ช่วงกลางปีกลายเป็นเวลาที่นักเรียนไทยในระดั้บชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต้องวุ่นวายอยู่กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สำหรับเด็กวัยรุ่น นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่อาจจะพลิกชีวิตไปได้ตลอดกาล เพราะนอกจากจะต้องคร่ำเคร่งกับการอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง พวกเขายังต้องเผชิญหน้ากับระบบการสอบที่พร้อมจะเปลี่ยนรายละเอียดทุกๆ ปี อีกด้วย
ในวันที่ระบบการศึกษาไทยยังมีอะไรให้ต้องแก้ไข The MATTER พาไปดูหลากมุมมองการศึกษาผ่านภาพยนตร์สารคดี ตั้งแต่ Final Score สารคดีฝีมือคนไทยที่ตามถ่ายการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็ก ม.6 ตลอดหนึ่งปี ไปจน The Finland Phoenomenon สารคดีที่เล่าถึงการเรียนการสอนในฟินแลนด์ ประเทศที่ถือว่ามีระบบการศึกษาที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2007)
หันมอง 11 ปีที่ผ่านไปกับอะไรๆ ที่อาจไม่เปลี่ยนแปลงไปในการศึกษาไทย
ถ้าพูดคำว่า 365 วัน ตอนนี้หลายคนอาจจะนึกถึงเพลงของไอดอลวงดัง แต่ย้อนไปราวสิบปีเศษๆ คนเจ็ดคนตัดสินใจทำโปรเจกต์บ้าพลัง นั่นคือการถ่ายทำหนังชีวิตของเด็กกลุ่มหนึ่งตลอดช่วงเวลาหนึ่งปี ตั้งแต่พวกเขาก้าวขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 6 และเป็นจังหวะดีอย่างมากที่ในช่วงนั้นกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนการสอบเป็นระบบแอดมิชชั่นเป็นปีแรก เรื่องราวในหนังจึงมีอรรถรสแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย
ผ่านมาสิบเอ็ดปีหลังจากที่ออกฉายครั้งแรก ตอนนี้ตัวหนังกลายเป็นกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ทางการศึกษาไทย ที่ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง คุณครูผู้สอน ได้บอกเล่ารายละเอียดความลำบากของการเรียน การสอน และการสอบในยุคนั้น และเมื่อย้อนดูหนังเรื่องนี้อีกครั้งก็ทำให้ได้กลับมาทบทวนระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยที่มีปัญหานับตั้งแต่ตอนนั้น (ประกาศคะแนนออกมาผิดพลาดจนต้องยกเลิก)
Reach for the SKY (2015)
การต่อสู้เพื่อ ทะยานสู่ ‘ท้องฟ้า’ ในแดนกิมจิ
เดินทางสู่เกาหลีใต้ ดินแดนที่การต่อสู้ด้านการสอบเข้าอุดมศึกษาดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าที่ถูกเรียกย่อๆ ว่า ‘SKY’ (Seoul National University, Korea University และ Yonsei University) ที่หลายๆ คนในประเทศเกาหลีใต้เชื่อว่า แค่ได้เข้าเรียนในสถาบันเหล่านี้ ชีวิตของพวกเขาจะล่องลอยเหมือนอยู่บนฟากฟ้า สอดคล้องกับชื่อหนังที่บ่งบอกเรื่องราวทั้งหมดได้เป็นอย่างดี
หนังค่อยๆ บอกเล่าระบบการสอบที่วุ่นวายของเกาหลีใต้ กับแนวคิดบางอย่างที่คล้ายกับหนัง Final Score ด้วย ส่วนที่ต่างจากสารคดีบ้านเราคือความเป็น ‘ลัทธิ’ ที่ดูจะเห็นได้ชัดในกลุ่มคนที่อยากจะสอบติดมหาวิทยาลัย SKY เพราะไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวสอบ ขั้นตอนการสมัครสอบ ขั้นตอนการติว ยาวไปจนถึงขั้นตอนบนบานศาลกล่าว ความตึงเครียดแผ่กระจายไปทั่วประเทศ (ถึงขั้นมีการขอความร่วมมือให้บริษัทและหน่วยงานต่างๆ เปิดทำการช้ากว่าปกติเพื่อให้เด็กนักเรียนเข้าสอบได้ก่อน มีตำรวจรับบริการส่งถึงที่สอบเป็นกรณีพิเศษ เป็นอาทิ) เพราะสังคมเกาหลีใต้แอบสะท้อนแนวคิดว่าถ้าพลาดพลั้งจุดนี้ไปก็เหมือนจะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตอีกเลย
สารคดีฉายภาพความตึงเครียดของการเรียนในเกาหลีใต้ จนเกือบจะไม่ได้ตั้งคำถามใดๆ ต่อเรื่องราวที่นำเสนอมากนัก นอกจากคำพูดหนึ่งที่ว่า “อยากจะเป็นคนที่เรียนเก่ง หรือเป็นคนที่เข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ได้กันแน่”
Ivory Tower (2014)
หอคอยงาช้างที่เหมือนจะไม่อยากให้ใครปีนถึง
ปัญหาของการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้นไม่ได้มีปัญหาแค่ในเฉพาะโซนเอเซียเท่านั้น แม้แต่สหรัฐอเมริกา ก็มีปัญหานี้ แต่ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีมหาวิทยาลัยดีๆ สิ่งที่สารคดีนี้อยากพูดคือ ‘เงิน’ กลายเป็นเรื่องสำคัญของการไปให้ถึงการศึกษาระดับที่สูงขึ้น และตัวการที่ทำให้ค่าใช้จ่ายการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ สูงขึ้นคือการตัดงบจากฝั่งรัฐฯ และอีกส่วนมาจากความทะเยอทะยานของสถาบันอุดมศึกษาที่อยากจะก้าวไปยังจุดที่สูงกว่าจุดเดิม จนเกิดการลงทุนที่ส่งผลร้ายต่อนักเรียนนักศึกษารุ่นหลังๆ
สารคดีพาเราไปดูสถาบันอุดมศึกษานับตั้งแต่ยอดบนสุดของหอคอยงาช้างอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เป็น ‘DNA ของระบบการศึกษาอเมริกา’ แล้วค่อยๆ ไต่เส้นทางย้อนลงไปยังฐานรากที่มีความแตกต่างกันมากอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะสถาบันหลายแห่งเชื่อว่าการที่จะพัฒนาตัวเองเป็นสถาบันที่มีคุณภาพสูงขึ้นต้องใช้เงินพัฒนาทุกอย่างให้มากขึ้น จึงส่งผลให้ค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยระดับกลางแพงยิ่งขึ้นในระดับที่นักศึกษาอเมริกาอาจต้องทำงานใช้หนี้ไปตลอดชีวิต จากนั้นสารคดีพาเราไปติดตามการประท้วงของนักศึกษาในปี 2012 แล้วจึงโยกย้ายไปดูช่องทางการศึกษาอื่นที่อาจจะทำให้ผู้ที่ต้องการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาใช้เงินน้อยลง
สารคดีไม่ได้แอนตี้ระบบอุดมศึกษา แถมยังมีการบอกกล่าวว่าการตามรอยอภิมหาเศรษฐีที่ไม่จบมหาวิทยาลัยนั้นไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก (หนังระบุว่าเพราะเขาเหล่านั้นเป็นผู้มีทักษะพิเศษเฉพาะตัว) สิ่งที่แฝงมาตลอดในตัวหนังคือการที่ ‘เงิน’ ไม่ควรเป็นปัจจัยที่กำหนดว่าใครจะได้เดินไปสู่หอคอยงาช้างแห่งความรู้
The Graduation / Le Concours (2016)
แอบดูสถาบันการศึกษาเฉพาะทางกับการสอนที่ตอบโจทย์คนที่อยากทำงานด้านนั้นจริงๆ
ข้ามไปดูสถาบันการศึกษาของฝรั่งเศสกันบ้างกับ La Fémis โรงเรียนสอนภาพยนตร์ หรือถ้าระบุให้ถูกในเชิงภาษาไทย คำว่า ‘วิทยาลัยสอนภาพยนตร์’ น่าจะถูกต้องกว่า สถาบันแห่งนี้เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1943 ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐฯ หลายแห่งของฝรั่งเศส และผู้ที่จบออกมาก็เป็นบุคลากรที่สถาบันแห่งนี้ก็มีทักษะเฉพาะตัวอย่างชัดเจน ที่นี่ไม่มีครู ไม่มีการสอนวิชาเฉพาะโดยตรง แต่จะมีคนภายในวงการภาพยนตร์มาทำการส่งต่อความรู้เท่านั้น
หนังที่มีความยาวสองชั่วโมงเล่าความเฉพาะตัวของสถาบันแห่งนี้ นับตั้งแต่การสอบเข้าที่จะได้เห็นว่าผู้เข้าสอบมีหลายแบบ หลายสไตล์ หลายวัย การสอบที่เหมือนจะเข้าใจได้ง่ายๆ แต่ก็ไม่มีคำตอบชัดเจน การตรวจคะแนนที่ให้ผู้มีทักษะมาถกกันไฟแลบว่าผู้เข้าสอบแต่ละคนมีไอเดียอย่างไร การสอบปฏิบัติที่ให้ลองพัฒนาซีนในหนังที่ผู้เข้าสอบส่งมาจริงๆ การสอบปากเปล่าหรือสอบสัมภาษณ์ซึ่งไม่ปกติธรรมดา และในขณะเดียวกันก็เกลี่ยให้ดูเบาๆ ว่าสถาบันแห่งนี้เปิดสอนทั้งในด้านผลิตภาพยนตร์อย่างสาขากำกับ สาขาเขียนบท ไปจนถึงสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อย่างสาขาการจัดจำหน่ายหรือสาขาบริหารโรงภาพยนตร์
ความน่าสนใจของสารคดีเรื่องนี้คงจะเป็น การที่เราได้เห็นการคัดเลือกนักเรียนเข้าสถาบันตามความฝันในสายงานที่ชอบและอยากเรียน รวมถึงการให้คนในวงการนั้นๆ มาวิพากษ์วิจารณ์แบบไม่สนใจเกรด แล้วโฟกัสกับทักษะกับแพชชั่นต่อการทำงานนับตั้งแต่แรกเข้าสมัคร จนถึงจุดที่ผู้สมัครได้กลายเป็นนักศึกษาของสถาบัน
อาจจะเป็นเรื่องปกติในประเทศฝรั่งเศสที่มีโรงเรียนเฉพาะทางแบบนี้อยู่หลายแห่ง แต่สถาบันแนวนี้ยังมีไม่มากในประเทศอื่นๆ ซึ่งระบบการศึกษาแบบนี้่น่าจะทำให้อุตสาหกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันได้พัฒนาไปจริงๆ อย่างที่วงการต้องการ
Waiting for “Superman” (2010)
เพราะโลกไม่มีซูเปอร์ฮีโร่ ทุกคนจึงควรจะผลักดันการสร้าง ‘นักเรียน’ ให้มีโอกาสได้เป็นฮีโร่
สารคดีชื่อแปลกนี้ไม่ได้เล่าเรื่องของซูเปอร์แมน แต่เล่าเรื่องของการศึกษาระดับพื้นที่มีปัญหาไม่แพ้ระดับอื่นๆ ในประเทศอเมริกา หนังพาเราไปเสวนากับคนที่อยู่ในวงการศึกษาในหลายๆ ชั้น แล้วค่อยๆ กระเทาะดูปัญหาที่ทำให้เด็กนักเรียนไม่สามารถได้รับการศึกษาเท่าที่ควร ตั้งแต่ระบบที่ถูกสร้างมาเพื่อทำให้เด็กในบางพื้นที่ถูกเลื่อนชั้นแบบอัตโนมัติโดยไม่มีการสอบตก กฏหมายที่ไม่สามารถไล่ออกครูได้อย่างสมบูรณ์ เกมการเมืองที่ทำให้สหภาพครูไม่สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ และในขณะเดียวก็บอกเล่าผู้คนและกลุ่มคนที่พยายามทำให้การศึกษาดีขึ้นด้วยการเดินไปตามช่องทางของกฎหมายบ้าง ขยับตัวเข้าไปในช่องทางรัฐเพื่อผลักดันความเปลี่ยนแปลงบ้าง หรือใช้พลังของตัวเองบ้าง
ถึงหนังจะพาดำดิ่งอยู่แต่ระบบการศึกษาของอเมริกาก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สารคดีนี้พยายามบอกเล่ามากที่สุดก็คือ อย่าพยายามเสกให้ ‘เด็กรุ่นต่อไปกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่’ เพราะฮีโร่แบบนั้นคงมีแค่ในเรื่องแต่ง และถ้าอยากจะให้นักเรียนนักศึกษาพัฒนาขึ้นมา ทุกภาคส่วนต่างต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเด็กให้ทะยานไปถึงฝันได้จริงๆ
The Finland Phenomenon (2011)
เข้าใจระบบการศึกษาฟินแลนด์ให้สุด
หลายคนน่าจะเคยเห็นคลิปส่วนหนึ่งของสารคดีสายแซะเรื่อง Where to Invade Next ที่พูดถึงความดีงามของระบบการศึกษาของฟินแลนด์ ซึ่งพลิกโรงเรียนของพวกเขาจากที่เคยโดนปรามาสว่าอยู่อันดับต่ำกว่ามาตรฐานโลก ก่อนจะกลายเป็นอันดับบนๆ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน แต่นั่นก็เล่าแค่ส่วนหนึ่งของการศึกษาเท่านั้น
The Finland Phenomenon คือสารคดีแท้ๆ ที่เล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ใช้ภาพกราฟฟิกหวือหวา มีแค่ข้อความบอกเล่าข้อมูลแทรกแบบตรงๆ ถึงจะชวนให้หลับอยู่บ้าง แต่ในขณะเดียวกันการเล่าของหนังก็พาเราสำรวจทีละจุด นับตั้งแต่มุมของนักเรียนทั้งเด็กเล็กและเด็กโตที่มีส่วนในการกำหนดทิศทางการศึกษา มุมมองการสอนของครูที่สอนให้เด็กคิดถึงวิธีการแก้ไขปัญหา มุมมองการวางแผนการสอนตั้งแต่ฝั่งโรงเรียนไปจนถึงฝั่งหน่วยงานรัฐฯ รวมถึงได้เห็นคลาสเรียนสายอาชีพที่ขยายความรายละเอียดของระบบการศึกษาแบบ ‘ไม่มีทางตัน’ ซึ่งหนังเรื่องอื่นจะพูดถึงน้อยกว่าใน (อ่านรายละเอียดระบบการศึกษาฟินแลนด์จากที่ปรึกษาด้านการศึกษาประเทศฟินแลนด์ได้ที่นี่)
จุดน่าสนใจอีกอย่างคือ แม้ว่านี่จะเป็นสารคดีที่ถ่ายในฟินแลนด์เกือบตลอดทั้งเรื่อง คนที่ปรากฏในสารคดีพูดภาษาอังกฤษแทบทุกคน ยกเว้นคาบเรียนที่ตั้งใจให้ใช้ภาษาอื่นเท่านั้น