ป่านนี้เพื่อนสมัยเรียนของเราจะเป็นยังไงกันบ้างนะ พวกเขาจะทำอะไรอยู่ ได้เป็นนักดนตรีอย่างที่ฝันหรือเปล่า หรือมีลูกฝาแฝดที่น่ารักอย่างที่เคยเล่าให้เราฟังหรือยัง
เราทุกคนน่าจะมีเพื่อนสมัยเรียนที่อยู่ด้วยกันแทบตลอดเวลา แต่เมื่อพวกเราทั้งคู่เรียนจบ แยกย้ายกันไปมีชีวิตของตัวเอง ไม่ได้เจอกันทุกวันเหมือนเก่า ความสัมพันธ์ของเราหมดรสชาติไปเป็นธรรมดา และเราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้ความสนุกในวันวานมันย้อนกลับคืนมาได้อีก ในเมื่อเราเดินคนละเส้นทางแล้ว ส่วนใหญ่เราก็จะปล่อยให้มันเป็นแบบนั้นไป จนกว่าวันใดวันหนึ่งที่เพื่อนจะย้อนกลับมาหาเรา
พื้นฐานของการเป็นเพื่อนกันคือความสม่ำเสมอ ถ้าเราใช้เวลาด้วยกันบ่อย คุยกันตลอดเวลา มันก็มีโอกาสที่สายสัมพันธ์ของเราจะแข็งแกร่งขึ้น และเช่นกัน ถ้าเราขาดความสม่ำเสมอไป มันก็อาจจะจางลงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเลิกเป็นเพื่อนกันนะ
ไม่แปลกที่เราจะทำใครหล่นหายไประหว่างทาง
ชีวิตเราทุกวันนี้ก็ยากไปหมด ไม่รู้ว่าจะแบกไหวไปจนถึงเมื่อไหร่ เลยอาจจะมีอะไรหล่นหายไประหว่างทางบ้าง โดยที่เราไม่รู้ตัว ในขณะที่เรากำลังวิ่งหน้าตั้งคว้าความสำเร็จในชีวิตมาครอบครองอยู่ เรื่องความสัมพันธ์เลยดูไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่นัก เพราะเรื่องหน้าที่การงานก็แทบจะบดบังทุกอย่างในชีวิตจนไม่เหลือเวลาให้ตัวเองแล้ว จะเอาเวลาไปให้ใครได้อีก
หรือบางครั้งก็เป็นที่เราเอง ที่พารานอยด์ว่าการทักไปคุยกับเพื่อนจะทำให้เพื่อนรำคาญ จนบางครั้งก็ไม่กล้าไปเจอเพื่อนเวลาที่นัดรวมกลุ่มกัน รู้ตัวอีกที เราก็เหมือนอยู่ห่างไกลกันคนละเส้นทางไปเสียแล้ว แต่ไม่เป็นไร เราทำพวกเขาหล่นหายไประหว่างทางได้ แต่เราก็เดินกลับไปตามหาพวกเขาได้เหมือนกัน
แค่ข้อความเดียว ก็ส่งผลกับใจมากกว่าที่คิด
มีงานวิจัยที่พบว่า การติดต่อกลับไปหาคนที่เคยอยู่ในชีวิตของกันและกัน มีความหมายมากกว่าที่เราคิด ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อไปในรูปแบบข้อความ ถามสั้นๆ ว่าสบายดีไหม เป็นอย่างไรบ้างนั้น ส่งผลกับใจของผู้รับมากกว่าที่ผู้ส่งคาดไว้
ด้วยความที่เราห่างหายจากเพื่อนไปนาน เราอาจไม่เห็นความสำคัญของการติดต่อกลับไป กังวลว่าถ้าทักไปแล้วเราต่อกันไม่ติดล่ะ ข้อความทักทายแค่นิดหน่อย เพื่อนจะสนใจเหรอ แต่ถ้ามองในมุมมองของเพื่อนที่ถูกติดต่อกลับไป ข้อความทักทายแค่นิดเดียวนี่แหละ มีความหมายอยู่มากมาย ทั้งความคิดถึง ความดีใจ และความทรงจำดีๆ ที่เคยมีร่วมกัน
งานวิจัยนี้ใช้ผู้เข้าร่วมทดลองกว่า 5,900 คน มาร่วมทดลองว่าคนเราจะประเมินความรู้สึก ประเมินคุณค่าของการติดต่อหากันระหว่างเพื่อนได้มากน้อยเพียงใด และวิธีการติดต่อแบบไหนที่มีผลกับใจมากที่สุด
โดยหนึ่งในชุดการทดลองนั้นจะเป็นการให้ผู้เข้าร่วมทดลองส่งข้อความหาเพื่อนที่ตอนนี้ขาดการติดต่อกันไปแล้ว และให้พวกเขาประเมินว่าเพื่อนคนนั้นจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้รับข้อความ และหลังจากนั้น นักวิจัยจะหาคุณค่าที่แท้จริงของข้อความ โดยการถามผู้รับข้อความว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการติดต่อกลับมาครั้งนี้
นักวิจัยพบว่าส่วนมาก ผู้ส่งประเมินคุณค่าของการส่งข้อความเอาไว้น้อยกว่าที่เกิดขึ้นจริง เพราะทางฝั่งของผู้รับนั้นรู้สึกถึงคุณค่าของข้อความมากกว่าฝั่งผู้ส่งอย่างเห็นได้ชัด และพบว่ายิ่งเป็นคนที่ไม่ได้ติดต่อกันนานมากเท่าไหร่ ข้อความยิ่งมีคุณค่ามากเท่านั้น
แม้แต่ข้อความว่า ‘หวัดดี เป็นไงบ้าง’ ที่เราเคยคิดว่าไม่เห็นจะสำคัญ ยังสร้างอิมแพคกับใจเพื่อนได้ขนาดนี้ งานวิจัยนี้จึงเป็นเหตุผลดีๆ ที่บอกว่าทำไมเราถึงควรส่งข้อความกลับไปหาเพื่อนเก่า และคุยกันเพื่อรื้อฟื้นวันเวลาดีๆ ที่เคยมีร่วมกันบ้าง
แล้วจะเริ่มกลับมายังไงดี
เราเข้าใจว่าการที่จะเริ่มส่งข้อความหาใครสักคนที่ไม่ได้คุยกันนานแล้วมันยาก คำถามผุดขึ้นมาเต็มหัวไปหมดว่า มันจะไม่แปลกเหรอ แล้วจะคุยอะไรดี ก็ไม่มีเรื่องคุยแล้วนี่ แล้วถ้าเขาไม่ตอบล่ะ เขินแบบเก็บของกลับบ้านเลยนะ แต่ก็มีวิธีปลุกความกล้าที่สามารถทำตามได้อยู่
ขั้นตอนแรกทำใจให้โล่งสบายก่อน แล้วเลื่อนหาในลิสต์รายชื่อว่าเราอยากจะติดต่อหาเพื่อนคนไหนที่สุด แล้วส่งข้อความง่ายๆ อย่างเช่น ‘ไม่ได้คุยกันนานเลย ช่วงนี้เป็นยังไงบ้าง’ หรือจะเป็นถ้าเป็นเพื่อนที่เคยสนิท และไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อยก็อาจจะปรับข้อความให้ดูน่ารักขึ้นเป็น ‘นี่เราเจอกันล่าสุดเมื่อไหร่เนี่ย คิดถึงเหมือนกันนะ’ ข้อความที่เป็นคำถามจะช่วยทำให้เรามีบทสนทนาต่อไปเอง
เมื่อเพื่อนตอบแล้ว เราก็พยายามขยายบทสนทนาด้วยการถามคำถามปลายเปิดไปเรื่อยๆ อย่างการอัพเดตชีวิตกันว่าตอนนี้ทำงานที่ไหน ครอบครัวเป็นยังไง ไปเที่ยวไหนบ้างหรือเปล่า และข้อสำคัญเลยคืออย่ามัวแต่เล่าเรื่องของตัวเอง ให้บทสนทนานี้แบ่งครึ่งกันระหว่างเราและเพื่อน ผลัดกันเล่าและผลัดกันฟัง
แต่ถ้าเพื่อนไม่ตอบก็ไม่เป็นไร ลองหาเพื่อนคนถัดไปที่อยากจะติดต่อดู อย่าเพิ่งใจเสียและคิดว่าเพื่อนไม่อยากคุยกับเรา บางทีด้วยเวลาที่ผ่านไปอาจทำให้เขาเปลี่ยนช่องทางการติดต่อ หรือกำลังยุ่งอยู่ หรือย้ายไปต่างประเทศที่เวลาไม่ตรงกันก็ได้
สุดท้าย ถ้ารู้สึกว่าอยากเจอกัน จะนัดเจอเลยเป็นการปิดบทสนทนาก็ได้ หาวันเวลาที่ว่างตรงกันแล้วชวนไปนั่งกินข้าว คุยถึงเรื่องราวเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้น วีรกรรมเด็ดสมัยเรียน หรือโมเมนต์ซึ้งๆ ที่ย้อนมองกลับไปตอนนี้แล้วจะสร้างเสียงหัวเราะได้ ถ้ารู้สึกว่าไปต่อกันได้ หลังจากนั้นก็คอยประคองการติดต่อเอาไว้แบบนี้ รู้ตัวอีกทีเราอาจจะสนิทกับเขามากกว่าสมัยก่อนอีกก็ได้นะ
การเป็นเพื่อนกับใครสักคน อาจจะมีช่วงขึ้นลงบ้าง ช่วงที่ไม่ได้คุยกันบ้าง เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ติดต่อกลับไปหาเพื่อน มันมีความหมายสำหรับเขาเสมอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan