มารีวิวนายกฯกันหน่อยเร็ววววว ถ้าจะถามหาว่า ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ จะมีใครรีวิวได้ดีเท่าผู้ใช้งานจริง ตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ ก็เช่นเดียวกัน
นอกจากประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจแล้ว บรรดาเพื่อนร่วมงานอย่าง ส.ส. รวมถึงตัวละครที่เปิดหน้าทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง น่าจะเป็นอีกกลุ่มที่บอกเล่าได้แซ่บที่สุด
หลังศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยปม 8 ปีนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างนี้ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน ในวันนี้ (24 ส.ค.) The MATTER จึงอดไม่ไหว ขอฟังรีวิวสักหน่อย ว่าคิดยังไงกับการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 8 ปี ทั้งจะฝากความเห็นว่าอย่างไรกันบ้าง
“ความซื่อสัตย์สุจริต และความจงรักภักดี นี่คือจุดเด่นของตัวท่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนอื่นดูดีตาม”
วรงค์ เดชกิจวิกรม
หัวหน้าพรรคไทยภักดี
จากการติดตามการทำงานของ นายกฯ มาตลอด วรงค์จึงยกย่องในเรื่อง’ความซื่อสัตย์’ ที่เป็นจุดขายสำคัญ อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงจุดเด่นเฉพาะตัว ที่ไม่ได้หมายรวมบุคคลรอบข้าง
“บางครั้งตามใจคนอื่นทำให้ท่านเสีย ถ้ายืนในหลักการถูกผิด ท่านจะโดดเด่นกว่านี้ แต่วันนี้การตามใจคนอื่่นมีแต่ผลเสีย”
คำพูดทิ้งท้ายที่วรงค์อยากส่งให้ถึง พล.อ.ประยุทธ์ และย้ำว่าไม่ว่านายกฯ จะได้ครองเก้าอี้ต่อหรือไม่ แต่ตนเองมั่นคงในจุดยืนของการเคารพคำพิพากษาของศาล
“มันอาจไม่ได้ถูกใจเรา 100% แต่ก็เห็นว่าท่านพยายาม ถ้าจะพูดให้แฟร์”
วทันยา วงษ์โอภาสี
อดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
ในฐานะอดีต ส.ส. ฟากรัฐบาล วทันยา แสดงความเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ตลอดหลายปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเห็นถึงความพยายามในการบริหารจัดการคน “ที่ยังชื่นชมคือ ตำแหน่งที่เป็นกลไกสำคัญในครม. ท่านก็ยังพยายามสู้กับฟากการเมือง แม้สุดท้ายจะนำพาปัญหากลับมาให้ตัวท่านเอง”
อย่างไรก็ดี วทันยา ยังคงมองเห็นช่องโหว่ที่รัฐสามารถเข้าไปสนับสนุนประชาชนได้ ผ่านการใช้อำนาจบริหาร
สำหรับข้อถกเถียงที่ว่า สถานะนายกฯ 8 ปี ควรพิจารณาในแง่มุมไหน วทันยาออกตัวว่า “ขอละคำว่าพอได้แล้ว” เพราะฟังดูหนักหน่วงไปหน่อย เพียงแต่อยากฝากให้นายกฯ พิจารณาให้รอบด้าน โดยไม่ละเลย ‘มิติทางสังคม’
“วันนั้น (24 ส.ค.) ไม่ได้พิจารณาแค่ในมุมกฎหมาย นิติศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงมิติสังคม หรือในมุมรัฐศาสตร์ด้วยเหมือนกัน ว่าการดำรงตำแหน่งของนายกฯ มันมีผลทางความรู้สึก ความศรัทธา บรรทัดฐานทางสังคม ไม่เพียงต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่ง”
“พล.อ.ประยุทธ์ คือบุคคลที่ไม่ฟังเสียงตัวแทนของประชาชน ไม่เคารพในความเป็นสภาผู้แทนราษฎร… บางครั้งกลับด้อยค่าเสียงประชาชนสะท้อนผ่านการดูหมิ่นผู้แทนฯ ไม่เคยเคารพในระบบการเมืองที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
โฆษกพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.เขตลาดกระบัง
นี่คือภาพแรกที่ผุดขึ้นมาของธีรรัตน์ หากให้นึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดช่วงเวลาของการเป็นเพื่อนร่วมงานในรัฐสภา อาจจะด้วยความคุ้นชินกับการมีผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ไม่คุ้นเคยกับการเข้าหาประชาชน
ธีรรัตน์ ยกตัวอย่างการลงพื้นที่ ที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนบอกเล่าปัญหาจริงๆ แต่เป็น”คัดเลือก” สิ่งที่ต้องการฟังมาแล้วทั้งสิ้น “เมื่อเข้ามาโดยขาดความรู้ความสามารถ ก็ไม่สามารถนำพาประเทศให้ไปต่อได้
“หวังว่าเขาจะสำนึกตัว ถอยออกไป เปิดทางให้ผู้ที่มีความสามารถ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเข้ามาทำงานจริงๆ สักที”
“ความผิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำมันใหญ่หลวงมาก ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่ขอให้รับรู้ว่าประเทศไทยยังคงต้องไปต่อ ต้องการผู้นำที่สร้างความหวัง และทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ ควรออกจากการเมืองไทยให้เร็วที่สุด” ธีรรัตน์ กล่าวปิดท้าย
“ถ้าถามว่าเป็นเพื่อนร่วมงาน…(เสียงหัวเราะพร้อมจังหวะถอนหายใจ)…ผมไม่เคยนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นนายกฯ เลย และก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าเป็นได้ยังไง ถ้าเป็นลุงคนหนึ่งที่เกษียณอายุราชการ นี่เป็นบทบาทที่เหมาะสมที่สุดแล้ว”
รังสิมันต์ โรม
ส.ส.ของพรรคก้าวไกล
จังหวะนิ่งเงียบสั้นๆ ที่ตามมาด้วยเสียงหัวเราะและเสียงถอนหายใจ เป็นคำตอบของ รังสิมันต์ โรม เมื่อลองให้เขานึกถึง 8 ปีกับ พล.อ.ประยุทธ์ “ถ้าถามว่าเป็นเพื่อนร่วมงาน…”
“ผมไม่เคยนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเป็นนายกฯ เลย และก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าเป็นได้ยังไง ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ เป็นลุงคนหนึ่งที่เกษียณอายุราชการ นี่เป็นบทบาทที่เหมาะสมที่่สุดแล้ว”
โดยเหตุผลทั้งหมดที่โรมคิดเห็นนี้ มาจากจุดตั้งต้นของการ “ติดกระดุมผิดเม็ด” เมื่อ 8 ปีก่อน ที่ให้ประเทศเกิดความแตกแยก จนไปต่อไม่ได้ “เวลาคุณไม่มีความชอบธรรม แล้วไม่ได้รับการยอมรับอย่างเพียงพอ สิ่งที่ตามมา คือ องคาพยพอื่นๆ ที่จะร่วมมือกันมันเป็นไปไม่ได้”
แม้แต่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2562 ก็ไม่สามารถประสานรอยแยกนี้ได้ เพราะคนจำนวนมากยังรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์ มาจากเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่สร้างมาเอง ตามความเห็นของโรม
นำมาสู่ปัญหาถัดมา คือ “นโยบายที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง กลไกต่างๆ ถูกใช้เพื่อให้อยู่ในอำนาจได้นานที่สุด”
“ตลอด 8 ปี เป็นเหมือนหนึ่งทศวรรษที่ศูนย์หายของสังคมไทย”
“ผมอยากขอสักครั้งได้ไหมที่จะเห็นแก่ประชาชน เห็นแก่ประเทศจริงๆ ด้วยการเอาตัวเองออกจากตำแหน่ง โดยไม่ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ส.ส.ฝ่ายค้านคนนี้คาดหวังมากที่สุด กลับไม่ได้มาจาก
ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการ “อยากเห็นสังคมไทยกระตือรือร้นกับเรื่องนี้ ว่าเราสมควรจะเรียกเขาว่านายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่”
“วันนึงมี 24 ชั่วโมง แต่คุณเป็นนายกฯ, หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ, รมต. กลาโหม, ประธาน กตร. เอามันหมดเลย ผลที่สุดคือไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ก็รับค่าตอบแทนไป ประเทศชาติก็เสียหาย”
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส
หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงผลงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาว่า “ล้มเหลวทุกด้าน” โดยเฉพาะความพยายามเอาอำนาจทั้งหมดมารวมไว้ที่มือตน เป็นทั้งนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รมต. กลาโหม ประธาน กตร. จนสุดท้ายไม่ได้ทำอะไรที่จริงจังสักอย่าง
และยังมีปัญหารอบด้าน เช่น ปัญหาด้านสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ปัญหาอาชญากรรม การคอร์รัปชั่น ของข้าราชการ ปัญหาเศรษฐกิจที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งตัวเป็นหัวหน้าทีมทั้งที่ไม่มีความรู้ ปัญหาการเมืองที่ประชาชนถูกกดทับสิทธิเสรีภาพบังคับให้รับรัฐธรรมนูญ และยังแต่งตั้ง ส.ว. เข้าไปนั่งในสภาและให้อำนาจเลือกนายกฯ อีก หรือการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ระบุว่า มันชัดเจนอยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว ถ้าอยู่ต่อไปก็รั้งแต่จะสร้างความไม่พอใจให้ประชาชน และอาจเกิดม็อบอีก
“มันจะต้องตีความอะไรอีก ภาษาไทยมันชัดเจนอยู่แล้ว คุณประยุทธ์ควรตัดสินใจบนประโยชน์บ้านเมือง คุณก็เลือกเอาละกัน ถ้าไม่ลาออกก็ผิดรัฐธรรมนูญ ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ”
หากคุณมีโอกาสได้รีวิว ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ คุณจะว่ายังไงกันบ้าง?