เวลาเกิดกิจกรรมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนมากกว่าสองคนขึ้นไป หนึ่งในคำถามสำคัญที่เราควรนึกถึงคือ กิจกรรมเหล่านี้ทุกฝ่าย ‘ยินยอม’ หรือ ‘ยินดี’ อย่างเต็มใจหรือเปล่า เพราะนี้คือหนึ่งในเรื่องสำคัญของการเรียนรู้คำว่า consent
เรื่องของ consent แม้จะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่อาจเคยได้ยิน แต่การทำความเข้าใจเรื่อง consent ก็ยังคงคลาดเคลื่อนอยู่มากในสังคมไทย The MATTER จึงไปคุยกับทีมงานเพจ ‘เฟมินิสต์วันละหน่อย’ เพื่อตอบข้อสงสัยว่า consent คืออะไร แบบไหนที่จะมองว่าเป็น consent หรือ ไม่ consent ได้บ้าง แล้วมันสำคัญแค่ไหน
consent คืออะไร
consent คือการที่ปกติแล้วเราจะไปมีเซ็กซ์กับใคร เราต้องรู้สึกพร้อมและยินยอมกับการมีเซ็กซ์ครั้งนั้น หมายถึงเราทั้งคู่ต้องยินยอมกันทั้งสองฝ่าย สื่อสารกันให้เข้าใจอย่างแท้จริงว่าเราต้องการแบบเดียวกัน หลายๆ ครั้งคนอาจจะพูดว่า “Yes mean Yes” เท่านั้นก็ได้ แต่การสื่อสารทั้งคำพูด ภาษากาย มันมีหลายแบบ เช่น เราไปหาเขาที่ห้อง เพื่อที่จะอยากมีเซ็กซ์ แล้วสักพักเราเหนื่อย เราไม่อยากมี แล้วยังมีการคะยั้นคะยอให้เราทำ ก็เรียกว่าไม่ consent แล้ว
มันเป็นความสะดวกใจทั้งสองฝ่าย ยินยอมพร้อมใจในการกระทำทั้งสองฝ่าย แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นมันมีการสื่อสารหลายๆ แบบ การตอบตกลงอาจจะชัดเจนสุด แต่บางทีเราอยู่ในสังคมไทยหรือสังคมเอเชีย ผู้หญิงอาจจะมีไม่ได้อยากพูดเรื่องนี้มากนัก ก็ต้องมีวิธีอื่น
นอกจากนี้มันคือการเคารพในการตัดสินใจของคนอื่น โดยที่เราไม่ไปคิดเอาเองว่าเขาพูดแบบนี้แล้วจะหมายถึงแบบนั้น ก็คือเขาพูดอะไร ก็ให้แปลว่าเขาคิดแบบนี้ เคารพการตัดสินใจของเขา แล้วก็สื่อสารด้วยความเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดออกมา
อธิบายเรื่อง consent ยังไงได้บ้าง
มันจะมี model ของ consent ที่เป็นเหมือนไฟแดง ไฟเหลือง ไฟเขียว ถ้าไฟเขียวคือพอถามว่าได้ไหม แล้วเขาตอบว่า ได้ ก็คือไฟเขียว แต่ไม่ใช่ว่าถามครั้งเดียวแล้วมันจะเป็นไฟเขียวไปตลอด ก็ต้องเช็กว่าตอนนี้รู้สึกยังไงบ้าง ดูท่าทาง ท่าที ภาษากาย ตลอดด้วยว่าเขาโอเคไหม ถ้าเขาเริ่มไม่โอเค มันก็เป็นไฟเหลือง คือต้องหยุดถามสักนิดว่าเธอโอเคกับสิ่งที่กำลังทำไหม พักก่อนได้นะ คุยกันก่อนได้นะ ถ้าไม่สะดวกใจบอกได้ ส่วนไฟแดงคือ ไม่ ไม่เอา 100%
แต่ถ้าเกิดเขาทำท่าทีกระอักกระอ่วน ไม่มั่นใจ ลำบากใจ แสดงภาษากายที่ไม่แน่ใจ ก็คือต้องพัก อย่าไปเดาเองว่าถ้าเขาไม่พูดอะไร แล้วจะแปลว่าใช่ 100% อย่าคิดไปเองว่าเขาตกลงเสมอ
consent ในอดีต ไม่ได้ส่งผลว่าจะเป็น consent ในอนาคต
สมมติว่าเป็นแฟนกัน แล้วปกติโอเคกับการมีอะไรกันในเวลานี้ ติดกันหลายๆ ครั้ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันต้องเป็นแพทเทิร์น แล้วมองว่าครั้งหน้าจะต้องโอเคเหมือนกัน มันไม่ได้มีเงื่อนไขว่าถ้าเคยมีเซ็กซ์ด้วยกันแล้ว จะต้องมีเซ็กซ์ด้วยกันได้ไปตลอด
อะไรที่จะบอกได้ว่าสิ่งนี้คือ consent หรือไม่ consent
ยากเหมือนกันที่จะบอกว่าตอนไหนคือ consent หรือไม่ consent แต่เราคิดว่ามันขึ้นอยู่กับการสื่อสารกันระหว่างคู่ที่กำลังจะมีเซ็กซ์หรือต้องการมีเซ็กซ์ คือผู้ชายเองก็ต้องดูว่าผู้หญิงรู้สึกยังไงในเวลานั้น หรือผู้หญิงเองก็ต้องดูว่าตัวเองรู้สึกยังไงในเวลานั้นด้วย แล้วก็ดูด้วยว่าผู้ชายรู้สึกยังไง เพราะว่ามันมีบางทีที่ผู้ชายเองก็ไม่ consent เหมือนกัน บางคนอาจจะคิดว่าผู้ชายก็คงทำได้อยู่แล้ว คือมันขึ้นอยู่กับคนสองคนเลยนะในการสื่อสาร
สิ่งที่ช่วยทำให้รู้ได้นอกจากคำพูดคือ ภาษากาย เช่น การมองตา การจับมือ การกอดกัน แต่ ณ จุดๆ หนึ่ง ถ้าเกิดความรู้สึกว่าวันนี้มันไม่ใช่ เราแค่อยากกอด หรือแค่อยากจับมือ มันคือการ communicate ของคนสองคนว่าวันนี้เราให้ลิมิตคุณได้เท่านี้นะ หรือวันนี้เราไม่พร้อม มันคือการบอกให้เขาเข้าใจว่าในจุดนี้ เราโอเค เราไม่โอเคยังไง
แต่มันจะมีความคิดนึงที่ไม่ใช่แค่คนไทย ที่มักจะคิดว่าก็เป็นแฟนกัน จะทำตอนไหนก็ได้ เพราะยังไงก็แฟน ยังไงก็สามีภรรยากัน ตรงนั้นมองว่า ประเด็นหลักๆ ของเรื่อง consent หรือ ไม่ consent มันอยู่ที่เราไม่ยอมรับความเห็นหรือความต้องการของอีกฝ่าย แต่เราเอาสิ่งที่เราคิดเป็นตัวตั้ง ถ้าผู้หญิงเขาพูดออกมาแล้วว่าวันนี้ไม่ หรือวันนี้ได้ หรือผู้ชายพูดว่าวันนี้ได้หรือไม่ได้ ตรงนั้นคือจุดสำคัญที่ต้องฟัง
การไม่พูดอะไร คนมักเข้าใจว่าเป็น consent จะสามารถพูดแบบนั้นได้หรือเปล่า
ต่อให้ไม่พูดอะไรมันก็มีภาษากาย ต่อให้เราไม่ได้ปฏิเสธด้วยคำพูด แต่ท่าทาง ร่างกาย สายตา มันสามารถสื่อถึงความต้องการหรือไม่ต้องการได้
ต้องมองไปอีกว่าทำไมเขาถึงไม่พูด เขาอยู่ในสภาวะพูดได้หรือไม่
เช่น ถ้าเขาพูดว่า “ไม่” เขาจะโดนทำร้ายรึเปล่า
ในเคสที่คลุมเครือ เราก็ต้องคิดแล้วว่าทำไมมันคลุมเครือ ทำไมไม่ยืนยันว่าจะไปต่อมั้ย ในทีนี้ผู้หญิงอาจจะไม่ตอบแต่เขาก็ไม่หันไป engagement กับคู่ของเขา คนสองคนพอไม่มี engagement กัน คนนึงไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมกับอีกคน ขณะมีเซ็กซ์ เราก็ถือว่าไม่ consent
เรารู้สึกว่าอีกอย่างที่คนคิดไปเองเพราะว่ามันมี gender norm ว่าผู้ชายต้องการเซ็กซ์แล้วผู้หญิงไม่ต้องการเซ็กซ์ ซึ่งไม่จริงเลย คือคนจะไปเข้าใจว่าเป็นผู้หญิงอะ เขาคงไม่อยากทำอยู่แล้ว ขอไปเขาก็ไม่ทำ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเขาก็มีความต้องการทางเพศเหมือนกัน
แล้วผู้หญิงก็ถูกปลูกฝังด้วยตั้งแต่เด็กๆ ว่า ไม่ควรแสดงออกว่าตัวเองกระเหี้ยนหระหือรืออยากจะมีเซ็กซ์ ก็เลยทำให้การพูดว่า “อยากนะ” มันยาก เพราะ default คือไม่อยาก ถ้าเราไม่เปลี่ยนตรงนี้มันก็อยากที่จะทำให้การแสดง consent มันชัดขึ้น
มันเหมือนกับต่างฝ่ายต่างคิดเอาเองว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร แล้วเราก็เอาสิ่งที่เราคิดเอาเองเหล่านั้นมาตัดสินว่าในจุดๆ นึง อีกฝ่ายต้องการอะไร โดยที่เราไม่แม้แต่จะถามว่าเขาต้องการสิ่งนั้นจริงๆ รึเปล่า เป็นเรื่องน่าเศร้านะจริงๆ แล้ว
มองเรื่อง consent กับสังคมไทยยังไงบ้าง
เรารู้สึกว่ามันมีมายาคติในสังคมไทย อาจจะละคร หรือ narrative หลายๆ อย่าง คือถ้าเกิดไม่ขัดขืน ไม่กรีดร้อง ไม่ตื่นมาร้องไห้ ไม่ถูกใช้กำลังด้วย ก็ไม่นับเป็นการข่มขืน กลายเป็นการตัดสินเรื่อง consent แบบเดียว แต่ consent มันละเอียดอ่อนกว่านั้น มันไม่จำเป็นต้องเกิดจากกรณีที่โดนข่มขู่ คุกคาม ทำร้ายร่างกายอย่าเงดียว
ด้วยความที่ว่ากรณีข่มขืนในชีวิตประจำว่า การที่เราถูกล่วงละเมิดทางเพศเล็กๆ น้อยๆ ที่ปราศจาก consent ทุกวันๆ มันไม่ได้มีการ report ไม่ได้มีการออกมาเล่าเรื่องมากขนาดนั้น คนก็เลยไม่เข้าใจว่านี่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ปราศจาก consent เหมือนกัน แล้วยิ่งกรณีที่มันไม่ชัด คนก็ไม่ค่อยเชื่อเหยื่อ ก็จะโทษเหยื่อ อีกกรณีคือ พอมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์ด้วยกันก็จะไม่เรียกว่าข่มขืน คิดว่าเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย
คนไทยเราจะมีมายาคติว่า ‘เป็นเรื่องของคนสองคน’ ‘เรื่องของแฟน’
หรือ ‘เรื่องของสามีภรรยา’ บางทีเราจะโดนสอนว่าอย่าไปยุ่งเรื่องของคนอื่น
เพราะฉะนั้นเวลาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เช่น ผู้หญิงโดนกระทำจากสามีเขา พอจะไปแจ้งใคร มันกลายเป็นว่าก็ผัวเมียกัน มีอะไรกัน เป็นเรื่องปกติไม่ใช่เหรอ มันเป็นมายาคติในสังคมหลายๆ ประเทศที่ถ้ามีความสัมพันธ์กัน การมีเซ็กซ์กันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ความจริงแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ยังไงมันก็ต้องดูความต้องการของทั้งสองฝ่าย แต่เราโดนคุมด้วยอำนาจที่เห็นผู้ชายเป็นใหญ่ คือเรื่อง consent มันเกี่ยวโยงกับหลายๆ อย่างทั้ง ชายเป็นใหญ่ ความต้องการทางเพศ หรือว่าปัญหา domestic violence มันหลายอย่างมาก
วิธีที่จะทำให้คนเข้าใจเรื่อง consent ได้มากขึ้นคืออะไร
สิ่งหนึ่งที่อเมริกาสอนก่อนจะเข้ามหาลัยคือเรื่อง consent เขาเน้นเรื่องการศึกษา เพิ่มเรื่อง awareness เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้ แต่มหาลัยอาจจะช้าไป เพราะว่าปัญหาปัจจุบันไม่ได้มีแค่วัยทำงาน หรือวัยมหาลัย ต้องยอมรับว่าวัยมัธยมก็มีเพศสัมพันธ์แล้ว เพราะฉะนั้นเราควรปลูกฝังตั้งแต่เป็นเด็กเลย หนึ่งคือการให้เกียรติผู้อื่นตั้งแต่อนุบาล ตั้งแต่เด็กๆ ต้องให้เขาเรียนรู้ว่าให้การให้เกียรติผู้อื่น หรือการให้เกียรติคำที่ผู้อื่นพูดมันสำคัญขนาดไหน แล้วพอเขาเริ่มเข้าใจ เขาจะเริ่มฟังความเห็นผู้อื่นมากขึ้น
นอกจากนี้ ถ้าหลักสูตรเพศศึกษามีมากกว่าการอย่าอยู่กันสองต่อสอง อย่ามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เปลี่ยนมาสอน consent อาจมีประโยชน์มากกว่า หรือตอนที่เด็กๆ แกล้งกัน ทะเลาะกัน ก็น่าจะสอนให้เข้าใจว่าถ้าอีกฝ่ายบอกว่า “อย่า” อย่าจับอย่างนี้ อย่าดึงผมฉันอย่างนี้ ก็ต้องหยุด เพราะอันนั้นคือ consent ระดับพื้นฐานเลย คือการเคารพในสิทธิตัวบุคคล เคารพร่างกายของคนอื่น
นอกจากการปลูกฝัง เราว่าเรื่องเซ็กซ์ควรทำให้เปิดเผย ให้สามารถพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะได้ระดับนึง เพราะเวลาเราไม่พูดถึง พ่อแม่ไม่พูดถึง ไม่มีใครพูดกับลูก ก็ทำให้ไม่มีพื้นที่ที่เด็กจะเรียนรู้ได้ด้วย เราคิดว่ามันไม่ใช่แค่การปลูกฝังในโรงเรียนที่ทำแค่ในโรงเรียน แต่ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม พ่อแม่ ครอบครัว ก็ช่วยเรื่องนี้ได้
คือพอคนไม่พูดถึง มันก็เป็น pandora’s box ที่ได้แต่คิดว่ามันคงเป็นแบบนี้แน่เลย ก็ดูมาจากหนัง มันต้องเป็นแบบหนังแน่ๆ ไม่มีใครที่มีความเข้าใจที่ชัดเจนจริงๆ ว่ามันแปลว่าอะไร นอกจากนี้เขาก็พยายามตำหนิพฤติกรรมเด็กมากกว่าที่จะแก้ปัญหาหรือเข้าใจพฤติกรรมจริงๆ ว่ามันมาจากไหน เกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วเราต้องทำอะไรกับมันบ้าง
consent กับเรื่อง toxic masculinity เกี่ยวข้องกันไหม
การที่หลายๆ คนคะยั้นคะยอว่าจะขอมีเซ็กซ์ให้ได้ เพราะมีความเชื่อว่าถ้าเขายอมทำตามคำของ่ายๆ มันไม่แมน ไม่เท่ เหมือนพยายามโน้มน้าวให้เขาอยากมีอะไรกับตัวเองด้วยไม่สำเร็จ มันลดความเป็นชายของตัวเองมาก ก็เป็น toxic masculinity แต่กลับกันคนก็จะคิดว่าผู้ชายต้องอยากมีเซ็กซ์ตลอด ก็เลยมีเหยื่อเป็นผู้ชายที่คนไม่อยากเชื่อเท่าไหร่ เพราะมองว่าเป็นผู้ชายก็ต้องอยากสิ จะไปโดนข่มขืนได้ยังไง
consent เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากแค่ไหน
จริงๆ อย่างในชีวิตประจำวัน มีคนที่ไม่กินเหล้า สิ่งที่โดนคือโดนคะยั้นคะยอให้กิน บังคับให้กินแล้วบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก การที่ไปบังคับเขาไม่ว่าเรื่องไหนก็ตาม อย่างการบังคับให้กินเหล้าทั้งที่เราบอกว่าไม่แล้ว เราก็เรียกว่าไม่ consent แล้วเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งการแตะเนื้อต้องตัวในออฟฟิศที่มีผู้หญิงและผู้ชาย แบบอยู่ดีๆ เดินมาแตะไหล่เรา ซึ่งอาจจะเลยมาโดนเนินอกเอาเรา เราก็ปัดออก อันนี้คือเรื่องของ consent และไม่ consent มันคือความยินยอมและไม่ยินยอม
มันมีตัวอย่างเช่น พ่อแม่แอบเข้ามาในห้องลูก มันก็เป็นการไม่ยินยอมเหมือนกัน เหมือนไม่ได้บอกลูกก่อน แล้วมารื้อของ มันก็คือการละเมิดความยินยอมของเราไป พูดง่ายๆ คือ consent เป็นการเคารพความรู้สึกของอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกับเรื่องอะไร
มีสิ่งที่เขาใช้สอนกันเรื่อง consent คือ tea analogy หรือว่าการเปรียบเปรยกับการให้น้ำชา ถ้าเปรียบเทียบง่ายๆ คือคนชวนไปกินเหล้า ถ้าเกิดเขาตอบว่าไม่ ก็ไม่ต้องเอาเหล้าให้เขา หรือถ้าคุณรินให้เขา แล้วเขาดื่มแก้วแรกแล้ว แล้วพอรินให้เขาแก้วที่สอง แล้วเขาบอกไม่เอาแก้วที่สอง ก็ต้องหยุด ไม่ได้แปลว่าเขากินแก้วแรกแล้วเขาจะกินแก้วที่สองต่อ หรือเขาเคยไปกินเหล้าสัปดาห์ที่แล้ว พอสัปดาห์นี้ชวนไปกิน แล้วเขาไม่ไป ก็ต้องเคารพตรงนั้น ก็คือเคารพการตัดสินใจของเขา ณ จุดๆ นั้น