ตอนนี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่น่าติดตามกันต่อไปก็คือว่า ทรัมป์จะทำอะไร และจะไม่ทำอะไรตามสัญญาที่ให้ไว้ในแผนหนึ่งร้อยวันบ้าง ซึ่งสื่อต่างประเทศแทบทุกเจ้าก็จับตาดูเรื่องนี้กันอย่างเข้มข้น เพราะนโยบายหลายอย่างที่ทรัมป์ประกาศไว้ตอนหาเสียงและก่อนเข้ารับตำแหน่งนั้น หากเกิดขึ้นจริงก็จะส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก (แต่ถ้าไม่เกิดขึ้นจริง ก็จะกลายเป็นว่าทรัมป์ผิดสัญญาอีกไหม)
เครื่องมือในการติดตามทรัมป์
นอกจากสำนักข่าวต่างๆ ที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว ยังมีเว็บไซต์อย่าง track-trump.com ที่ทำขึ้นมาเมื่อติดตามนโยบายที่ทรัมป์ประกาศไว้ในทุกๆ ด้านตั้งแต่การอพยพ, การค้า, พลังงานและสภาพอากาศ, การบริหารงานรัฐ, นโยบายด้านเศรษฐกิจ, การศึกษา, สาธารณสุขและความปลอดภัย ด้วย โดยแยกไว้เป็นหมวดๆ แต่ละหมวดมีเป็นข้อๆ สามารถดูรายละเอียดในแต่ละข้อได้โดยละเอียด นอกจากเว็บไซต์แล้ว ยังสามารถติดตามนโยบายของทรัมป์ได้จากแหล่งเดียวกันผ่านทางทวิตเตอร์ที่ @track_trump
นโยบายที่ทรัมป์ได้ “ทำไปแล้ว” จะเป็นบุลเล็ตสีเขียว “ที่ยังไม่ได้ทำ” จะเป็นสีเทา และ “ที่กำลังทำ หรือมีความคืบหน้าบางส่วน” จะเป็นสีเหลือง การแยกสีแบบนี้ทำให้สังเกตได้ง่าย
เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยประธานของ Y Combinator คุณ Sam Altman และ Peter Feldman, Alec Baum และ Gregory Koberger โดยเป้าหมายคือการจัดทำขึ้นเพื่อ “ตัดเสียงรบกวนออก” และ “โฟกัสในสิ่งที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น” นั่นคือว่าทรัมป์ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง โดยอิงจากนโยบายที่ทรัมป์ประกาศว่าจะทำจริงๆ
โดย Track Trump ไม่ได้จัดทำขึ้นเพื่ออิงขั้วการเมืองฝ่ายใด แต่เป็นเครื่องมือที่อนุญาตให้ทั้งสองฟากั่งสามารถติดตามและตรวจสอบประธานาธิบดีได้ง่ายดาย โดยไม่ตัดสินว่าสิ่งที่ทรัมป์ทำดีหรือไม่อย่างไร และเว็บไซต์นี้จะไม่ติดตาม “การแถลงนโยบาย” หรือ “ทวีต” แต่จะติดตามเฉพาะความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจริงแล้ว (เช่น เซ็นข้อตกลง หรือเซ็นคำสั่ง) เท่านั้น
นี่เป็นตัวอย่างเครื่องมือที่ดีในการติดตามการบริหาร จัดการรัฐ โดยภาคประชาชน เราหวังว่าหากประเทศไทยมีการติดตามคำสัญญาในลักษณะนี้ก็อาจเป็นผลดีเช่นกัน
สิ่งที่ทำไปแล้ว (อัพเดท 24 มกราคม 2017)
ถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership : TPP)
TPP คือความร่วมมือระหว่าง 12 ประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2016 โดยประเทศเหล่านี้มีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจรวมกันมากถึง 40%เป็นความร่วมมือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ และส่งเสริมการลงทุนร่วมกันมากขึ้น คล้ายกับข้อตกลงซิงเกิลมาร์เก็ตของ EU
ชาติอื่นในข้อตกลงคือญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก ชิลี และเปรู
ไม่ได้มีแค่ทรัมป์เท่านั้นที่ต่อต้าน TPP ชาวอเมริกันบางส่วนมองว่า TPP เป็นดีลการค้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้การจ้างงานในสหรัฐได้รับผลกระทบ
เมื่อสหรัฐถอนตัวออกจาก TPP ก็อาจทำให้ข้อตกลงนี้ล่มได้ แต่ว่านิวซีแลนด์ก็พยายามเสนอทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องมีสหรัฐ แต่ญี่ปุ่นบอกว่า ถ้าไม่มีสหรัฐ ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม
ยกเลิกสัญญาจ้างพนักงานรัฐ (นอกจากกองทัพ รักษาความปลอดภัยสาธารณะ และสาธารณสุข)
ระงับข้อกำหนดโอบาม่าแคร์เพื่อลดภาระด้านการเงิน
ทรัมป์เซ็นคำสั่งระงับโอบาม่าแคร์ (Affordable Care Act) และจะแทนที่ด้วยนโยบาย Health Saving Account ในอนาคต
แบนองค์กรให้คำปรึกษาด้านการทำแท้งนานาชาติ
เรียกว่า Mexico City policy บอกให้องค์กรต่างๆ ที่ได้รับเงินจากสหรัฐห้ามให้คำปรึกษาด้านการทำแท้งไม่ว่าในประเทศไหน
เรียบเรียงจาก
http://www.bbc.com/news/business-32498715
https://www.nytimes.com/2017/01/23/us/politics/tpp-trump-trade-nafta.html?_r=0
http://thenextweb.com/world/2017/01/21/track-trumps-first-100-days-office-non-partisan-website/