เราล้วนมีเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบโพสต์เพลงเศร้าอยู่บ่อยๆ แต่เมื่อถามว่าเป็นอะไร อกหักจากใครมา มันก็มักจะตอบว่า “อ๋อ ไม่มีอะ กูโพสต์เฉยๆ”
เพลงเศร้า ยิ่งฟัง ยิ่งช้ำ ยิ่งน้ำตาไหล แต่เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมบางคนชีวิตดูแฮปปี้ดี แต่เพลย์ลิสต์โปรดกลับเต็มไปด้วยเพลงเศร้า เพลงช้า เพลงอกหัก แทนที่จะเป็นเพลงจังหวะสนุกสนาน โจ๊ะๆ ตึงๆ เนื้อหาสดใส
เหตุผลที่คนเรา ‘เศร้าทิพย์’
ความเศร้าถูกจัดอยู่ในอารมณ์เชิงลบที่ไม่พึงประสงค์ และไม่มีใครปรารถนาจะเผชิญกับเศร้าถ้าไม่จำเป็น แต่ทำไมหลายครั้งเราจะเห็นว่าเพลงเศร้าติดชาร์ตอยู่บ่อยๆ หรือมียอดฟัง ยอดวิวที่สูงลิ่ว แทนที่จะเป็นเพลงสนุกๆ ที่สร้างความสนุก สร้างรอยยิ้มให้เราได้มากกว่า
เราเรียกปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจนี้ว่า Sadness Paradox หรือ ‘ความเศร้าที่ย้อนแย้ง’ โดยในทางจิตวิทยาอธิบายไว้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่เพลงเศร้าทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลิน โดยการสร้างภาพลวงตาของอารมณ์เชิงลบนั้นขึ้นมา กล่าวคือ แม้เราจะไม่ได้เศร้า แต่เราก็สนุกไปกับการฟังเพลงเศร้า หรือหนังเศร้าได้
ซึ่งทุกวันนี้ ชาวเน็ตก็ได้นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า ‘เศร้าทิพย์’ หรือการที่คนๆ หนึ่งเศร้ากับอะไรไม่รู้ เศร้าแบบไม่มีที่มาที่ไป หาสาเหตุไม่ได้ แต่ชอบตั้งสเตตัสเศร้าๆ แชร์เพลงเศร้าๆ เขียนเนื้อเพลงเศร้าๆ แชร์คำคมเศร้าๆ แต่ถ้าถามว่าเขาเศร้าเรื่องอะไร จริงๆ ก็คือไม่มีอะไรเลย ส่วนเพื่อนๆ ก็ตามสืบไปดิว่ามันอกหักจากใครมาวะ! แล้วถ้าไม่มีจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่าทำไมเพลงเศร้าหรือหนังเศร้าถึงทำให้คนเราอินได้ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องมีประสบการณ์ร่วมใดๆ เลย จึงได้ไปทำความเข้าใจกับ ‘ฟังก์ชัน’ ของเพลงและหนังเหล่านี้ แล้วก็พบว่ามันมีข้อดีต่อการจัดการอารมณ์และการรับรู้ของมนุษย์ได้ดีทีเดียวเลยล่ะ
- ช่วยย้อนความหลังเก่าๆ หากพูดถึงเครื่องกระตุ้นความทรงจำ นอกจากรูป รส กลิ่น ก็ยังมี ‘เสียง’ ที่ช่วยให้เราหวนนึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาได้อีกด้วย ท่วงทำนอง ดนตรี หรือเนื้อหา ทั้งหมดนี้ล้วนสามารถดึงเรากลับไปยืนยังช่วงเวลาและสถานที่เก่าๆ ที่จากมานานแสนนาน อย่างช่วงเวลาสมัยมัธยม มหาวิทยาลัย หรือสมัยเด็ก โดยเฉพาะเพลงเศร้าก็มักจะฝังเรื่องราวความรักความสัมพันธ์เอาไว้ในนั้น ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับความหอมหวานของความทรงจำนั้น หรืออาจจะรู้สึกเหงาๆ เศร้าๆ จากการคิดถึงผู้คนในนั้นไปพร้อมกัน
- ช่วยระบายอารมณ์ เพลงเศร้าหรือหนังเศร้าช่วยทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วม โดยไม่มีผลกระทบในชีวิตจริง หรือคนนั้นไม่จำเป็นจะต้องประสบกับความเศร้าในชีวิตจริงมาก่อนก็ได้ แต่เมื่อบางคนได้ฟังเพลงเศร้า เขาจะเหมือนได้ระบายความขุ่นมัวหรืออารมณ์เชิงลบในจิตใจออกมา บางครั้งก็ร้องไห้ น้ำตาไหล แม้ไม่รู้ว่าจะมาจากไหนก็ตาม เพราะในทางชีวภาพ เพลงเศร้าจะเชื่อมโยงกับฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับการร้องไห้และระงับความเศร้า โดยเพลงเศร้าจะหลอกให้สมองมีส่วนร่วมในการตอบสนองตาม และปล่อยโปรแลคตินออกมา และหลังจากนั้นเขาจะเกิดความสงบ โล่งใจ เพราะปราศจากความรู้สึกเชิงลบแล้ว
- ทำให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เป็นอีกข้อดีของการฟังเพลงเศร้าที่น่าสนใจ นักจิตวิทยาหลายคนที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของเพลง ให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า คนที่ชอบฟังเพลงเศร้า หรืออินกับเพลงเศร้า จะเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นสูง เพราะเพลงเศร้ามักจะแฝงเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเสียใจเอาไว้ และเมื่อเราได้ฟัง จึงเกิดเป็นกระบวนการที่เราพยายามเข้าใจและรู้สึกถึงความรู้สึกที่อีกคนกำลังประสบอยู่ ผ่านเรื่องราวในเนื้อเพลงนั้นๆ หลังจากได้รู้ว่าคนๆ นั้นเศร้าโศกยังไง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง มันจึงกระตุ้นระดับความเห็นอกเห็นใจในจิตใจของเรา ทำให้เราอยากที่จะช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น
เพลงทุกรูปแบบมักจะมีฟังก์ชันแฝงอยู่เสมอ อย่างเพลงสนุกสนาน จังหวะเร็ว นอกจากจะทำให้เราตื่นเต้น ร่าเริง ยังทำให้เรามีแรงกระตุ้นที่จะออกกำลังกายได้นานกว่าเดิม เหมือนมีคนมาคอยจี้ให้เราขยับตัวตลอดเวลา และไม่รู้สึกเบื่อเวลาต้องอยู่บนลู่วิ่งนานๆ เช่นเดียวกับเพลงเศร้าที่ไม่ได้มีฟังก์ชันทำให้เราเศร้าเสียใจอย่างเดียว แต่ยังสามารถทำให้เรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังช่วงเวลาเก่าๆ ระบายอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดออกมาจนข้างในรู้สึกโล่ง และทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนที่กำลังบอบช้ำมากขึ้น ทำให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเศร้า เราก็สามารถเอ็นจอยไปกับเพลงเศร้าได้ไม่ต่างจากเพลงรักหรือเพลงสนุกสนานเลย
เศร้าให้สุด แล้วไม่ต้องรีบหยุด แต่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้
เวลาที่เจอเหตุการณ์เศร้าเสียใจ หลายคนมักจะ ‘หลีกเลี่ยง’ เพลงเศร้าเป็นอันดับแรก กลัวว่าถ้าฟังแล้วจะดิ่ง ดาวน์ จม ปวดแสบปวดร้อนเหมือนเอาน้ำเดือดปุดๆ มาราดลงแผลสด และเลือกไปฟังเพลงที่มีจังหวะสนุกๆ เพื่อทำให้ตัวเองสดใส ร่าเริงขึ้น
แต่จริงๆ แล้วเพลงเศร้าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะมันทำให้เรา ‘ยอมรับ’ ความรู้สึกของตัวเองได้ ผ่านการสะท้อนสภาวะอารมณ์ทางอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดของเราในช่วงเวลานั้น
เหมือนเวลาอกหัก เลิกกับแฟน ซึ่งช่วงเวลาหนึ่งเราอาจจะทำตัวแข็งแกร่ง ออกไปทำนั่นทำนี่ตามปกติ คิดว่าลืมทุกอย่างและก้าวผ่านมันไปได้แล้ว แต่พอเผลอเปิดเพลงเศร้าฟังเท่านั้นแหละ ทุกความทรงจำก็ pop up ในหัว ชัดเจนระดับ HD ราวกับว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ทำให้รู้ว่า “อ๋อ จริงๆ แล้วที่ผ่านมาเราไม่เคยก้าวผ่านเรื่องราวเหล่านี้ไปเลยต่างหาก เราเพียงแค่ซุกเอาไว้เฉยๆ รอวันที่จะมีอะไรมากระตุ้นให้นึกถึงอีกครั้ง”
เมื่อบางคนรู้สึกตัวได้แบบนั้น เขาจะเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้น และเริ่มหากระบวนการฟื้นฟูตัวเองใหม่ๆ โดยที่ผสมผสานกับความจริงที่เพิ่งค้นพบว่า เขาไม่สามารถลืมเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้ภายในเร็ววันหรอก “แล้ว…ถ้ายังไม่ลืม เราจะอยู่กับความทรงจำเหล่านี้ยังไงให้ไม่ทรมานมากเกินไป เราจะเลือกจดจำแบบไหนให้เจ็บปวดน้อยที่สุด เพราะสุดท้ายชีวิตก็ยังต้องเดินหน้าต่อไปพร้อมๆ กับความทรงจำเหล่านี้อยู่ดี”
เช่นเดียวกับความเศร้าในรูปแบบอื่นๆ อย่างความเศร้าที่มาจากความสูญเสีย ความผิดหวัง ความเหงา หรือความท้อแท้ ขั้นตอนแรกของการจะก้าวผ่านความรู้สึกเหล่านั้นไปให้ได้ คือการที่เราต้องยอมรับก่อนว่าเราเกิดความรู้สึกที่ว่านี้จริงๆ เพราะบางครั้งกลไกป้องกันตัวเองของเราจะนำเอาความรู้สึกเหล่านี้ไปซ่อนเอาไว้ในส่วนที่ลึกที่สุด เพื่อไม่ให้เราเกิดความเจ็บปวดหรือความเสียใจ ซึ่งนั่นไม่ได้ช่วยให้เราเป็นอิสระจากความรู้สึกเหล่านี้เลย แต่เมื่อเราค้นหามันเจอและยอมรับได้ เราจะรู้ว่าต้องจัดการตัวเองยังไง ซ่อมแซมความเจ็บในส่วนไหน โดยบางครั้งเราก็ต้องการเครื่องมือบางอย่างในการช่วยค้นหาไปด้วยกัน และนั่นก็คือเพลงเศร้าสักเพลงนั่นเอง
อีกทั้งเพลงเศร้าก็ยังเป็น ‘ตัวแทนความรู้สึกของเรา’ ได้ด้วย เพราะบางครั้งความรู้สึกที่ติดอยู่ข้างในซับซ้อนเกินไป จนเราไม่รู้จะพูด จะเล่า หรือจะระบายออกมายังไง ลองเปิดเพลงเศร้าดูสักเพลง อาจจะช่วย crack ความรู้สึกหรือมุมมองบางอย่างให้กับเราได้ และเมื่อฟังไปฟังมา ก็อาจจะพบว่าเพลงนี้เปรียบเสมือน ‘เพื่อน’ ที่เข้าใจความรู้สึกเราคนหนึ่งเลยล่ะ
แต่การฟังแต่เพลงเศร้าอย่างเดียวก็ไม่ได้ดีเสมอไปเช่นกัน โดยเฉพาะกับผู้ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์หรือมีภาวะซึมเศร้า เพราะเพลงเหล่านี้อาจเป็นตัว ‘กระตุ้น’ ให้เกิดความเศร้าได้มากกว่าเดิม ด้วยเนื้อหาและท่วงทำนองที่ยิ่งฟังแล้วยิ่งไปขยี้ความรู้สึกที่ไม่น่าภิรมย์
อาจจะไม่ต้องเปิดฟังปุ๊บปั๊บทันทีหรอก หรือลองหาวิธีที่สนุกสนานกว่านี้เข้ามาเยียวยาดูก่อนก็ได้ แต่เมื่อถึงจุดนึงที่คิดว่าการปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงไม่น่าเวิร์กในระยะยาว ‘เพลงเศร้า’ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี ที่ทำให้เราได้ขุดค้นความรู้สึกที่แท้จริงออกมา เพื่อที่จะได้ทำใจยอมรับ และเรียนรู้ที่จะ ‘อยู่กับมัน’ ได้อย่างไม่ทุกข์ทรมานมากเกินไป
อ้างอิงข้อมูลจาก