อกหักบ่อยๆ ค่อยๆ ชิน
จริงรึเปล่าไม่แน่ใจกับคำพูดข้างต้น แต่ถ้าเรามองย้อนไป การอกหักครั้งแรกๆ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ถ้าใครยังพอจำความรู้ จำพฤติกรรมได้ ‘อาการ’ ร้าวรานอย่างมหาศาล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เก็บกระเป๋านั่งรถไฟหนีออกจากผู้คน เปิดฝักบัวหรือยืนร้องไห้กลางสายฝน พอมองย้อนกลับไปเราอาจจะพอเข้าใจได้ว่า เมื่อโตขึ้น อกหักมาหลายครั้ง เจ็บมาบ่อยเข้า ใจเรามันก็ชินอยู่บ้าง
ฟังดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถ้าเราคิดต่อเรื่องความเจ็บบ่อยๆ ค่อยๆ ชิน ด้านหนึ่งก็คล้ายกับว่าเรากำลังด้านชาทางความรู้สึก แต่พอเป็นเรื่องความรัก เรื่องความรู้สึก หัวใจเรามันก็ยังรู้สึกรู้สาอยู่นั่นเองแหละ ถึงจะอายุเพิ่มขึ้น รักมาหลาย เจ็บมามาก บทมันจะรัก มันจะรอ มันจะจับมือถือทุกสิบนาทีเพื่อรอใครสักคน สมองมันเข้าใจนะ แต่ใจมันไม่ฟัง แต่ในความเกเรของเรา พอผ่านไปสักวันสองวันเราก็จะเริ่มรู้สึกเข้าที่ทางได้ไวขึ้นหน่อย โดนเทอาจจะเจ็บสักวันแล้วก็ค่อยๆ หาย
พอถึงจุดหนึ่งเราอาจจะมองไปที่ใจตัวเองก็แล้วคิดว่า เออ ใจเรามันแข็งแรงอยู่เหมือนกันนะ ส่วนหนึ่งคงเพราะอายุ เพราะประสบการณ์ เพราะความเจ็บในครั้งก่อนๆ ที่จางหายและอาจจะช่วยให้เราแข็งแรงขึ้น
สำหรับใครที่อกหักหรือเจอปัญหารวดร้าวใจ คือ เราทุกคนรู้แหละเนอะว่า วันใดวันหนึ่งมันต้องหาย สำคัญอยู่ที่ว่าใจเอยจะเจ็บไปอีกนานแค่ไหน เมื่อไหร่เราจะหายจากภาวะรวดร้าวและเยียวยากลับมาดีได้เหมือนกัน และนี่แหละคือคำตอบ หัวใจเราก็เหมือนร่างกาย เจ็บบ่อย หายไป ครั้งต่อๆ ไปก็มีแนวโน้มที่จะเจ็บน้อยลง หายไวขึ้น ซึ่งในภาษาไทยเราอาจจะเรียนว่าใจเรายืดหยุ่น ซึ่งฟังดูก็ทั้งตรงและไม่ตรง แต่ในแนวคิดทางวิชาการหนึ่งเรามีแนวคิดที่เรียกว่า Resilience ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างกว้างคือนำไปอธิบายกับอะไรก็ได้ โดยจะอธิบายถึงความสามารถในการรับมือกับวิกฤติและการเยียวยาฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤติหนึ่งๆ ได้ การรับมือและรอดจากวิกฤตินี้จึงเอาไปอธิบายและช่วยเหลือตั้งแต่ในระดับบุคคล สังคม ตึกอาคาร ไปจนถึงระดับเมืองที่ต้องเจอกับภัยพิบัติต่างๆ
ในแง่นี้ถ้าเรานิยามคำว่าความยืดหยุ่นโดยนึกภาพเป็นร่างกาย เป็นกล้ามเนื้อที่มีความยืดหยุ่นดี มีอะไรมากระทบ หกล้ม พับงอไปก็อาจจะไม่เจ็บตัวมากนัก ถ้าเจ็บก็อาจจะสามารถกลับมาซ่อมแซมรักษาตัวเองได้เร็วกว่ากล้ามเนื้อที่แข็งทื่ไม่ได้รับการฝึกฝน
พอเปรียบเทียบกับร่างกายแล้ว คุณสมบัติแบบความยืดหยุ่นจึงเป็นเหมือนทักษะอย่างหนึ่ง ที่ข่าวดีก็คือ ความยืดหยุ่นนี้เป็นสิ่งที่เรียนรู้และฝึกฝนได้ เราอาจจะอกหักไม่กี่ครั้งแล้วยืดหยุ่นจากการยืดเหยียดหัวใจให้รับมือกับความร้าวรานได้—ดีขึ้นสักหน่อยก็โอเคแล้วเนอะ
ฟื้นคืนและรับมือได้ดีขึ้น: วิชาเบื้องต้นของความยืดหยุ่น
เริ่มต้นที่ว่า แล้ว resilience ซึ่งเราจะเรียกมันอย่างลำลองว่าความยืดหยุ่น หรือใจที่ยืดหยุ่น มีความหมายว่าอะไร ในบทความหนึ่งของเว็บไซต์สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (APA) อธิบายว่าในทางจิตวิทยา นักจิตวิทยาจะอธิบายความยืดหยุ่นว่าเป็นกระบวนการในการปรับตัวต่อสิ่งที่มากระทบต่างๆ เช่น เรื่องร้ายๆ บาดแผล โศกนาฏกรรม ภัยคุกคาม ไปจนถึงที่มาของความเครียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ปัญหาทางสุขภาพส่วนตัว ปัญหาจากที่ทำงานไปจนถึงปัญหาด้านการเงิน โดยรวมแล้วจะเน้นความสามารถในการลุก (bouncing back) คือล้มแล้วลุกเร็วไหม และในการลุกขึ้นนั้นอาจมีการเติบโตบางอย่างเกิดขึ้นด้วย
อันที่จริงทุกวันนี้แนวคิดเรื่อง resillence เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นที่นิยม ถูกพูดถึงบ่อยในหลายๆด้าน คือ เอาไปอธิบายได้ในหลายมิติหลายระดับและค่อนข้างเป็นยารักษาที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายให้ความสำคัญ เจอวิกฤติเหรอ เราต้องยืดหยุ่นสิ ต้องรับมือได้ ต้องผ่านไปได้ เรียนรู้และเติบโต ซึ่งอันที่จริงแนวคิดเรื่อง resillence ก็ถือเป็นแนวคิดที่ค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นและค่อยๆ วิวัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ
ในมิติทางวิชาการ ผู้ที่ศึกษาเรื่องความยืดหยุ่นในมุมจิตวิทยาโดยเฉพาะในแง่ที่มาของความรู้รวมถึงตัวความยืดหยุ่นเองต้องยกให้ เกลนน์ อี. ริชาร์ดสัน (Glenn E. Richardson) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและพัฒนาการจากมหาวิทยาลัย The University of Utah งานวิจัยสำคัญคือการศึกษาเชิงทฤษฎีของความยืดหยุ่น ‘The Metatheory of Resilience and Resiliency’ ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2002
ฟังแล้วก็ว่า เอ๊ะ ความยืดหยุ่นในมุมจิตวิทยาอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ในงานศึกษาข้างต้นอธิบายว่าการศึกษาเรื่องความยืดหยุ่นมีมานาแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ในทศวรรษ 1990 ซึ่งทางอาจารย์เกลนน์แกจำแนกว่า งานศึกษามีหลักๆ สามช่วง แบ่งคร่าวๆ เป็นสามช่วงของการศึกษา คือช่วงศึกษาคุณสมบัติ (Reslient Qualities) ช่วงศึกษากระบวนการ (Resilliency Process) และระดับบ่มเพาะและประยุกต์ใช้ (Innate Resilience)
การแบ่งยุคทั้งสามยุค คล้ายๆ เป็นการแบ่งช่วงทางการศึกษาคร่าวๆ จากยุคที่ศึกษาตัวคุณสมบัติของความยืดหยุ่นเองว่าเออมันเกี่ยวกับอะไรบ้าง ส่งผลกับบุคลลและอนาคตของบุคคลยังไง ช่วงที่สองก็ค่อนข้างนิยามความยืดหยุ่นทางจิตวิทยาที่เป็นระบบขึ้น ศึกษากระบวนการว่าความยืดหยุ่นมันคืออะไร ส่วนสุดท้ายร่วมสมัยสุด คือ ใช้แขนงวิชาต่างๆ เข้าไปสำรวจและความเข้าใจความยืดหยุ่นในฐานะภาวะทางจิตใจที่มีความเฉพาะเจาะจง อาจจะนำไปสู่การฝึกฝนปลูกฝังเพื่อช่วยเหลือจิตใจอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
เข้าใจอาการอกหัก จากวิธีวิทยาของความยืดหยุ่น
ทีนี้ ถ้าดูจากกระแสการศึกษา แน่นอนว่าพอมีการทำให้เป็นทฤษฎีแล้ว ไอ้ความยืดหยุ่นหรือศักยภาพในการล้มลุกและเติบโตนั้น มันก็จะมีวิทยาศาสตร์หรือโมเดลของมัน อันที่จริง เจ้าความยืดหยุ่นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายมาก คือพอเราเจ็บกับอะไรแล้ว เรายืนหยัดขึ้นได้เร็วแค่ไหน และในการเจ็บหรือเจอภัยเดิมๆ ในครั้งต่อๆ ไป เราอาจเจ็บน้อยลง หายได้ไวขึ้น ถ้าพ้นไปจากเรื่องจิตใจ ประเด็น เช่น ฝนตก น้ำท่วม ฝุ่นควัน หรือโรคระบาด ก็ล้วนอธิบายและพัฒนาได้ด้วยโมเดลนี้ เช่นน้ำท่วมใหญ่ไปหนึ่งครั้ง โอเคเรียนรู้แล้ว ปรับตัว แก้ไข รับมือ แต่โรคระบาดใหม่มา ระบาดไปสองปีก็ยังตกใจ แก้ไขเหมือนเป็นโรคอุบัติใหม่ อันนี้ก็ถือว่าไม่ยืดหยุ่น
ในคำอธิบายของความยืดหยุ่นก็มักจะอธิบายด้วยกราฟ คือมักจะวาดเป็นเส้นเหมือนอธิบายว่า โอเค เราอยู่ในภาวะปกติอยู่ดีๆ พอมีภัยมากระทบ กราฟก็ร่วงแล้วก็ค่อยๆ ไต่กลับขึ้นไปใหม่ พอมีภัยใหม่มา ถ้าเรายืดหยุ่นขึ้น กราฟก็จะไม่ลงต่ำเท่าเดิมและอาจไต่ขึ้นชันกว่าเดิม ทีนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าทฤษฎีมันก็คือทฤษฎี คือเป็นกรอบคิดแล้วก็มีการวิวัฒน์ไปเรื่อยๆ ปัจจุบันเรื่องความยืดหยุ่นก็ทั้งถูกตั้งคำถามแล้วก็มีคำอธิบายใหม่ๆ ออกมาเพื่อหาทางให้คนให้สังคมมันยืดหยุ่นมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ
ทีนี้กลับมาที่โมเดล ข้างต้นเราอธิบายว่าในการศึกษาเรื่องความยืดหยุ่นในระยะที่สองที่ค่อนข้างอธิบายในมิติของกระบวนการในจิตใจของคน ว่ากระบวนการความยืดหยุ่นที่ว่ามันมีรายละเอียดยังไง ซึ่งโมเดลในงานศึกษาของอาจารย์เกลนน์ก็มีโมเดลที่น่าสนใจ คือ เราน่าจะเอามาทบทวนตัวเราได้ว่า ตัวเราหลังเจอพายุ หลังจากอกหักโดนเทนั้น เรารับมือกับวิกฤติอย่างไร
โมเดลของอาจารย์เกลนน์ก็จะอธิบายผลหรือกระบวนการยืดหยุ่นของเราในการเจอกับวิกฤติและเหตุการณ์ในชีวิตเป็น 4 รูปแบบ โดยเริ่มแรกแกจะอธิบายว่า ภาวะปกติหรือที่เราอยู่ในสุขภาวะดีคือขั้น homeostasis ซึ่งขั้นต่อมาพอเราเจอกับอะไรก็ตามที่มาขัดวิถีชีวิต ความสุขกายสุขใจ หรือชีวิตประจำวันของเรา จนทำให้จิตใจของเรามันว้าวุ่นหรือเจ็บปวดไป (disruption) ในที่สุดแล้วเราเองก็มาถึงขั้นเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป แต่ไอ้การรับเอาวิกฤติหรือ reintegration เนี่ย แกก็อธิบายรูปแบบไว้ 4 รูปแบบอย่างที่บอกไปตอนต้น คือ กราฟหลังจากดิ่งลงก็เชิดขึ้น แต่เชิดอย่างมีดีเทล แยกเป็น 1.ไปต่อแบบพัง (dysfunctional reintegration), 2.เยียวยาแต่มีรอยแผล (reintegration with loss), 3.ฟื้นตัวกลับมาดีเหมือนก่อน (reintrgration back to homeostasis), และ ดีที่สุด คือ 4.ฟื้นตัวและแข็งแรงขึ้น (resilient reintegration)
การผ่านวิกฤติแบบที่ลำบากที่สุดคือไปต่อแบบพัง ตามคอนเซปต์เลยคือไม่ฟังก์ชั่น คำอธิบายทางทฤษฎีบอกว่า คนที่เจอปัญหาแล้วผ่านไปได้แบบไม่สามารถไปต่อได้ เช่น อาจจะเกิดพฤติกรรมหรือความคิดที่ทำลายตัวเอง อาจจะติดยาเสพติดหรือสิ่งอื่นๆ เพื่อที่จะใช้รับมือกับวิกฤติหรือปัญหานั้นๆ อันนี้ในบทความก็พูดถึงว่าบุคคลนั้นอาจจะมีปมหรือช่องโหว่บางอย่าง ที่ต้องอาศัยการบำบัดเพื่อให้ผ่านวิกฤติหรือรับเอาวิกฤตินั้นกลับมาให้ใช้ชีวิตตามสมควรได้ ซึ่งคำว่าวิกฤติชีวิตนั้นกว้างมาก บางวิกฤติก็ลึกและก็สัมพันธ์กับเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละคน ในทางจิตวิทยาก็เข้าใจนะ แล้วก็มีการบำบัดถ้าจำเป็น
ทีนี้ การเยียวยากลับขึ้นมาระดับดีขึ้นมาอีกหน่อยคือกลับมาดีได้แหละ แต่ว่ามีความสูญเสียบางอย่างติดมาด้วย ซึ่งก็ถือว่าไม่ค่อยดีเพราะดูจากคำอธิบาย ไอ้การสูญเสียที่ค่อนข้างใหญ่ เช่น สูญเสียความหวัง ละทิ้งแรงบันดาลใจหรือแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตบางอย่างไปจากเหตุการณ์นั้นๆ ในระดับยากเราก็อาจจะพอเคยเห็นคนที่สูญเสียหรือเจอเหตุการณ์บางอย่างแล้วทำให้ตัวตนไม่เหมือนเดิม ถึงจะยิ้มได้ ใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่ก็อาจจะฝากรอยบางอย่างที่ยังคงเหลืออยู่ ในระดับทั่วๆ ไป เช่นจากการอกหัก ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะทำให้เรามองโลกยากขึ้น ปิดใจ ก่อกำแพงสูง ซึ่งถ้าดูจากโมเดลนี้ การตั้งการ์ด เก็บใจไว้ในลิ้นชัก เจ็บแล้วชินก็อาจจะเข้าข่ายการฟื้นตัวแบบมีรอยแผลมากกว่าการหายดีและใจเสริมใยเหล็กขึ้น
ในระดับต่อมาและระดับสุดท้าย ก็ถือว่าเป็นฟื้นตัวที่พอใช้ได้และดีมาก ระดับกลับมาดีเหมือนเดิมก็ตามชื่อเลย เจ็บแล้วหาย แต่ก็ไม่ได้รับผลต่อเนื่องจากเหตุการณ์นั้นๆ ทั้งเชิงบวกหรือลบ คือกราฟเยียวยากลับมาเหมือนก่อนเจอวิกฤติ ส่วนแบบสุดท้ายคือแบบที่พึงปรารถนาที่สุด คือ ลุกขึ้นแล้ว ได้อะไรบางอย่าง มีการเติบโตขึ้นทั้งในแง่มุมมองและในแง่ความรู้สึก ได้เรียนรู้รวมถึงมีภูมิต้านทานอันเกิดจากการเจ็บนั้นๆ
เอาจริงๆ ถ้าเป็นเรื่องอกหักก็ยังพูดยากเนอะ ว่าเราจะรักได้เก่งขึ้นมั้ย อกหักครั้งต่อไปจะเจ็บน้อยลงรึเปล่า แต่เอาเป็นว่าถ้าเราอกหักครั้งที่สอง สาม สี่ ไปจนถึงเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง แล้วเราเริ่มยิ้มกับมันได้ เริ่มเข้าอกเข้าใจแล้วต่อชิ้นส่วนของตัวใจได้เร็วขึ้นมาหน่อย หรือแค่เรากล้าเปิดใจจนรักต่อได้อีกหลายๆ ครั้ง ก็น่าจะนับว่าใจเราแข็งแรงขึ้นแล้วก็หวังใจว่าเราจะรักได้ดีขึ้น ยอมให้ใจเจ็บและปล่อยให้มันหายบ้างไปเรื่อยๆ
ในความคิดทั่วๆ ไป ก็มีความพยายามที่บอกว่าเราจะปลูกไอ้ความยืดหยุ่นได้ยังไง ด้านหนึ่ง How to ทั้งหลายก็อาจจะไม่เวิร์กเนอะ แต่ความเข้าใจเรื่องรายละเอียดที่เรากำลังรับและเติบโตจากวิกฤติ จากความเจ็บปวด หรือจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต การที่เราได้ทบทวน มองเห็นรอยแผลหรือร่องรอยที่เกิดขึ้นและได้ลองเติมรอยแผลเหล่านั้นด้วยกล้ามเนื้อ ด้วยวิธีคิดที่อาจจะย้ำว่าเราผ่านวิกฤตินั้นแล้วเราโตขึ้นนะ เราก้าวไปในทางบวกนั้น เราไม่ได้แบกอะไรไว้หรือทิ้งรูโหว่บางอย่างเอาไว้
สุดท้ายต้องอย่าลืมว่า คำว่า วิกฤติชีวิต มันคือวิกฤติจริงๆ บางครั้งคือบาดแผลฝังใจ คืออุบัติเหตุใหญ่ หรือการสูญเสียคนที่รัก ถ้าใครที่เจอกับปัญหาอันหนักหน่วงอยู่แล้วเราอาจจะไม่สามารถรับมือหรือเยียวยาได้ตามโมเดลหรืออะไรก็ตาม มันไม่ได้แปลว่าเราทำได้แย่ แต่วิกฤติมันคือวิกฤติและเราเองก็มีเงื่อนไขของชีวิตของจิตใจที่แตกต่างกัน การแสวงหาความช่วยเหลือจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดไม่ว่าจะจากคนรอบตัวหรือจากผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับแนวทางเรื่องการเยียวยาและการเติบโตเพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นอาจจะสามารถใช้ได้กับเรื่องที่เรารับมือมันได้แต่กำลังสงสัยและอยากจะเติบโตขึ้นจากสิ่งนั้นๆ เรื่องเล็กหน่อยที่อาจจะดูใหญ่ในเวลานั้นๆ เช่นอกหัก ร้าวรานเรื่องรัก ก็อาจจะพอใช้โมเดลดังกล่าวไปทำความเข้าใจว่า เอ้อ ใจยืดหยุ่นรึยังนะ หรือลองซ้อมโยคะให้หัวใจ ให้มันยืดเหยียดมากขึ้นหน่อย เผื่อว่ารักครั้งต่อไป เราจะได้เปิดใจไปพร้อมๆ กับทำใจให้พร้อมเจ็บ และพร้อมกลับมารักใหม่ต่อได้ในเวลาไม่นานนัก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Waragorn Keeranan