คุณกลัวความแก่ไหม?
“โอ้พระเจ้า! เรากำลังจะโตไปเป็นเหมือนพ่อแม่ของเราเหรอ”
“เมื่อคุณโตขึ้น หัวใจของคุณจะตายสลายลง”
คำพูดสะเทือนใจกึ่งหวาดวิตกจากตัวละครวัยรุ่นจากหนัง coming of age คลาสสิกแห่งยุค 80s Breakfast Club (1985) หากคุณเป็นพ่อแม่หรือคนวัยที่โตแล้ว ประโยคเหล่านี้ก็ฟังดูใจร้ายกับคนที่เป็นผู้ใหญ่ การเติบโตนั้นน่ากลัวจริงหรือไม่? เราจะโตไปไร้หัวใจจริงหรือ? ผู้ใหญ่สิ้นความสงสัยเกี่ยวกับชีวิตไปแล้วหรือ?
หนัง Coming of Age มักนำเสนอภาพเด็กวัยรุ่นหรือคนวัยหนุ่มสาวที่ผ่านเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งหนึ่งในชีวิตที่จะเปลี่ยนแปลงพวกเขาตลอดไป ความสูญเสียและความเศร้าทำให้คนเราโตขึ้น แต่การเติบโตอาจเป็นกระบวนการอันยาวนานที่เราไม่รู้ตัวจนกระทั่งเราหันมองกลับไป
“เราจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เราเกลียดไหม?” คนหนุ่มสาววัยเรามีคำถามนี้อยู่ในใจ การเติบโตและความแก่ดูน่าสะพรึงกลัวสำหรับวัยรุ่นและคนหนุ่มสาว แม้คนรุ่นเราจะไม่ชอบให้ผู้ใหญ่มองเราว่าเป็นเด็กสมัยนี้ แต่หลายๆ คนกลับ stereotype คนแก่ว่าเป็นช่วงชีวิตที่น่ากลัว เหี่ยวย่น โรยรา หมดหวัง ขี้บ่น และอื่นๆ ฯลฯ
เราต่างสงสัยว่าความแก่ที่เกิดขึ้นจะนำพาเราไปสู่อะไร เราหวาดกลัวว่าจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เราไม่ชอบ นั่นอาจเป็นเพราะคนแก่หลายคนที่เราได้พบและได้ยินมานั้น เหมือนว่าพวกหลับใหลให้กับสิ่งต่างๆ ในโลก เหมือนตายไปแล้วทั้งที่ยังมีชีวิต ดูเชย โบราณ ดักดาน ครำครึ ตามโลกไม่ทัน ยังติดอยู่กับคุณค่าเก่าๆ ที่คนรุ่นเราว่าล้าสมัย พวกเขาไม่สนใจความเป็นไปของโลก และไม่เข้าใจสิ่งที่คนรุ่นใหม่อย่างเราปรารถนา
ด้วยอายุ 27 ปี ฉันรู้สึกว่าตัวเองแก่กว่าที่จะบอกว่าตัวเองเด็ก (แน่นอนว่าคนที่โตกว่าอาจจะไม่เห็นด้วย ฉันเป็นเพียงหนูลูก/เด็กเมื่อวานซืนสำหรับพวกเขา) และรู้สึกว่าตัวเองเด็กเกินกว่าที่จะบอกว่าตัวเองแก่ ฉันควรจะเริ่มหวาดกลัวความแก่ไหม ชีวิตที่มีเหลืออยู่เราควรทำอะไร เรากำลังจะกลายเป็นใครในวัยข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง ล้วนเป็นคำถามที่หลอกหลอนเราในยามดึก
และฉันก็คงเป็นคนวัยหนุ่มสาวสมัยนี้ที่ชอบหาคำตอบใหญ่ๆ ของชีวิตจากในอินเทอร์เน็ต พบกระทู้ ‘สิ่งไหนคือที่เข้าใจได้ยากตอนอายุ 23 แต่เข้าใจได้ตอนอายุ 43’ ใน Reddit ซึ่งมีคนแปลกหน้านิรนามมากมายมาร่วมนิยามให้ความหมายของการมีอายุวัย 40 กว่าๆ ที่คนวัยเรายังนึกไม่ออกและไม่เข้าใจ กระทู้แบบนี้สนุกมาก น่าประทับใจ และทำให้ฉันรู้สึกรักในสติปัญญามวลชนแบบด่วนที่อินเตอร์เน็ตมอบให้ มีหลายประเด็นที่ฉันยังไม่เข้าใจและหลายประเด็นที่เริ่มรู้สึกได้ในวัย 27 ปี
ตัวอย่างคำตอบจากกระทู้ ‘สิ่งไหนที่เข้าใจได้ยากตอนอายุ 23 แต่เข้าใจได้ตอนอายุ 43?’
- หลายเรื่องที่เรากังวลมักไม่คุ้มค่ากับแรงที่เสียไป
- การงีบหลับตอนบ่ายเป็นความสุขที่ไม่เสียเวลาอีกต่อไป
- ต้องดูแลทั้งลูกและพ่อแม่พร้อมๆกัน
- พ่อแม่ของคุณจะแก่และตายไปในที่สุด สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นกับพ่อแม่เรา และพ่อแม่ของพ่อแม่เรา จะเกิดขึ้นกับลูกของเรา (ถ้ามี) ต่อกันไปเรื่อยๆ แต่ชีวิตจะดำเนินต่อไปได้
- ไม่รีบร้อนรับโทรศัพท์ และไม่เช็คข้อความในมือถือทันที
- เมื่อดูหนังแล้วรู้สึกเข้าใจกับรู้สึกถึงพ่อแม่ของตัวละครมากกว่า
- พบว่าตัวเอกในหนังอายุน้อยกว่าคุณหมดเลย
- เมื่อยล้าจากการนอน การลุกผิดท่านั้นเจ็บปวดน่ารำคาญใจมากๆ ปวดหลัง ฯลฯ
- เห็นผลระยะยาวจากการสูบบุหรี่ กินเหล้า ปาร์ตี้ นอนไม่พอ ฮือ
- ไม่มีใครมาคอยบอกว่าต้องทำหรือไม่ทำอะไรอีกแล้ว แต่ภาระก็มากมีขึ้นด้วย อิสระลดลง
- ชีวิตคือการมองกลับไปพบว่า 2-3 ปีที่แล้วเรามันโง่เขลาและนิสัยไม่ดีจังเลย
- พบว่าผู้ใหญ่นั้นโตขึ้นและเปลี่ยนไปเหมือนกัน
- เก็บเงินซะ ขอร้อง!!!
- รู้สึกว่าคนวัย 40 นั้นน่าดึงดูด แต่คนอายุ 20 กว่าๆ เด็กเกินไป ยังเป็นหนูลูก
- คุณจะเริ่มมองเห็นคนที่มีวุฒิภาวะและไม่มี ซึ่งคุณเลือกคบหากับคนที่มี
สำหรับหลายคน วัยที่สูงขึ้นนั้น นอกจากความหย่อนยานและปวดเมื่อย สังขารที่แก่ลงอาจช่วยคลี่คลายปัญหาและคำตอบบางอย่างของชีวิตได้ ผู้ใหญ่ก็โตขึ้นและเปลี่ยนไปเหมือนกัน หรือการแก่อาจไม่แย่อย่างที่คิด
เมื่อความแก่อาจทำให้เราฉลาดขึ้นและใจเย็นลง
John Goodenough ในวัย 95 ปี (ผู้ค้นพบ Lithium Ion ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน) เชื่อว่า คนเราจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อแก่ลง ต่างจากที่หลายคนมักคิดว่าอัจฉริยภาพเป็นเรื่องลี้ลับ เป็นสิ่งพิเศษเฉพาะตัว ที่เกิดมาแล้วมีเลย และมีวันหมดอายุ จอห์นกลับคิดว่ากระบวนการค้นพบคือการทำไปเรื่อยๆ และลองไปทุกๆ ทางจนเจอ
แม้อายุที่เคลื่อนผ่านไปนั้นจะดูน่ากังวลใจสำหรับหลายคน Dilip Jeste นักประสาทวิทยา Director แห่งสถาบัน UCSD Center for Healthy Aging อยากให้เราลองมองใหม่ ความแก่ไม่ได้นำพามาแค่ความเสื่อมถอยทางร่างกาย สมองของคนสูงวัยสามารถจัดการกับปัญหาทางจิตใจและสังคมได้ดีขึ้นตามอายุ
แล้วความแก่จะนำพาอะไรมาสู่ชีวิตเรา Dilip Jeste ได้สรุปออกเป็น 3 สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา
1. ความแก่ทางกายภาพ (physical) คือสังขารร่างกายที่เปลี่ยนไป เป็นความแก่ทางกายที่จะเริ่มเกิดขึ้นในวัยกลางคน ด้วยสมรรถภาพที่ลดลง เกิดความปวดเมื่อย และโรคต่างๆ ตามมา มักเป็นสิ่งที่คนโฟกัสเมื่อพูดถึง ‘ความแก่’ โดยทั่วไป
2. ความแก่ทางความคิดสติปัญญา (cognitive) คือความทรงจำและทักษะการคิดต่างๆ สิ่งนี้จะลดลงเมื่อเราแก่ขึ้น
3. ความแก่ทางจิตใจและสังคม (psychosocial) คือจิตใจและสังคม เกี่ยวข้องกับความสุข คุณภาพชีวิต ความพึงพอใจ การควบคุมอารมณ์ การเข้าสังคม การเชื่อมต่อกับผู้อื่น ส่วนนี้คนพูดถึงน้อย
การเติบโตและความแก่ชราอาจนำพามาซึ่งเรื่องมากมายที่น่าเครียด ภาระและความรับผิดชอบที่มากขึ้นอายุที่ผ่านพ้นทำให้เราต้องพบเจอกับความตายของคนใกล้ชิดและคนที่รัก เราจะพบกับโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาด้านการเงิน หรือความรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ฯลฯ
Dilip Jeste อธิบายว่าสิ่งที่สำคัญกว่าความเครียด คือการรับมือและจัดการกับความเครียดที่เปลี่ยนไป แม้คนแก่จะมีเรื่องให้เครียดและรับผิดชอบมากกว่า พวกเขามีแนวโน้มจะจัดการความเครียดและปัญหาชีวิตได้ดีกว่าคนวัยหนุ่มสาว เขาเล่าถึงการศึกษาคนจำนวน 2,000 คน ที่มีอายุ 21 ถึง 100 ปี พบว่า คนอายุมากกว่าสามารถจัดการกับความเครียดและเรื่องยากได้ดีกว่าคนวัย 20 ปีและ 30 ปี พวกเขาควบคุมอารมณ์ได้ รู้จักตัวเองมากขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้เองอาจเป็นปัญญาแบบ wisdom ที่เกิดจากประสบการณ์ของในชีวิต ความแก่ทำให้เราจัดการความผิดพลาดได้เก่งขึ้น ใช้ชีวิตอย่างฉลาดมากขึ้น เมื่อพบอุปสรรคพวกเขามีแนวโน้มจะบอกว่า “โอเค ไม่เป็นไร และเชื่อว่าสิ่งต่างๆ จะคลี่คลายได้” ความแก่อาจไม่ได้ดูแย่ไปทุกอย่าง อย่างน้อยเราก็อาจฉลาดขึ้นและใจเย็นลง
บางคราวเมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อนใจ เจอปัญหาและความเครียด ฉันแทบรอไม่ไหวที่จะโตกว่านี้ ใจเย็นกว่านี้ มีสติกว่านี้ และตัดสินใจได้ดีกว่านี้ ซึ่งไม่ว่าจะได้รับคำแนะนำ ปรึกษา และอ่านหนังสือมากมายเท่าไหร่ สุดท้ายเราก็ต้องเรียนรู้จากการทดลอง ลองผิดพลาด และล้มเหลวเองอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเมื่อเล่าถึงความผิดพลาดในวัย 20 กว่าๆ ให้คนที่โตกว่าฟัง พวกเขาจะรู้สึกพึงพอใจที่คนวัยฉันได้พบปัญหาและผ่านไปได้
คำถามที่ว่า “แก่แล้วยังไงต่อ” อาจเป็นคำถามที่ยากกว่าและเครียดกว่า ‘ตายแล้วไปไหน’ แต่เวลานี้ฉันกลับสนใจในอายุขัยที่ยาวนานว่าจะนำพาเราไปสู่อะไร
ก่อนที่เราจะ ‘ตายแล้วไปไหน’ คือร่องรอยที่เราจะทิ้งไว้ก่อนที่เราตาย
“ในระยะเวลา 60 ปี ผมได้ทิ้งร่องรอยไว้มากมาย” John Steinbeck กล่าวไว้ในปี 1962
คำเริ่มต้นของหนังสือ Steinbeck: A Life is Letter ร่องรอยที่เขาเอ่ยถึงคือร่องรอยอันประกอบจากหนังสือที่เขาได้เขียนและได้อ่าน การเดินทางที่ได้เกิดขึ้น สถานที่ที่ได้ไปเยือน ผู้คนที่ได้พบ ได้รัก และได้เกลียด รวมถึงโปรเจกต์ที่ไม่เคยสำเร็จลุล่วง ผลงานที่ละทิ้งไป ความคิดที่ผุดโผล่ขึ้นมาและได้ตายไป
เมื่อโตขึ้น ฉันได้รับรู้ว่า มีบางคนบนโลกนี้ใช้เวลาในชีวิตศึกษาฝูงลิงบาบูนฝูงเดิมในแอฟริกายาวนานถึง 20-30 ปีตลอดอาชีพของเขาเพื่อเข้าใจพฤติกรรมและวัฒนธรรมของพวกมัน เพื่อค้นหาว่าลิงไพรเมทและมนุษย์มีโครงสร้างสังคมที่คล้ายกันไหม คนคนนี้คือ Robert Sapolsky นักวิทยาศาสตร์ที่ฉันชอบเขียนถึงอยู่บ่อยครั้ง
ฉันกลายเป็นคนที่สนใจเรื่องราวชีวิตของคนแก่ อยากรู้ว่าพวกเขาผ่านอะไรมาบ้าง สนใจอะไร และเปลี่ยนไปอย่างไร ชีวิตของพวกเขาทำให้ฉันตื่นเต้นประหลาดใจ
Brenda Milner เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้พบฟังก์ชั่นของสมองส่วนสร้างความทรงจำ ขณะที่มีอายุ 98 ปี เธอยังกระตือรือล้น อยากรู้อยากเห็น และยังสงสัย สนุกในการศึกษาสมองของมนุษย์ ฉันนึกภาพไม่ออกว่าตัวเองจะชอบทำงานไปจนอายุ 90 ปีได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากๆ ในโลกที่มีสิ่งต่างๆ มากมายให้เราเสียสมาธิ อะไรทำให้บางคนใจเย็นพอจะจมอยู่กับเรื่องยากอันซับซ้อนและคลุมเครือได้เป็นเวลาหลายสิบปี
นอกจากนี้ ยังมี Oliver Sacks คุณหมอและนักเขียนผู้ได้ผูกความเป็นมนุษย์และวิทยาศาสตร์ได้อย่างสวยงาม งานเขียนของเขาสนุกและเข้าใจง่าย เขาเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อสมองของคนเราได้ผิดเพี้ยนไป ทำให้หลายคนเลือกอาชีพเป็นหมอสมองหรือเป็นนักประสาทวิทยา สมองเป็นอวัยวะที่ลึกลับและน่าค้นหาที่สุดในบรรดาอวัยวะต่างๆ ตัวตนของเราอาจไม่มีอยู่ หากไม่ประกอบด้วยเรื่องเล่าและความทรงจำที่สมองสะสมไว้ ก่อนตายเขาได้เขียนบทความเล่าถึงอายุ 80 ปีที่ยังเคลื่อนไหว มีสิ่งที่อยากทำ สนุกกับชีวิตและงาน ในบทสัมภาษณ์ เขาเศร้ามากที่รู้ว่าตัวเองกำลังจะตายลงในไม่กี่เดือนข้างหน้า แม้เขาจะแก่มากแต่มีอีกหลายอย่างที่ยังอยากทำ เขาทิ้งสมุดบันทึกตลอดชีวิตไว้เกือบพันเล่มเป็นร่องรอยที่เขาที่ค่อยๆ เก็บความรู้และความสนใจเขาไว้ตลอดชีวิต
โลกนี้ยังมีคนที่น่าสนใจน่ารู้จักอีกมากมายที่ฉันยังไม่ได้รู้จัก คนแก่ที่ยังกระตือรือล้น สนุกสนาน กระฉับกระเฉง อยากรู้อยากเห็น ยังมีหวัง ยังขยับและเคลื่อนไหว เรื่องราวของเขาอาจช่วยให้เราผ่อนคลาย เตือนใจเราว่ายังมีเวลาอีกหลายปีทั้งชีวิต ให้กังวลและสงสัย รวมถึงให้เราได้ทดลอง เรียนรู้ และผิดพลาดได้
คนแก่ก็กังวลและสงสัยไม่ต่างจากคนหนุ่มสาว
“ต่อให้วันใดวันหนึ่งเราแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและรัฐบาลได้หมด มนุษย์ก็คงยังโชคร้ายในความรัก เดียวดาย เบื่อหน่าย นอนก่ายหน้าผากลืมตาโพลงกังวลในอนาคต หรือรู้สึกผิดกับที่คำพูดโง่ๆ ที่เคยได้พูดไปสมัยม.ต้นอยู่ดี …… เวลาจะผ่านไปอย่างไม่ปราณี เราจะตายลง และชีวิตก็คงห่วยแตกอยู่ดี”
ข้อความนี้ตัดมาจากหนังสือ I Wrote This Book Because I Love You หนังสือรวมเรียงความของ Tim Kreider นักวาดการ์ตูนการเมืองวัย 50 ปี เขาผ่านความสัมพันธ์อันล้มเหลวมาหลายครั้ง ความสัมพันธ์ที่ยืนยาวที่สุดในชีวิตคือการมีแมวอายุ 19 ปีที่ไม่รู้ว่ามันจะตายลงเมื่อไหร่ แม้จะฟังดูเศร้าและสิ้นหวัง เรื่องน่าเศร้าไปกว่านั้นคือเราก็ยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจและรัฐบาลไม่ได้เสียด้วย แต่เป็นหนังสือที่ปลอบโยนจิตใจ คนอื่นบนโลกไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ก็ไม่รู้ สับสน สงสัย อลหม่าน ไม่เข้าใจตัวเองและคนรอบตัวไม่ต่างจากเรา
“มันอาจทำให้คุณบ้า เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ทั้งชีวิตของคุณนั้นได้ไล่ตามเป้าหมายปลอมๆ ตลอดมา” (It could drive you mad to wake up to the fact that your whole life has been about chasing some false goal) – Spalding Gray
ในปี 2004 Spalding Gray เดินออกจากอพาร์ตเมนต์ในนิวยอร์กและโยนตัวเองลงไปในแม่นํ้า การเลือกความตายของคนที่ประสบความสำเร็จอย่าง Spalding Gray, Kate Spade หรือ Anthony Bourdin ในวัย 62 ปี, 55 ปี และ 61 ปี ตามลำดับ ทำให้เราต่างตระหนกและตระหนักว่าการเติบโต ชื่อเสียงหรือเงินทองไม่ได้รับประกันถึงความสุขและความพึงพอใจของชีวิตได้เลย และเราควรสอดส่องระวังคนรอบตัวให้มากขึ้น อาจมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือและความใส่ใจแต่เราไม่ทันได้สังเกต
เรามักคิดว่าปัญหาของเราและคนรุ่นเรานั้นพิเศษไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือเราอาจจะโตขึ้นและพบว่าคนที่โตแล้วหรือประสบความสำเร็จแค่ไหนก็ยังสงสัยในคำถามชีวิตเดียวกับเรา
“แล้วเราจะทำอะไรกันต่อดีกับชีวิตที่เหลืออยู่?”
อาจไม่ใช่แค่ฉัคนหนุ่มสาววัย 20 กว่าๆ ที่ยังไม่พบคำตอบของคำถามนี้ คนอายุ 20-30-40-50 ปี หรือ 90 ปีอาจมีคำถามนี้อยู่ในใจทั้งนั้น แม้บริบทจะเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ แต่ทุกช่วงของชีวิตล้วนคงจะมีปัญหาเฉพาะที่ต้องแก้ไข
Robert Sapolsky พยายามบอกผู้อ่านว่า ความเป็นมนุษย์ซับซ้อนกว่าที่เราคิดและซับซ้อนกว่านั้นเสมอ เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตอันเป็นอิสระแยกออกจากทุกสิ่ง เราเป็นส่วนผสมของพันธุกรรม ฮอร์โมน วิวัฒนาการ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างแยกไม่ออก เราเป็นเพียงจุดเล็กๆและส่วนหนึ่งของระบบและโครงสร้างขนาดใหญ่ เราอาจไม่โตขึ้นฉับพลันในเหตุการณ์เดียว แต่เราจะผ่านคลื่นของเหตุการณ์อีกมากมาย แก่ลงไปเรื่อยๆ ถึงเวลานั้น การแก่ลง การโตเป็นผู้ใหญ่ และการกลายเป็นพ่อแม่ของเราอาจไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไปแล้วก็ได้
หรือชีวิตเราอาจเป็นความรู้สึกว่าเราไม่ได้เรื่องอยู่เสมออย่างต่อเนื่อง จนวันหนึ่งที่เรามีอายุถึง 80 ปี (ถ้าโชคดี) เราอาจได้มองกลับไปแล้วพูดกับตัวเองว่า “ฉันแม่งเด็กฉิบหายตลอดเวลาที่ผ่านมาเลยเหรอนี่”
อ้างอิงข้อมูลจาก
- What is unfathomable at 23 yrs old but understandable by 43 yrs old?
www.reddit.com - What About “The Breakfast Club”? – Molly RIngwald
www.newyorker.com - The Most Important Message of the The Breakfast Club Is a Lie
www.huffingtonpost.com - The Wisdom of the Aging Brain
nautil.us - Yes, You Get Wiser with Age: How the psychosocial dimension changes the picture of aging.
aging.nautil.us
Illustration by Yanin Jomwong