ประโยค “แก่ก่อนรวย” นั้นไม่เกินจริงแล้ว เมื่อนักวิจัยออกมาเปิดเผยว่า ผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนา-ยากจน ในเอเชีย เช่น ศรีลังกา เวียดนาม และไทย กำลังประสบปัญหาไร้เงินเก็บและไม่มีที่พึ่งอย่างรุนแรง
แต่ก่อนเริ่มเรื่อง เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวร้ายแรงเพียงใด โดยการศึกษาระหว่างปี 2002-2021 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชาชนที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 7% เป็น 14% ซึ่งเท่ากับว่าไทยกำลังเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงวัย’ แต่กลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับใช้ในตอนแก่
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ของเอเชียอย่างรวดเร็ว คงหนีไม่พ้น ‘ปัญหาเศรษฐกิจ’ ที่เลวร้ายลงทุกปี ดังนั้น เรากำลังประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน พร้อมกับปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงไปพร้อมๆ กัน เพราะเมื่อคนไม่มีเงิน ก็จะไม่สร้างครอบครัว แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีเงินเก็บสำหรับเกษียณอยู่ดี
“คาดว่าประชากรวัยทำงานในประเทศไทยจะลดลงถึงขั้นวิกฤตภายในปี 2055 ..และส่วนใหญ่จะไม่มีเงินออมเพื่อใช้อย่างเพียงพอ หรือไม่มีเงินเลยก็มี” ดงฮยอน ปาร์ค (Donghyun Park) ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของธนาคารพัฒนาเอเชีย (adb) กล่าว
เขายังเสริมว่า วัฒนธรรมเอเชียยังปลูกฝั่งให้ลูกหลานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีงานวิจัยชี้ว่า มีเพียง 11% ของชาวเอเชียที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง ซึ่งบางประเทศอย่างบังกลาเทศและอินเดีย ถึงขั้นมีกฎหมายเอาผิดต่อผู้ละเลยพ่อแม่
นอกเหนือจากประเด็นผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยังมีเรื่องที่คนสูงวัยในปัจจุบันมักจะเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต โดยการวิจัยระบุว่า ผู้สูงอายุในประเทศยากจนที่อาศัยอยู่ตามลำพังมีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้สูงอายุในสหรัฐฯ เพราะลูกหลานชาวเอเชียจำเป็นต้องหางานทำในพื้นที่ที่เจริญ เช่น เมืองหลวง
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่บ้านเรา หรือประเทศในเอเชียที่ประสบกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ยังรวมถึงหลายๆ ประเทศในยุโรป หรือแม้แต่สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการจัดการและเสริมสร้างนโยบายที่จะตอบโจทย์ต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
อ้างอิงจาก