“นั่นไม่นับว่าเป็นหนังสือ”
เสียงมากมายจากโซเชียลมีเดีย ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์การออกความคิดเห็นด้วยคำพูดรูปแบบดังกล่าว หลังจากบอกกับ ‘ผู้หวังดี’ ไปว่าหนังสือที่เราชอบอ่านนั้น คือหนังสือนวนิยาย เรื่องสั้น การ์ตูน บทกวี ฯลฯ หรือที่เราเรียกกันรวมๆ ว่า หนังสือเรื่องแต่ง (Fiction)
แน่นอนว่าการ “ไม่นับเป็นหนังสือ” ไม่ได้หมายความตรงตัวอย่างนั้นเสียทีเดียว เพราะหนังสือเรื่องแต่งก็มีหน้าปก มีเนื้อหาด้านใน มีตัวหนังสือที่อาจจะเย็บเล่ม หรือเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) มองยังไงก็ล้วนเป็นหนังสือเหมือนกันทั้งนั้น ดังนั้นที่ ‘ผู้หวังดี’ บอกว่านิยายไม่เป็นหนังสือจึงอาจหมายถึงว่า เรื่องแต่งเป็นหนังสือประเภทที่ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้ขับเคลื่อนการเติบโตและพัฒนาภายในตัวเอง ทั้งยังไม่ให้อะไรแก่สังคม
เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์จะห่วงใยเรื่องของคนอื่นๆ แต่การบอกว่าหนังสือบางประเภทไร้ประโยชน์ ก็อาจจะเป็นมุมมองที่คับแคบไปหน่อยหรือเปล่า? ในเมื่อหนังสือนิยายเองก็มีบทบาทต่อมนุษย์และสังคมอยู่อย่างแน่นอน
เรื่องแต่ง ≠ เรื่องไม่จริง
หนึ่งในมุมมองที่อยู่ ณ ใจกลางของการถกเถียง คือเรื่องแต่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันจึงไม่สามารถบอกอะไรให้ใครนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันได้ ฉะนั้นการอ่านเรื่องแต่งจึงไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ชีวิตของเรา แต่ทั้งหมดนี้คือธรรมชาติของเรื่องแต่ง หรืองานศิลปะอื่นใดจริงหรือ? เรื่องแต่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสุญญากาศที่ปราศจาก ‘ความจริง’ แน่หรือเปล่า?
ในบางครั้งเรื่องแต่งก็ถูกเขียนขึ้นจากความจริง ซึ่งไม่ได้หมายถึงหนังสือบันเทิงคดีอิงประวัติศาสตร์ (Historical Fiction) เท่านั้น แต่เรายังพบเศษเสี้ยวความจริงและโลกของเรา ที่ปรากฏอยู่ในเรื่องแต่งทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแต่งแฟนตาซีที่สุดอย่าง 1984 โดยจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ก็มีความเป็นจริงซ่อนอยู่ในนั้น แม้จะไม่ได้เขียนขึ้นจากสถานที่ที่มีอยู่จริงในโลก แต่ระบอบการปกครองที่เขาเขียนถึงก็เป็นคำเตือน (หรือคำทำนาย) ต่อคนทั่วโลก หรือแม้ในโลกนี้จะไม่มีใครมีพลังแปลงร่างเป็นมนุษย์เลื่อยยนต์ได้ แบบมังงะเชนซอว์แมน แต่ อ.ฟูจิโมโตะ ทัตสึกิ (Fujimoto Tatsuki) กลับให้สัมภาษณ์ว่า ตัวละครเอกอย่าง ‘เดนจิ’ นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัยรุ่นญี่ปุ่น ผู้ไม่มีแรงขับเคลื่อนต่อการใช้ชีวิตภายภายใต้สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน
แน่นอนว่าเรื่องเหล่านั้นจะไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเราควรมีความคิดยังไงต่อการใช้ชีวิต เราต้องลงทุนยังไง เก็บออมยังไง แต่จะเรียกมันว่าไม่ ‘จริง’ เลยก็คงไม่ได้ เนื่องจากงานศิลปะทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมา โดยมนุษย์ที่อยู่ในสภาพแวดล้อม บริบทสังคม สถานะทางสังคม และห้วงเวลาแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าในแง่หนึ่งแล้ว เรื่องแต่งคือภาพสะท้อนความเป็นจริงบางประการ เช่น The Lord of The Rings ที่เป็นภาพสะท้อนของสงครามโลก หนังสือการ์ตูนชุด X-Men ก็สะท้อนการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของมนุษย์ หรือนิยายพาฝันและงานเขียนกระแสสำนึก ก็เป็นภาพสะท้อนความเป็นมนุษย์ของใครสักคน ฯลฯ
ดังนั้นจะบอกว่า การได้ลองเข้าใจภาพสะท้อนเหล่านั้นไม่มีค่า ยังจริงหรือเปล่า? โดยเฉพาะในโลกที่กว้างใหญ่ขึ้นไปทุกวันนี้ และมากกว่าห้วงเวลาไหนๆ เราอาจต้องการเรื่องแต่ง ที่ทำให้เรามองออกเห็นโลกได้ไกลไปกว่าสายตาของตัวเราเอง
แล้วอะไรจะนับว่า “พัฒนาตัวเอง”?
หนังสือพัฒนาตัวเอง มักเป็นหนึ่งในตัวเลือกของเหล่าผู้หวังดี ที่มองว่าควรค่าแก่การอ่าน เพราะมันบอกวิธีการใช้ชีวิตกับเราอย่างตรงไปตรงมาตั้งแต่หน้าปก เช่น ทำยังไงจึงจะสำเร็จ? คิดยังไงถึงจะมีความสุข? ฯลฯ ทั้งยังเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ชีวิต และมีหลักฐานการันตีสิ่งที่พูดด้วยชีวิตที่ดีเลิศของตัวพวกเขาเอง สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อมาจึงเป็นคำว่า
การ ‘พัฒนาตัวเอง’ เท่าไหนถึงจะเรียกว่า ‘พัฒนา’?
มนุษย์มีชีวิตหลากหลายแง่มุม แน่นอนว่าหนังสือพัฒนาตัวเอง อาจสามารถชี้ทางไปสู่การเติบโตภายนอกบางอย่างให้แก่เราได้ แต่เรื่องภายในล่ะ? ในการทดลอง Short- and Long-Term Effects of a Novel on Connectivity in the Brain นำโดยเกรกอรี เบิร์นส์ (Gregory Berns) นักวิจัยจากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ศูนย์ประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยเอมอรี ที่หาผลกระทบจากการทำงานของสมองต่อการอ่านนิยาย พบว่าการอ่านนิยาย สามารถย้ายเราไปอยู่ในจุดที่คนอื่นยืนอยู่ได้จริงๆ
สำหรับการทดลองดังกล่าว ผู้วิจัยให้กลุ่มตัวอย่างอ่านนิยาย Pompeii โดยโรเบิร์ต แฮร์ริส (Robert Harris) นิยายเรื่องแต่งจากสถานการณ์จริงในประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการระเบิดของภูเขาไฟปอมเปอี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นนานและห่างไกลในกลุ่มตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกา
กลุ่มตัวอย่างจะได้อ่านนิยายที่แบ่งออกเป็นชุดๆ และหลังอ่านจบ 1 ชุด ผู้วิจัยจะพากลุ่มตัวอย่างเข้าไปสแกนสมอง ก่อนจะพบว่า สมองของพวกเขามีการทำงานแบบร่วมมือกัน (Brain Connectivity) ตั้งแต่เริ่มอ่านไปจนถึงตอนอ่านจบแล้ว จากการทดลองดังกล่าวปรากฏออกมา 2 ความหมาย ได้แก่
- การอ่านนิยาย อาจมีส่วนช่วยให้สมองเกิดการพัฒนาที่ดี เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว และปรับตัวได้ไว
- การอ่านนิยาย พาให้ร่างกายของเรารู้สึกเหมือนได้ไปใช้ชีวิตในจุดที่เราไม่เคยใช้มาก่อน
ผลการทดลองดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในหลักฐานที่จับต้องได้ว่า การอ่านนิยายช่วยก่อร่างให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ และมีการคิดวิเคราะห์ ทั้งหมดนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งต่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์ภายในตัวเราด้วย แล้วสิ่งเหล่านั้นควรถูกนับรวมอยู่ในการพัฒนาตัวเองด้วยหรือไม่ล่ะ?
อ่านแบบที่อยากอ่าน
ทุกการกระทำมีคุณค่าในตัวของมันเอง ในห้วงเวลาหนึ่ง เราอาจจะอยากให้คนมาชี้ทางชีวิตให้ ก็ไปอ่านหนังสือประเภทนั้น บางทีเราอยากจะเข้าใจคนบางกลุ่มมากขึ้น ก็เลือกอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับพวกเขาหรือหนังสือที่พวกเขาเขียน หรือบางครั้งเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรเลย แค่ความบันเทิงเพื่อจะชุบชูหัวใจในโลกอันโหดร้าย ก็เลือกอ่านหนังสือที่จะให้สิ่งนั้นแก่เรา
แม้เราจะอ่านเพื่อความบันเทิง แต่ตัวหนังสือบางตัว
อาจทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้ในใจเราอย่างคาดไม่ถึงก็ได้
ดังนั้นในแง่มุมของรสนิยมและประเภทหนังสือที่อ่าน ไม่ควรมีคำเรียกที่ว่า ‘อ่านผิดประเภท’ หนังสือทุกเล่มมีคุณค่าของมัน หนังสือทุกประเภทมีบทบาทต่อมนุษย์ เพราะการอ่านหนังสือ ไม่ใช่เพียงแค่ให้ใครมาบอกเราว่าอะไรเป็นอะไร หนึ่งสองสามสี่ แต่สิ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือครึ่งหนึ่ง คือการนำตัวเราเองเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องเล่าเหล่านั้น ไม่ว่าผู้เขียนจะเขียนขึ้นมาจากอะไร จะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม
ไม่มีตัวหนังสือตัวใดที่ไร้ค่า
อ้างอิงจาก