คำเตือน : มีการสปอยล์เนื้อหา Avengers: Endgame อย่างแรง ใครยังไม่ได้ดูโปรดข้าม
จนถึงตอนนี้ผมคิดว่าเหล่าแฟนานุแฟนของหนังซูเปอร์ฮีโร่ค่ายดังอย่างมาร์เวลคงจะได้ดูเรื่อง Avengers: Endgame กันหมดแล้วนะครับ (ขนาดผมที่อยู่ญี่ปุ่นซึ่งเรื่องนี้เข้าโรงช้ากว่ามากยังได้ดูแล้วเลย) และเท่าที่ผมพบเห็นจากกระแสทั่วไปในโลกโซเชียล เหล่าแฟนานุแฟนก็ดูจะอินและอิ่มเอมกับภาคนี้ไม่น้อยทีเดียว มีคนที่ตามดูแบบห่างๆ อาจจะมึนๆ งงๆ บ้าง เพราะตัวหนัง โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ นั้นไม่ได้มีการปูเนื้อหาอะไรให้คนที่ไม่ค่อยได้ตามจะมารู้เรื่องด้วยได้นัก ก็เลยทำให้หลักๆ แล้วดูจะออกมาเป็นสองกระแสลักษณะนี้
โดยส่วนตัวผมเอง ผมก็คิดว่าเป็นหนึ่งในหนังของมาร์เวลที่ผมโอเคด้วยมากที่สุด ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสถานการณ์มันตึงเครียดพอที่พวกซูเปอร์ฮีโร่มันจะไม่มาเล่นมุกบ้าบอปัญญาอ่อนระหว่างกำลังต่อยตีกันจะเป็นจะตายมากนัก (ซึ่งเจอทีไรผมจะหงุดหงิดทุกที) กระนั้นผมเองก็ไม่ได้ถึงกับให้คะแนนมันสูงส่งเป็นพิเศษอะไรขนาดที่แฟนบอยแฟนเกิร์ลมาร์เวลเค้าให้กันนัก เพราะผมรู้สึกว่าตรรกะเรื่องเวลาที่ใช้นั้นดูจะมีข้อผิดพลาดอยู่ (แต่ไม่ใช่ประเด็นของเราในครั้งนี้) คือ ปกติผมก็จะไม่กริ้วอะไรมากนักหรอกครับถ้ามัน ‘อยู่เฉยๆ’ ของมัน แต่อันนี้มีไปขิงใส่หนังเรื่องอื่นด้วยไงว่าพวกนั้นตรรกะเรื่องเวลาผิด ฉะนั้นถ้าจะไปขิงใส่เค้า ผมก็คิดว่าตรรกะของตัวเองก็ควรจะต้องแกร่งมาก ซึ่งก็ทำมาได้ดีนะครับในช่วงแรก แต่ผมคิดว่ามาพังตอนทานอสในอดีตโผล่ข้ามอนาคตมานี่แหละ เส้นเวลาที่พยายามรักษาไว้มันเลยพังไปด้วย
ประเด็นหลักที่ผมอยากจะหยิบมาพูดถึงในรอบนี้นั้น เอากันตรงๆ ก็คือสิ่งที่ผมได้จากการดูหนังเรื่องนี้ หรือเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้มันสะท้อนออกมา ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ผู้กำกับคิดหรือพยายามเสนอก็ได้ (ฉะนั้นไม่ต้องมาบอกก็ได้นะครับว่าผู้กำกับเค้ายังไม่ได้คิดเลยมั้ง อะไรแบบนี้) ซึ่งวิธีการอ่านหรือดูแบบนี้ เป็นวิธีการทางสังคมศาสตร์แบบหนึ่งที่เรียกว่า text as text หรือดูที่ตัวบทล้วนๆ โดยแยกขาดตัวบทออกจากผู้ผลิตสร้างตัวบทนั้นๆ การอ่านหรือดูตัวบทโดยอิงหรือสัมพันธ์กับตัวผู้สร้างด้วย เราจะเรียกว่า text as the mirror of the world หรือตัวบทในฐานะเครื่องสะท้อนโลกของตัวผู้ประพันธ์
เกือบ 2 ปีที่แล้ว ผมเคยเขียนถึงบทบาทของหนังซูเปอร์ฮีโร่ในฐานะภาพสะท้อนเรื่องความมั่นคง กระทั่งพัฒนาการทางความคิดและมุมมองที่มีต่อความมั่นคงในแต่ละยุค[1] ซึ่งผมก็ยังคงยืนยันตามนั้นอยู่นั่นแหละครับ เพียงแต่ว่ากรณีของ Endgame นี้ ผมคิดว่าภาพของสิ่งที่เรียกว่า ‘ภัย’ นั้นเปลี่ยนลักษณะไปเป็นสิ่งที่เรียกว่า beyond humanitarian capacity หรือเกินกว่ากำลังของมนุษย์จะต่อกรได้แล้ว ซึ่งจุดนี้ออกจะถือว่าไปไกลกว่าภาคอื่นๆ ที่ผ่านมา หรือหนังซูเปอร์ฮีโร่ฟอร์มยักษ์ในลักษณะเดียวกันอยู่บ้าง ที่มักสะท้อนภาพของความร่วมแรงร่วมใจกัน ก้าวไปข้างหน้า และสุดท้ายก็จะฝ่าไปได้
แต่ Endgame ซึ่งเป็น ‘ผลลัพธ์’ ของความพ่ายแพ้ในภาคก่อนอย่าง Avengers: Infinity War หนังบอกเราว่า ‘ภัยที่กำลังเผชิญอยู่นี้’ ไม่ใช่เพียงแค่ร่วมแรงร่วมใจและมุ่งหน้าเข้าชนจะสามารถทำให้ทุกอย่างดีขึ้นได้ ครั้งนี้ไม่เพียงพอเสียแล้ว
มุมมองของ ‘ภัย’ ที่เปลี่ยนไปนี้เอง ทำให้ผมพานไปนึกถึงดีเบตระหว่างสลาวอย ชิเชค และจอร์แดน ปีเตอร์สัน สองนักวิชาการชื่อดังจากสองฟากฝั่งความคิด ชิเชคเคลมตัวเองว่าเป็นมาร์กซิสต์ ส่วนปีเตอร์สันเป็นอนุรักษ์นิยม แต่พร้อมๆ กัน ทั้งสองคนก็โดนคนของฟากฝั่งความคิดแบบเดียวกันมองว่าเป็น ‘ตัวแปลกแยก’ อีกทีหนึ่ง อาจจะพอเรียกแบบสวยๆ ได้ว่า เป็น the other within อะไรแบบนั้น ชิเชคโด่งดังจากผลงานและข้อคิดที่แปลกใหม่ สวนวิถีความคิดแบบเดิมๆ ที่เราเคยมีต่อโลก ขนาดที่แค่ใช้คำว่าขบถคงไม่เพียงพอ แต่หลายครั้งกระทั่งกลับหัวกลับหางวิธีคิดใหม่เลยทีเดียว ส่วนปีเตอร์สันนั้นแกดังมาจากการตบเกรียนฝ่ายซ้ายที่บ่อยครั้งเสนออะไรง่าวๆ แต่เสียงดัง ให้กลับที่กลับถิ่นนั่นแหละครับ (‘ฝ่ายซ้ายเห่อ hmoi’ ก็เรียก) พูดอีกแบบก็คือ แกเป็นฝ่ายขวาที่ฉลาดมากพอที่จะพูดอะไรแล้วมันฟังขึ้นหรือเมกเซนส์ได้ ซึ่งไม่ได้เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว (ช่วงก่อนหน้านี้ที่ดังๆ ก็คือกลุ่มฟรานซิส ฟูกุยามะ หรือไอร์วิ่ง คริสตอล ก่อนหน้านั้นอีกก็พวกคริสซิงเจอร์ แล้วก็หายไปพักใหญ่ๆ เลย)
ผมคงจะไม่สามารถอภิปรายรายละเอียดทั้งหมดของดีเบตระหว่างชิเชคกับปีเตอร์สันในบทความนี้ได้ ขอนำมาเฉพาะส่วนที่จะใช้งานนะครับ (ใครสนใจลองกูเกิลดูได้ครับ หาไม่ยาก) ประเด็นหลักในดีเบตของชิเชคกับปีเตอร์สัน ก็คือ บทบาท อำนาจ และผลพวงของทุนนิยมเสรีที่สร้างขึ้นกับสังคมโลกของเราในปัจจุบัน เอาแบบสรุปๆ เลยก็คือ ด้วยตรรกะแบบทุนนิยมเสรีที่แปลงคุณค่าต่างๆ ให้กลายมาเป็นทุนเสียสิ้นและเน้นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการบริโภคอย่างไม่ลดละนั้น มันได้ผลักดันให้โลกเราเข้ามาสู่จุดที่กลายเป็นภัยระดับมโหฬารเกินกว่าที่มนุษย์หรือระบอบการเมืองใดๆ อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้จะเข้าไปแก้ไขจัดการได้แล้ว หรือก็คือ มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า beyond humanitarian capacity ขึ้นมาก็ว่าได้นั่นเองครับ อย่างปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมกับความสัมพันธ์ของระบอบทุนเองก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่ถูกยกขึ้นมา ซึ่งใกล้เคียงกับที่ผมเคยเขียนไปแล้วเมื่อไม่นานนี้ ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดเพิ่มนะครับ เอาเป็นว่าตรรกะเรื่องการอนุรักษ์โลกในระบบแบบที่เป็นอยู่นั้น มันได้พ่ายแพ้ให้กับทุนนิยมไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง[2]
ฉะนั้น เมื่อเครื่องไม้เครื่องมือแบบที่เป็นอยู่ไม่ทำให้แก้ปัญหาได้ กระทั่งก้าวเกินไปกว่าขอบเขตความสามารถของมนุษย์ที่ต่อให้ร่วมหัวจมท้ายกันพุ่งหน้าชนก็แก้ปัญหาไม่ได้ หากเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ทางเดียวที่เราจะทำอะไรได้กับปัญหาที่ยากเหลือเกินจะแก้ไขนี้ ก็คือ การย้อนกลับไปดูว่าทุนนิยมมันทำฉิบหายอะไรมายังไงบ้าง มันเริ่มบิดเบี้ยวตรงไหน มันก่อความผิดพลาดมายังไง แล้วต้องมาสร้างรูปแบบการอยู่ร่วมกันใหม่โดยอุดรอยรั่วของจุดบอดเดิมที่ทุนนิยมเสรีได้สร้างเอาไว้ หากไม่ทำแบบนี้ พุ่งชนไปก็พังอยู่ดี (อันนำมาสู่ข้อสรุปของดีเบตที่ยอมรับว่า ทุนนิยมอาจจะจำเป็น แต่ต้องเป็นทุนนิยมที่มีกลไกการควบคุมที่ชัดเจน ไม่ใช่เสรีอย่างที่เป็นอยู่—รายละเอียดไปหาดูหาฟังหาอ่านกันเองนะครับ)
ผมขอยกคำพูดตอนหนึ่งของชิเชคจากดีเบตมาสักหน่อย
“… So, how to act? First by admitting we are in a deep mess. There is no simple democratic solution here. The idea that people themselves should decide what to do about ecology sounds deep, but it begs an important question, even when their comprehension is not distorted by corporate interests. What qualifies them to pass a judgment in such a delicate matter? …”
[แล้วเราจะรับมือ(กับปัญหาเหล่านี้)อย่างไร? อย่างแรกสุดก็คือต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงกันว่าพวกเรานั้นกำลังเผชิญกับปัญหาที่ฉิบหายมากๆ ก่อน และมันไม่ได้มีหนทางในการแก้ปัญหาด้วยประชาธิปไตยอะไรง่ายๆ ด้วย แม้แต่แนวคิดที่ให้ประชาชน(ของโลก)ได้เป็นผู้ตัดสินเองว่าสภาพแวดล้อมควรจะเป็นอย่างไร ที่แม้จะฟังดูลึกซึ้ง แต่มันก็ตามมาด้วยคำถามที่สำคัญว่า ต่อให้ความเข้าใจของคนทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้ถูกบิดเบือนใดๆ โดยผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเลย พวกเขาเอาคุณสมบัติอะไรที่จะมามีอำนาจตัดสินในเรื่องที่ละเอียดอ่อนแบบนี้ได้?]
ก็จะพอเห็นได้นะครับว่า ชิเชคเสนอชัดเจนว่า ไอ้ปัญหาที่เผชิญกันอยู่ไม่ได้มีกลไกอะไรที่มีอยู่ในตอนนี้จะเข้าไปแก้ไขได้ และต่อให้รวมหัวกัน ในนาม the people แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะได้เรื่องได้ราว ก็อาจจะฉิบหายอยู่ดีเหมือนที่ Avengers พ่ายแพ้ฉิบหายไปใน Avengers: Infinity War
ผมคิดว่าวิธีการมองตัวปัญหาและหาทางออกของนักวิชาการทั้ง 2 คนนี้ มีรูปแบบวิธีการคิดที่คล้ายกับ Avengers: Endgame ทีเดียว (จะเอาให้ถูกคือ Infinity War + Endgame เพราะแยกขาดจากกันก็ไม่ได้อีก) คือ เมื่อภัยต่อความมั่นคงเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป เป็นอะไรที่ใหญ่เกินกว่าการรับมือด้วยเครื่องมือหรือทางเลือกแบบเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือกระทั่งรวมกำลังกันเข้าฟัดปล่อยอัลติรุมใส่ก็ไม่ช่วยนั้น ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ก็คือการ ‘ย้อนกลับไปแก้ไข’ ไปอุดจุดบอดของสิ่งที่นำมาซึ่งปัญหาที่เป็นอยู่ตอนนี้เสีย เหมือนอย่างการอุปมาด้วยการย้อนเวลากลับไปเอา Infinity Stone ในอดีตหวนกลับมาแก้ไข โดยไม่ทำให้ความเป็นจริงในอดีตเปลี่ยนแปลงไป (คือ ใช้เสร็จแล้วเดี๋ยวจะเอา Infinity Stone กลับไปคืนที่เดิม ณ ช่วงเวลาเดิมกับที่เอามาเลยนะ ฉะนั้นจึงเสมือนไม่เคยมีการเอาหินเวรพวกนี้มาใช้) สำหรับผมแล้วมันก็คือการเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงที่ว่า “อดีตไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่บทเรียนของอดีตที่ทำไว้ และกลายมาเป็นปัญหาสาหัสสากรรจ์ตอนนี้นั้น มันสามารถนำมาใช้เพื่อแก้ไขความเป็นจริงในปัจจุบันนี้ได้”
สิ่งที่เรียกว่าภัยโดยตัวมันเองอาจจะไม่ใช่ต้นตอของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นทานอส หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม, ภัยก่อการร้าย, กระแสฝ่ายขวาบ้าคลั่ง, ฯลฯ แต่ตัวปัญหาที่แท้จริงอาจจะเป็นการมีตัวตนอยู่ของระบบโครงสร้างที่ทำให้ ‘ภัย’ ที่ว่านี้มันเกิดขึ้นเสียมากกว่า อย่างการมีอยู่ของ Infinity Stone หรือระบบทุนนิยม ที่สร้างเงื่อนไขและดำรงโครงสร้างของความเป็นจริงในสังคมแบบที่เป็นอยู่ขึ้นมา ไอ้ปัญหาที่เรียกว่า ‘ภัย’ เหล่านี้มันจึงได้เกิดขึ้นมาด้วย ฉะนั้นมันไม่มีทางเลยที่จะซัดกับปัญหาเหล่านี้ได้ ด้วยเครื่องมือชุดเดียวกันกับที่สร้างปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา
มีทางเดียวคือ ต้องหาเครื่องมือชิ้นใหม่ วิธีคิดแบบใหม่ ที่จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะเมื่อเรากลับไปส่องชะโงกดูความจริงและร่องรอยของบาดแผลที่ ‘ระบอบที่เราอุ้มชูบูชา’ อยู่ตอนนี้สร้างไว้ และอาจถึงเวลาที่ต้องกล้าพอที่จะ ‘หยุด’ ไปต่อกับระบอบและโครงสร้างแบบเดิมๆ แล้ว
จริงๆ ส่วนนึงที่ผมคิดว่าคงจะเป็นความบังเอิญ แต่ผมค่อนข้างจะชอบที่สุดก็คือ การตายของไอรอนแมนในตอนท้าย เพราะไม่ว่าจะชอบหรือเกลียดไอรอนแมน (อย่างผม) ก็ตาม ผมคิดว่าต้องยอมรับว่าไอรอนแมนนั้นน่าจะต้องนับว่ามีความเป็นมนุษย์สูงที่สุดในทางกายภาพ คือ โทนี สตาร์ก เป็นคนธรรมดาๆ นี่แหละที่ฉลาดสัสๆ เขาไม่ได้โดนรังสีแกรมมา ไม่ใช่เทพเจ้า ไม่ได้โดนแมงมุมกัดจนกลายพันธุ์ หรือได้รับพลังจาก Infinity Stone สักก้อนเข้าไปในร่าง ไม่ได้มีกระทั่งความสามารถทางร่างกายแบบเอเจนต์ทั้งสอง เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของซูเปอร์ฮีโร่ตัวท็อปได้ด้วยอำนาจของเทคโนโลยี เงิน และสมอง ไอรอนแมนและโทนี สตาร์กจึงดูจะเป็นตัวแทนของมนุษย์และทุนนิยมชนิดสุดลิ่มทิ่มประตูไปเลยทีเดียว
และอย่างที่บอกไปว่าคงจะบังเอิญ แต่การตายไปของสตาร์กก็ยิ่งทำให้ผมนึกถึงความเป็นภัยที่เกินกว่ามนุษย์จะต้านทานได้ และการจะยุติภัยร้ายนี้อาจจะต้องมองมันในฐานะว่าเป็นจุดจบของทุนนิยมในแบบที่เราคุ้นชินกันเสียด้วย แต่ก็นั่นแหละครับ ในฐานะแฟนบอยดีซี ผมก็ดีใจที่ตายๆ จบๆ กันไปได้สักที หึหึหึหึ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู thematter.co
[2] โปรดดู thematter.co