“ลูกเรา..เราต้องได้ก่อนคนอื่นครับ” – ข้อความตอนหนึ่งในโลกออนไลน์เกี่ยวกับกรณีกระทำความรุนแรงทางเพศเด็กจากคนในครอบครัว
ไม่ว่าข้อความข้างต้นจะเป็นเรื่องจริงหรือแต่งขึ้นเพื่อความแฟนตาซีใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นคือ มันได้สะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงทางเพศยังเป็นประเด็นปัญหาที่ดำเนินเรื่อยมา และความรุนแรงแบบนี้ยังไม่สามารถโยนความรับผิดชอบให้เหยื่อได้ด้วยการยกแนวทางการป้องกันตัวอย่างการแต่งตัวให้มิดชิด ไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้า หรือการรักนวลสงวนตัวขึ้นมาพูดถึง
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกลับมาจากคนในครอบครัวด้วยกันเอง..
รากฐานวัฒนธรรมการข่มขืน คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง ‘เพศ’
จะเข้าใจปัญหาการข่มขืนในครอบครัวหรือ ‘incest sexual abuse’ ได้ เราคงต้องมองไปถึงแก่นแกนของปัญหาอย่างการมีอยู่ของวัฒนธรรมการข่มขืนกันก่อน
งานศึกษาว่าด้วยเศรษฐศาสตร์การเมืองปัญหาการข่มขืนของ สุชีลา ตันชัยนันท์ เริ่มต้นทำความเข้าใจการข่มขืนด้วยการมองผ่านรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศชายและเพศหญิง
สุชีลาพบว่า การเกิดขึ้นของขบวนการควบคุมเพศสัมพันธ์ของเพศหญิงมีขึ้นพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงระบบสืบสายโลหิต จากเดิมที่เป็นระบบ ‘Matriarchy’ หรือมารดาเป็นใหญ่ สู่ ‘Patriarchy’ หรือบิดาเป็นใหญ่
หลังจากประวัติศาสตร์ถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมระบบชายเป็นใหญ่แล้ว ในทางปฏิบัติก็มีหลายๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ทั้งจารีตประเพณี วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงกับเพศหญิง การเกิดขึ้นของโสเภณี และวัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture) ซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญที่ใช้ในการควบคุมเพศหญิง
ตัวอย่างของการใช้การข่มขืนเพื่อการควบคุมปกครองเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากรูปแบบการข่มขืนในช่วงวิกฤตหรือสงคราม เช่น สงครามครูเสด หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีการข่มขืนเพื่อการข่มขู่แฝงอยู่ รวมถึงความรุนแรงในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ก็เป็นไปในลักษณะนี้เช่นกัน
สุชีลาได้ทำการศึกษาวัฒนธรรมการข่มขืนด้วยการหยิบแนวคิดทฤษฎีจากหลายแขนงมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นหลักมานุษยวิทยา หลักจิตวิเคราะห์ รวมไปถึงแนวคิดแบบสตรีนิยมหลายสำนัก
เธอได้ข้อสรุปว่า การข่มขืนที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่ใช่ปัญหาเรื่องพฤติกรรมทางเพศ แต่เป็นพฤติกรรมเชิงอำนาจที่ฝ่ายชายต้องการควบคุมฝ่ายหญิง ฉะนั้นการทำความเข้าใจกับปัญหาข่มขืนจึงต้องมองลึกลงไปถึงการอธิบายด้วยกระบวนการทางสังคม มากกว่าคำอธิบายเรื่องธรรมชาติของแต่ละเพศ
ธรรมชาติของเพศที่ว่านี้ คือการใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ มาอธิบาย ซึ่งถ้าเราลองพิจารณากันดีๆ แล้วจะพบว่า ‘ทฤษฎีเรื่องปมด้อยของเพศหญิง’ มีช่องโหว่อยู่เยอะมาก
ทฤษฎีนี้ใช้เพียงกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ มาขมวดเป็นบทสรุป รวมถึงยังเป็นการให้เหตุผลแบบกำปั้นทุบดินด้วยการมองว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้น กลายเป็นการยอมรับและหาคำอธิบายมาล้อไปกับสถานการณ์ มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถาม
ทำไมต้องเป็นเด็กและคนในครอบครัว?
วัฒนธรรมการข่มขืนภายใต้บรรยากาศสังคมชายเป็นใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างหลวมๆ เท่านั้น แต่ยังหยั่งรากลึกลงมาถึงสถาบันที่เล็กที่สุดและขึ้นชื่อว่าปลอดภัยที่สุดด้วย
งานศึกษาของ ดวงกมล จักกระโทก ที่ได้เข้าไปเก็บข้อมูลสัมภาษณ์เชิงลึกจากนักโทษในเรือนจำซึ่งได้ข้อสรุปเกี่ยวกับปัจจัยในการข่มขืนเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี จำนวน 2 ข้อ
ข้อแรกพบว่า เกิดจากตัวผู้กระทำผิดที่มักไม่มีความผูกพันกับคนในครอบครัว เติบโตมากับพ่อที่ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีนัก หรือบางรายก็ล้มเหลวในชีวิตคู่มาก่อน และข้อที่สอง คือ ผู้กระทำผิดมักจะเลือกเหยื่อที่เหมาะสม คือ อ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงส่วนใหญ่จะเลือกเหยื่อที่รู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน
เราได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ให้ความเห็นตรงกับงานศึกษาว่า จากสถิติการข่มขืนเด็กแล้วแทบทุกเคสเกิดจากคนใกล้ชิดที่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อน และที่สำคัญผู้ชายจะเป็นฝ่ายกระทำมากกว่า ไม่ว่าเหยื่อจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชายก็ตาม
ปิ่นแก้วมองว่า การข่มขืนสะท้อนสังคมปิตาธิปไตยหรือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ที่ให้อำนาจกับผู้ชายในการกำหนดความต้องการทางเพศของตัวเอง ซึ่งเป็นการตัดข้าม ‘consensual relationship’ หรือความสัมพันธ์ที่ยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่ายออกไป
เราจะเห็นภาพได้ง่ายและชัดเจนที่สุดจากการเล่าเรื่องนี้ให้กลายเป็นความแฟนตาซี อีโรติกชวนฝันผ่านสื่อละครโทรทัศน์-ภาพยนตร์ การฉายซ้ำๆ ของพลอตแบบนี้นอกจากจะลดทอนให้ผู้หญิงเป็นเพียง ‘sex object’ แล้ว ยังทำให้ความสัมพันธ์ทางเพศแบบกดบังคับกลายเป็นเรื่องปลุกเร้าอารมณ์ของฝ่ายชาย
อย่างการสร้างมายาคติเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงที่ยั่วยวน และต้องการมีประสบการณ์ทางเพศ หรือกระทั่งการเกิดขึ้นของสำนวน ‘เด็กมันยั่ว’ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่เข้าไปสร้างความชอบธรรมให้กับการข่มขืน
คำถามสำคัญกว่านั้นคือ ทำไมต้องเป็นเด็ก? ปิ่นแก้วอธิบายว่า เป็นเพราะเด็กอยู่ในสถานะทางอำนาจที่อ่อนแอและไร้ปากเสียงที่สุด เด็กอยู่ในวัยที่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรในชีวิตเองได้ ต้องพึ่งพาทั้งคนในครอบครัวและผู้ใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่มีอำนาจน้อยที่สุดในครอบครัว
ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้ให้คำอธิบายกรณี ‘incest abuse’ ไว้ว่า มักจะเกิดกับครอบครัวที่มีลักษณะ ‘dysfunctional’ หรือเป็นครอบครัวที่ผิดปกติ ซึ่งอาจารย์มองว่า การอธิบายแบบนี้เข้าไปลดทอนมิติเรื่องเพศที่สามารถอธิบายได้ไกลและตอบโจทย์กว่านั้น เพราะปัญหาการข่มขืนลูกแท้ๆ ไม่ใช่ปัญหาระดับปัจเจก แต่ยังสะท้อนภาวะอำนาจทางเพศในระดับโครงสร้างด้วย
ประเด็นตั้งต้นจึงต้องมองกลับไปที่สถานะทางอำนาจที่ทำให้ฝ่ายชายเป็นเพศที่ใช้กำลังในการตอบสนองอารมณ์ ในขณะที่เพศหญิงอยู่ในฐานะรองรับอารมณ์ของผู้ชาย ซึ่งการอธิบายลักษณะนี้จะช่วยให้เข้าใจได้มากกว่าว่า เพราะอะไรสถิติการข่มขืนคนในครอบครัวจึงมักไม่เกิดในทางกลับกัน เช่น แม่ข่มขืนลูก
“มีความพยายามอธิบายว่า ผู้ชายที่มีรสนิยมใคร่เด็กเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติ (pedophilia) แต่การมองปัญหาการข่มขืนเด็กเป็นปัญหาระดับปัจเจกบุคคลที่ผิดปกติ และการแก้ปัญหาคือ การส่งบุคคลที่ป่วยไปบำบัด เท่ากับเป็นการลดทอนมิติเชิงโครงสร้างใหญ่ที่ค้ำจุนปัญหานี้ การอธิบายแบบจิตวิทยาไม่ช่วยให้เข้าใจว่า ทำไมอุตสาหกรรมข่มขืนเด็กผ่านเครือข่ายที่กว้างขวางของสื่อลามกที่มีเด็กเป็นตัวแสดง (child pornography) ถึงขยายตัวและนิยมชมชอบกันในกลุ่มผู้ชายเป็นจำนวนมาก”
นอกจากในเด็กแล้ว ปัญหาการข่มขืนคนในครอบครัวยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคู่สามีภรรยาด้วย ซึ่งก็เป็นผลสืบเนื่องจากโครงสร้างอำนาจทางเพศที่บิดเบี้ยวและการตัดผ่าน ‘consensual relationship’
พูดแบบนี้ก็แปลว่า ความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว แต่ถามว่าทำไมหลายครอบครัวจึงไม่มีปัญหานี้เกิดขึ้น? เหตุผลคือ ผู้ชายหรือคนเป็นพ่อในครอบครัวเหล่านั้นก็มีความพยายามอย่างหนักในการหลบหลีกการใช้ความรุนแรงที่แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไปแล้วเช่นกัน
ผลกระทบจากความรุนแรงทางเพศภายในครอบครัว
บทความจาก Counseling Today ระบุว่า การกระทำความรุนแรงทางเพศในเด็กโดยพ่อแม่หรือคนในครอบครัวสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับเด็กแน่นอน แต่ความเข้มข้นและดีกรีความรุนแรงทางความรู้สึกก็อาจจะมีระดับที่แตกต่างกัน
ในบทความได้ยกตัวอย่างกรณีที่สร้างผลกระทบระยะยาวให้กับตัวผู้ถูกกระทำ ได้แก่ ลูกสาวที่ถูกพ่อแท้ๆ ข่มขืน แม้จะมีเด็กผู้หญิงจำนวนมากที่รอดชีวิตจากการทารุณกรรมแบบนี้ได้ แต่การเยียวยาจิตใจในกรณีนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยากมาก เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคซึมเศร้า หดหู่ และอาการทางจิตอื่นๆ ร่วมด้วย
จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้เด็กไม่ไว้ใจคนในครอบครัวอีกต่อไป ไม่กล้าที่จะเล่าหรือแชร์ประสบการณ์อะไรก็ตามให้คนอื่นๆ ฟัง สิ่งที่ตามมาคือ เด็กไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่รักหรือเห็นคุณค่าในตัวเอง มี self-esteem ต่ำ เกิดความรู้สึกเกลียดชังตัวเอง และยังมีความสามารถในการสื่อสารหรือเข้ากับคนอื่นในระดับที่น่าเป็นห่วงเหมือนกัน ทั้งหมดเกิดจากการประเมินคุณค่าในตัวเองไว้ต่ำมากๆ ปะปนกับความละอายใจ และความรู้สึกสิ้นหวัง
การตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่เด็กยังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘trauma bounding’ เมื่อโตขึ้นเหยื่อจะจดจำรูปแบบการแสดงออกทางความรักแบบผิดๆ เกิดผลทางลบกับการสร้างความสัมพันธ์หรือเลือกคู่ครองในอนาคต และหลายครั้งเหยื่อเองก็ไม่รู้วิธีการแสดงออกทางความรักให้กับตัวเองเหมือนกัน
“ฉันมักจะรู้สึกสิ้นหวังและอยากฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆ เพราะว่าพ่อปฏิบัติต่อฉันด้วยความรุนแรงมาตลอด มันจึงเป็นการแสดงออกวิธีการเดียวที่ฉันได้เรียนรู้มาทั้งชีวิต ฉันคิดว่ามีแค่วิธีการแบบนี้เท่านั้นที่ใช้แสดงออกกับตัวเอง จนตอนนี้แม้ว่าจะได้เรียนรู้วิธีการที่ดีกว่ามาแล้วแต่มันก็ยังยากอยู่ดี”
แม้เหยื่อหลายคนจะได้รับการฟื้นฟูมาบ้างแล้ว แต่บาดแผลที่ได้รับมาตั้งแต่เด็กในระยะเวลาที่ยาวนานติดต่อกันหลายปีก็ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ช่วงเวลาแย่ๆ ของพวกเขาหรือเธอเหล่านี้ผ่านไปได้ ทำให้หลายคนเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงมักจะเกิดปัญหาในเรื่องของเพศสัมพันธ์ และการไว้วางใจคู่รักของตัวเอง
“มันเป็นเรื่องยากมากที่จะจัดการกับความรู้สึกพวกนี้กับผู้ชายที่ฉันเดทด้วย ตอนนี้วิธีการเดียวที่ทำให้ฉันรู้สึกสบายใจเวลาอยากจะมีความสัมพันธ์กับใครสักคน คือฉันต้องเป็นคนที่ควบคุมได้หมดทุกอย่าง”
ความรุนแรงทางเพศนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าให้อภัยอยู่แล้ว ยิ่งความรุนแรงที่เกิดจากคนในครอบครัวซะเองจึงเป็นสิ่งที่รุนแรง ปวดร้าว และยากที่จะสมานแผลในใจให้ดีขึ้นได้ในเร็ววัน