‘ญาติ’
เอาเข้าจริง ชีวิตมันก็เป็นแค่ตัวเลข นั่งๆ อยู่อีกทีก็แก่ไปอีกปีแล้ว จะ 29 ไปเมื่อวานนี้หรือหลายเดือนก่อน บางทีเราอาจไม่ได้รู้สึกอะไรกับมันมาก
จนกระทั่ง…ญาติๆ ที่รักยิ่งมาคอยยิงคำถามใส่
จากที่เราเฉยๆ ก็รู้สึกหวั่นๆ กับตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้นทีละนิด ผมหงอก รอยย่นที่เพิ่มขึ้นวันละหน่อย สวนทางกับรายได้ เงินออม และทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่ไม่ค่อยเดินไปข้างหน้าเหมือนช่วงวัย แต่พอญาติที่รักถามปุ๊บ เท่านั้นแหละเหมือนกับว่าสารพัดแสงไฟทั้งหลายได้สาดมาใส่ที่ตัวเรา
ไอ้ถามไถ่ตามปกติวิสัยมันก็ไม่เท่าไหร่เนอะ แต่ไม่รู้ทำไม มันชอบมีนัยของการเปรียบเทียบ อ๋อ อายุ 30 แล้วหรอ มีแฟนรึยังล่ะ จะแต่งงานเมื่อไหร่ อืม ลูกของพี่คนนั้นเค้าแต่งงานแล้วเนอะ เงินเดือนเยอะเชียว บลา บลา บลา
จริงๆ ญาติก็ไม่ใช่ปัญหาทั้งหมดหรอก เพราะความคาดหวังของสังคมหรือความแก่ชราตามวันก็ดำเนินไปตามสภาพ แต่ไอ้การถูกถามและเปรียบเทียบกลางวงสังคม มันเหมือนเป็นภาคปฏิบัติหรือเป็นพิธีกรรมไฮไลต์การวัดความสำเร็จของบุคคลตามช่วงวัยให้มันชัดเจนแล้วก็เป็นสาธาณะ (คือเป็นเรื่องของชาวบ้าน) มากขึ้น
คิดอีกทีเรื่องเลข 30
จริงๆ ก็ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเหมือนกันว่าใครเป็นคนเริ่มวัดว่าพออายุ 30 แล้วเป็นวัยที่ต้องประสบความสำเร็จทุกด้าน ถ้าเรามองช่วงชีวิตของคนเรากว้างๆ อายุเฉลี่ยเราก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 80 ปี ช่วงอายุประมาณ 20 ปีก็เป็นวัยแห่งการเรียนรู้และเริ่มต้นสิ่งต่างๆ มันก็เป็นเรื่องยากเนอะที่ถ้าเราเริ่มต้นทำงาน ก่อร่างสร้างตัว มองหาคู่ครอง แถวๆ อายุประมาณ 25 จะเอาอะไรมาคาดหวังว่าอายุเท่านี้ต้องมีครบทุกอย่าง แค่พึ่งตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของสังคมก็น่าจะโอเคแล้วม้าง อย่ามาตัดสินเปรียบเทียบกันเล้ย
จะว่าไปแล้วอาการกลัววัย 30 หรือแง่หนึ่งคืออาการกลัวแก่น่าจะกระทบกับผู้หญิงรุนแรงกว่าผู้ชาย เพราะว่าเลข 30 คือตัวเลขที่วัดว่าความชรากำลังจะมาเยือนท่านแล้ว และคำสำคัญที่เสียดแทงและมาพร้อมกับเลข 3 คือคำว่า ‘คาน’
ความคิดอันนี้น่าจะตกค้างมาจากยุคก่อนหน้า สมัยก่อนหน้าที่ของผู้หญิงไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเป็นแม่และเป็นเมีย รวมไปถึงวิถีของการทำมาหากินยังเป็นเรื่องของการทำกสิกรรมที่ต้องผลิตแรงงานไว้ใช้ในครัวเรือนมากๆ ดังนั้นความคิดแบบเดิมคือผู้หญิงต้องออกเรือนหรือมีผัวไวๆ จึงใช้ไม่ได้ในบริบทปัจจุบัน
แต่ครับแต่ สิ่งหนึ่งที่เริ่มในวัย 30 จริงๆ คือร่างกายที่เริ่มเสื่อมถอยลง ไอ้คำว่าเสื่อมถอยนี่เราได้ยินบ่อยๆ ในทีวีเนอะ ประมาณว่าพออายุ 30 แล้ว สัญญาณที่น่ากลัวต่างๆ ก็จะเริ่มมาเยือน ริ้วรอยบางๆ เริ่มปรากฏให้เห็น เส้นผมเริ่มหลุดร่วง ผมหงอกก็มา ระบบเผาผลาญที่ไม่ได้ทำงานได้ดีอย่างที่เคยเป็น คือพอ 30 แล้ว แก่ง่าย กินเท่าเดิมก็อ้วน กินเหล้าก็เมาค้างหนักกว่าเดิม กระดูกเปราะ ตาฝ้าฟาง ทั้งหมดนี้ถูกนิยามว่าเป็นความชราที่กำลังมาเยือน
ไอ้วิธีคิดแบบนี้ จริงๆ มันก็เป็นการตีความแบบหนึ่ง ถ้าเรามองว่าตั้งแต่เกิดมาจนถึงอายุ 20 ปลายๆ มันคือการที่ร่างกายเราเติบโตพุ่งพล่านไปจนเต็มที่ ถ้าเป็นภาพคงเหมือนกับเป็นต้นไม้ที่โตและผลิใบจนครบหน่อ หลังจากนี้คือการร่วงสลายของร่างกายในช่วงที่สมบูรณ์ที่สุด ถ้าเป็นกราฟก็เหมือนเป็นยอดของกราฟ พอ 40 50 ก็ค่อยๆ ร่วงหล่นลงมา
ฟังดูน่าเศร้า ชีวิตเรากำลังนับถอยหลังหรือนี่
เวลาที่มีหรือเวลาที่เหลือ : นับถอยหลังหรือมองไปข้างหน้า
แปลกดีที่พอค้นๆ ไปพบว่าโลกตะวันตกมันก็มีบ้างที่บอกว่า 30 แล้วไม่ควรจะผิดพลาดเรื่องอะไร แต่ดูเหมือนว่าเขาไม่ค่อยกลัววัย 30 กันเท่าไหร่ (ปัญหาของการอายุ 30 หลักๆ คือเป็นสาวโสดแล้วอ้วน เลยทำให้รู้สึกว่าจะพลาดรถด่วนขบวนสุดท้าย) ส่วนใหญ่จะมองวงจรของชีวิตว่า 30 เป็นวัยหลังจากวัยว้าวุ่น คือเป็นช่วงหลังจากที่เราวุ่นวาย เสาะแสวงหา และค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวตนจากการลองผิดลองถูก การลองผิดลองถูกที่ว่าส่วนใหญ่คือความผิดพลาด ความผิดหวัง ความบ้าคลั่งและความโง่งมในสมัยวัยรุ่นเลือดร้อน วัย 30 คือวัยที่ทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง เป็นวัยแห่งความมั่นคง William James นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Harvard บอกว่าในวัย 30 นี้แหละเป็นวัยที่ตัวตนของเราก็ชัดเจนขึ้น
ที่น่าคิดคือ มีความคิดว่าวัย 30 เป็นวัยที่เราจะได้เป็นตัวเอง เริ่มสนใจสิ่งที่สังคมอยากให้เราเป็นน้อยลง มีความมั่นใจมากขึ้น และทั้งหมดนี้ก็อาจเป็นคำตอบของหลายเสียงที่บอกว่าทำไมคนวัย 30 คือวัยที่มีเสน่ห์อย่างแท้จริง เพราะมันเป็นธรรมชาติไง
อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอนเนอะ การที่เราจะก้าวเข้าสู่บทใหม่ของชีวิต ช่วง 19 29 39 มันเลยเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่น คนที่กำลังจะ 30 หรือ 30 แล้ว ก็มักจะพบกับความไม่แน่ใจในความไม่แน่นอนที่กำลังจะมาถึง แต่ต้องไม่ลืมว่าความไม่แน่นอนมันแปลว่าทั้งดีและร้าย
ชาววัย 30 ฟังทางนี้ ที่ใดมีรักย่อมมีหวัง จากการสำรวจคนอังกฤษในปี 2012 บอกว่า มีคนตั้ง 70 บอกว่าก่อนหน้าที่จะอายุ 33 มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงหรอกเฟ่ย ความสุขที่แท้จริงมันเริ่มหลังจากที่อายุ 33 นี่แหละ
สงสัยเป็นเพราะสังคมเขาไม่ค่อยมีญาติมาช่วยกะเกณฑ์หรือไฮไลต์สิ่งที่เราขาดหรือจุดบกพร่องทั้งหลายของเราเนอะ
ว่าไปแล้ว มุมมองแบบที่ว่าวัย 30 หลังจากที่เราเริ่มนิ่งแล้วเราจะก้าวต่อไปยังไง จริงๆ ก็พูดถึงเวลาที่เรามีอยู่เหมือนกัน แต่การมองว่า โห 30 แล้วมีอะไรบ้างเนี่ย อีกไม่นานก็จะ 40 50 60 จะต้องแก่ตายแล้วมันเหมือนกับเรานับถอยหลังมากกว่ามองไปข้างหน้า แต่ถ้ามองว่าเราเองก็ยังใช้ชีวิตมาไม่ได้นานอะไรขนาดนั้นซะหน่อย ยังไม่ต้องนับถอยหลัง ซึ่งจริงๆ ต่อให้ 60 ก็ไม่เห็นน่าจะนับถอยหลังเลย ชีวิตเราก็ดำเนินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ปะ
เรื่องวัย 30 มันก็สรุปได้อย่างเชยๆ ว่าเราจะมองไปข้างนอก แบบที่ญาติๆ ของเราชอบลากเราไปทาบกับชาวบ้าน หรือเราจะมองเข้าไปข้างใน ว่าตัวตนของเราเติบโตชัดเจนและมั่งคงพร้อมที่จะก้าวเดินไปข้างต่อไปอย่างไร เราจะฟังเสียงคนอื่น หรือฟังเสียงของตนเอง
ก็แล้วแต่ว่าเราอยากจะมีความสุขขนาดไหน