ทุกครั้งที่มีเหตุกราดยิง หนึ่งในความน่ากลัวคือผู้ยิงดูไม่ต่างจากคนทั่วไปที่เราอาจบังเอิญเจอได้
ไม่เหมือนกับในหนังหรือการ์ตูน โดยผิวเผินแล้วคนที่อาจจะก่อโศกนาฏกรรมต่อคนจำนวนมากไม่ได้มีลักษณะเหมือน ‘ตัวร้าย’ ฉะนั้นแล้วอะไรกันที่จะช่วยให้เราเห็นสัญญาณของคนธรรมดาที่ข้ามเส้นกลายเป็นผู้กราดยิงได้บ้าง และอะไรทำให้คนคนหนึ่งอยู่ในจุดนั้นตั้งแต่แรก
ก่อนจะไปกันต่อ ต้องพูดอย่างชัดเจนว่านี่ไม่ใช่บทความที่ ‘เห็นอกเห็นใจ’ ไม่ว่าในกรณีใด แต่เป็นการสร้างความเข้าใจในที่มาที่ไป สัญญาณ และแนวคิดเบื้องหลังการกราดยิงนั้น ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในอนาคต
ผู้ก่อเหตุกราดยิงนั้นต่างจากอาชญากรรูปแบบอื่นๆ ตรงที่พวกเขามีจุดร่วมกันในหลายจุดจนน่าแปลกใจ นอกจากโดยมากจะเป็นเพศชาย เป็นคนขาว อายุเฉลี่ยราวๆ 18 ปี มักมีประวัติอาชญากรรมและการใช้ความรุนแรง จุดร่วมในวิธีคิด ความเชื่อ และแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาก่อเหตุก็น่าสนใจไม่น้อย
เพื่อการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับการกราดยิงชื่อ The Violence Project นักอาชญวิทยาที่ศึกษาเรื่องการกราดยิงโดยเฉพาะ จิลเลี่ยน ปีเตอร์สัน (Jillian Peterson) และ เจมส์ เดนส์ลี (James Densley) เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการกราดยิงในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.1966 จนถึงปัจจุบัน โดยนอกจากข้อมูลเชิงประชากรศาสตร์แล้ว พวกเขายังเก็บพื้นหลัง แรงจูงใจ ความสัมพันธ์ด้วย
‘มันมีหนทางที่สม่ำเสมอ ความเจ็บปวดในวัยเด็กมักเป็นจุดเริ่มต้น’ ปีเตอร์สันกล่าวในบทสัมภาษณ์กับ Politico ในประเด็นว่าผู้กราดยิงมักมีประวัติยังไงบ้าง โดยเธอเล่าว่าความรุนแรงภายในบ้าน การเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ การโดนบูลลี่อย่างหนัก หรือการฆ่าตัวตายของผู้ปกครองสามารถเป็นจุดเริ่มต้น
แต่คนหลายคนที่ผ่านประสบการณ์แบบนั้นเองก็สามารถผ่านมันมาได้ อะไรที่ผลักดันให้พวกเขากลายเป็นนักกราดยิงได้?
ปีเตอร์สันกล่าวเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ผลักเขาไปยังจุดวิกฤติคือความสิ้นหวัง ความเกลียดชังในตัวเอง การตัดขาดจากผู้คน การโดนสังคมขับออก ซึ่งหากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที คนที่ตกอยู่ในสภาวะนั้นอาจจบลงที่การฆ่าตัวตาย แต่สำหรับกรณีของนักกราดยิง แทนที่ผู้กระทำจะจบชีวิตตัวเอง พวกเขาเอาความเกลียดชังที่มีหันหาผู้อื่นแทน
ปีเตอร์สันและเดนส์ลีกล่าวว่าอายุ 18 ปีคือวัยที่วัยรุ่นอยู่ในจุดพีคของวิกฤตทางอารมณ์ และการกระทำนี้เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า ‘การแสดงออกสู่สาธารณะ’ ให้ทุกคนเห็นความเจ็บปวดและความโศกเศร้าของพวกเขา แต่อะไรกันที่นำไปสู่การหันเหความเกลียดชังนี้ไปสู่ผู้อื่น?
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหยื่อของความรุนแรงประเภทนี้มักไม่ใช่คนผิวขาว ทั้งการยิงร้านนวดที่แอตแลนตาเมื่อปีที่แล้วเล็งเป้าไปที่หญิงเอเชียเป็นหลัก เหยื่อของการยิงที่บัฟฟาโล่เมื่อเดือนที่แล้วเป็นคนผิวดำทั้งหมด เคสแรกมีแรงจูงใจมาจากผู้ยิงต้องการตัดขาดความต้องการทางเพศเพราะเขาเป็นคนเคร่งศาสนา ส่วนเคสหลังมีการเก็บข้อมูลว่าผู้ยิงหวาดกลัวว่าประชากรคนขาวกำลังถูกกลืนกิน โดยเขาเรียกตัวเองว่าเป็นเผด็จการ และเป็นคนที่เชื่อว่าคนขาวสูงส่งกว่าผู้อื่น (White Supremacist) และกล่าวว่าเขาได้แนวคิดเหล่านั้นมาจากอินเทอร์เน็ต
สถิติกล่าวว่าหลังปี ค.ศ.2015 การกราดยิงที่มีแรงจูงใจมาจากความเกลียดชังและความต้องการชื่อเสียงเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยยะ เช่นนั้นแล้วความเจ็บปวดในวัยเด็กหรือความสิ้นหวังต่อโลกเป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่ง แต่จากแรงจูงใจที่กล่าวไปข้างต้น เราค่อนข้างมั่นใจว่าการเรียนรู้แนวคิดทางการเมืองและความเชื่อแบบฝ่ายขวาสุดโต่งมีส่วนอย่างยิ่งในการผลักดันพวกเขาให้ก่อเหตุ
อย่างที่ปีเตอร์สันบอก เหตุกราดยิงแม้จะเป็นการฆาตกรรม แรงผลักดันและแนวคิดของมันใกล้เคียงกับการฆ่าตัวตายมากกว่าอะไร และเช่นเดียวกับการฆ่าตัวตาย ก่อนที่จะเกิดเหตุผู้ก่อเหตุมักมีสัญญาณที่คล้ายกัน โดยมันทำหน้าที่คล้ายกับ cry for help หรือการเรียกร้องความช่วยเหลือ ‘คุณประกาศมันออกมาเพราะใจหนึ่งคุณอยากหยุด’ ปีเตอร์สันกล่าว
ในสถิติโดย The Violence Project เล่าว่าราวๆ 40% ของผู้ก่อเหตุมีการแสดงอาการว่าพวกเขาอยู่ในภาวะวิกฤตในช่วงเวลาเป็นปีๆ ก่อนก่อเหตุ และมี 29.7% อยู่ในภาวะแบบเดียวกันแต่เป็นเดือนๆ โดยอาการที่เป็นสัญญาณมีดังนี้ สภาพจิตใจปั่นป่วน 66.9% พฤติกรรมกดขี่ข่มเหง 41.9% ตัดขาดจากผู้คน 39.5% หลุดออกจากโลกความเป็นจริง 33.1% ซึมเศร้า 29.7% อารมณ์แปรปรวน 27.3% ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ 24.4% หวาดวิตก 23.8% โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ก่อเหตุมีสัญญาณเหล่านี้ 1-4 สัญญาณ แต่มีอีก 37% ที่พบ 5 สัญญาณขึ้นไป
นอกจากนั้นแรงจูงใจของการยิงอาจชี้ให้เราเห็นสัญญาณได้ โดยในช่วงปี ค.ศ.2010 เป็นต้นมา แรงจูงใจในการก่อเหตุอันดับแรกและอันดับสองคือความสัมพันธ์และความเกลียดชัง ซึ่งสัญญาณของแนวคิดเหล่านี้สามารถหาได้เพราะพวกเขามักแสดงมันออกมาตรงๆ เช่น หนึ่งปีก่อนจะเกิดเหตุ ผู้ยิงในเคสบัฟฟาโล่โพสต์ในเฟซบุ๊กว่าเขาต้องการจะกราดยิงที่งานสำเร็จการศึกษา รวมทั้งเขาบอกกับเพื่อตัวเองว่าเขาอยากจะกราดยิงแล้วฆ่าตัวตายตาม นอกจากนั้นเขามีการวางแผนแบบวันต่อวันผ่านแอพฯ Discord อยู่ในรูปแบบไดอารี่ที่แสดงออกถึงแนวคิดลัทธิคนขาวสูงส่ง ฉะนั้นการป้องกันเหตุเหล่านี้จากการสังเกตและระวังสัญญาณสามารถทำได้
ถึงอย่างนั้นแล้วเราจะจัดการปัญหาเหล่านี้ยังไง? ก้าวแรกที่ต้องทำคือการปรับมุมมองเกี่ยวกับผู้ยิงก่อน บ่อยครั้งเรามักได้ยินว่าคนที่ก่อเหตุแบบนี้เป็นปีศาจ และวิธีการเดียวที่จะหยุดยั้งพวกเขาได้คือการลงโทษ แต่การเรียกผู้ยิงว่าปีศาจและชั่วร้ายคือกำแพงชั้นแรกที่ทำให้เราไม่เห็นว่าคนคนนี้เกิดขึ้นมาจากสังคมรอบๆ ตัวเรา ส่งผลให้หลายต่อหลายครั้งเราไม่เห็นอาการหรือไม่คิดกับสัญญาณของพวกเขาอย่างถี่ถ้วน
ผู้ยิงในเหตุการณ์บัฟฟาโล่เคยถูกตำรวจในรัฐเข้าพบและพาไปหาจิตแพทย์หลังมีคนรายงานโพสต์ของเขา แต่แพทย์บอกว่าไม่พบความเสี่ยงอะไร การมองว่า ผู้ที่จะก่อเหตุกราดยิงต้องเป็นปิศาจทำให้เราไม่อาจมองว่าคนธรรมดาคนหนึ่งจะทำมันได้
นอกจากนั้นมุมมองว่าเหตุการณ์นี้ใกล้เคียงกับการฆ่าตัวตายมากกว่าการฆาตกรรมนั้นก็เป็นกุญแจสำคัญ โดย 59% ของผู้กราดยิงตายในเหตุการณ์ 31% มีความต้องการฆ่าตัวตายก่อนก่อเหตุ และ 41% ระหว่างก่อเหตุ และการมองมันผ่านมุมมองนี้อาจเปลี่ยนแนวคิดการป้องกันเหตุการณ์กราดยิง
‘ผู้กราดยิงออกแบบการยิงให้เป็นสิ่งสุดท้ายที่พวกเขาทำ เมื่อคุณมองออกจะรู้ได้เลยว่าการมีผู้ติดอาวุธไม่สามารถช่วยป้องกันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้ กลับกันมันจะยิ่งเป็นเหตุสนับสนุนให้พวกเขาทำมันมากขึ้นไปอีก’ ปีเตอร์สันกล่าวเกี่ยวกับมาตรการปัจจุบันที่เพิ่มกำลังคนและอาวุธในโรงเรียน ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ยิงตัดสินใจก่อเหตุ เพราะผลสุดท้ายแล้วสิ่งที่เขาต้องการคือความตายให้แก่ตัวเอง
แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีมาตรการแน่นอนว่าวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดคืออะไรนอกจากการเพิ่มกำลังในการตระหนักรู้ การตรวจตรา และการรักษาปัญหาทางสุขภาพจิตให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้นโดยเฉพาะในวัยรุ่นชาย ขั้นตอนที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาวสุดคือการมองว่าผู้กราดยิงเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ในเชิงความเห็นอกเห็นใจ
แต่เป็นเชิงการดึงพวกเขาออกมาจากสถานะของการเป็นตัวแทนของความชั่วร้ายหรือเป็นปีศาจร้าย เพื่อให้สังคมมองว่านี่คือปัญหาที่สามารถถูกแก้ไขได้
อ้างอิงข้อมูลจาก