วินาทีที่เราอกหัก ถูกบอกเลิก ความสัมพันธ์ที่เราเคยคาดหวังไว้ยุติลง วินาทีนั้นสำหรับหลายคนคงเหมือนพายุพัดเข้าใส่ตัว ในหัวเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ความคิดวิ่งวนไปมา เราหยิบมือถือ พิมพ์ข้อความ ลบข้อความ ไล่ทบทวนสิ่งต่างๆ และพยายามทำอะไรหลายอย่าง
หรือความพยายามที่ยากที่สุดคือการไม่ทำอะไร
เมื่อทุกอย่างแน่ชัดแล้วว่าความสัมพันธ์ของเรายุติลง เหลือไว้แค่หัวใจที่บุบสลาย เป็นหน้าที่ของเราเองที่จะต้องก้าวต่อไป พาหัวใจของเราให้แข็งแรงขึ้น พร้อมที่ยืนหยัดต่อไปอย่างแข็งแรงด้วยตัวคนเดียว ในช่วงเวลาของการฟื้นฟูหัวใจที่ปริแตกของเราเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ในช่วงเวลานั้นเราต่อรองกับความรู้สึกหลายอย่าง แต่ที่ยากที่สุดคือการต่อรองและสร้างสันติกับตัวเอง กับความรู้สึกของตัวเราที่เฝ้าสงสัยว่าทำไมเราถึงได้ถูกสละทิ้งออกจากชีวิตของใครอีกคนที่เคยมีหวังร่วมกัน
ดังนั้น คำแนะนำแรกที่สุดที่ทำยากที่สุดคือการหยุด หยุดอะไรก็ตามที่กำลังอลหม่านอยู่ในความรู้สึก หยุดโบยตีตัวเอง หยุดตั้งคำถามไม่ว่าจะเป็นสาเหตุหรืออนาคต หรือเหตุผลที่อาจไม่มีเหตุผล เมื่อสิ่งใดสิ้นสุดแล้ว เราก็อาจจะแค่ต้องปล่อยให้มันยุติไป คำแนะนำเช่นที่ ดูอา ลิปา (Dua Lipa) ว่าไว้—ซึ่งเป็นกฏหมายเลข 1—คืออย่ารับโทรศัพท์ อันที่จริงการเลิกราในยุคใหม่ การออกห่างจากมือถือดูจะเป็นเรื่องแรกที่ควรทำ งดอ่านแชต งดส่อง งดส่งเมสเสจตอนเมามาย งดตั้งสเตตัส อัพรูปเพื่อหวังให้เขามาเห็น
และถ้าเราไม่จับโทรศัพท์แล้ว เพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่าน โลกที่ช้าลง เราค่อยๆ เรียนรู้อะไรบางอย่างได้ในจังหวะที่ช้าลง ให้เราได้ใช้เวลาในขณะที่ใจเราพัง หรือกระทั่งให้เรื่องราวในมือช่วยรักษาหัวใจของเราไปพลาง การอ่านจะช่วยเยียวยาหรือเป็นทางเลือกที่ดีในขณะที่เราอกหักได้ไหม—ได้แน่นอน อย่างน้อยการอ่านทำให้เราไม่ว่าง และทำให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่ลำพัง และที่สำคัญคือเราเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองอีกครั้งเพื่อยืนหยัดในตัวเองหรือความสัมพันธ์ครั้งต่อๆ ไปอย่างแข็งแรง
ยาวนานแค่ไหนใจจึงหายเจ็บ และระหว่างนั้น
อกหักเป็นกระบวนการที่ค่อนซับซ้อน และสัมพัทธ์ไปกับหลายๆ อย่าง เรารักมากมั้ย มีหวังจะกลับมารึเปล่า เริ่มตัดใจและยอมรับการสิ้นลงรึยัง แต่โดยทั่วไป เรามักจะเผชิญกับการเลิกราและยุติความสัมพันธ์ เข้าสู่ระยะทำใจ เว้นระระยะห่างกันไป และรอให้เวลาทำหน้าที่ของมัน ให้แผลค่อยๆ หาย
งานศึกษาพยายามระบุตัวเลขว่ายาวนานแค่ไหนใจถึงหายเจ็บ ในหลายงานศึกษาระบุตัวเลขที่ราวๆ 10-11 สัปดาห์ที่คนอกหักรักร้างจะเริ่มรู้สึกดีขึ้น แผลใจก็เหมือนแผลกาย ระยะแรกจะเจ็บและหัวใจยุ่งเหยิงมากหน่อย จับโทรศัพท์บ่อยหน่อย นอนได้ทีละน้อย และค่อยๆ นอนได้นานขึ้น กินข้าวได้เยอะขึ้นทีละนิด ค่อยๆ กลับไปฟังเพลงเก่าๆ ได้ ถ้าเป็นอย่างหลังๆ อาจจะต้องใข้เวลาเยียวยานานกว่านั้นขึ้นหน่อยเราถึงจะกล้าหาญพอที่จะทบทวนความทรงจำเก่าๆ ได้ไหว
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เราไม่จับโทรศัพท์ พยายามไม่จับโทรศัพท์ ไม่แตะโซเชียลฯ แน่นอนว่าการอ่านหนังสือเป็นทางเลือกที่ดี ที่เราจะหลีกหนีจากโลกของการเชื่อมต่อระหว่างบุคคลต่อบุคคล กลับไปเชื่อมต่อกับเรื่องราวบางอย่าง กับจินตนาการของตัวเราเอง กับหนังสือ ถ้าพูดอย่างโรแมนติกนิดหน่อย ความสัมพันธ์ของเรากับหน้ากระดาษ หนังสือเล่ม กลิ่นกระดาษ และการค่อยๆ พลิกหน้าไปทีละหน้า ก็เป็นความรู้สึกที่อบอุ่นและพาเราผ่านช่วงเวลาที่ยากและเดียวดายได้เป็นอย่างดี
การอ่านเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยสมาธิและความจดจ่อ แม้ว่าเราเองอาจจะไม่ค่อยมีสมาธิเท่าไหร่ถ้าอกหักในช่วงแรกๆ แต่การได้พลิกหนังสือไปมา การกลับไปยังหนังสือที่เราคาดว่าจะอ่าน ที่เราอยากจะอ่าน ก็เป็นกระบวนการหันเหความสนใจจากโลกของความจริงได้
เรียนรู้ที่จะอยู่ลำพัง และทบทวนตัวเองผ่านโลกอื่น
มีงานศึกษาเรื่องการเลิกราจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) ในปี 2011 ได้ให้ภาพภาวะอกหักได้อย่างซับซ้อนว่า ในช่วงเยียวยา หนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการค้นหาตัวเอง การเลิกราอาจทำให้เราสูญเสียตัวตนและความรู้สึกในตัวเองไป รวมถึงการที่เราไปเติมเต็มคนอีกคนและสูญเสียสถานะนั้นไป ก็ทำให้ความรู้สึกถึงตัวตน (sense of self) สั่นคลอนได้ งานวิจัยจึงระบุว่าเป็นช่วงที่เราทบทวนตัวตนของเราเองและทบทวนสุขภาพใจของเราขึ้นใหม่ (examined self-concept reorganization and psychological well-being over) โดยงานวิจัยนั้นให้กรอบเวลาไว้ที่ราว 8 สัปดาห์
ตรงนี้เองที่การอ่านจะเข้ามาตอบโจทย์ช่วงเวลาทบทวนตัวเองนี้ได้ ง่ายที่สุดและแรกที่สุด การอ่านทำให้เรารับรู้ถึงความสงบในการอยู่ลำพัง การอ่านเป็นกิจกรรมที่ทำได้ดีเมื่อยามอยู่ลำพัง เรื่องราวทั้งหมดจบสมบูรณ์ได้ในมือ ในหน้าหนังสือ และในห้วงเวลาที่เราได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองอีกครั้ง ในภาวะของการอกหักใหม่ๆ เราอาจรู้สึกถึงตัวตนที่แหว่งวิ่น เป็นชิ้นส่วนที่ถูกละทิ้งและไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ตัวเองได้ แต่การอ่านเป็นกิจกรรมสำคัญที่เราจะเติมเต็มตัวตนและรับรู้ความสุขของการอยู่ตามลำพังได้
นอกจากนี้ เรื่องราวที่เราอ่านก็อาจเป็นวิธีการที่มนุษย์เราได้เรียนรู้ตัวตนจากเรื่องราวอื่นๆ เราอ่านนวนิยายเพื่อรับรู้เรื่องราวในมุมอื่นๆ มองเห็นความรัก มองเห็นชีวิตในมุมที่แตกต่างออกไป เรื่องราวที่ดูไกลตัวทั้งหลายในที่สุดกลับมาเป็นบทเรียนและอาจทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เราเผชิญอยู่มากขึ้น เราได้ลองสวมรองเท้า และครุ่นคิด รับรู้และเรียนรู้เรื่องราวชีวิตผ่านโลกใบอื่นจากมุมมองที่ไกลออกไป หนังสือพาเราไปเห็นโศกนาฏกรรม เห็นความเจ็บปวดและการรับมือกับความเจ็บปวด ที่สุดท้ายเราได้กลับมามองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้อาจจะดีขึ้นบ้าง แม้เล็กน้อยก็ถือว่าไม่เลว
อันที่จริง นอกจากนวนิยายหรืองานที่อ่านง่ายอบอุ่นหัวใจเช่น งานเขียนประเภท cozy mystery หรืออาจจะไปแนวทำความเข้าใจ ไปอ่านประวัติศาสตร์ อ่านวิทยาศาสตร์ อ่านข้อเขียนสารคดี เพื่อทำความเข้าใจหัวจิตหัวใจและความเป็นไปของมนุษย์เรา อ่านปรัชญาคำคม ซึ่งก็อาจจะเป็นการออกกำลังสมองที่ทำให้หัวใจแข็งแรงขึ้นได้จากความรู้ต่างๆ
สุดท้าย การฟื้นตัวจากการอกหักรักสลายเป็นกระบวนการทางจิตใจที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลา การอ่านหนังสือจึงเป็นการใช้วลาที่น่าจะพอช่วยได้ อย่างน้อยที่สุดคือช่วยดึงดูดเราจากปากแผลและความสัมพันธ์ ในระดับถัดๆ ไป การอ่านอาจช่วยให้เรารักและเข้าใจการอยู่กับตัวเอง นวนิยายไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักหรือเรื่องอบอุ่นอ่านง่ายล้วนพูดถึงความสัมพันธ์ที่อาจทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์และเรื่องราวได้ดีขึ้น
และในความสำคัญสุดท้าย ในวรรณกรรมและงานเขียนมักมอบความรู้สึกสำคัญหนึ่งให้กับมนุษยชาติ—สิ่งนั้นคือความหวัง ในเรื่องราวทั้งหลายที่เราอ่านไม่ว่าจะเป็นบันเทิงคดีหรือสารคดี ในเรื่องสุขนาฏกรรมหรือโศกนาฏกรรม ความเข้าใจชีวิตและนัยสำคัญของเรื่องราวทั้งหลายนั้นคือการมอบความหวัง และทำให้เราเห็นการดิ้นรนแม้ในยามที่โลกมืดมิดที่สุด
ความหวัง ความเข้มแข็ง และการเยียวยารักษาในเหตุการณ์ทั้งหลายล้วนฝังอยู่ในตัวตนของมนุษย์ธรรมดาๆ เช่นเรา
อ้างอิงจาก