เราอยู่ในโลกที่เราตัดสินคนอื่นอยู่เสมอ เรามองผู้คนที่เดินผ่านไปมา และประเมินคนเหล่านั้นด้วยการมองแค่ปราดเดียว
‘มาตราฐาน’ เป็นสิ่งที่ เรามักจะเผลอเอาไปตัดสินคนอื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
มาตราฐาน ที่มักจะใช้กันคือ ‘ความเหมือนกัน’ เรามักมองผ่านไปที่ฝูงชน และในฝูงชนที่ผู้คน ‘ดูเหมือนๆ’ กัน ถ้ามีใครที่แตกต่างออกมา เราก็มักจะติดป้ายไปว่า คนๆ นั้น ‘ประหลาด’ … แค่คำว่าประหลาดคำเดียวก็เต็มไปด้วยนัยของการตัดสินไปเรียบร้อย
ความประหลาด ถ้าเราจะเรียกให้กลางคือ มันก็ ‘ความแตกต่าง’ ถ้าเราลองนึกดีๆ เราทุกคนต่างก็มีความแตกต่าง ต่างก็มีสิ่งที่พิเศษในตัวเอง
ภาพยนตร์โฆษณาสั้นชุด ‘อ้ายสาคร’ ของกลุ่มมิตรผลพูดถึงสาคร คนที่มีลักษณะอย่างที่ถูกสังคมตัดสินว่า ‘เป็นตุ๊ด’ แต่ในที่สุดแล้วแม้ว่ารูปลักษณ์และลักษณะของสาครจะเคยถูกกีดกัน แต่ด้วยความแตกต่างของสาครในที่สุดแล้วเธอก็สามารถพิสูจน์คุณค่าที่เคยถูกมองข้ามไปได้ในท้ายที่สุด คุณค่าที่อยู่ในภายในตัวของเธอเอง
สาคร เป็น…ใช่มั้ยเรา?
คำว่าตุ๊ดอาจจะเป็นคำที่แสลงหู เรื่องราวของสาครถูกเปิดด้วยคำพูดที่ฟาดเข้าใส่สาคร(และเราคนดู) การเป็นตุ๊ดเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างเปิดเผย เป็นสิ่งที่ทำให้สาครต้องเจอกับความยากลำบาก แน่ล่ะ ด้วยความที่สาครเป็นตุ๊ดทำให้หลายๆ ที่เลือกที่จะปฏิเสธเธอเข้าทำงาน ทั้งๆ ที่เธออาจแค่จะดูแปลกกว่าคนอื่นไปสักหน่อย
สิ่งที่น่าประทับใจคือ สาครและการเล่าเรื่องราวของอ้ายสาครกลับเต็มไปด้วยการมองโลกในแง่ดี สาครเองก็ไม่ได้มองว่าตัวตนของเธอคือความผิดพลาดที่ต้องปิดบังอำพราง แต่ในที่สุดแล้ว ตัวตนหรือความเป็นตุ๊ดของเธอนี่แหละที่เป็นพลังให้กับเธอไปจนได้
มีอะไรในความเป็นตุ๊ดของสาคร
ในทางทฤษฎีแนวคิดมีแนวคิดหนึ่งเรียกว่า Undecidability คือสิ่งที่มันดั้นมีลักษณะที่ ‘อยู่ตรงกลาง’ ของคู่ตรงข้าม เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะจำแนก (decide) ลงไปได้ คืองี้ในทางปรัชญาบอกว่ามนุษย์เรารับรู้ความหมายจากระบบ ‘คู่ตรงข้าม’ ดี-เลว ดำ-ขาว ชาย-หญิง ลองนึกดูว่าพอมันอะไรที่มันเป็นสีเทาๆ อยู่ตรงระหว่างดำกับขาว ดีหรือเลวเนี่ย มันก็เป็น ‘เรื่องยาก’ เรื่องนึง
ดังนั้น การเป็นตุ๊ด คือการที่คนๆ นึง แทนที่จะเป็นชายหรือหญิงไปตามที่สังคมเราคาดหวัง เป็นผู้ชายก็ต้องแมนๆ สิ การเป็นตุ๊ด มันดั๊นเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างชายแหละหญิง มีร่างกายเป็นชาย แต่กลับมีคุณลักษะของผู้หญิง มีความผสมปนเปกัน
แต่ไอ้ลักษณะที่มันผสมผสานของสาครเนี่ย เอาเข้าจริงกลับเป็นพลังให้กับเธอ เป็นสิ่งที่ทำให้เธอทำงานจนลุล่วงไปได้
สาครเป็นตุ๊ด และเป็นตุ๊ดที่เป็นพนักงานที่ดีคนหนึ่ง ที่อยากจะเอาชนะและเอาเรื่องราวเกษตรผสมผสานซึ่งเป็นของใหม่ไปเผยแพร่ให้กับชาวบ้าน แน่ล่ะ ต่อให้ไม่เป็นตุ๊ด การเอาความคิดใหม่ๆ เข้าไปสู่ผู้คนที่ทำอะไรแบบดั้งเดิมมันก็เป็นเรื่องไม่ง่ายอยู่แล้ว
ความเป็นตุ๊ด ถ้าเรามีเพื่อนตุ๊ด คนเหล่านี้เป็นคนที่มีพลัง มีความสร้างสรรค์ สาครจึงเริ่มด้วยการผสมผสานความสนุกอย่างหมอลำและเดลิเวอรี่ไปจนถึงหน้าบ้านชาวบ้าน แหม่ แต่ถึงเธอทำขนาดนั้นแล้ว ประตูบ้านก็ยังคงปิดใส่หน้าเธออยู่
สาครกับพลังพิเศษของความผสมผสาน
สิ่งที่ทำให้สาครเอาชนะใจชาวบ้านได้ ถ้าเราดูดีๆ ก็จะเห็นว่า มันคือการที่สาครมีทั้งลักษณะที่เป็นชายและหญิง ที่เธอใช้มันพร้อมๆ กัน จนสามารถเอาชนะใจครอบครัวของคุณลุงได้
แน่นอนว่าในตัวสาครเองก็ย่อมมีความเป็นผู้ชายอยู่ และการจะเอาชนะใจเกษตรกรหรือพูดเรื่องเกษตรกรรมได้ มันก็ลงแรงแบบชายๆ กันหน่อย สาครถึงขนาดโดดลงบ่อปลาและจับปลาขึ้นมาอย่างแข็งขัน
ไม่ใช่แค่นี้พลังอีกด้านของสาครคือการเป็นแม่บ้าน เธอมีพลังของผู้หญิงที่อยู่ในตัวเอง ที่สำคัญที่สุด คือไม่ใช่แค่เธอประกอบอาหารได้อย่างคล่องแคล่ว แต่เธอกลับมี ‘คุณสมบัติของความเป็นแม่’ ทั้งการที่สามารถสัมผัสความเศร้าของน้องยิ้มได้ ตรงนี้เองที่เธอใช้การทำอาหารในการเยียวยาความเศร้าของน้องยิ้ม ด้วยสายตา ความเข้าใจและการเอาใจใส่ที่ละเอียดอ่อนของสาครทำให้เธอสามารถเข้าใจคำว่า ‘ไม่เหมือนที่แม่ทำ’ จนสามารถปรับเปลี่ยนรสชาติเพื่อสร้างความสุขได้อย่างน่าประทับใจ
ไม่ว่าผู้สร้างจะตั้งใจวางลักษณะ ‘ผสมผสาน’ ของตัวสาครให้พ้องกับ ‘เกษตรผสมผสาน’ อันเป็นสิ่งที่สาครพยายามนำเสนอสู่ชาวบ้านหรือไม่ แต่ภาพตัวตนความเป็นตุ๊ดของสาครที่เคยถูกสังคมปฏิเสธและตัดสินแค่จากรูปลักษณ์ภายนอกของเธอ ก็มีลักษณะที่คล้ายกับเกษตรผสมผสาน คือเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากที่คุ้นเคยและถูกต่อต้านในคราวแรก
ความผสมผสานของเกษตรผสมผสานก็คล้ายๆ กับการที่สาครสามารถใช้คุณสมบัติทั้งของชายและหญิงได้อย่างไม่แบ่งแยก การทำเกษตรผสมผสานในทำนองเดียวกันคือการผสมเอาการเพาะปลูกและปศุสัตว์หลายๆ ชนิดไว้ในพื้นที่เดียวกัน จากเดิมที่การผลิตมักเป็นการผลิตเชิงเดี่ยว มีการปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวเพื่อขาย ไปสู่การทำเกษตรที่ผลิตวัตถุดิบและอาหารได้อย่างหลากหลายบนพื้นที่ๆ เดียว
การเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติที่เคยทำมาอย่างยาวนานย่อมเป็นเรื่องยากและถูกต่อต้าน การจะบอกว่าการทำเกษตรจากเกษตรเชิงเดี่ยวที่ปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อขาย ไปสู่วิถีการผลิตและจัดการพื้นที่อย่างหลากหลายเพื่อบริโภค ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างต้องใช้การเปิดใจในการทำความเข้าใจในวิถีที่แตกต่างออกไปพอสมควร