“ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกลดลง 60% ใน 40 ปี จากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ผลกระทบต่อระบบความอยู่รอดของธรรมชาติขึ้นอยู่กับเรา” – Kim Stengert หัวหน้าฝ่ายการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ และความสัมพันธ์ภายนอก กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประเทศสิงคโปร์
เราเห็นข่าวธรรมชาติถูกทำลาย ไฟป่าที่เผาที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต สัตว์ป่าน้อยใหญ่ที่ถูกฆ่า ถูกล่า ถูกแย่งชิงที่อยู่อาศัยจนสูญพันธ์มากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่อากาศเปลี่ยนแปลง โลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย บ่อยและถี่มากขี้นเรื่อยๆ จนน่ากลัวว่า เราอาจจะเป็น generation สุดท้าย ที่สามารถรักษาธรรมชาติได้
‘Rewild Our Planet’ สารคดีที่ใช้เทคโนโลยี Augmented technology (AR) จึงเกิดขึ้น เพื่อสะท้อนภาพธรรมชาติให้ผู้ชมได้ดู ได้เล่น ได้สัมผัสอย่างเสมือนจริง พร้อมทั้งยังได้เห็นกันจริงๆ ว่า ธรรมชาติของเราถูกทำลายไปอย่างไร และเราจะช่วยฟื้นฟูธรรมชาติกันได้ยังไง
Rewild Our Planet
หลายๆ คนคงรู้จักรสารคดีธรรมชาติ อย่าง Blue Planet และ Planet Earth ซึ่งครั้งนี้ทีมผู้กำกับสารคดีชุดนี้ ได้กลับมาอีกครั้งด้วยซีรีส์ที่ชื่อว่า Our Planet ความยาว 8 ตอน ที่เพิ่งออกฉายทาง Netflix ไปเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ Our Planet ไม่ได้กลับมาฉายเป็นซีรีส์เท่านั้น แต่ยังมีโปรเจ็กต์พิเศษ ที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทยาศาสตร์ ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าชมสารคดี ที่นำเอาฟุตเทจของเรื่องนี้ มาเล่าผ่านเทคโนลียี AR ให้ได้เห็นธรรมชาติกันแบบ 3D ด้วย
โดยโปรเจ็กต์นี้ เป็นงานที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง Netflix, กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF), Google, Phoria และพิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทยาศาสตร์ของสิงคโปร์ (ArtScience Museum) ที่ร่วมมือกันเพราะหวังว่า การนำภาพของธรรมชาติ มาให้สัมผัสแบบ AR จะทำให้ผู้คนเห็นภาพธรรมชาติ ที่ถูกทำลายไปชัดขึ้น และจะกระตุ้นให้ผู้ชมอยากจะฟื้นฟูป่า อย่างชื่อโปรเจ็กต์ ที่ต้องการ Rewind Our Planet คืนผืนป่าให้โลกเราอีกครั้ง
แตกต่างจากตัวซีรีส์ Rewild Our Planet จะแบ่งเป็น 4 โซนบนโลก ที่มีสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกันทั้ง
- ป่าเขตร้อน (ในบอร์เนียวและอินเดีย)
- มหาสมุทร (บริเวณชายฝั่งเอเชียและตัวันออกเฉียงใต้)
- ทุ่งหญ้า (ในมองโกเลีย)
- เขตน้ำแข็ง (อาร์กติก)
ซึ่งเมื่อเข้าไปในงาน เราจะได้รับโทรศัพท์ 1 เครื่อง ที่เชื่อมต่อกับระบบ AR เลือกแสกนไปยังโลโก้ของพื้นที่ 4 โซน และรับชมภาพ AR และการเล่าเรื่องที่ต่างกันไป เช่น โซนป่าเขตร้อน เราจะเห็นภาพผืนป่าในบอร์เนียวและอินเดีย ที่เคยเขียวชอุ่ม และอุมสมบูรณ์ แต่ตอนนี้กลับค่อยๆ ถูกทำลาย กลายเป็นพื้นที่ทำกินของมนุษย์แทน ซึ่งระบบ AR ยังให้เราเล่น ในการขยับโทรศัพท์ไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ผืนป่ากลับมาสีเขียวด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น หลังการชม และเล่นกับ AR แล้ว ยังมีระบบที่ให้เราร่วมกันส่งเสียง ส่งข้อความเกี่ยวกับพื้นที่ทางธรรมชาติที่เราตระหนัก และอยากให้มีการฟื้นฟู ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูล และโชว์ให้เราเห็นถึงข้อความจากทั่วโลก เป็นหนึ่งใน social movement ที่ร่วมกันแสดงความเห็นถึงความต้องการรักษาธรรมชาติ
เมื่อเทคโนโลยี AR ถูกนำมาใช้กับประเด็นสังคม
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยี AR มาเน้นกับประเด็นทางสังคม และยังเรียกร้องให้มนุษย์ร่วมกันฟื้นฟูธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาร่วมโปรเจ็กต์ แต่ยังมีบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Phoria บริษัทที่พัฒนาด้านเทคโนลียี AR เข้ามาร่วมด้วย
โดย The MATTER ได้พูดคุยกับ Trent Clews-de Castella CEO ของ PHORIA ถึงการร่วมมือกันระหว่างเทคโนโลยี กับธรรมชาติ และการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ จะช่วยให้คนตระหนักถึงปัญหาทางธรรมชาติได้อย่างไร
Castella เล่าว่า “Rewild Our Planet เป็นการโชว์ให้เห็นความสามารถของเทคโนโลยี AR ที่จะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ กับสถานที่ และเป็นประสบการณ์ที่จะนำให้มนุษย์เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม และเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้”
นอกจากนี้ เขายังมองว่าเทคโนโลยี AR เป็นเหมือนการแชร์ประสบการณ์ และการเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน เพราะเราสามารถดูเนื้อหา และในงานนี้ เขาได้พัฒนาซอฟแวร์ AR ที่ผู้เข้าร่วม สามารถแชร์ประสบการณ์ตลอดเวลาด้วย ซึ่งเขาเชื่อว่าเมื่อดูผ่าน AR แล้ว ได้เห็น ได้สัมผัส ผู้ชมจะรู้สึกถึงความต้องการรักษาธรรมชาติกันมากขึ้น
“ในตอนนี้ AR เทคโนโลยี กลายมาเป็นอะไรที่เกี่ยวกับมนุษย์มากขึ้น เราเป็นเครือข่ายทางสังคม และเราต้องการเชื่อมต่อกันมากขึ้น แชร์กันมากขึ้น เช่นคุณรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณเจอประสบการณ์ด้านอารมณ์มา ซึ่ง Rewild Exhibition นี้ เป็นการเชื่อมต่อเรื่องของจิตใต้สำนึก ที่ว่าเราต้องรักษาโลก เราต้องทำอะไรบางอย่างร่วมกัน เราต้องรับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้นสำหรับ Phoria AR เป็นเหมือนสิ่งที่เชื่อมต่อนำผู้คนมาร่วมกัน และผมเชื่อว่าเราทำให้มันเกิดขึ้นได้”
“จากที่เราออกแบบให้คนได้รับประสบการณ์นี้ เราต้องการให้มันเป็นอะไรที่เป็นฟรี สนุก และปรับขนาดได้ต่างๆ ซึ่งการทำให้มันฟรี เราก็ได้รับการสนับสนุนจากพาร์ทเนอร์ของเรา ทำให้มันปรับขนาดพื้นที่ได้ เราก็ออกแบบ AR กับพื้นที่ต่างๆ ทำให้มี Pop-up ทำให้สนุก เราก็หวังให้คนได้แชร์ประสบการณ์ ซึ่งเราก็มีสารคดีของ Netflix รวมไปถึงข้อความที่ต้องการจะบอกกับผู้คนของ WWF เราจึงหวังว่าเราจะมอบประสบการณ์ด้วย AR ที่ทำให้ผู้คนต้องการลงมือทำบางอย่าง และเราหวังว่านี่จะเป็น soft action ที่ทำให้คนรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบร่วมกัน”
Castella ยังเล่าว่า นอกจากการทำเนื้อหา คอนเทนต์ของ Our Planet ให้มีชีวิตขึ้นมาผ่านเทคโนโลยี AR แล้ว การแชร์ประสบการณ์ก็จะเป็นข้อมูล database ที่เก็บไว้ด้วย ซึ่งถ้าเราแชร์ข้อความ ความเห็นใน Rewild นี้ ซึ่งมันจะอยู่ตลอดเวลา มันจะกลายเป็นเนื้อหาข้อมูลที่ทรงพลัง เป็น Social Movement ได้ด้วย
ในตอนนี้ โปรเจ็กต์นี้จัดขึ้นที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทยาศาสตร์ของสิงคโปร์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน – 2 มิถุนายนปีนี้ เป็นที่แรก แต่หลังจากนั้น ก็จะมีการเดินทางไปจัดงานที่อื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก และบริสตอล ซึ่งแต่ละที่ก็จะเน้นความแตกต่างของธรรมชาติในแต่ละภูมิภาคด้วย ใครวางแผนไปเที่ยวไหน ก็แวะไปสัมผัสประสบการณ์ AR กันได้ฟรีๆ เลยด้วย