ไม่ชอบให้พ่อแม่เปรียบเทียบเลย หรือบางทีก็โดนพ่อแม่กดดันตลอด กิจกรรมก็ต้องดี ดนตรีก็ต้องเล่นได้ การเรียนก็ต้องให้ติดท็อป หรือกับบางครอบครัวก็ปล่อยลูกอย่างใจดี สปอยด์ลูกทุกอย่าง จนลูกเอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์ขึ้นมาง่ายๆ
เลี้ยงลูกคนหนึ่งให้เติบโต คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกเจออุปสรรค ปัญหามากมาย บางครั้งก็ทะเลาะกับลูก ลูกๆ ไม่เข้าใจแม้จะอยากให้ลูกได้ดี หรือบางทีควรจะสปอยล์ลูกไหม สปอยล์แค่ไหน หรือจะกดดันดี ในขณะที่ลูกๆ เอง บางครั้งก็รู้สึกคุยกับพ่อแม่ไม่รู้เรื่อง ไม่ชอบให้พ่อแม่เปรียบเทียบ ระบายด้วยการร้องไห้พ่อแม่ก็ยังไม่เข้าใจ
The MATTER พูดคุยกับหมอมินบานเย็น หรือ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่นอกจากเป็นคุณหมอที่ให้คำปรึกษาในโรงพยาบาลแล้ว ยังเปิดเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแบ่งปันความรู้ และสร้างความเข้าใจเรื่องของเด็กๆ และวัยรุ่นถึงจิตวิทยาการเติบโตในการเลี้ยงลูกๆ กัน
เข็นเด็กขึ้นภูเขา : ปัญหาที่พ่อแม่และเด็กรุ่นใหม่กำลังพบเจอ
ในฐานะจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่ผ่านมาหมอมินจึงได้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษากับผู้ปกครองมามากมาย หลายคนเข้ามาขอคำแนะนำเกี่ยวกับประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยปัญหาที่หลากหลาย
“ส่วนใหญ่คนที่มาปรึกษาที่โรงพยาบาลจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ และพาลูกๆ มา แต่เด็กๆ ที่เข้ามาปรึกษาเองคือ เด็กที่เริ่มเข้ามหาวิทยาลัยหรือเป็นวัยรุ่นแล้ว ถ้าเป็นเด็กเล็ก ก่อนเข้าเรียน อาจจะเป็นปัญหาเรื่องการควบคุมตัวเอง ความดื้อ พฤติกรรมที่ปกติเราเจอในเด็กเล็กๆ เรื่องเอาแต่ใจ การกิน การนอน และการเลี้ยงลูก
“พอเด็กโตขึ้นก็จะเริ่มเป็นปัญหาเรื่องการเรียนมากขึ้น พอเป็นวัยรุ่นก็จะเป็นปัญหาของวัยรุ่นอย่าง ติดเกม ติดเพื่อน หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
แล้วเด็กๆ เจอกับปัญหาแบบไหนบ้าง? เราถามหมอมิน
“วัยรุ่นมักจะมาปรึกษาเรื่องอนาคตของเขา เขาไม่แน่ใจว่าจะเรียนอะไร หรือว่าทำอะไร หรือว่าความขัดแย้งในการวางแผนปัญหาชีวิต คุณพ่อคุณแม่ไม่ค่อยเห็นด้วย รวมปัญหาอย่างทะเลาะกับเพื่อน สัมพันธภาพกับเพื่อนๆ ก็มี
“หมอเชื่อว่า ส่วนใหญ่ในช่วงชีวิตนึงเด็กต้องใช้เวลากับโรงเรียนมาก การเรียนต่างๆ ก็เหมือนกระบวนการในชีวิตเด็กๆ ให้เติบโตไป ยิ่งในยุคสมัยใหม่ เรื่องการเรียนก็จะมีการแข่งขันกันมากขึ้น การที่จะเรียนให้ดีหรือระบบการศึกษาของบ้านเรามันเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตรงนี้ก็สร้างความเครียดให้กับทั้งพ่อแม่ และเด็กๆ”
เพื่อให้คนในครอบครัวเข้าใจกันและกันมากขึ้น จิตวิทยาที่เกี่ยวกับการเติบโตและพัฒนาการของเด็ก จึงดูเหมือนจะเป็นความรู้แบบหนึ่งที่ช่วยสานความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่นได้ดียิ่งขึ้น
“เราอาจจะต้องเข้าใจเด็กในแต่ละวัย ในเรื่องของพัฒนาการ ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของเค้า แต่นอกจากเข้าใจเด็กแล้ว ก็ต้องเข้าใจพ่อแม่ด้วย เพราะส่วนใหญ่จะมาพร้อมกัน ถึงแม้จะมาด้วยปัญหาของเด็ก แต่จริงๆ คุณพ่อคุณแม่ก็มีปัญหาด้วย เรียกได้ว่าเราก็ต้องมีความเห็นอกเห็นใจ และมีความเข้าใจ”
ปัญหาหนักใจเหล่านี่ที่เกิดขึ้น เลยเป็นที่มาของการทำเพจชื่อว่า ‘เข็นเด็กขึ้นภูเขา’ ที่คุณหมอตั้งใจอยากให้เป็นช่องทางช่วยสื่อสารความรู้ และข้อแนะนำเกี่ยวกับเรื่องจิตวิทยาภายในครอบครัว
คุณหมอเล่าว่าโพสต์ที่มักมีคนตอบรับมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นใกล้ตัว “หมอคิดว่าจะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใกล้ตัว คล้ายคลึงกับชีวิตเขา เช่นลูกไม่เชื่อฟัง หรือว่าคุยกับลูกไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือว่าเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เจอบ่อยๆ อย่างพ่อแม่ยุคใหม่ก็จะเจอกับเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดการค่อนข้างยาก”
สปอยล์ และใจดี VS กดดัน
ปัญหาในการเลี้ยงดูลูกๆ ที่เราพบเจอในปัจจุบันส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของความใจดีหรือการสปอยล์ และการกดดันที่บางครอบครัวอาจจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับลูกๆ หลานๆ มากจนเกินไป จนอาจกลายเป็นการทำร้ายเด็กๆ ได้ คุณหมอพูดถึงประเด็นนี้กับเราว่า ในการเลี้ยงดูลูกๆ ควรจะมีสมดุลของทั้ง 2 อย่างนี้อย่างพอดี
“พ่อแม่ทุกคนรักลูก แต่ในยุคปัจจุบัน พ่อแม่บางคนก็อาจจะมีลูกน้อย มีลูกยาก มีลูกแค่คนเดียว หรือหลานคนเดียว เด็กก็จะได้รับความรัก และการดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างมาก บางครั้งตรงนี้มันจะขาดสมดุลนิดนึง เรื่องความรักและเอาใจใส่เป็นเรื่องดีมากๆ แต่ก็ต้องมีเรื่องของระเบียบวินัย ต้องสอนให้เขารู้จักควบคุมตัวเอง”
อย่างไรก็ดี คุณหมออธิบายเพิ่มว่า แม้พ่อแม่มีความหวังดี และอยากเห็นลูกมีความสุข แต่สิ่งที่ดีคือควรจะจัดสมดุลให้ดีๆ ระหว่างการเป็นผู้ปกครองที่ใจดี กับ การรักษาระเบียบวินัย
“มันต้องมีสมดุลทั้ง 2 อย่างไม่ให้มากไป ทั้งความรักและระเบียบวินัย คือต้องมีทั้งความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ มีเวลาใกล้ชิด สัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะรักอย่างเดียว เด็กอยากทำอะไร อยากได้อะไร ก็ให้หมด เด็กก็จะเอาตัวเอง ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางคุณพ่อคุณแม่ ต้องมีขอบเขต มีระเบียบวินัย เวลาเด็กจะทำอะไร แต่ก็ไม่ใช่จะให้มีระเบียบอย่างเดียว มันก็จะกลายเป็นกดดัน ต้องมีให้สมดุลกัน ทั้งรักและการให้มีระเบียบวินัย เด็กก็จะเป็นเด็กที่เติบโตมามีความสุข รู้จักควบคุมการกระทำของตัวเอง มีความเชื่อมั่น ไว้วางใจพ่อแม่ และความเชื่อมั่นก็จะทำให้เด็กเชื่อฟังผู้ใหญ่มากขึ้น
“คงไม่ได้มีตัวเลขที่วัดได้ชัดเจนว่าความสมดุล หรือความพอดีคือเท่าไหร่ แต่ในขณะที่พ่อแม่บอก หรือสอนลูก จะต้องมีสติ สัมปชัญญะ ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ จะทำให้เกิดอะไรตามมา และต้องคิดด้วยว่าการกระทำไหนที่เขาทำได้ ทำไม่ได้ จะมีผลอะไรต่อมาในอนาคต เช่น บางทีเราตามใจเขามากเกินไป โตมาเขาก็จะตามใจตัวเอง อยากทำอะไรก็ทำแบบนี้ ก็จะไม่ดี อยู่กับคนอื่นก็คงยาก”
การทำร้ายเด็กๆ โดยไม่รู้ตัว
จริงอยู่ที่ความคาดหวัง มักหมายถึงความปรารถนาดีที่พ่อแม่มีให้กับลูกๆ แต่ในเวลาเดียว มันก็หลายมีครั้งที่ความคาดหวังเหล่านั้น นำไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างบาดแผลในใจให้กับลูกด้วยเหมือนกัน
หมอมินเชื่อว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากมุมมองต่อ ‘ปลายทางของความสุข’ ที่คนต่างรุ่นมองไม่เหมือนกัน ทางฝั่งพ่อแม่บางคนอาจมองว่าความสุขคือคะแนนสอบ หรือชีวิตที่ประสบความสำเร็จ แต่บางคนก็เชื่อว่า ความสุขของลูกคือการที่เขาได้เป็นตัวของตัวเอง
“คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ปรารถนาให้ลูกมีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง อันนี้เป็นสุดยอดปรารถนาของคุณพ่อคุณแม่ทุกคน แต่บางครั้ง กระบวนการที่จะทำให้ลูกมีความสุข แต่ละคนจะมีแนวคิดไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่าเราให้ความเข้าใจเขา ให้เขาเติบโตอย่างที่อยากจะเป็น อยากจะทำ อันนี้เป็นความสุขของลูก
“ในขณะที่บางคนก็รู้สึกว่า ไม่ได้นะ ถ้าจะให้ลูกมีความสุข ลูกจะต้องสอบได้คะแนนดีๆ ต้องสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เรียนคณะนี้คณะนั้น ทำงานดีๆ ลูกถึงจะมีความสุข กระบวนการขั้นตอนของคุณพ่อคุณแม่อาจจะต่างกันนิดนึง แต่จริงๆ ทุกคนก็รักลูก และอยากให้ลูกมาความสุข”
ไม่ใช่แค่ความคาดหวังที่มักทำร้ายความรู้สึกกันโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่การเปรียบเทียบก็เป็นอีกอย่างที่ผู้ใหญ่อาจจะเผลอพูดกับลูกๆ หลานๆ และสร้างผลกระทบต่อลูกๆ ด้วยเช่นกัน
“ไม่ควรมีเรื่องของการเปรียบเทียบเลยนะคะ มันเป็นลักษณะการสื่อสารที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และการต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม ไม่มีใครชอบการเปรียบเทียบ ถ้าพ่อแม่คิดว่าเราก็ไม่ชอบแบบนั้น ลูกเราก็คงจะไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นเปรียบเทียบ ประชดประชัน ใช้คำพูดรุนแรง หยาบคาย ตีตรา ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้เขาทำอะไร ให้บอกอย่างตรงไปตรงมา บอกที่พฤติกรรม ไม่ต้องไปตำหนิที่ตัวตน มันจะยิ่งทำให้เด็กไม่เชื่อ
“พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการวัยรุ่น อาจจะต้องเข้าใจและคุยกับเขา ในแง่เหตุผลมากขึ้น สร้างแรงจูงใจว่าทำไมเราถึงอยากให้เขาทำแบบนั้น ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจ ต้องฟังเขาให้มาก ฟังความคิด ความรู้สึก สิ่งที่เขาอยากจะทำ อยากจะเป็น ถ้าเราอยากจะเข้าใจลูก เราต้องฟังเขาให้มาก ไม่ใช่ว่าเราพูดให้เขาฟัง เราจะไม่เข้าใจเขา”
แต่ในบางครั้ง พ่อแม่เองก็อาจจะสร้างบาดแผลให้ลูกๆ โดยไม่รู้ตัว ปัญหาที่เกิดตั้งแต่เด็กๆ อาจจะกลายเป็นปม คุณหมอแนะนำว่า อาจจะแก้ หรือเยียวยาด้วยความเข้าใจ
“ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจเด็ก เข้าใจที่มาที่ไปของบาดแผล หรือสิ่งที่เด็กรู้สึก ตรงนี้จะช่วยมากๆ และจะนำมาสู่กระบวนการเยียวยาต่อไป การที่มีใครสักคนเข้าใจ มองเห็น รับรู้ และยอมรับปัญหาของเขา จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากในการจัดการปัญหา และนำมาสู่ว่าเด็กจะยอมรับ และเข้าใจ เยียวยาตัวเองได้มากขึ้น ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ อาจจะเป็นคุณครู เพื่อน หรือคนที่เป็นที่พึ่งพาทางใจได้ แต่อย่างมากที่สุดเราก็หวังว่าเด็กจะเข้าใจและยอมรับตัวเองได้”
การแสดงออก และการระบายอารมณ์ของลูกๆ
บางครั้งในการเลี้ยงดู อาจจะมีการทะเลาะกันในครอบครัว หรืออาจจะมีเรื่องสะเทือนใจจนทำให้ลูกๆ เสียน้ำตากันได้ คุณหมอก็เล่าว่าเรื่องการร้องไห้ของเด็กๆ แต่ละวัย ก็สำคัญต่อการเติบโตของพวกเขา
“ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หมอมองว่าการร้องไห้เป็นเรื่องธรรมดา มันเป็นเหมือนกระบวนการแสดงออกทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ดีใจมาก เสียใจมาก อารมณ์ที่ท่วมท้นก็ทำให้เราร้องไห้ได้ มันไม่ใช่ความผิดปกติ ก็อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าเป็นการแสดงออกทางอารมณ์นึงของเด็ก แต่ว่ามันก็จะค่อยพัฒนาขึ้นตามวัย
“ถ้าในเด็กเล็กๆ การร้องไห้ก็อาจจะเป็นไปอย่างเต็มที่ ไม่ได้ควบคุม อัดอั้น หรือเก็บเอาไว้ พอเขาเติบโตขึ้นไปเรื่อย เขาก็จะรู้ว่า โอเค ร้องไห้ได้ แต่ไม่ใช่ว่าฟูมฟาย หรือทำร้ายตัวเอง พอเศร้าเราก็ร้องไห้ได้ แล้วก็หยุด และเราก็ไปทำอะไรอย่างอื่นก็เป็นเรื่องปกติ แต่บางทีพ่อแม่ก็จะทนไม่ได้ที่เห็นน้ำตาของลูก แต่มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กต้องผ่านไป ร้องไห้ หัวเราะ มีเป็นปกติ
“นอกจากการร้องไห้ และเด็กๆ ก็ยังมีช่องทางในการระบายที่หลากหลายนะคะ ถ้าเด็กเครียด หรือกดดัน การแสดงออกก็มีหลายแบบ ทั้งแบบที่เรียกว่าการแสดงออกที่เหมาะสม และไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ ถ้าเหมาะสมก็คือ เมื่อเด็กเครียด ก็อาจจะโวยวายนิดนึง แต่ไม่ได้รุนแรง อาจจะมีบ่นๆ บ้าง แต่ก็ไปหาวิธีจัดการความเครียดได้ เช่น ฟังเพลง ไปทำงานอดิเรก ออกกำลังกาย เดินเล่น คุยกับคนที่เราไว้ใจ ก็ทำให้ความตึงเครียดดีขึ้น แต่บางคนอาจจะไม่มีวิธีการจัดการ
“พ่อแม่สำหรับเด็กก็เป็นคนที่ถือว่าสำคัญ เพราะว่าที่พึ่งแรกของเด็กที่จะมองหา ก็คือผู้ใหญ่ที่เขาใกล้ชิดที่สุด ซึ่งก็หนีไม่พ้น ‘พ่อแม่’ ดังนั้นพ่อแม่ก็ควรจะเข้าใจทั้งเรื่องของการแสดงออก ซึ่งเราต้องมองลงไปให้ลึกกว่านั้น บางครั้งการแสดงของเด็กก็อาจจะมีสาเหตุจากอารมณ์บางอย่าง ที่เขากำลังรู้สึกอยู่ เช่นแสดงออกโดยโวยวาย หรือหงุดหงิด แต่มันมาจากความเศร้าในใจ ความอึดอัด ความกดดัน บางครั้งถ้าพ่อแม่มองแต่การแสดงออกที่รุนแรง และไปว่า ไปดุเขา โดยที่ลืมที่จะเข้าใจอารมณ์ที่อยู่ลึกๆ ของเขา บางทีเราจะช่วยเด็กไม่ได้”
เลี้ยงเป็นเพื่อน เลี้ยงด้วยประชาธิปไตย วิธีการเลี้ยงดูในวิธีต่างๆ
เทรนด์สมัยนี้ ก็มักมีพ่อแม่ที่อยากเลี้ยงลูกด้วยการเป็นเพื่อนกับลูกมากขึ้น เพื่อที่จะได้ใกล้ชิด ไปไหนมาไหนกับลูกได้อย่างสนิทสนม ซึ่งคุณหมอเองก็มองว่าวิธีนี้ ต้องดูตามความเหมาะสม และพัฒนาการของลูกด้วย
“หมอคิดว่าอาจจะต้องดูตามวัยที่เหมาะสม พอลูกอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ความรู้เรื่องพัฒนาการก็ต้องมีมากขึ้น ความเป็นเพื่อนก็อาจจะมีมากขึ้นตามวัย แต่ถ้าลูกยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ยังควบคุมตัวเองไม่ได้ และไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในหลายเรื่อง เราควรดูแลเขาอย่างใกล้ชิด แต่พ่อแม่ต้องฝึกลูกตั้งแต่เล็กๆ เพื่อที่พอพอเขาโตขึ้น เริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มดูแลตัวเองได้ เขาจะมีความคิด วิจารณญาณ และวุฒิภาวะ พ่อแม่ก็จะสามารถไว้วางใจให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง และเมื่อจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พ่อแม่ก็ต้องปล่อยในเรื่องที่เขาพอจะตัดสินใจ ให้เขาเรียนรู้เองได้ ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้จะทิ้งเขาไป คอยดูอยู่ คอยพูดคุยว่าเขาเป็นยังไง ให้เขารู้สึกว่าไม่ว่ายังไงเขาก็ยังมีพ่อแม่เป็นที่พึ่งเสมอ”
หมอมิน บอกว่า ประชาธิปไตยเป็นวิธีหนึ่งที่หลายครอบครัวนำมาใช้ในการเลี้ยงดูลูกเช่นกัน ซึ่งคุณหมอมองว่าจุดสำคัญของประชาธิปไตย คือการที่เรายอมรับ และเคารพในการมีสิทธิ มีเสียงของทุกคนอย่างเท่าเทียม
“ถ้าจะสอนให้ลูกเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย เราก็ต้องฟังลูกมากขึ้น เข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น และเข้าใจว่าเด็กเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้ รวมถึงเราต้องเคารพและให้เกียรติในความเห็นของเด็ก และบอกเขาว่าความคิดเห็นนี้มันถูก หรือผิด และยอมรับเขามากขึ้นตามวัยที่มากขึ้น
“จุดแรก พ่อแม่ต้องรับฟังลูกให้มาก เข้าใจในความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของลูก อย่ามองข้ามตรงนั้น ให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า และความสำคัญกับพ่อแม่ตรงนั้นจะนำมาซึ่งความรู้สึกรับรู้คุณค่า และมีความภาคภูมิใจในตัวตนของเรา เขาจะมีความมั่นใจในการแสดงความเห็น หรือว่ามีสิทธิในสิ่งที่เขาควรจะได้
แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องสอนด้วยว่า สิทธิ เสรีภาพต่างๆ มันก็ต้องมีควบคู่กับความรับผิดชอบต่อตัวเอง และคนรอบข้าง เช่น เรามีเสรีภาพ และมีสิทธิ แต่เราจะไม่มีสิทธิทำให้คนรอบข้องเดือดร้อน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”