อเพลงกล่าวว่า เขาไม่ต้องการอะไรจากคนที่เขารักเลย ไม่ต้องสนใจกันก็ได้ แค่เขาได้ทำเพื่อคนที่รักก็พอ แต่ความรู้สึกจริงๆ นั้นเขาทั้งอิจฉา ทั้งหวง ทั้งไม่พอใจ แต่เพื่อไม่ต้องการถูกมองว่าใจแคบ งี่เง่า หรือแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของมากเกินไป เขาจึงเลือกที่จะพูดอีกอย่างออกมามากกว่า
นอกจากนี้ก็มีตัวอย่างอื่นๆ เช่น ชายคนหนึ่งโหยหาความรักมาโดยตลอด แต่เขาก็ไม่พบหญิงคนไหนที่จะตอบรับรักของเขาเลย ด้วยความที่กลัวจะเสียอัตตา เสียความมั่นใจ กลัวจะถูกใครมองว่าไม่มีคุณค่า ไม่มีใครเอา เขาจึงเลือกที่จะเกลียดชังหรือเหยียดเพศหญิง เพื่อปกป้องอัตตานั้นไว้
การที่ผู้ชายคนหนึ่งกลัวว่า สังคมต้องไม่ยอมรับแน่ๆ หากเขาเปิดเผยตัวตนว่าชอบผู้ชายด้วยกัน ด้วยความที่ไม่สามารถอดกลั้นต่อความอับอายหรือความกลัวนั้นได้ เขาจึงเก็บตัวตนนั้นไว้ และเลือกที่จะแสดงออกมาเหมือนคนที่เกลียดชังคนรักร่วมเพศ (Homophobia) หรือจีบผู้หญิงหรือคบหาผู้หญิงเหมือนกับผู้ชายทั่วๆ ไป ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีนักวิจัยเคยทดสอบว่า คนที่เกลียดชังคนรักร่วมเพศ จริงๆ แล้วเป็นคนที่ชอบเพศด้วยกันเองหรือเปล่า ซึ่งสุดท้ายผลการทดสอบก็สรุปได้ว่า บุคคลอาจมีอัตลักษณ์ทางเพศที่ขัดแย้งกับแรงดึงดูดทางเพศได้ หากพวกเขาได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่เข้มงวด จอมควบคุม หรือไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ
หรือเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เด็กวัยรุ่นบางคนอาจมีพฤติกรรมหมางเมิน หรือหลีกเลี่ยงการแสดงความรักต่อพ่อแม่ เพราะพวกเขามองว่าตัวเองโตแล้ว ไม่ใช่ลูกแหง่ที่จะมาออดอ้อนพ่อแม่เหมือนอย่างเมื่อก่อน ทั้งที่ลึกๆ ก็รักแหละ แต่อายที่จะแสดงออกมา และอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าจะมีคนเป็นกันเยอะก็คือ การไม่สามารถยอมรับความโกรธหรือความก้าวร้าวของตัวเองที่มีต่อคนอื่นได้ จึงเลือกที่จะสงบ สุขุม พูดจาสุภาพ หรือเป็นมิตรกับคนๆ นั้นกว่าปกติ
โดยปกติแล้วเราจะสังเกตเห็นได้ค่อนข้างชัดเลยว่าใครกำลังใช้กลไกนี้อยู่ เพราะการทำอะไรที่ตรงข้ามกับความรู้สึก ความคิด หรือความเชื่อที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ ‘ฝืนธรรมชาติ’ เอามากๆ หรืออะไรที่ไม่ได้ออกมาจากใจ ย่อมดูปลอม ดูไม่สมจริงเป็นธรรมดา ซึ่งพวกเขาอาจจะแสดงออกแบบเกินหน้าเกินตามากไปโดยไม่รู้ตัว แต่คนอื่นจะจับสังเกตได้เลยว่าพวกเขามีอะไรที่ผิดปกติอยู่ และเมื่อถูกสังเกตได้บ่อยครั้ง ก็จะทำให้คนๆ นั้นมีบุคลิกภาพที่ไม่น่าเชื่อถือและไม่มีใครอยากคบหา หากเปรียบเปรยเป็นสุภาษิตก็ได้แก่ ปากว่าตาขยิบ ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ หน้าเนื้อใจเสือ หรือปากหวานก้นเปรี้ยวนั่นแหละ
ยิ่งซ่อนไว้ ยิ่งขยายใหญ่
ในสังคมที่กดให้ผู้คนไม่สามารถแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะถูกจำกัดเอาไว้ด้วยคำว่ามารยาท มาตรฐานสังคม ผู้น้อยผู้ใหญ่ เพศ หรือวุฒิภาวะ ทำให้ไม่แปลกใจเลยหากผู้คนจะพบว่านั่นคือต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหามากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะปัญหาทางสุขภาพจิต อันเนื่องมาจากการปฏิเสธความรู้สึก ความคิด หรือตัวตนที่แท้จริง และฝืนที่จะกระทำในทางตรงกันข้าม ซึ่งต้องใช้พลังงานจำนวนมากพอสมควร
ซึ่งการเรียนรู้กลไกป้องกันตนเองเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกลไก reaction formation หรือกลไกอื่นๆ ก็ตาม เพราะเราได้กลับมาสำรวจตัวเองว่า ปฏิกิริยาที่เราตอบสนองเมื่อเกิดอารมณ์เชิงลบนั้นเป็นยังไง เรากำลังกลัว โกรธ หรือกังวลกับอะไรอยู่ สอดคล้องกับความรู้สึกข้างในที่เกิดขึ้นหรือไม่ แล้วการที่มันไม่สอดคล้องทำให้เราอึดอัดใจหรือสบายใจมากกว่าเดิม หรือการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาอาจมีประโยชน์ในการแก้ปัญหานั้นหรือเปล่า
ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าการรับมือกับปัญหานั้นโดยตรง หรือการแสดงออกแบบโผงผาง ณ ทันทีที่รู้สึก จะเป็นเรื่องดีหรือสมควรที่จะทำ เพราะการอยู่ร่วมกับคนมากมายในสังคม เรายังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมอยู่อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่กลไกป้องกันตนเองมักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว แม้จะเป็นเหมือนเกราะป้องกัน แต่บางครั้งก็มีผลเสีย เพราะการไม่รู้ว่าเรากำลังกดบางสิ่งบางอย่างให้ฝังแน่นลึกลงไปบ่อยๆ อาจทำให้เราสะสมสิ่งแย่ๆ ในจิตใจเยอะเกินไป จนเกิดเป็นภาวะทางจิตอื่นๆ ตามมาได้ เช่น เก็บกด โรคเครียด ภาวะซีมเศร้า หรือความวิตกกังวล
หากพอมีเวลาหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ถูกบีบให้รีบตอบสนองนัก ลองให้เวลาตัวเองสักพักเพื่อทบทวนความรู้สึกที่แท้จริง ก่อนที่จะแสดงพฤติกรรมอะไรออกไป หากมองว่าการสื่อสารออกไปตรงๆ นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าก็สื่อสารออกไปเลย แต่หากพิจารณาแล้วว่าการสื่อสารในทิศทางตรงกันข้าม จะเป็นการรักษาน้ำใจของอีกฝ่ายมากกว่า หรือทำให้เราดูเป็นคนมีมารยาท วางตัวดี และไม่ดูแย่ในสายตาสังคมสักเท่าไหร่ ก็ไม่เป็นไร เพราะกุญแจสำคัญอยู่ที่เราสัมผัสถึงความรู้สึกที่แท้จริงได้หรือเปล่าเท่านั้นเอง
สังคมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง หากคนรอบข้างสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และสนับสนุนให้ผู้คนสามารถยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงได้ ก็จะทำให้พวกเขาซื่อสัตย์กับตัวเองมากขึ้น และหาทางออกที่ดีกว่าการเก็บซ่อนอารมณ์หรือแสดงออกที่ฝืนธรรมชาติ ซึ่งการเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สร้างความใกล้ชิด หรือกระชับความสัมพันธ์ได้เหมือนกัน เพราะเหมือนกับว่าเราอนุญาตให้เขาได้ล่วงรู้ความลับในจักรวาลที่เรียกว่าจิตใจของเราเอง หรือการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดก็เป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพ เพราะพวกเขาสามารถช่วยเราระบุกลไกและโทษของมันได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงช่วยหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดด้วย
การเข้าใจกลไกนี้ก็ช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมแปลกๆ ของใครหลายคนได้มากขึ้น อย่างบางคนที่มักจะทำพฤติกรรมก้าวร้าวหรือแสดงความโกรธออกสื่อบ่อยครั้ง ลึกๆ แล้วเขาอาจกำลังปกปิดความกลัวหรือความอ่อนแอภายในจิตใจของตัวเองอยู่ก็ได้ แต่ถึงแม้สุดท้ายเราจะสามารถหลอกคนอื่นได้อย่างแยบยลก็จริง แต่เราไม่สามารถหลอกตัวตนของเราได้หรอกนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก