นอกเหนือจากปัญหารัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจไม่ทั่วถึง (หรืออาจจะไปถึงท้องถิ่นแล้วบ้าง แต่ไม่ถึงประชาชน เพราะยังคงอยู่ในหน่วยงานราชการอยู่) บวกกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ค่าครองชีพแพงขึ้น หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น แรงงานถูกลอยแพมากขึ้นจากการปิดโรงงาน ธุรกิจต่าง ๆ จ้างงานน้อยลง คนว่างงานเพิ่มมากขึ้น ความยากจนที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เพราะขี้เกียจไม่ประหยัดเขม็ดแขม่ หากแต่เป็นความยากจนที่เกิดขึ้นเพราะเข้าไม่ถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตหรือยังได้รับไม่เพียงพอ เช่น สาธารณูปโภค การจ้างงาน
ภายใต้รัฐบาลที่ทั้งไม่ได้ต้องการแก้ไขปัญหาอะไรและมองไม่เห็นหัวประชาชน ได้แต่จะผลักภาระใส่ประชาชนลูกเดียว เมื่อข้าวราคาตกก็ให้ชาวนาไปปลูกหมามุ่ยแทน เมื่อมะนาวแพงก็บอกให้ประชาชนปลูกมะนาวกินเอง พอเกิดภาวะภัยแล้งก็บอกให้ขุดบ่อน้ำใช้เอง ไปเพาะจิ้งหรีดปลูกถั่ว เลี้ยงไส้เดือนขายเพิ่มรายได้ พอน้ำท่วมนาก็ไล่ชาวนาไปเลี้ยงปลาทำประมงแทน ยางพาราราคาตกต่ำก็ไล่ไปทำสวนมังคุดทุเรียนแทน
เมื่อรัฐบาลทำให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวังและถูกลดคุณค่าลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมีคนที่คิดฆ่าตัวตายเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของตนเอง และก็ดูเหมือนว่าจะพบเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ
ปัญหาเหล่านี้ทำให้จึงมีสามีภรรยาอัตวินิบาตกรรมด้วยการจบชีวิตเพราะความตึงเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจ แบกรับหนี้สินไม่ไหว บางครอบครัวเลือกปลิดชีวิตพร้อมกันทั้งครอบครัวเพราะไม่สามารถส่งลูกเรียนได้อีกต่อไป หรืออาจมีข่าวพ่อฆ่าลูกเมียก่อนฆ่าตัวตายตามเพราะปัญหาหนี้สินมากมาย อีกทั้งยังไม่สามารถหางานได้ รายได้จึงไม่พอรายจ่าย
อันที่จริงอัตวินิบาตกรรมเป็นสิทธิส่วนบุคคลและเป็นเรื่องซับซ้อนมาก คนเหล่านี้จึงคิดเรียบร้อยแล้วก่อนจะหาญกล้าตัดสินใจเช่นนั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องอารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งคนที่ไม่ได้ตายด้วยนั้นก็ไม่มีสิทธิ์เที่ยวไปว่าบาปตัดสินชีวิตเขาว่า คิดสั้น หนีปัญหา ไม่สู้กับปัญหา สร้างบาปสร้างกรรม
อย่างไรก็ตามการฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจในระยะนี้ ก็ไม่ใช่การฆ่าตัวตายอันเกิดจากเจตจำนงผู้ตายในฐานะเจ้าของชีวิตที่ตัดสินใจได้เองว่าจะอยู่หรือตาย หากแต่เป็นเพราะรัฐบาลกำลังยัดปืน ยัดมีด ยัดเชือกไนลอนใส่มือประชาชน และผลักไสให้เขาไปตายเหมือนที่ไล่ไปขายยางพาราบนดาวอังคาร
และไม่ใช่ฆ่าตัวตายคนเดียวเปล่าๆ ยังฆ่าสมาชิกในครอบครัวไปก่อนด้วยแล้วค่อยฆ่าตัวตายตาม ซึ่งมักเกิดจากฝีมือและการตัดสินใจของผู้ที่ถูกจัดวางให้เป็นหัวหน้าครอบครัว ที่จะต้องเป็นผู้นำ แบกรับความรับผิดชอบทุกอย่าง มีอำนาจการตัดสินใจเพียงผู้เดียว อยู่ในฐานะเสาหลักของบ้านที่ถ้าไม่มีแล้วเท่ากับบ้านจะล้มครืน ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว
และผู้ที่ได้รับตำแหน่ง ความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง
และความกดดันนี้ก็มักจะ ‘ผู้ชาย’
ดังเช่นที่คำว่า ‘Family’ มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน familia ที่หมายถึงหน่วยหนึ่งของสังคมที่ผู้ชายปกครองผู้หญิง เด็กและข้าทาส ไม่เพียงจัดระดับคุณค่าสูงต่ำว่าใครเกิดก่อนเกิดหลัง แต่ยังกำหนดคุณค่าของเพศ ให้ผู้หญิงต่ำกว่าและเป็นรองผู้ชาย เพราะสถาบันครอบครัวเป็นอีกผลผลิตของระบบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ครอบครัวที่พ่อจะต้องเป็นใหญ่ เป็นพ่อปกครองลูก (Pater ที่เป็น prefix ของคำนี้ ก็เป็นรากศัพท์ของคำว่า father) ครอบครัวส่วนใหญ่จึงมีผู้ชายเป็นหัวหน้า มีอำนาจสูงสุด เป็นผู้ควบคุมกฎเกณฑ์และเสาหลักของบ้าน
ยิ่งค่านิยมครอบครัวชนชั้นกลางชาวไทย ที่การแบ่งเบาภาระเงินๆ ทองๆ ในครอบครัว กลายเป็นเรื่องของความล้มเหลวในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของหัวหน้าครอบครัว มากกว่าจะเป็นสำนึกความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสมาชิก พ่อแม่ต้องเป็นคนหาเงินทำงานเพื่อลูกที่อยู่ในวัยเรียน ลูกมีหน้าที่เรียนก็เรียนไป ไม่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน และกลายเป็นอยู่ในภาวะพึ่งพิงจนกว่าจะจบการศึกษาภาคบังคับหรือไกลไปกว่านั้นคือจนกว่าจะเรียนจบปริญญาตรี
ขณะที่สำนึก ‘ครอบครัวอบอุ่น’ มาจากครอบครัวในเขตพื้นที่ที่ต้องเผชิญความหนาวจัดที่ต้องการให้บ้านเต็มไปด้วยความอบอุ่น เป็นที่หลบความหนาวเหน็บนอกบ้านมาผิงไฟซุกตัวกันอย่างพร้อมเพรียง ครอบครัวไทยที่อยู่ในภูมิอากาศเขตร้อนชื้น จึงไม่ได้ต้องการครอบครัวอบอุ่น หากแต่ต้องการความร่มเย็นที่มีผู้หลักผู้ใหญ่เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร ให้ร่มเงาและเป็นที่เกาะเหนี่ยวแก่ลูกหลาน แต่แฝงถึงความหมายการอุปถัมภ์ค้ำจุน ความศักดิ์สิทธิ์ และภาวะพึ่งพิงอยู่ในตัว
ครอบครัวชนชั้นกลางไทยจึงอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงและเปราะบาง ยิ่งสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ด้วย ศีลธรรมครอบครัวก็ต้องรักษาซึ่งมาพร้อมกับการจัดระเบียบลำดับชั้นภายในสมาชิกครอบครัว ผู้ใหญ่จะต้องเป็นที่พึ่งพิงของผู้น้อย ปากท้องก็ต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ผู้ชายต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวเพียงผู้เดียว คอยกุมการตัดสินใจกำหนดทิศทางครอบครัว หากรายจ่ายครอบครัวมีมากกว่ารายรับ หรือลูกต้องช่วยทำงานหารายได้พิเศษ ก็กลายเป็นความผิดที่หัวหน้าครอบครัวบกพร่องต่อหน้าที่
หรือถ้าเมียประสบความสำเร็จมากกว่าผัว มีเงินเดือนมากกว่า
หน้าที่การงานดีกว่า ผัวยิ่งรู้สึกไม่มั่นคงในสถานภาพ
หัวหน้าครอบครัวของตนเอง
แต่ในปัจจุบันเองก็ถือก้าวหน้ามามากแล้วที่ครอบครัวสมัยใหม่ ทั้งผัวและเมีย ทั้งพ่อและแม่ทำงานนอกบ้าน ไม่ใช่ผลักภาระให้ผู้ชายเป็น bread winner หาเลี้ยงครอบครัวเพียงผู้เดียว แล้วไม่ว่าใครในบ้านต่างก็ร่วมทำงานบ้านปัดกวาดเช็ดถูซักเสื้อผ้ากางเกงในได้ ไม่ใช่โยนกองให้ผู้หญิงทำอยู่เพศเดียว
ปัญหาจากสังคมชายเป็นใหญ่จึงก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่พ่อบ้านอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่ายกครัวก่อนแล้วค่อยฆ่าตัวตายตามที่มีผลสืบเนื่องมาจากปัญหาโครงสร้างอำนาจของรัฐและบริบททางเศรษฐกิจ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับหลายๆ ครอบครัวเองก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากผังอำนาจครอบครัวและปิตาธิปไตย ที่ปล่อยให้สมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งแบกรับภาระเพียงคนเดียวหรือมีอำนาจในการตัดสินใจเพียงลำพัง ซึ่งแน่ล่ะ ไม่มีใครจะสามารถเก่งหรือฉลาดไปสะทุกเรื่อง
สิ่งเหล่านี้ย่อมนำไปสู่ความตึงเครียดในบ้านและแก้ปัญหาในทางที่พ่อบ้านเลือกเพียงฝ่ายเดียว ซ้ำร้ายยังทำให้ ‘ความเป็นพ่อบ้าน’ กลายเป็น toxic masculinity ที่เชื่อว่าตนเองควรเป็นผู้นำ เพราะมีอำนาจ ฉลาดและรู้จักใช้เหตุผลได้มากกว่า แข็งแรงที่สุดและปกป้องครอบครัวได้ดีกว่า[1] ขณะเดียวกันก็คิดแทนเข้าไป ตัดสินใจแทนสมาชิกคนอื่นๆ ภายในบ้าน ว่าการที่เขาอดทนอดกลั้นไม่ได้ถึงที่สุดแล้ว ย่อมเท่ากับว่าสมาชิกคนอื่นก็จะไม่สามารถทนได้ไหว และเมื่อเขาไม่อยู่แล้ว บ้านที่ไร้ผู้นำ ผู้ตามก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน เหมือนกับหนังเรื่อง ‘ลัดดาแลนด์’ (2554) ที่ทั้งตัวละครหลักและเพื่อนบ้านต่างก็เป็นพ่อบ้านพยายามเป็นหัวหน้าครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ท่ามกลางความกดดันและสถานการณ์ที่ไม่เคยเอื้ออำนวย ก่อนจะจบลงด้วยความรุนแรงและความตาย
ต้องขอแสดงความเสียใจให้กับผู้สูญเสียในเหตุการณ์หลายๆ ครั้งนี้ และขอแสดงความเสียใจให้กับประชาชนชาวไทยทุกคนที่จำต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลเช่นนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก