“เอาเวลาไปฟังธรรมมะธรรมโม อ่านปรัชญา ดูข่าวสารคดีกันบ้าง”
ข้างต้นอาจเป็นคำสอนที่เราคุ้นๆ หู ความโดยรวมคือการบอกให้เราไปใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไปแสวงหาความรู้ ซึ่งความรู้ในที่นี้ก็คือความจริงทั้งหลายนั่นแหละ ไปอ่านความคิด ไปอัพเดทข่าวสารจากทั่วโลก แต่ในแง่ของ ‘ความรู้สึก’ ก็ดูจะเป็นเรื่องรองไปก่อน ดังนั้นพวกนิยายอ่านสนุก งานเขียนแฟนตาซีไซไฟทั้งหลายก็จะถูกยกยอดออกไปเป็นการอ่านเล่นนอกเวลา เป็นสันทนาการยามว่าง
แต่เราทุกคนต่างรักแฮร์รี่ พอตเตอร์ เรามีความสุขกับการพาตัวเองไปยังดินแดนเหนือความจริง โลกแล่นในโลกของเรื่องแต่งตั้งแต่ฮอร์กวอร์ต พาเน็มในฮังเกอร์เกม มิดเดิลเอิร์ธ ไปสู่โลกที่ถ้าคิดดีๆ เราหนีจากโลกความจริงที่มีปัญหา ไปสู่อีกโลกที่บางทีปัญหาหนักหนาในระดับดิสโทเปียกว่าเราอีก ซึ่งความหนักหนาและความเป็นเรื่องแต่งนั่นแหละที่จะมาช่วยเราเข้าใจและรับมือโลกแห่งความจริงได้
มีข้อเสนอและงานศึกษาที่พบว่า นวนิยายเช่นงานเขียนแนวไซไฟและแฟนตาซีเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่เราสามารถใช้รับมือ ทำความเข้าใจโรคและโลกใบนี้ เป็นสิ่งที่นอกจากเราจะหลีกหนีจากโลกแห่งความจริงแล้ว โลกเหนือจริงอาจกลับช่วยให้เราเข้าใจความซับซ้อนยอกย้อนของโลกได้ดีขึ้น
ความจริงลำดับที่สองของเพลโต สู่อำนาจของเรื่องแต่งของอาริสโตเติล
จริงๆ ไม่ต้องมองไปไหนไกล แค่คำว่าสารคดี และบันเทิงคดีของเรานี่แหละก็แสดงถึงลำดับชั้นพร้อมนัยความหมายของงานสองประเภทที่มี ‘ความจริง’ เป็นที่ตั้ง สารคดีคือเรื่องจริง เป็นสิ่งที่มี ‘สาระ’ สถิตอยู่ในนั้น ในขณะที่บันเทิงคดีก็เป็นเรื่องความรื่นเริง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พ่อแม่เราจะไล่ให้เราอ่านข่าวมากกว่าอ่านนวนิยาย
ความคิดดังกล่าวดูจะเก่าแก่ตั้งแต่ยุคกรีกคือราวสี่ร้อยปีก่อนคริสตกาล และเป็นเรื่องที่ถกเถียงเสนอต่อเนื่องกันระหว่างนักปรัชญาศิษย์อาจารย์คือเพลโต และอริสโตเติล โดยเพลโตผู้เป็นอาจารย์พูดไว้ในประเด็นเรื่อง Mimesis หรือการลอกเลียนว่า งานเช่นเรื่องแต่ง กวีหรือกระทั่งงานศิลปะอะไรทั้งหลาย เป็นแค่การลอกเลียนในลอกเลียนอีกที ถ้าจำได้เพลโตเสนอแนวคิดเรื่องของ ‘แบบ’ คือมีความจริงลำดับแรกที่พระเจ้าสร้างขึ้น- ทำนองว่าเป็นคอนเซปต์ของสิ่งหนึ่งๆ มีความจริงลำดับที่ 2 ที่ถูกเลียนสร้างต่อมา และความจริงลำดับที่ 3 ที่ลอกเลียนเพียงภาพของสิ่งนั้นๆ
ยากหน่อย แต่เพลโตอุปมาว่า พระเจ้าสร้างความคิดเกี่ยวกับเก้าอี้ขึ้นมา เป็นภาพหรือไอเดียเกี่ยวกับเก้าอี้ที่พระเจ้าสร้าง มนุษย์หรือช่างไม้ก็ทำเก้าอี้นั้นขึ้นเป็นการลอกเลียนลำดับที่สอง และศิลปินที่วาดภาพของเก้าอี้นั้นก็คือการลอกเลียนลำดับที่สาม แหม่ อาจารย์เปรียบโดยมีความจริงมีศูนย์กลายแบบนี้ งานศิลปะ เรื่องแต่งก็เลยเป็นจริงที่จริงน้อยที่สุด กระจอกและคับแคบสุดไปเลย
แต่อริสโตเติล ผู้ซึ่งในภาพเขียนชี้นิ้วมาข้างหน้าผิดกับเพลโตที่ชี้ขึ้นด้านบนตามหาโลกในอุดมคติ อริสโตเติลสู้กลับด้วยการเสนอแนวคิดแย้งไว้ในงานชื่อ Poetics ทฤษฎีและปรัชญาวรรณกรรมที่ถือว่าเป็นชิ้นแรกของโลก โดยอริสโตเติลเสนอว่าบันเทิงคดี โดยเฉพาะการไปดูละครโศกนาฏกรรมนั้นมีพลังกว่านั้น หลักๆ คือละครกระตุ้นให้เกิดความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ทางอารมณ์ที่ซับซ้อน อริสโตเติลเรียกเป็นชุดเรียกว่า Pity, Fear และ Catharsis
การไปดูละครหรือพลังของบทละครคือการดึงอารมณ์สามอย่างอย่างเป็นขั้นตอน คือทำให้เราเกิดความสงสาร เช่นตัวละครตกทุกข์ได้ยากทั้งๆ ที่เป็นฮีโร่ทั้งหลาย เราเกิดความเชื่อมโยงว่าเฮ้ย คนระดับคิงโอดิปัสผู้เกรียงไกรสุดท้ายยังต้องควักลูกตาเลย เกิดความเข้าใจสัจธรรมของโลกบางอย่าง แต่ในตอนจบเมื่อเดินออกจากโรงละคร เราก็เกิดความโล่งใจพร้อมกับความรู้สึกประมาณว่าปลดปล่อยพร้อมเรียนรู้ว่าทั้งหมดนั้นเป็นเพียงเรื่องแต่ง ทิ้งไว้เพียงความเข้าใจโลกและหัวใจที่ละเอียดอ่อนขึ้น – แต่อริสโตเติลก็ชอบแค่โศกนาฏกรรมนะ พวกคอเมดี้คือบอกว่าอี๋เหมือนกัน ไม่ได้เรียนรู้ที่ล้ำลึกแบบโศกนาฏกรรม
ความจริงและความหวัง ในโลกแฟนตาซีและโลกอนาคต
ดูจะเป็นธรรมดาโลก ยุคเพลโตบอกว่าเรื่องจริงดีกว่าเรื่องแต่ง หลังอริสโตเติลก็บอกว่าโศกนาฏกรรมดีกว่าสุขนาฏกรรม ปัจจุบันก็ยังมีแนวคิดสารคดีมีสาระกว่า หรือในโลกของงานเขียน เราก็มีการบอกว่างานโบราณมีคุณค่าขึ้นหิ้งควรศึกษาในนามของวรรณคดี แต่ต่อมาเมื่อเราทลายกรอบการประเมินค่าลง เราก็พยายามไปเข้าใจจนมองเห็นมิติอื่นๆ จนได้
ในทำนองเดียวกัน งานเช่น ไซไฟ (Sci-Fi) หรือแฟนตาซีก่อนหน้านี้ก็อยู่นอกทำเนียบงานเขียนดี ส่วนหนึ่งคือเป็นงานใหม่ เป็นงานราคาถูก เขียนก็ไม่ได้ดีเด่นอะไร อ่านเอาสนุกอย่างเดียว ไซไฟก็เคยตีพิมพ์เป็นนิตยสาร อ่านๆ ก็โยนทิ้ง แถมคนอ่านก็ถูกตราว่าเป็นเนิร์ดบ้าง geek บ้าง ทำนองเดียวกันกับงานแนวสืบสวนที่ราคาไม่กี่ตัง ซื้อขึ้นรถไฟ อ่านจบถึงปลายทางก็ทิ้งถังขยะได้ แถมแฟนตาซีก็ดูจะเป็นเรื่องของเด็กๆ
แต่ตอนหลังก็มีคนลงไปศึกษาพวกงานที่เคยเป็นแค่งานอ่านสนุก งานป๊อปๆ ทั้งหลาย ก็พบว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจสังคมร่วมสมัย งานไซไฟทำให้เราเข้าใจความวิตกกังวลของโลกปัจจุบันที่มีต่อเทคโนโลยี ต่อชีวิตสมัยใหม่ บรรษัทขนาดใหญ่หรือความก้าวไกลทางวิทยาศาสตร์เอง งานสืบสวนทำให้เห็นความแปลกหน้าในเมืองและพฤติกรรมมนุษย์ที่ซับซ้อนขึ้น ส่วนโลกแฟนตาซีทำให้เห็นการเมือง
ในระดับผู้อ่าน เราเองก็มีงานศึกษา ในทางจิตวิทยาเป็นงานวิจัยตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2018 พบว่าการอ่านงานไซไฟและแฟนตาซีซึ่งฮิตในหมู่วัยรุ่นนั้น มีส่วนช่วยส่งเสริมความสนใจและการรับรู้ ส่งเสริมความสามารถและทักษะในการอ่านและการทำความเข้าใจ ทั้งยังช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและความเปิดกว้างเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ต่อไปได้อีกด้วย
ไอ้เจ้าความเข้าใจและความเปิดกว้าง หรือไม่กลัววิทยาศาสตร์นี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งของช่วงนี้ คือการที่เราอ่านเรื่องที่ว่าด้วยเรื่องรูหนอน เคมี การตัดแต่งพันธุกรรม แถมยังให้ภาพโลกอนาคตที่ดูใกล้โลกปัจจุบันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผู้อ่านเข้าใจทั้งกับบรรยากาศ และศัพท์แสง กลไกทางชีวิทยา การระบาดได้ง่ายขึ้น ไม่กลัวที่จะทำความเข้าใจ
ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุด นวนิยายไม่ว่าจะไซไฟหรือแฟนตาซีนั้น มักจะวาดภาพโลกอนาคตที่มืดมน เราถูกดึงเข้าไปสู่ในโลกดิสโทเปีย เป็นดินแดนแห่งการควบคุม เป็นโลกหลังวิกฤติไม่ว่าจะจากสงคราม จากวิกฤติเทคโลยี สิ่งแวดล้อม หรือดินแดนที่ไร้เสรีภาพและไร้ความเป็นธรรมขนาดไหน
ในโลกของวรรณกรรมนั้น สุดท้ายปลายทาง หรือระหว่างทาง สิ่งที่แต่ละหน้าหนังสือให้เรานอกจากความสนุกสนานแล้ว ยังได้ให้ร่อยรอยของความหวังที่อยู่ในโลกอันแสนมืดมิดนั้นไม่มากก็น้อย
แน่นอนว่า สำหรับการมีชีวิตของเรานั้น ความหวังเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งที่ทำให้เรายังคงอยากหายใจต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก