“แกๆ จำตอนนั้นได้ไหม…”
หลังจากประโยคนี้ คือเรื่องราวที่พาเราย้อนเวลากลับไปในวันที่ความรับผิดชอบยังไม่หนักบ่า ยังพอมีเวลาได้เล่นสนุกกับเพื่อนๆ ตามมาด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะจากความทรงจำพรั่งพรูออกมา.. เชื่อว่าบางคนน่าจะมีช่วงเวลาเหล่านี้ เมื่อได้กลับไปเจอเพื่อนเก่าที่เราเติบโตมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวัยประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัยก็ตาม
ในช่วงชีวิตที่เราก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ บางครั้งภาระรับผิดชอบอาจพัดพาเอาความเหนื่อยล้า ความเคร่งเครียดมาเยี่ยมเยือนอยู่บ่อยครั้ง แต่นอกจากการพักผ่อน กินของอร่อยๆ หรือซื้อของที่อยากได้แล้ว สิ่งที่ทำให้เราเติบโต และก้าวผ่านช่วงเวลายากๆ ของชีวิตไปได้ คงจะเป็นการพบปะผู้คนที่เคยผ่านอะไรมาด้วยกันตั้งแต่ช่วงวัยเยาว์
แม้ว่าการรู้จักผู้คนใหม่ๆ จะเปิดโลกให้เราได้เรียนรู้มุมมองที่หลากหลาย แต่บางบริบท บางช่วงเวลาก็ไม่เอื้อต่อการทำความรู้จักกันอย่างลึกซึ้ง แถมช่วงที่ชีวิตไม่แน่นอน ทำให้เราต่างก็ต้องการพื้นที่ที่มั่นใจได้ว่าเราจะอุ่นใจ วางใจได้อย่างเต็มที่ บางคนจึงหวนกลับมาพูดคุย ติดต่อกับคนที่คุ้นเคยกันมานานมากกว่า
เมื่อปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา เพิ่งจะมีการศึกษาที่พบว่า ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เต็มไปด้วยความหดหู่และความไม่มั่นคงในชีวิต คนเรามีแนวโน้มจะกลับมาสานสัมพันธ์ที่เคยห่างหายไปในอดีต ซึ่งนับเป็นกลไกการตอบสนองต่อความเครียด และความไม่แน่นอนของชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง
ส่วนในบทความ ‘Sometimes There’s No Friend like an Old Friend’ โดย ซูซาน เคราส์ วิทบอร์น (Susan Krauss Whitbourne) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและสมอง ที่มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์แอมเฮิร์สต์ อธิบายถึงการหวนกลับมาพบปะคนเก่าๆ ด้วยทฤษฎี ‘socioemotional selectivity theory’ (SST) ว่า การรับรู้ถึงเวลาที่จำกัดทำให้คนเรากำหนดจุดมุ่งหมายแตกต่างกันไปตามการรับรู้นั้น ซึ่งโดยทั่วไป คนเราจะมองฟังก์ชั่นของความสัมพันธ์อย่างน้อย 2 รูปแบบ คือการให้ข้อมูล เช่น สอบถามเรื่องงาน ถามหาร้านอร่อย และการให้อารมณ์ความรู้สึก เช่น ความสบายใจ การให้กำลังใจ ซึ่งถ้าเราอายุมากขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้น เราจะรับรู้ได้แจ่มชัดขึ้นว่าเวลาในชีวิตเหลือน้อยลงทุกที หรือแม้แต่รับรู้ว่าเวลาว่างนั้นหายากแสนยากต่างไปจากช่วงวัยเยาว์ ทำให้เรามีแนวโน้มว่าเราจะมองหาความสัมพันธ์ในเชิงอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า
จึงไม่น่าแปลกใจที่ยิ่งอายุมากขึ้น บางคนจะเลือกใช้เวลากับเพื่อนที่คบกันมานาน คนที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ หรือคนในครอบครัวที่สนิทใจมากกว่าคนใหม่ๆ เพราะนอกจากคนกลุ่มนี้จะเป็น ‘ความสบายใจ’ แล้ว ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มั่นใจว่า ตัวตนของเราจะถูกโอบกอด และยอมรับอย่างที่เราเป็นจริงๆ แถมคนที่คุ้นเคยยังสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกนึกคิดของเราได้มากกว่า รู้แม้กระทั่งว่าทำอย่างไรให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาในปี ค.ศ.2016 พบว่า มิตรภาพอันยาวนานตั้งแต่ช่วงวัยเด็กช่วยสร้างความหมาย และความเข้มแข็งท่ามกลางความทุกข์ยากที่ผ่านเข้ามาได้ เช่นเดียวกับงานวิจัย ในปี ค.ศ.2019 ที่พบว่า มิตรภาพในวัยเด็กที่ยังคงอยู่มาจนถึงวัยผู้ใหญ่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและการนับถือตนเอง (self-esteem) เพราะการก้าวผ่านบททดสอบของเวลา การเอาชนะอุปสรรคและเรื่องยากๆ มาด้วยกันเป็นบทพิสูจน์ให้คนๆ นั้นรู้สึกมั่นใจได้ว่า ‘ถ้าอนาคตเจอเรื่องยากกว่านี้ เราก็จะผ่านมันไปด้วยกันได้อีกครั้ง’
หากมองในมุมของการเติบโต เพื่อนเก่าเป็นเหมือนคนที่คอยสะท้อนตัวตนของเรา (the looking glass self) ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตบ้าง และอาจจะมีมุมมองที่ผู้คนในปัจจุบัน หรือแม้แต่ตัวเราเองไม่ทันได้สังเกตเห็นมุมมองนั้นๆ อย่างประโยคทำนองว่า “ก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นเธอลังเลกับการตัดสินใจเรื่องนี้มาก่อน” “ดีใจที่ตอนนี้เห็นเธอรับมือกับเรื่องนี้ได้ดีขึ้น” ก็อาจจะทำให้เราได้กลับมาทบทวนตัวตน ทำความเข้าใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และไม่แน่ว่าอาจจะทำให้เราค้นพบวิธีการรับมือกับปัญหาที่กำลังเผชิญในรูปแบบใหม่ก็เป็นได้
“แกๆ จำตอนนั้นได้ไหม…”
แม้ประโยคแสนธรรมดานี้จะไม่ได้ช่วยให้เราแก้ปัญหาทุกๆ อย่างในชีวิตได้ทันที แต่อาจเป็นถ้อยคำแสนมหัศจรย์ที่ช่วยกดปุ่ม pause ความเหนื่อยล้าในชีวิต แล้วเติมพลังใจให้เราสามารถก้าวผ่านเรื่องยากๆ ต่อไปได้ โดยที่บาดแผลจากการเติบโตไม่บาดลึกจนเกินไป…
อ้างอิงจาก
Illustration by Manita Boonyong