คุณเป็นคู่หูของใครซักคนรึเปล่า จริงๆ ในความสัมพันธ์ เรามักจะมีเพื่อนซี้ มีคนที่ตัวติดกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน ดูแลกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง งอนกันก็บ่อย เพราะชีวิตที่ออกจะขลุกขลักนี้เราเองก็ต่างก็การ และต่างก็เป็นผู้ช่วยของกันและกัน
ล่าสุด จากกรณีมู่หลานภาคคนแสดง นอกจากเสียงวิจารณ์ตั้งแต่ตัวหนังเอง ประเด็นทางการเมืองของนักแสดงสาวชาวจีนแล้ว ในเรื่องก็ยังมีประเด็นถกเถียงว่า มู่หลานภาคล่าสุด เจ้ามังกรมูชู ตัวละครสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นทั้งพี่เลี้ยง เป็นเพื่อนคู่ใจ เป็นตัวละครที่คลายความตึงเครียดต่างๆ และลึกๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าเจ้ามังกรที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันนี่ ย่อมต้องเป็นที่พึ่งพาให้กับตัวเองของเราได้หายไป สิ่งมีชีวิตเหนือจริงในเรื่องจากมังกรก็กลายเป็นนกฟินิกซ์ ที่ในที่สุดแล้วก็ทำหน้าที่ให้กับเรื่องเล่าคนละอย่างกับการเป็นคู่หูและคู่คิดให้กับมู่หลาน
ทางผู้กำกับก็ออกมาอธิบายการหายไปของมังกรคู่หูคนสำคัญว่า สัมพันธ์บริบทวัฒนธรรมและการอ้างเรื่องเล่ามู่หลานยุคเก่ามากกว่าฉบับดิสนีย์เดิม ทีนี้ นอกจากประเด็นเรื่องมู่หลานแล้ว ตัวละครเช่นเพื่อนพระเอกนอกจากจะสัมพันธ์กับชีวิต หรือประสบการณ์จริงที่ว่าเราทุกคนมักจะต้องการคู่หูเดินทาง แต่การเกิดขึ้นของตัวละครคู่หูนั้นสัมพันธ์กับวิธีการเล่าเรื่อง เป็นตัวละครที่ทั้งทำหน้าที่ร่วมเล่าและดำเนินเรื่องให้กับผู้ชมละครเวที ไปจนถึงทำหน้าที่นอกจากจะช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังส่งเสริมความหมายให้กับพระเอกด้วย
Deuteragonist : ตัวเอกลำดับที่สอง หรือพระรองก็ว่าได้
การพูดถึงพวกเทคนิคในเรื่องเล่า นวนิยาย จนกลายมาเป็นหนังที่เราคุ้นๆ ส่วนใหญ่สืบสาวรูปแบบได้ตั้งแต่ครั้งโบราณโน่น จริงๆ บ้านเราเองก็มีเช่นพระลักษณ์ พระราม ด้านหนึ่งพระลักษณ์ก็ทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นเพื่อนพระเอก เป็นคู่ทุกข์คู่ยากที่เดินทางและคอยเกื้อกูลกันและกัน แม้ว่าพระเป็นพระเอกของเราเกื้อกูลดูแลก็ตาม ซึ่งนั่นก็เป็นหน้าที่หนึ่งของเพื่อนพระเอกซึ่งจะกล่าวถึงต่อ ทีนี้ขอย้อนกลับไปที่ยุคกรีกโบราณ เพราะยุคกรีกเป็นยุคที่ถือว่าเกิดทฤษฎีเกี่ยวกับวรรณคดีขึ้นยุคแรกๆ คืองานของอริสโตเติล ทั้งยังมีบันทึกมีการศึกษาผลงานต่างๆ หลงเหลือเข้าใจมาจนถึงปัจจุบัน
ในทางทฤษฎีตัวละครเพื่อนพระเอก สมัยกรีกเรียกว่า Deuteragonist พอเห็นคำว่า -gonist คือเรามีพระเอกเรียกว่า protagonist มีตัวร้ายตรงข้ามกันเรียกว่า antagonist ทีนี้ Deuteragonist คำว่า deuter แปลว่าสอง เหมือนที่ยังใช้ในภาษาตระกูลโรแมนซ์ละตินในยุคต่อมา คำว่าสองในที่หมายถึงตัวละครเอกลำดับที่สอง เป็นคนที่มาร่วมดำเนินเรื่องสำคัญรองจากพระเอกนั่นเอง
ทีนี้ ความสำคัญของพระรอง หรือเพื่อนพระเอก ยุคแรกเลยมันมีหน้าที่เชิงฟังก์ชั่น คือสมัยกรีก กระทั่งยุคโบราณของแถบบ้านเราวรรณคดีส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการแสดง ไม่ว่าจะร้องขับกล่อมไปจนถึงละครเวที ทีนี้อริสโตเติลก็บอกไว้ใน The Poetic ตำราวรรณคดีเล่มแรกของโลกว่า Aeschylus กวีโศกนาฏกรรมของกรีกโบราณเป็นคนแรกที่ใช้ตัวละครลำดับที่สองขึ้นมาร่วมดำเนินเรื่องบนเวที ด้านหนึ่งก็คือเป็นศิลปะการประพันธ์และศิลปะการแสดงที่ทำให้เรื่องราวซับซ้อนขึ้น
แต่เดิมอริสโตเติบอธิบายว่า ละครกรีกจะใช้ตัวละครหลักขึ้นมาแสดง แล้วก็มีกลุ่มนักร้องคอรัสใส่หน้ากากโผล่ขึ้นมา แล้วก็มีบทร้องคอมเมนต์บ้าง ตอบโต้บ้าง ซึ่งถ้ามองในเชิงความสมจริง ส่วนของคอรัสก็เก๋ดี ประกอบกับมีหน้าที่หลายอย่างทั้งเป็นเหมือนเสียงสะท้อน เสียงก้องของตัวเอกเอง ไปจนถึงเป็นเสียงของผู้ชม ของสังคมที่แสดงความเห็น หรือมาเล่าเส้นเรื่องต่างๆ ก็เก๋ดี แต่ทีนี้ Aeschylus ก็คงรู้สึกว่าเรื่องไม่สมูธ พระเอกถึงเวลาดำเนินไป คุยกับคอรัสไป หรือจะเล่าตัวเรื่องว่าอะไรดำเนินไปทางไหนอย่างไร ไปจนถึงแสดงความคิดต่างๆ ก็ยาก
ดังนั้นกวีก็เลยเลยวางตัวละครลำดับที่สองขึ้นมา ส่วนใหญ่ง่ายๆ ก็จะเป็นเหมือนเพื่อนเดินทาง (แปลว่าฮีโร่กรีกยุคก่อนไม่เหงา ต้องเดินทางเติบโตเพียงลำพัง) จะเป็นคู่หู ที่ปรึกษา หรืออะไรก็ได้ โดยตัวตนเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวิญญาณ เป็นของวิเศษ แต่หลักๆ คือทำหน้าที่ร่วมดำเนินเรื่อง จะพูดคุยสะท้อนความคิด เรื่องก่อเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นตัวละครลำดับที่สองจริงๆ ก็เลยกว้างมาก จะเป็นเพื่อนก็ได้ เป็นคนที่มาติดพันก็ได้ เป็นที่ปรึกษา เป็นคนที่ไปด้วยเฉยๆ ไปจนถึงเป็นศํตรูคู่แข่ง ฟังก์ชั่นเดิมก็น่าจะยังคงอยู่ แต่มีบทบาท มีลักษณะ หรือมีอิทธิพลต่อตัวเรื่องที่เปลี่ยนไปแล้วแต่เรื่องราว
Sidekick คู่หูที่ทำให้เราอุ่นใจ
จากตัวละครลำดับที่สอง ตัวละครที่จะมาพูดคุย ช่วยเหลือเยียวยาหรือทำให้เรื่องดำเนินต่อ เช่นพระลักษณ์โดนหอก ก็ทำให้เรื่องดำเนินต่อได้ บางครั้งซับซ้อนขึ้นหรือคลี่คลายลง ทีนี้ เพื่อนพระเอกที่ดี ที่ประเสริฐระดับพระโพธิสัตว์ซึ่งในชีวิตจริงก็พอจะมีอยู่บ้าง คือเพื่อนพระเอกที่ทำหน้าที่เป็นคู่หู แล้วชุบชูฟูมฟักพระเอกแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นสปอตไลท์ไฟฉายให้พระเอกโดดเด่น เป็นที่รักของนางเอกขึ้นมาได้อีก
ทีนี้จากฮีโร่ยุคกรีก เรื่อยมาจนถึงยุคป็อบคัลเจอร์ เกิดฮีโร่ที่เป็นรูปธรรมขึ้นมา เป็นผู้ผดุงความยุติธรรมให้กับเมืองใหญ่ ต่อสู้ศัตรูเหล่าร้ายที่จ้องทำลายโลก ฮีโร่ของเราจะไปสู้กับสารพัดกองทัพเหล่าร้าย ตัวคนเดียวจะไปสู้ไหวหรอ ในคอมมิกฮีโร่ก็เลยเกิดคอนเซ็ปต์ Sidekick ขึ้น เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่เป็นคู่หู คอยช่วยเหลือพระเอก คำว่า Sidekick เชื่อว่าเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นแสลงจากคำว่า kick ที่หมายถึงกระเป๋ากางเกงที่อยู่ด้านหน้า เป็นกระเป๋าที่ปลอดภัย โจรล้วงยาก คำว่า Sidekick ก็เลยถูกใช้เหมือนว่าเรามีคู่หู เพื่อนที่คอยดูแลความปลอดภัยในการเดินทางที่อยู่ข้างๆ เราตลอด
ทีนี้ คู่หู ในนิยามแบบใหม่แบบ Sidekick ก็เลยเป็นลักษณะและฟังก์ชั่นของตัวละครในยุคหลังซึ่งสัมพันธ์กับวัฒนธรรมป็อบ ทั้งฮีโร่ในคอมมิก มาจนถึงพวกพระเอกในหนังต่างๆ ซึ่งก็ล้วนต้องมีคู่หูไว้คู่กาย งานศึกษาบอกว่าคู่หูในนิยามแบบ Sidekick คนแรกก็คือโรบิน ในแบทแมนกับโรบิน ปรากฏตัวในราวปี ค.ศ.1940 แรกเริ่มเดิมทีโรบินถูกวางไว้เพื่อให้ตัวเรื่องเข้าถึงผู้อ่านอายุน้อยๆ ได้ ซึ่งในที่สุด ฟังก์ชั่นของคู่หูที่นอกจากจะช่วยเหลือจริงๆ แล้ว ก็ยังทำหน้าที่ส่องสะท้อนพระเอกคล้ายกับหน้าที่ของเพื่อนพระเอกในวรรณกรรมยุคก่อนหน้า ซึ่งบางคนก็ชี้ว่าคู่หูทำนองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในมหากาพย์กิลกาเมชของชาวสุเมเรียนโน่น
Foil Character สปอตไลท์ส่วนตัวของคนเป็นพระเอก
การรับบทเพื่อนพระเอก บางทีมันก็ทั้งสุขทั้งเศร้า และบางครั้งมันคือการอุทิศตนเท่าที่เพื่อนคนหนึ่งจะทำให้ได้ ฟังก์ชั่นพิเศษที่ชัดเจน อันเป็นฟังก์ชั่นของการทำงานเชิงความหมายผ่านตัวละครคู่หู คือการทำหน้าที่เป็น Foil Character คือยืนเคียงคู่แล้วคุณสมบัติเด่นของความเป็นพระเอกของเราโดดเด้งขึ้นมา ด้านหนึ่งคู่หูก็เลยมีจะมีคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับพระเอกในหลายระดับซึ่งทำหน้าที่ขับเน้นทั้งตัวละครเอก ไปจนถึงประเด็นต่างๆ ของเรื่องด้วยไปโดยปริยาย
โรบินเองก็ดูอยู่ในข่ายคำอธิบายเดียวกันนี้ คือโรบินเป็นเหมือนคู่ตรงข้ามด้านหนึ่งของแบทแมน เป็นเด็กน้อย ที่บางครั้งก็เลือดร้อนบ้าง เป็นคนที่คอยช่วยแบทแมน แต่บางครั้งด้วยความเลือดร้อน ขาดความสุขุมคัมภีรภาพ ไปจนถึงขาดฝีมือ เทคนิค หรืออุปกรณ์ก็ทำให้แบทแมนได้แสดงคุณสมบัติความเป็นพระเอกที่โรบินไม่มีให้ฉายชัดขึ้น จริงๆ แบทแมนไม่ได้มีคู่หูคนเดียว อัลเฟรดบางครั้งเราก็นับเป็นคู่หู่และคู่ตรงข้ามของแบทแมนได้เหมือนกัน แต่เป็นคู่ตรงข้ามอีกชุด ซึ่งก็น่าสนใจเพราะเป็นเหมือนไฟที่ส่องข้อเสียของแบทแมน เช่นบางครั้งแบทแมนก็อาจจะยังลุ่มลึกไม่พอ สุขุมไม่พอ หรือรู้รอบไม่พอต้องอาศัยคู่หูทรงภูมิที่แก่ชรา และไม่ได้ลงสนามสู้ด้วยตัวเอง ซึ่งจริงๆ ความสัมพันธ์ของแบทแมนกับโรบินก็มีความซับซ้อนประกอบด้วยทั้งความสนิทสนม (ฮืม) ไปจนถึงความขัดแย้งในหลายระดับ
ในทำนองเดียวกัน จากวรรณคดีเก่าแก่เช่นรามเกียรติ์ของไทยที่อ้างอิงจากรามายณะ มหากาพย์เก่าแก่กว่านับพันปี พระลักษณ์เองก็ดูจะเป็นทั้งพระรอง เป็นทั้งเพื่อนเดินทาง เป็นคนที่ทำให้เรื่องดำเนินต่อไปได้ คำว่าดำเนินต่อไปได้ของพระลักษณ์ในที่นี้ค่อนไปทางการเสียสละ คือเราอาจจะเคยล้อว่าพระลักษณ์เดี๋ยวๆ โดนหอก เดี๋ยวๆ โดนอาคม ในจิตรกรรมคือนอนแผ่หลาไปครึ่งเรื่อง แต่พระลักษณ์นี่แหละที่ทำให้ความเป็นวีรบุรุษของพระรามเด่นชัดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นพระเอกผู้อุทิศตัวไม่ต่างกับเหล่าเพื่อนพระเอกเช่นที่ได้รับการสรรเสริญในเพลงของโพลี่แคทเลย
ประเด็นเรื่องเพื่อนพระเอก ด้วยความเก่าแก่ ไปจนการเกิดขึ้นที่ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของเทคนิค และการมีฟังก์ชั่นที่หลากหลายแปรเปลี่ยนไป ในมู่หลานฉบับล่าสุดได้อธิบายว่า มู่หลานว่าด้วยเรื่องของผู้หญิง และเน้นอ้างอิงจากตัวปกรณัมเก่า บทของมังกรที่ทำหน้าที่เพื่อนคู่คิด คอยให้กำลังใจ และสร้างสีสันให้เรื่องไปจนถึงชี้นำนางเอกก็เลยถูกตัดออกไป ทางผู้สร้างบอกว่ามังกรสัมพันธ์กับผู้ชายและความคิดจากบรรพชนที่สัมพันธ์กับผู้ชาย มู่หลานใหม่ก็เลยอยากจะก้าวข้ามตรงนี้ และอาจประกอบกับการเล่าเรื่องภาพยนตร์ไปจนถึงการรักษาโทนเรื่อง ที่ไม่จำเป็นต้องทำให้เรื่องอบอุ่นนุ่มนวลจากเหล่าคู่หูที่มักมาพร้อมความรู้ และความตลกขบขันเช่นในการ์ตูนดิสนีย์เรื่องอื่นๆ
จากตัวละครผู้ช่วย คู่หู เพื่อนสนิท และเพื่อนพระเอกในวรรณกรรม หลายคนอ่านๆ ไป ในค่ำคืนวันศุกร์แบบนี้ก็อาจสะท้อนใจว่า เราเองอาจจะเป็น หรืออาจจะมีเพื่อนพระเอกที่คอยเคียงข้าง ดูแลเรา และกำลังนั่งดื่มอยู่ข้างกัน เตรียมชงเราให้กับโต๊ะข้างๆ เป็นที่ปรึกษารับฟังในวันหนักหน่วง หรือบางคนก็กำลังล้อเลียนหัวเราะเยาะเราอยู่ เราอาจเป็นแซมไวท์แกมจี เป็นวัตสัน เป็นโรบิน ของใครอีกคนอยู่เสมอ
การดำรงอยู่ของเพื่อนรัก ของคู่หูที่ยาวนานในวรรณกรรม ก็ดูจะสอดคล้องกับความสำคัญของการมีคู่หูคู่คิด มีเพื่อนซี้ หรือคู่หูที่นั่งอยู่ข้างเราในเวลาแบบนี้แหละเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก