พรุ่งนี้เป็นวันเด็กแห่งชาติ จะว่าไป ถ้าไม่นับคนที่มีเด็กๆ ในปกครองที่จะต้องหอบลูกจูงหลานไปท่องเที่ยวทำกิจกรรม ก็จะรู้สึกว่าเป็นวันที่ไม่ค่อยเกี่ยวอะไรกับตัวเราเท่าไหร่ เพราะเรามันเป็นผู้ใหญ่แล้วไงเล่า
นั่นสิ ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว บางทีก็อาจจะรำคาญเด็กๆ บ้าง แต่ไอ้การรำคาญเด็กๆ และยึดอยู่กับวิถีแบบผู้ใหญ่ๆ ถ้าเราลองมองจากมุมมองตอนที่เราเป็นเด็ก จะเป็นไปได้มั้ยนะ ว่าเราได้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เราในตอนนั้นอาจจะไม่ได้ชอบตัวเราในวันนี้เท่าไหร่
ตอนนี้เราอาจกลายเป็นคนที่เราเคยไม่ชอบ เป็นคนแห้งแล้ง ชินชา อยู่ในกรอบ ไร้จินตนาการ จืดชืด ขาดความสนุกสนาน ไม่สนใจสิ่งรอบตัวนอกจากเป้าหมายของตัวเอง
ตรงข้ามกับความเป็นเด็กที่เรารำคาญ เด็กที่สดใหม่ สนุกสนาน ช่างสงสัย สนอกสนใจทุกอย่างอย่างไม่มีข้อจำกัด
‘เด็ก’ – ไม่ดี?
‘อย่าทำตัวเป็นเด็กๆ สิ’ หรือทำตัวให้มันเป็นผู้ใหญ่หน่อย คือตอนนี้โตแล้วนะ ไม่ควรทำตัวเป็นเด็กๆ ภาษาอังกฤษมีคำว่า childish ที่มีนัยทำนองเดียวกัน คือ เป็นเด็กๆ ในแง่ที่ว่าไม่ซับซ้อน ไม่คิดอะไรมากมาย ทำตามความต้องการของตัวเองแบบไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ
ดูเหมือนว่าความเป็นเด็กเป็นสิ่งที่เราทุกคนมีร่วมกัน แต่ในที่สุดด้วยกาลเวลา ความจำเป็น และความรับผิดชอบต่างๆ มันก็ค่อยๆ ทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่-ที่ต้องละทิ้งความเป็นเด็กไป เราต้องคิดมากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น ผ่านโลกมาในระดับหนึ่งก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรใหม่ให้เรียนรู้แล้ว จากความสดใหม่ช่วงต้นของชีวิต ก็ค่อยๆ นำไปสู่ความแห้งแล้งลงเรื่อยๆ
จริงๆ ชีวิตคนเรามันก็ไม่ได้เป็นเส้นตรงขนาดนั้นหรอก ถึงจะอายุมากขึ้น โลกต้องการให้เรามีความรับผิดชอบและต้องการอะไรต่างๆ จากเรา ความเป็นเด็กมันไม่ได้หายไปตามกาล แต่มันคือคุณสมบัติที่เราอาจยังคงบำรุงรักษาไว้ เพื่อให้การเป็นผู้ใหญ่ของเราไม่แห้งแล้งจนเกินไป
เจ้าชายน้อยกับคำเตือนถึงคนโตๆ
ว่าด้วยเรื่องชวนระลึกและรื้อฟื้นความเป็นเด็กคงต้องอ้างอิงไปที่ ‘เจ้าชายน้อย’
มีหลายคนพูดถึงความเป็นเด็กว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้หายไปไหน แต่เรายังคงมีความเป็นเด็กของตัวเองซุกซ่อนอยู่ – การที่เจ้าชายน้อยสามารถสัมผัสหัวใจของเราได้ สิ่งที่เชื่อมโยงเรากับเจ้าชายน้อยเข้าด้วยกันก็คือความเป็นเด็กที่เราจำเป็นต้องละทิ้งไป
นั่นสินะ ครั้งหนึ่งเราเคยสงสัยกับทุกๆ เรื่อง เคยสนอกสนใจกับสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีข้อจำกัด เราอาจเคยมองเห็นงูที่มีช้างอยู่ในข้างใน แต่พอเราโตขึ้น เรากลับมาเห็นแค่รูปร่างภายนอกแล้วตัดสินว่ามันเป็นแค่หมวกธรรมดาๆ น่าเบื่อๆ ใบหนึ่ง จินตนาการของหดหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่แน่ใจ
ของประหลาดๆ ที่ถูกพูดถึงในเจ้าชายน้อย เกือบทั้งหมดมันคือภาพของผู้ใหญ่ ภาพที่เราต่างก็เป็นอยู่กันไม่มากก็น้อย บางทีเราก็คิดคำนวนสิ่งต่างๆ และเปรียบเทียบเป็นตัวเงินหรือมูลค่ามากเกินไป บางทีเราอาจจะห่วงหรือคำนึงผลของสิ่งต่างๆ จนไม่กล้าลงมือหรือเดินหน้าทำอะไร บางทีเราอาจสงวนท่าทีจนสูญเสียสิ่งสำคัญไป หรือบางครั้งเราอาจรู้สึกว่าเรารู้ทุกอย่างจนกระทั่งลืมหยุดสำรวจเพื่อมองหาสิ่งใหม่ๆ หรือบางครั้งคำอธิบายอาจไม่มีความจำเป็นอะไรขนาดนั้น แค่ความเงียบและมีความสุขไปกับชั่วขณะนั้นก็เพียงพอแล้ว
หรือเราไม่เคยหยุดเล่น แต่ความสนุกหายไป
มีคำนิยามหนึ่งที่อธิบายว่ามนุษย์เราใช้ชีวิตเพื่อการเล่น หรือ Homo Ludens ประมาณว่าถึงเราจะโตขึ้น แต่แกนสำคัญของความเป็นมนุษย์และวัฒนธรรมของมนุษย์อยู่ที่ ‘การเล่น’ พอโตขึ้นดูเหมือนการเล่นไม่สนุกอีกต่อไป กลายเป็นเกมเครียดๆ ของอำนาจ เกมของความมั่งคั่งไป
เอาจริง แค่ใช้ชีวิตไม่สนุก เล่นเกมอย่างเครียดๆ ไป ชีวิตคงไม่ดีเท่าไหร่ นอกจากการเป็นคนขี้เล่นซึ่งน่าจะนิยามได้ว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นเด็ก งานศึกษาของเรอเน่ โพเยอร์ (René Proyer) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยซูริค (University of Zurich) พบว่า ความขี้เล่นมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงกับคุณสมบัติที่ดีต่างๆ เช่น การเป็นคนตอบสนองฉับไว เป็นคนเปิดเผย สร้างสรรค์ ชอบสนุกสนาน เป็นคนสบายๆ ไม่ค่อยเครียด และจากการสำรวจพบว่ามักมีความเป็นผู้นำ และมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่าคนที่ขี้เล่นยังดึงดูดเพศตรงข้ามเป็นพิเศษ
การเป็นผู้ใหญ่มันยาก ตอนเป็นเด็กเราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ง่าย แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะยากที่สุด คือการรักษาความเป็นเด็กไว้ท่ามกลางโลกที่ต้องการความเป็นผู้ใหญ่นี่แหละ
หรือในทางกลับกัน ถ้าเราคงความเป็นเด็ก หรือมุมมองแบบเด็กๆ ไว้บ้าง ชีวิตอาจจะง่ายขึ้นแบบง่ายๆ ก็ได้