มีคำกล่าวว่า นักเขียนหนังสือเด็กสุดท้ายก็คือผู้ใหญ่แบบเราๆ นี่แหละ แต่เป็นผู้ใหญ่ที่ยังรักษาความเป็นเด็ก รักษาจินตนาการ และยังคงเข้าใจโลกที่ยังสดใสสวยงามอยู่ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หนังสือเด็กจะเก็บงำความหมายบางอย่างเอาไว้ และหลายครั้งที่เราเก็บเกี่ยวอะไรที่เราอาจทำหายไปได้จากในหนังสือที่น่ารักอบอุ่นเหล่านี้
วันเด็กกำลังกลับมาอีกแล้ว วันเด็กอาจไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก แต่เป็นการย้ำเตือนเกี่ยวกับ ‘ความเป็นเด็ก’ เป็นวันที่ชวนให้เรากลับไปสำรวจความเป็นผู้ใหญ่ของเราว่า เราได้ทิ้งตัวตนความเป็นเด็ก แล้วกลายเป็นคนที่น่าเบื่อ เป็นใครที่เราเคยชังไปบ้างมั้ยนะ เราหลงลืมเรี่องสำคัญๆ ไปบ้างไหมในเส้นทางของการเติบโต
หนังสือและนักเขียนนักวาดเจ้าของผลงานมหัศจรรย์ ดูจะเป็นงานและกลุ่มคนที่มีมนตร์เสน่ห์ในตัวเอง ลายเส้นและเรื่องราวที่อ่านก็ช่วยให้หัวใจของเรานุ่มนวล สายตาของเราอ่อนโยนขึ้น
ในโอกาสนี้ The MATTER ชวนไปรู้จักกับนักเขียนนักวาดและผลงานที่น่ารักรุ่นใหม่ๆ กลับไปดูลายเส้นสีน้ำและเรื่องราวของเจ้าหมาป่าที่ขบคิดความหมายของปัญหาต่างๆ ที่เราต่างเผชิญ จากความเหงา ความเดียวดาย ความสัมพันธ์ระหว่างอัตตาของเราและความสามารถที่จะรักใครสักคน เรื่อยไปจนงานภาพสวยๆ ที่พูดถึงว่าเราอยู่ตรงไหนในจักรวาล ในโลก ย่อยลงมาจนถึงเมือง ถึงความเชื่อมโยงในหลายระดับของมนุษย์เราในฐานะสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่สัมพันธ์ผูกพันธ์สิ่งรอบตัวอย่างแยกออกจากกันไม่ได้
Nadine Brun-Cosme (เรื่อง) และ Olivier Tallec (ภาพประกอบ), Big Wolf & Little Wolf
Nadine Brun-Cosme เป็นนักเขียนชาวฝรั่งเศส มีผลงานงานเขียนสำหรับเด็กมากมาย งานเขียนชุดสำคัญคือ Big Wolf & Little Wolf งานเขียนที่พาเราไปสำรวจแง่มุมต่างๆ ของชีวิตในมิติที่แสนจะละเอียด ยิ่งมีภาพประกอบที่แสนจะน่ารักและละมุนตาของ Olivier Tallec ก็ยิ่งทำให้ประเด็นสำคัญๆ จากการผจญภัย ความสัมพันธ์ และการเรียนรู้ทั้งระหว่างเจ้าหมาป่าใหญ่และหมาป่าน้อยกับโลกภายนอก ยิ่งสัมผัสหัวใจของเราได้หนักเข้าไปใหญ่ …ลองดูรูปประกอบเอา ดี๊ดี เรื่องนี้น่ารัก
Beatrice Alemagna, On a Magical Do-Nothing Day
ในโลกของเมือง เราต่างใช้ชีวิตอยู่กับการต้อง ‘ทำอะไร’ ต่างๆ และติดต่อสื่อสารกันผ่านหน้าจอโดยตลอด เราอาจจะไม่คุ้นกับวันที่ ‘ไม่ต้องทำอะไร’ Beatrice Alemagna ศิลปินและนักเขียนชาวอิตาเลียนผู้เติบโตขึ้นในเมืองโบโลญญา ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักวาดอาชีพที่ปารีส เธอบอกว่าเธอไม่เคยเรียนทำภาพประกอบแต่ศึกษาสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง Beatrice ผลิตผลงานเป็นหนังสือภาพที่เคล้าลายเส้นนุ่มนวลเข้ากับถ้อยคำที่เรียบง่ายแต่สวยงามเหมือนบทกวี On a Magical Do-Nothing Day พูดถึงการไปตากอากาศในวันชื้นแฉะของเด็กหญิงคนหนึ่ง เป็นหนึ่งวันที่เธอได้ตัดขาดออกจากเมือง ออกจากโลกสมัยใหม่ กลับไปสู่ธรรมชาติและผจญในดินแดนและเรื่องราวอันอัศจรรย์ นั่นสินะ ถ้าเราได้มีวันที่ไม่ต้องทำอะไร เดินกลับเข้าไปในป่า ก็น่าจะเป็นวันที่ไม่เลวทีเดียว
Jacques Goldstyn, Bertolt
โอ้ย สวย น่ารัก… Bertolt เล่าเรื่องราวของเด็กชายช่างจินตนาการที่มีเพื่อนสนิทเป็นต้นโอ๊กต้นหนึ่ง … ลองดูลายเส้นสีไม้นี่สิ เห็นแล้วอยากจะกอดคุณลุง Jacques Goldstyn นักเขียนและนักวาดภาพประกอบลูกครึ่งแคนาเดียนฝรั่งเศสประกอบอดีตนักธรณีวิทยา โอ้ย…นักธรณีวิทยาทำไมถึงเขียนงานที่นุ่มนวลขนาดนี้ได้นะ ในเรื่องว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ว่าด้วยการเติบโตขึ้นของคนๆ หนึ่ง ว่าด้วยมิตรภาพและการสูญเสีย เมื่อ Bertolt สหายต้นโอ๊กของหนุ่มน้อยตายลงในพายุเมื่อฤดูหนาว
Oliver Jeffers, Here We Are: Notes for Living on Planet Earth
Oliver Jeffers เป็นทั้งนักเขียน ศิลปิน และนักวาดภาพประกอบชาวไอริช Oliver เป็นที่รู้จักในระดับโลกจากผลงานแนวหนังสือภาพสำหรับเด็ก งานเขียนชิ้นแรกและเป็นงานที่โด่งดังพร้อมได้รับคำชื่นชมในทันทีคือ How to Catch a Star เผยแพร่ในปี 2004 ก่อนจะออก Lost and Found เป็นเล่มถัดมาในปี 2005 เรื่องนี้กวาดรางวัลหนังสือสำหรับเด็กไปมากมายจากทั่วโลก จุดเด่นงานของ Oliver อยู่ที่การใช้สื่อผสม ทั้งสีน้ำมัน เทคนิคสามมิติ Oliver Jeffers ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเล่าเรื่องด้วยภาพที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของยุค ในงานเขียน Here We Are: Notes for Living on Planet Earth เป็นอีกหนึ่งงานที่นำเอาจินตนาการของมนุษย์ที่มองจากมุมมองอันไกลโพ้นที่สุด จากนอกจากจักรวาล เพื่อนำกลับมาสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพวกเรา ที่เชื่อมโยงกันอยู่ภายในจักรวาล ในโลกที่ใหญ่โตใบนี้
Jean-Pierre Siméon (เรื่อง) และ Olivier Sorman (ภาพประกอบ), This is a Poem that Heals Fish Jean
บทกวี คือยามที่เรามีเวิ้งฟ้าในกระพุ้งแก้ม มันอุ่นเหมือนกับขนมปังอบใหม่… บทกวี คือยามเมื่อเราได้ยินเสียงหัวใจเต้นของก้อนหิน เมื่อถ้อยคำทั้งหลายกระหยับปีก
Pierre Siméon เป็นกวี เป็นนักเขียน และเป็นนักการละครชาวฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังเป็นนักวิชาการทางอักษรศาสตร์ เชี่ยวชาญทางด้านกวีนิพนธ์ นอกจากจะทำงานวิชาการแล้ว ยังผลิตผลงานที่ส่งต่อและชวนเด็กๆ – และเรา – กลับไปยังความมหัศจรรย์ของถ้อยคำบทกวี ในงานเขียนเซอร์เรียลชื่อ This is a Poem that Heals Fish Jean ว่าด้วยเด็กชายที่พยายามสร้างความพึงพอใจให้กับเจ้าปลา ด้วยการมอบบทกวีให้กับมัน – แต่บทกวีมันคืออะไรกันแน่ แล้วเจ้าปลาจะพาเขาไปที่ไหนต่อด้วยพลังของถ้อยคำ
Vern Kousky, The Blue Songbird
Vern Kousky ศิลปินชาวบรูกลินดูจะชื่นชอบนกเป็นพิเศษ งานเขียนทั้งสองเล่มใช้นกเป็นตัวแทน ตั้งแต่นกฮูกใน Otto the Owl Who Loved Poetry ที่ว่าด้วยการอยู่กับสิ่งที่เรารัก จนมาถึง The Blue Songbird งานชิ้นล่าสุดที่ตีพิมพ์ในปี 2017 ในงานชิ้นล่าสุดนี้เป็นงานวาดแนวสีน้ำดูสะอาดตา เล่าเรื่องราวการค้นหา ‘เสียง’ และ ‘บ้าน’ ของเจ้านกน้อยสีฟ้า เมื่อเธอต้องบินออกจากบ้านและค้นเพลงที่มีแต่ตัวเธอเท่านั้นที่ร้องได้ เรื่องของนกน้อยสีฟ้าและการเรียนรู้จากนักกระสา นกฮูก และการเดินทางยาวไกลอาจทำให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะในวันที่เราต่างเดินออกจากบ้านและค้นหาตัวตนของเราอยู่ทุกวัน
Marianne Dubuc, The Lion and the Bird
ความเดียวดาย มิตรภาพ และความจงรักภักดี Marianne Dubuc นักเขียนและนักวาดชาวแคนาดาเป็นเจ้าของลายเส้นที่ดูนิ่งๆ แต่สัมผัสเข้าไปในหัวใจ The Lion and the Bird เล่าถึงเจ้าสิงโตผู้เดียวดาย ซึ่งทั้งสไตล์ภาพและเรื่องราวที่เธอสร้างสามารถนำเราเข้าไปร่วมเวิ้งว้างกับเจ้าสิงโตได้ วันหนึ่งเมื่อสิงโตเริ่มคุ้นเคยกับความเดียวดาย เจ้านกปีกหักตัวหนึ่งก็ปรากฏตัวขึ้น จนกว่าจะถึงวันที่เจ้านกน้อยจากไป เมื่อการจากลาคือของตาย และความเดียวดายอาจเป็นสิ่งเดียวเที่ยงแท้และเป็นนิรันดร์
อ้างอิงข้อมูลจาก