ในวงโคจรของชีวิตเรา อาจจะมีเพื่อนสักคนหนึ่งที่เราตัดออกไปไม่ได้ ทั้งที่การกระทำของเขาขัดใจเราสุดๆ
ต่อให้เรารู้ดีว่า คนเราเกิดมาร้อยพ่อพันแม่ ย่อมมีพฤติกรรมแตกต่างกันออกไปจากประสบการณ์ที่พวกเขาเคยพบเจอ แต่เมื่อเป็นเพื่อนกัน หลายครั้งก็อาจจะมีเรื่องราวที่ทำให้เรารู้สึกขัดใจกัน รู้สึกว่าเราเข้ากันไม่ได้สุดๆ แต่เราก็ตัดเพื่อนคนนี้ออกจากชีวิตไม่ได้สักที มันเป็นเพราะอะไรกันนะ?
เรื่องขัดใจที่ว่า มีตั้งแต่พฤติกรรมเล็กๆ อย่างการกิน คำพูด ไปจนถึงนิสัยส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นชอบพูดเรื่องตัวเองโดยที่ยังไม่มีใครถาม ตัดสินใจทำเรื่องที่จะเดือดร้อนตัวเองอยู่เสมอ หรือยืมเงินเราตลอด หรือมาสายจนเคยตัว บางครั้งสิ่งนี้ก็อาจสะสมจนกลายเป็นความรำคาญท่ามกลางมิตรภาพที่ถักทอมานาน
The MATTER ชวนสำรวจเหตุผลว่าทำไมเราถึงยังคบเพื่อนเหล่านี้อยู่ และวิธีรับมือหากกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์เหล่านี้อยู่
ว่าด้วยเหตุและผลจากต้นตอของความกลัว
เพราะเรายังรัก ‘หน้า’ ของตัวเองอยู่
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจึงเป็นเรื่องธรรมดา กลับกันการตัดสัมพันธ์กับใครสักคนไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แง่หนึ่ง การรักษาความสัมพันธ์ไม่ได้เป็นเพียงแค่การรักษาผู้คน แต่ยังหมายถึงเป็นการรักษาโอกาสในชีวิตไปด้วย
มีงานวิจัยของเจนนี่ แวน ฮูฟฟ์ (Jenny Van Hoof) และคินเนอเรต ลาฮัด (Kinneret Lahad) ที่รวบรวมบทความแนะนำการตัดความสัมพันธ์กับเพื่อนที่มีพฤติกรรมน่ารำคาญใจว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนยังรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนเหล่านี้ คือการรักษาหน้ากันและกัน จนทำให้ยอมเอาตัวเองไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ
เราอาจมีเพื่อนของเพื่อนที่เราจำเป็นต้องคบเพื่อรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ เพราะเป็นเพื่อนสนิทของเพื่อนเรา หรือแม้กระทั่งเพื่อนบางคนที่รู้จักคนมากมาย แม้เราจะขัดใจนิสัยบางอย่างของเพื่อนก็ตามที การตัดเพื่อนแบบนี้จึงอาจเป็นการเผาสะพานแห่งโอกาสในอนาคตไปด้วยก็ได้
ฉะนั้นการยอมอยู่อย่างรำคาญใจ เพื่อรักษาทั้งเบื้องหน้าแห่งสายสัมพันธ์ และเบื้องหลังแห่งโอกาส อาจเป็นทางเลือกที่หลายคนยอมทนมากกว่าจะตัดสัมพันธ์ของเราให้สะบั้นลงไปได้
เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มั่นคง และกลัวความเสียใจ
จิตใจมนุษย์เป็นสิ่งซับซ้อน หลายครั้งเรายอมอยู่กับความสัมพันธ์ที่ให้โทษกับตัวเองทั้งที่รู้ว่าเราจะขัดใจ บางครั้งเราอาจรำคาญคำพูดหยอกของเพื่อนที่แรงเกินไป ยอมรอเพื่อนที่มาสายหลักชั่วโมง จนทำให้ความรู้สึกรำคาญใจอาจมากจนรู้สึกอยากตัดญาติขาดมิตรกันไป แต่ถ้าตัดเพื่อนกันจริง เราจะเสียใจหรือเปล่า เพราะเพื่อนก็คอยปลอบใจในวันที่เราเศร้า อยู่เคียงข้างในวันที่แย่เช่นกัน
เพราะการตัดสายสัมพันธ์กับคนที่เราใช้ชีวิตด้วยอาจนำมาซึ่งความเสียใจ เราจึงสร้างมิตรภาพและยึดโยงตัวเองไว้เพื่อไม่ให้หลงทางในความไม่มั่นคงของจิตใจ ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์เหล่านี้เองก็ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตมากมาย
งานวิจัยของจูลิแอนน์ โฮลต์-ลุนสตัด (Julianne Holt-Lunstad) อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริแกมเปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถตัดความสัมพันธ์กับเพื่อนที่มีพฤติกรรมแบบนี้คือ เรื่องราวดีๆ ในความสัมพันธ์สามารถทดแทนเรื่องแย่ๆ ได้ ไม่แน่ว่า เพราะสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนทำให้เราไม่มั่นใจ ว่าถ้าเสียเพื่อนคนนี้ไปก็ไม่ได้เสียเพียงความอึดอัดใจเท่านั้น แต่ยังเสียคนที่สร้างความทรงจำที่ชวนอบอุ่นใจไปด้วย เลยกลายเป็นเหตุผลที่เรามักจะเลือกรักษาความสัมพันธ์ไว้มากกว่าที่จะเลิกคบหากันไป
เพราะเพื่อนที่เราไม่ชอบใจ เป็นกระจกสะท้อนตัวเองชั้นดี
เราอาจไม่ชอบนิสัยของเพื่อนพูดไม่คิด แต่เราอาจลืมไปว่า เราก็เคยพูดไม่คิดจนอาจสร้างบาดแผลให้เพื่อนได้เช่นกัน
หากลองมองย้อนไปอีกที หลายพฤติกรรมน่าขัดใจที่ทำให้เราไม่ชอบใครสักคน อาจเป็นสิ่งสะท้อนให้เราเห็นแง่ลบของตัวเองได้ และทำให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้นอีกด้วย
เจนนา อะเบตซ์ (Jenna Abetz) และคณะได้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 29 คน เกี่ยวกับเพื่อนที่มีพฤติกรรมน่าขัดใจในชั้นเรียน สิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่างบางคนเปิดเผยว่า เพื่อนเหล่านี้เองทำให้เขารู้ว่า ตัวเองต้องการอะไรจากเพื่อน และสิ่งใดที่ไม่ควรทำกับเพื่อนบ้าง จึงอาจเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิตของวัยรุ่นและใครหลายคน ที่ทำให้เรารู้ว่ามิตรภาพที่ดีเป็นอย่างไร รวมไปถึงเรียนรู้วิธีที่จะปฏิบัติต่อคนรอบตัวด้วยความจริงใจ และกลายเป็นคนที่ดีขึ้นเช่นกัน
และหลายครั้ง ความไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นในการกระทำของเพื่อน ก็กลายเป็นตัวกระตุ้นชั้นดี ให้เราความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลง ทั้งอยากเป็นเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ไม่เป็นเหมือนเพื่อน และอยากเปลี่ยนแปลงเพื่อนให้เป็นดั่งใจเรา เลยอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราตัดกับเพื่อนคนนี้ไม่ขาด แม้จะไม่ชอบใจเท่าไหร่ก็ตาม
นอกจากเหตุผลที่ว่ามานี้แล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เราไม่สามารถตัดเพื่อนแสนขัดใจออกไปจากชีวิตได้ เขาอาจเป็นเพื่อนของเพื่อนที่เราอยากเลิกคบเท่าไรก็ทำไม่ได้ เพราะในวงโคจรดันมีอีกสายสัมพันธ์หนึ่งมาเกี่ยวโยงไว้ เรายังมีความจำเป็นที่ต้องติดต่อกันอยู่ หรือบางครั้งเรากับเพื่อนคนนั้นก็อยากมีงานเป็นจุดเชื่อมโยงที่ทำให้ห่างหายจากกันไปไม่ได้
การไม่ตัดเป็นพิษเรากว่าที่คิด
ไม่ใช่แค่ทำร้ายสุขภาพจิต แต่ยังเป็นพิษต่อสุขภาพกาย
การเก็บสิ่งที่รำคาญใจเอาไว้ในชีวิตส่งผลต่อสุขภาพจิต ทั้งความเครียด และความสงสัยในคุณค่าของตัวเอง จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลได้ แต่นอกจากเรื่องจิตใจแล้ว การคบเพื่อนที่เป็นพิษอาจส่งผลต่อสุขภาพกายไปด้วย
โฮลต์-ลุนสตัด และเบิร์ต เอ็น.อุชิโนะ (Bert N. Uchino) อธิบายไว้ในบทความวิจัยเรื่อง On the importance of relationship quality: The impact of ambivalence in friendships on cardiovascular functioning ว่า ความคลุมเครือในความสัมพันธ์ ระหว่างเรากับเพื่อนที่มักทำให้เราหงุดหงิด สอดคล้องกับความรู้สึกผิดหวัง การแข่งขัน รวมไปถึงความไม่ใส่ใจกันและกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น เราอาจรู้สึกว่าเพื่อนที่มาสายจากนัดตลอด ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด และผิดหวังเพราะเพื่อนไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเองแถมยังสร้างภาระให้กับเราเพิ่มขึ้นไปอีก
และงานวิจัยดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า เพราะความสัมพันธ์ที่คลุมเครือระหว่างการจะแยกทางหรือไม่แยกทางกับเพื่อนคนนี้ดี ทำให้มนุษย์ไม่สามารถแยกแยะได้ว่า เพื่อนที่เรากำลังคบอยู่นั้นเป็นอันตรายหรือเป็นมิตรกันแน่ ร่างกายจึงหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีนที่มากกว่าปกติ จนส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลขึ้นจนเกิดความเครียดทั้งต่อร่างกายและจิตใจ และทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานหนักขึ้นด้วย
นอกจากนี้ งานวิจัยของ คาร์ลิสล์ แม็กเคนซี (Carlisle McKenzie) และคณะเปิดเผยว่า ความสัมพันธ์กับผู้คนที่ทำให้เรามีสภาพจิตใจย่ำแย่โดยไม่รู้ตัว ทำให้เกิดความเครียดสะสมจนอาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูงเฉียบพลัน ทั้งยังทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น และเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะสูงกว่าคนที่เจอศัตรูในชีวิตแบบเปิดเผยอีกด้วย
เมื่อคำว่า ‘เพื่อน’ มันตัดยาก แล้วเราควรจะรับมืออย่างไรเมื่อมีเพื่อนที่ขัดใจเรา
แม้ว่าการคบเพื่อนที่สร้างทั้งความสุขและความหงุดหงิดอาจส่งผลกระทบต่อเราทั้งร่างกายและจิตใจ แต่การตัดความสัมพันธ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งยังแลกมาด้วยความเจ็บปวดอีกต่างหาก แล้วเราจะประคับประคองมิตรภาพไปพร้อมๆ กับรับมือพฤติกรรมน่าขัดใจของเพื่อนได้อย่างไรบ้าง
- เว้นระยะห่าง สร้างขอบเขต
บางครั้งความใกล้ชิดที่มากเกินไปอาจทำให้เราขัดใจกันและกัน การขีดเส้นกั้นว่าไม่ให้เขาเข้ามามีบทบาทกับจิตใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ เราก็สามารถยืนยันเส้นกั้นของเราได้ว่า เธอกำลังล้ำเส้นของเราอยู่นะ
หากไม่รู้จะเริ่มสร้างขอบเขตอย่างไร การเริ่มจากพื้นที่บนโซเชียลมีเดียเล็กๆ ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เช่น เราอาจเคยให้เพื่อนคนนี้อยู่ในลิสต์ close friend อินสตาแกรม เคยให้เขาอยู่ในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเรา การลบเพื่อนคนนั้นออกจาก close friend เพื่อจำกัดขอบเขตการรับรู้ของเขา ก็ถือเป็นการเริ่มต้นการสร้างขอบเขตที่น่าสนใจ แล้วค่อยขยับขยายต่อไปในอนาคต หรือไม่แน่ว่าแค่ความกล้าที่จะลบเขาออกจาก close friend ก็อาจทำให้ความหงุดหงิดใจที่เคยมีนั้นหายไปก็ได้
- เปิดใจพูดคุยกัน
สิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่ก้าวไปข้างหน้าได้ ก็คือ ‘การสื่อสาร’
เจสสิกา เมทอต (Jessica Methot) อาจารย์แห่งวิทยาลัยการจัดการและแรงงานสัมพันธ์รัตเจอร์ให้ความเห็นว่า การสื่อสารความต้องการระหว่างกันอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดี ดังนั้นการเปิดใจซึ่งกันและกันถือเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถชี้ปัญหาและหาทางแก้ไขอย่างชัดเจน
แต่หากเราพูดก็แล้ว เตือนก็แล้ว ปัญหาที่ก็ยังเกิดขึ้นไม่รู้จบ การถอยออกมาและเว้นระยะห่างตามข้อ 1. อาจทำให้เรารักษาความสัมพันธ์ไว้ได้ หรือหากมิตรภาพเดินทางมามาถึงจุดแตกหักจริงๆ การเลือกการรักษาใจตัวเองก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน
- ย้อนนึกถึงเรื่องดีๆ ในความสัมพันธ์
ดังที่งานวิจัยของโฮลต์-ลุนสตัดบอกไว้ แน่นอนว่าในมิตรภาพอาจมีส่วนที่เลวร้ายที่ข้อดีไม่สามารถทดแทนได้ แต่หากเราอาจลองย้อนกลับไปคิดถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา ความทรงจำที่ดีและข้อดีของเพื่อน ก็อาจทำให้เรามองข้ามข้อเสียของเขาไปได้ และหากไม่ต้องการเสียเพื่อนคนนี้ไปในระยะยาว เราอาจต้องปล่อยและปลงกับพฤติกรรมที่เราคิดว่าน่ารำคาญของเพื่อนไปบ้าง ท่องไว้ในใจว่าเพื่อนก็อาจจะรำคาญเราอยู่เหมือนกัน
- เข้าใจว่า ‘ไม่มีความสัมพันธ์ใดคงอยู่ตลอดกาล’
เพราะการจากลาคือเรื่องธรรมดาของชีวิต ไม่มีความสัมพันธ์ใดที่คงอยู่ชั่วนิรันดร์ มิตรภาพและเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นร่องรอยที่ชัดเจนที่สุดว่าเราเคยมีเพื่อนที่สนิทกันขนาดนี้ และมีนิสัยแบบนี้
หากมองย้อนกลับไปในเรื่องราวของชีวิต แน่นอนว่าต้องมีเพื่อนที่ห่างหายจากเราไปไม่มากก็น้อย ทั้งเส้นทางชีวิตเป็นตัวพลัดพราก ความห่างเหินต่างๆ เข้ามาแทรกแซง และการต้องยอมรับในสิ่งเหล่านี้ก็มีเวลาเป็นตัวแปรสำคัญ ฉะนั้น ถ้าสักวันหนึ่งที่เรารู้สึกเหนื่อยล้าและทนไม่ไหวกับความรำคาญใจที่เกิดขึ้นแล้ว การปล่อยให้เพื่อนคนนั้นจางหายไปอาจเป็นเรื่องที่ดีกว่า
และในอนาคตเรื่องน่าขัดใจของเพื่อนก็อาจกลายมาเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิตของเรา หรือกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เรากลายเป็นเพื่อนที่ดีขึ้นของคนอื่นๆ ไปด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนจะเป็นสิ่งที่ตัดได้ยาก แต่หากต้นทางของมิตรภาพสร้างความรู้สึกลบให้กับเรา โปรดอย่าลืมว่าการรักษาใจของตัวเรานั้นก็สำคัญไม่แพ้มิตรภาพเหมือนกันนะ
อ้างอิงจาก